ปรากฏการณ์ ครอบครัวที่มีคนเพียงคนเดียว?!?

(ภาพจาก pixabay.com - public domain)

บทความต่อไปนี้เป็นการคัดย่อเนื้อหาเพียงบางส่วนจากบทความของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่ชื่อ “จะโดดเดี่ยวและเหงาหรือไม่?” (ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2564) ที่ธเนศอธิบายถึงปรากฏการณ์ “ครอบครัวที่มีคนเพียงคนเดียว” ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมขณะนี้ ที่จริงแล้วมีเค้ามูลมาก่อนหน้ายาวนานทีเดียว (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

—-

ประเทศที่คนอยู่คนเดียวพร้อมเสมอที่จะทำให้ “ศักยภาพของชีวิตที่เหงาโดดเดี่ยว” เป็นจริงขึ้นมาได้มากยิ่งขึ้น ประเทศอันดับต้นๆ ได้แก่ บราซิล (10%) เคนยา (15%) แอฟริกาใต้ (24%) รัสเซีย (25%) แคนาดา (27%) สหรัฐอเมริกา (28%) อิตาลี (29%)  ญี่ปุ่น (31%) สหราชอาณาจักร (34%) สวีเดน (47%) ตามลำดับจากน้อยไปหามาก ความเป็นไปได้ของการอยู่คนเดียวหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าที่อยู่อาศัยมีราคาที่อยู่ในระดับคนๆ เดียวจะครอบครองได้หรือไม่ เพียงแต่สถานการณ์ของการเป็นครอบครัวแบบคนเดียวในแต่ละที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม เช่น ในอิตาลีราคาที่อยู่อาศัยไม่ได้สูงมากนัก [1]

ครอบครัวที่มีคนเพียงคนเดียวอาจจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะในสังคมก่อนอุตสาหกรรม (pre-industrial) ในยุโรปตะวันตกครอบครัวที่มีคนเพียงคนเดียวพบได้เสมอ แต่มีอยู่ในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก  อาจจะอยู่ที่ประมาณ 1% ของประชากร สัดส่วนนี้ค่อนข้างจะคงที่ แม้กระทั่งในช่วงพัฒนาอุตสาหกรรม ครอบครัวที่มีคนเพียงคนเดียวส่วนใหญ่มักจะเป็นหญิงหม้าย อย่างไรก็ดีสัดส่วนครอบครัวแบบคนเดียวเริ่มค่อยๆ ขยับเพิ่มมากขึ้นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ไล่มาจนถึงประมาณ 17% ในดินแดนของอังกฤษในทศวรรษ 1960

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมาถึงต้นศตวรรษที่ 21 ตัวเลขการอยู่คนเดียวค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น ในนอร์เวย์และสวีเดนสัดส่วนของครอบครัวแบบคนเดียวมีเกือบครึ่ง ในกรุงสตอกโฮล์มประมาณ 60% ของครัวเรือนเป็นแบบคนเดียว ในสหรัฐอเมริกาประมาณเกือบ 30% เมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีสูงกว่า 40% ในทศวรรษ 2010 คนหนุ่มสาวอายุประมาณ 18-34 ในสหรัฐอเมริกาอยู่คนเดียวสูงกว่าทศวรรษ 1950 ถึงประมาณสิบเท่า [2]

โดยประเทศยุโรปเหนือ 40% เป็นครอบครัวแบบคนเดียว ในขณะที่ประเทศยากจนสัดส่วนจะมีเพียงแค่ 1% สำหรับไทยครัวเรือนแบบคนเดียวเพิ่มปริมาณมากขึ้นในปลายทศวรรษ 1980 มีประมาณ 6% แต่ในต้นทศวรรษ 2030 น่าจะมีประมาณ 20% จำนวนมากก็เป็นผู้หญิงสูงอายุที่อยู่คนเดียว โดยส่วนใหญ่ก็เป็นวัยแรงงานประมาณ 75%  เมื่อรายได้เฉลี่ยที่สูงมากขึ้นของประเทศมีสหสัมพันธ์ (correlation) กับการอยู่คนเดียวมากขึ้น [3] ก็ทำให้วิถีชีวิตของการอยู่คนเดียวกลายเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น

