คำแสดงจำนวนของไทย จาก หน่วย-สิบ-ร้อย-พัน-หมื่น-แสน-ล้าน ถึง โกฏิ-อสงไขย

จิตรกรรมฝาผนัง ภายใน พระอุโบสถ วัดไชโยวรวิหาร อ่างทอง
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง

ทุกวันนี้ เราจะพูด คำแสดงจำนวน ที่ใช้กันว่า หน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน กันอย่างคุ้นเคย แต่หากเกินหลัก ล้าน เราก็จะพูดว่า สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน ฯลฯ แต่ยังมีคำแสดงจำนวนที่มากกว่าหลักล้านอยู่อีก นั่นคือ โกฏิ

โกฏิ เป็น คำแสดงจำนวน 10,000,000 (สิบล้าน) คือ เลข 1 มี 0 ตามหลัง 7 ตัว แต่ไม่นิยมพูดคำนี้กัน ก็มักพูดว่า “ฉันมีเงินสิบล้านบาท” มากกว่าจะพูดว่า “ฉันมีเงินโกฏิบาท” คำว่า โกฏิ จึงมักใช้กันในความหมายว่า มากมาย หรือ นานมาก

โดยถัดจาก โกฏิ ก็จะเป็น ปโกฏิ, โกฏิปโกฏิ, นหุต, นินหุต และอักโขภิณี คือ เลข 1 มี 0 ตามหลัง 42 ตัว (จะเพิ่มเลข 0 ขึ้นครั้งละ 7 ตัว)

คำว่า อักโขภิณี นี้ ก็เป็นที่มาของคำว่า “โข” ที่มักพูดว่า “เขามีเงินอยู่มากโข” คำว่า โข ก็หมายความว่า มากมายมหาศาล นั่นเอง

ถัดจาก อักโขภิณี ก็จะเป็น พินทุ, อัพพุทะ, นิรัพพุทะ, อหหะ, อพพะ, อฏฏะ, โสคันธิกะ, อุปละ, กมุทะ, ปทุมะ, ปุณฑริกะ, อกถานะ, มหากถานะ และคำสุดท้ายคือ อสงไขย คือ โกฏิยกกำลัง 20 หรือก็คือ เลข 1 มี 0 ตามหลัง 140 ตัว

100,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000,000

คำแสดงจำนวนเหล่านี้ถูกเรียบเรียงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2414 ภายหลังจากการก่อตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งตำราแบบเรียนหลวงขึ้นเพื่อใช้ในโรงเรียน แบบเรียนนี้ประกอบด้วยตำรา 6 เล่มที่แยกเนื้อหาออกเป็นเรื่อง ๆ คือ มูลบทบรรพกิจ, วาหนิติ์นิกร, อักษรประโยค, สังโยคพิธาน, ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์

โดยในตอนท้ายของ “มูลบทบรรพกิจ” กล่าวถึงวิธีนับจำนวน ซึ่งมีคำศัพท์แสดงจำนวนต่อจากคำว่า ล้าน เอาไว้อีกเป็นจำนวนมาก

คำแสดงจำนวน ที่มากกว่าคำว่า ล้าน จึงมักถูกนำมาใช้เป็นคำเปรียบเทียบ หมายถึง ช่วงเวลายาวนานจนไม่สามารถจะนับได้-ตราบนานอสงไขยเวลา หรือจำนวนที่มีมหาศาลจนไม่อาจนับได้-มีเงินทองมากโข (อักโขภิณี) และไม่นิยมใช้ โกฏิ ปโกฏิ……..อกถานะ มหากถานะ อสงไขย มาใช้พูดเป็นคำแสดงจำนวน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นิตยา กาญจนะวรรณ. (2559). คำแสดงจำนวนของไทย. มติชนสุดสัปดาห์, 11 มีนาคม 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2565