จากเทคโนโลยี สถาปัตยกรรม ไล่มาสู่การออกแบบ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ถูกผลิตมาเพื่อคนๆ เดียวมากขึ้น เช่น หนังสือแบบ ‘pocket book’ ที่ออกแบบมาสำหรับคนเดียวๆ ผู้คนสามารถนำหนังสือติดตัวเคลื่อนที่ไปไหนได้สะดวก ห้องพักที่อยู่คนเดียวตามความฝันแบบ Virginia Woolf ที่จะมี A Room of One’s Own (1929) เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน เช่น ชุดทำงานแบบ ‘cubicle’ ที่ออกแบบโดย Robert Propst จากบริษัท Herman Miller ในครึ่งแรกของทศวรรษ 1960 ภาพยนตร์ตลกเสียดสี Playtime (1967) โดยผู้กำกับ Jacques Tati สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของสำนักงานแบบให้คนอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมที่ให้ความเป็นส่วนตัว (privacy) ด้วยการออกแบบสำนักงานแบบใหม่นี้เองก็ทำให้ ‘คนแก่’ ในทศวรรษ 1960 สามารถหลงทางเอาได้ง่ายๆ

การใช้ชีวิตคนเดียวท่ามกลางฝูงชนที่วุ่นวายเป็นไปด้วยการตัดเสียงภายนอกด้วยหูฟัง ถึงแม้ว่าจะปิดตามไม่ได้ก็ตาม แต่หูยังตัดโลกภายนอกออกไปได้ ผลิตภัณฑ์ Walkman ที่ออกตลาดมาใน ค.ศ. 1979 เสริมสร้างชีวิตคนๆ เดียวในเมืองใหญ่ที่แออัดให้มีความสุขได้ ด้วยเทคโนโลยีของการทำลายเสียงข้างนอกรบกวน (noise cancelling) ก็ยิ่งทำให้ไม่ว่าจะเดินหรือจะวิ่งมีความสุขได้มากยิ่งขึ้น ด้วยหูฟังที่ทรงประสิทธิภาพก็ทำให้ชีวิตในเมืองเปรียบประหนึ่งการใช้ชีวิตบนเกาะท่ามกลางทะเลที่บ้าคลั่ง ชีวิตในเมืองที่ไม่มีอะไรมากระทบกระเทือนเพราะได้ตัดขาดจากทุกสิ่งทุกอย่าง

วิถีชีวิตในเมืองใหญ่นั้นที่ดินราคาแพง เช่น ฮ่องกง โตเกียว เป็นต้น ที่อยู่อาศัยเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กๆ ชีวิตของคนต่างถิ่นที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองที่ไม่ได้สนิทชิดเชื้อกับใคร จาก Chungking Express (1994) ไล่มาจนถึง In the Mood for Love (2000) โดยผู้กำกับ Wong Kar Wai หรือจะเป็น Comrades: Almost a Love Story (1996) โดย Peter Chan ต่างบ่งบอกถึงชีวิตที่เหงาโดดเดี่ยว ในขณะที่ผู้คนในห้องเช่าราคาและที่พักรายวันราคาถูกในตึก ‘Chungking Mansion’ บนถนนนาธาน (Nathan Rd.) ย่านชีมสาโจ๊ย ฝั่งเกาลูน นั้นอาศัยอยู่ในห้องที่ไม่ต้องมีแม้กระทั่งหน้าต่าง ถึงกระนั้นก็ดีก็ยังมีผู้คนจากหลากหลายทวีปมาใช้บริการ ไม่ว่าจะมาจากแอฟริกาหรืออินเดียใต้ ความแออัดของที่อยู่อาศัยไม่ได้ให้ความใกล้ชิดสนิทสนมแต่อย่างใด

………..

การใช้ชีวิตอยู่คนเดียวไม่ได้หมายความว่าจะโดดเดี่ยวเหงา ชีวิตสันโดษและชีวิตโดดเดี่ยวเหงาแตกต่างกัน ชีวิตสันโดษพร้อมเสมอที่จะให้ความสงบ ชีวิตสันโดษในขั้นตอนของอาศรมสี่เป็นวัฒนธรรมสำคัญขั้นสูงของอินเดียโบราณ ชีวิตสันโดษในบั้นปลายชีวิตเป็นคุณธรรมของการดำรงชีวิต ในทำนองเดียวกันกับชีวิตนักบวชของคริสต์ศาสนา ชีวิตสันโดษแบบนี้เป็นการได้เลือก ในอดีตชีวิตที่สันโดษท่ามกลางป่าเขาทำให้มนุษย์สามารถเชื่อมต่อเข้ากับโลกแห่งจิตวิญญาณได้

กรอบความคิดแบบ ‘Waldeinsamkeit’ ของเยอรมันเป็นตัวอย่างที่ดีของความสุขที่ได้จากการใช้ ‘ชีวิตสันโดษในป่า’ วิถีชีวิตของเยอรมันกับธรรมชาติที่เป็นที่ชื่นชอบของ Johann Wolfgang von Goethe มาสู่ Hermann Hesse และ Martin Heidegger จนถึง Adolf Hitler [4] การมีบ้านเล็กๆ ในป่าใหญ่เป็นวิถีชีวิตแบบ ‘Waldeinsamkeit’ เช่น กระท่อมบนเขาของ Martin Heidegger เป็นต้น เสียงเพลงและภาพในฉากเริ่มต้นของภาพยนตร์ The Sound of Music (1965) เนื้อร้องของเพลงเปิดฉากสะท้อนถึงสำนึกแบบ ‘Waldeinsamkeit’ “เสียงหัวเราะที่ดังประหนึ่งเสียงลำธารเล็กๆ ที่หยดและตกลงบนหินตามทาง เสียงเพลงที่ดังยามค่ำคืนราวกับเสียงนกลาร์ค (lark) กำลังเรียนรู้ที่จะสวด”

จากศาสนาจนถึงธรรมชาติไม่ได้ทำให้ชีวิตโดดเดี่ยวแม้ว่าจะอยู่ตัวคนเดียว ธรรมชาติที่สื่อสารกับมนุษย์ได้ประหนึ่ง ‘Ent’ ที่เหมือนกับต้นไม้ในนิยาย The Lord of the Rings ต้นไม้ที่พูดและสื่อสารได้ย่อมเป็นเพื่อนที่ดีของ Peter Wohlleben [5] ในวิถีชีวิตแบบ ‘Waldeinsamkeit’ โลกแห่งจิตวิญญาณไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวเอง ถึงแม้ว่าจะอยู่คนเดียวก็ตาม โลกแห่งปัจเจกชนนิยมจึงมีเพื่อนทางจิตวิญญาณในธรรมชาติเสมอ ศาสนาในอดีตไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตแบบปัจเจกชนที่ตอกย้ำความรักที่มอบให้กับตัวเองแต่เพียงผู้เดียวจนพร้อมที่จะกลายเป็นการหลงใหลตัวเอง (narcissism)

………..

ในทศวรรษ 1980 เป็นช่วงแรกๆ ของการสถาปนาเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ในประเทศทุนนิยมมั่งคั่งที่สวัสดิการ (welfare) ต่างๆ ของรัฐค่อยๆ ถูกลดบทบาทลง เช่น สุขภาพให้ไปซื้อประกันแทน เป็นต้น เมื่อปราศจากรัฐสวัสดิการ (welfare state) การอยู่ได้ด้วยตัวเองและช่วยตัวเองจำเป็นที่จะต้องได้รับการตอกย้ำสำนึกในการให้ตัวเองเป็นผู้กล้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ

Everybody searching for a hero

ใครก็ตามวีรบุรุษ

People need someone to look up to

คนต้องการที่จะมีใครสักคนเป็นแบบอย่าง

I never found anyone who fulfill my needs

ฉันก็ไม่เคยพบใครที่ตรงตามความต้องการ

A lonely place to be

โลกที่อยู่จึงแสนจะเหงา

And so I learned to depend on me

ฉันก็เลยเรียนรู้ที่จะพึ่งตัวเอง

ชีวิตที่เหงาและโดดเดี่ยวอยู่แล้วจึงไม่ควรที่จะวิ่งหาใคร เพราะรังแต่จะต้องพึ่งพาใครคนอื่นตลอด แต่ก็ไม่มีใครดีพอที่จะเป็นวีรบุรุษได้นอกจากตัวเราเอง การเฉลิมฉลองวีรบุรุษชีวิตคนเดียวตอกย้ำอุดมการณ์ปัจเจกชนนิยม เส้นทางของการเสริมสร้างอัตตาให้รู้สึกดีๆ กับตัวเองเป็นกระบวนการสร้างอัตตาแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการมนุษย์ในกรอบของเสรีนิยมใหม่ การสร้างตัวตนหรืออัตตาต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย (goal) ที่พึงปรารถนา สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องทำกันมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยการเสริมสร้างสำนึกความภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็น ‘pride’ และ ‘self-esteem’ (ที่ดำเนินตามกรอบคิดของ Abraham Maslow) แนวความคิด ‘self-esteem’ ได้รับการส่งเสริมอย่างมากในรัฐแคลิฟอร์เนียตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เด็กๆ เพื่อทำให้เด็กๆ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ทั้งนี้มีความเชื่อ (ที่รองรับด้วยงานวิจัย) ว่าเด็กๆ ที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองจะเรียนได้ดี ไม่ท้องในช่วงวัยรุ่น เป็นต้น [6]

I believe the children are our future

ฉันเชื่อว่าเด็กจะเป็นอนาคตของพวกเรา

Teach them well and let them lead the way

สอนพวกเขาให้ดีๆ เอาไว้และให้พวกเขานำทาง

Show them all the beauty they possess inside

แสดงให้พวกเขาดูว่าพวกเขามีอะไรที่สวยงามในตัวเอง

Give them a sense of pride to make it easier

ให้พวกเขารู้สึกทระนงในตัวเองเพื่อช่วยทำให้ง่ายขึ้น

ในคราวนี้ ‘pride’ ไม่ได้เป็นบาปชั่วร้ายตามแบบที่คริสต์ศาสนาเคยยึดถืออีกต่อไป เพราะเป็นการหลงตัวเอง ยกย่องตัวเอง ในอดีตคนหลายๆ คนเห็นว่า ‘pride’ เป็นบาปที่ชั่วร้ายที่สุดในบรรดาบาปทั้งเจ็ด ในสภาวะสมัยใหม่ ‘pride’ กลับเป็น “คุณธรรม” ที่จะต้องเสริมสร้างให้กับเด็กๆ ‘pride’ ที่มอบให้กับตัวเองจะนำไปสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความรักในตัวเอง ความรักในตัวเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและก็ทำได้ง่ายๆ

Learning to love yourself

เรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

Is the greatest love of all

นี่เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

‘รักตัวเอง โดยตัวเอง เพื่อตัวเอง และเป็นของตัวเอง’ เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ เมื่อยิ่งใหญ่ได้ในตัวเองก็ยากที่จะสร้างปัญหาที่มาจากคนอื่นๆ เพราะไม่ต้องใช้ความรักจากคนอื่นๆ ‘รักตัวเอง’ เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นี่เป็นความรักที่ใครอื่นไม่สามารถที่จะพรากจากตัวเราไปได้ ความเป็นหนึ่งเดียวในตัวเองที่รักตัวเองโดยตัวเองไม่ต้องการความรักจากใครหรือพึ่งพาใครตอกย้ำและเสริมสร้างความมั่นคงให้กับวิถีปัจเจกชนนิยม

วิถีชีวิตปัจเจกชนแบบอะตอม (atomized individual) นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยใคร ทุกๆ คนอยู่ได้ด้วยการช่วยตัวเองและดูแลตัวเอง วัฒนธรรม ‘self-help’ หรือ ‘วัฒนธรรมช่วยเหลือตัวเองและทำอะไรได้ด้วยตัวเอง’ ที่แพร่หลายอย่างมากตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ในหมู่ประเทศ ‘ทุนนิยมพูดภาษาอังกฤษ’ นั้นช่วยสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับอัตตาที่ยืนหยัดว่าสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง [7]

วิถีชีวิตและชีวิตตามอุดมการณ์ปัจเจกชนนิยมที่เพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ได้รับการสรรเสริญยกย่องถึงความยิ่งใหญ่ของอัตตา ดังราวกับว่าตัวเองเป็นตัวละครวีรบุรุษผู้เดินทางไกลออกไปผจญภัยด้วยตัวเองเพียงคนเดียวโดยปราศจากความโดดเดี่ยวและเหงา เช่น ตัวละครผู้ชายในนิยายและภาพยนตร์คาวบอยตะวันตก เช่น Shane (1953) เป็นต้น

วิถีชีวิตของมือปืนพเนจรมาจนถึงกระบี่พเนจรอันดับใดก็ตามของนิยายจีนกำลังภายในก็ดำเนินชีวิตแบบ “ข้ามาคนเดียว ข้าไปคนเดียว” นี่เป็นวิถีแห่งวีรบุรุษและวีรสตรีที่ได้รับการเชิดชู แม้ว่าทั้งหมดนี้จะอยู่ในนวนิยายก็ตาม

เชิงอรรถ

[1] “Top 10 Loneliest Countries in the World,” https://www.immigroup.com/news/top-10-loneliest-countries-world. Accessed 20 March 2021.

[2]  K. D. M. Snell. “The rise of living alone and loneliness in history,” Social History. Vol. 42, No. 1 (2017), pp. 2-28. https://doi.org/10.1080/03071022.2017.1256093.

[3] Esteban Ortiz-Ospina. “The rise of living alone: how one-person households are becoming increasingly common around the world,” Our World in Data. (December 10, 2019). https://ourworldindata.org/living-alone. Accessed 20 March 2021.

[4] Mike MacEacheran. “Waldeinsamkeit: Germany’s cherished forest tradition,” BBC. 16 March 2021. https://www.bbc.com/travel/article/20210314-waldeinsamkeit-germanys-cherished-forest-tradition. Accessed 22 March 2021.

[5] หนังสือที่ขายได้นับเป็นล้านๆ เล่ม โดยแปลมาจากภาษาเยอรมัน Peter Wohlleben. The Hidden Life of Trees: What They Feel, How They Communicate. translated by Jay Billinghurst. (Vancouver : Greystone Books, 2016).

[6] Will Storr. “ ‘It was quasi-religious’: the great self-esteem con,” The Guardian. (Sat 3 Jun 2017). https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2017/jun/03/quasi-religious-great-self-esteem-con. Accessed 20 March, 2021.

[7] Mercè Mur Effing. “The Origin and Development of Self-Help Literature in the United States: The Concept of Success and Happiness, An Overview,” Atlantis. Vol. 31, No. 2 (Diciembre 2009), pp. 125-141; Beth Blum. The Self-Help Compulsion: Searching for Advice in Modern Literature. (New York : Columbia University Press, 2020).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2565