รู้จัก คบเพลิง ตะคัน ตะเกียง ไต้ เครื่องตามไฟของคนยุคโบราณ ก่อนมีน้ำมันและก๊าซ

ตะเกียงโรมันสำริด พบที่ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

หลังจากที่มนุษย์ค้นพบการจุดไฟแล้วได้นำไฟมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งที่ใช้ความร้อนและแสงสว่าง จนเกิดเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับความร้อน (pyrotechnology) ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้นอย่างมาก การนำแสงสว่างมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นสิ่งที่น่าศึกษา โดยเฉพาะการใช้แสงจากไฟยุคแรก ๆ ก่อนที่จะค้นพบเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูงประเภทน้ำมันและก๊าซ มนุษย์ในอดีตพยายามหาเชื้อเพลิงจากวัตถุดิบพื้นบ้านเท่าที่หาได้จากธรรมชาติในแต่ละท้องถิ่นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ไฟลุกอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ประโยชน์จากแสงไฟนั้น ไฟที่ลุกอย่างต่อเนื่องเป็นเครื่องให้แสงสว่างในอดีตเรียกว่า “เครื่องตามไฟ”

เครื่องตามไฟยุคแรกสุดของมนุษย์คือ การก่อกองไฟด้วยฟืน แต่แสงสว่างจากกองไฟนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ตั้งแต่ต้องคอยเติมฟืนเพื่อให้ไฟลุกอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปตามที่ต่าง ๆ ได้ตามต้องการ ข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้มนุษย์พยายามพัฒนาเครื่องตามไฟให้มีความสะดวกสอดคล้องกับการใช้สอย เครื่องตามไฟที่น่าจะเป็นสิ่งที่พัฒนาต่อมาจากการก่อกองไฟคือ เครื่องตามไฟที่มีลักษณะเป็น “คบไฟ” หรือ “คบเพลิง”

คบไฟยุคแรกอาจจะใช้ท่อนไม้ที่ติดไฟง่ายและลุกไหม้ได้ดีมาจุดไฟที่ปลายด้านหนึ่งแล้วถือเป็นเครื่องให้แสงสว่างไปตามที่ต่าง ๆ หรืออาจจะปักไว้กับที่ก็ได้ แต่คบไฟที่ทำจากดุ้นฟืนก็มีข้อจำกัดคือ อาจจะติดไฟยากและลุกไหม้อยู่ได้ไม่นาน มนุษย์จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้เชื้อไฟที่ติดไฟง่าย เช่น ใบไม้แห้ง เปลือกไม้แห้ง เศษไม้ มามัดรวมกันเป็นดุ้น เพื่อให้ไฟลุกไหม้ได้ดีและสามารถถือไปตามที่ต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น คบไฟหรือคบเพลิงอาจเป็นที่มาของความคิดในการทำ “ไต้” ซึ่งเป็นเครื่องตามไฟพื้นบ้านที่คนไทยใช้กันมาแต่โบราณ

เครื่องตามไฟเก่าแก่อีกชนิดหนึ่งที่พบว่า มีใช้กันมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 คือ “ตะคัน” เป็นภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็ก ๆ มีหลายแบบ แบบหนึ่งที่ปากเป็นจะงอยยื่นออกมาเล็กน้อย อาจเป็นที่วางไส้สำหรับจุดไฟ ภาชนะดินเผาเหล่านี้ สันนิษฐานกันว่าใช้สำหรับตามไฟ โดยใช้ไขสัตว์หรือน้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง มีไส้ทำด้วยด้ายช่วยให้ไฟติดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตะคันดินเผาแบบโบราณนี้พบตามแหล่งโบราณสถานในประเทศไทยหลายแห่ง ได้แก่ ตะคันดินเผาที่บ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ประมาณว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 ตะคันดินเผาที่บ้านคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นตะคันสมัยทวารวดี มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 เป็นต้น

รูปแบบของตะคันได้รับการพัฒนาเรื่อยมาเป็นลำดับเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทำรูสำหรับสอดไส้ไว้ที่ขอบปากเพื่อไม่ให้ไส้จมลงไปในไขเมื่อไขละลาย หรือทำเป็นหลอดสำหรับสอดไส้ไว้ตรงกลางเพื่อให้ไฟลุกเป็นเปลวอยู่ตรงกลางและกระจายแสงออกได้โดยรอบ จนถึงการพัฒนารูปทรงของตะคันให้มีความสวยงาม ด้วยการทำลวดลายภายนอกให้สวยงามหรือทำให้มีเชิงหรือตีนเพื่อให้ตั้งได้มั่นคงและสูงจากพื้น ซึ่งจะช่วยให้แสงกระจายออกโดยรอบได้ดียิ่งขึ้น

ตะคันเป็นเครื่องตามไฟที่คนไทยคงใช้ติดต่อกันมาช้านาน เพราะพบตะคันดินเผาตามแหล่งโบราณสถานแทบทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นสมัยสุโขทัย อยุธยา หรือสมัยรัตนโกสินทร์ก็ตาม การตามไฟนั้น นอกจากจะใช้ให้แสงสว่างในชีวิตประจำวันแล้ว คนไทยยังนิยมตามประทีป หรือตามไฟในพิธีต่าง ๆ เพื่อเป็นการบูชาสิ่งที่ตนเคารพนับถือด้วย

ตะคัน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540)

ตะคันเป็นเครื่องตามไฟที่เป็นต้นกำเนิดของ “ตะเกียง” ซึ่งเป็นเครื่องตามไฟที่มีแนวคิดเหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากไขสัตว์หรือน้ำมันพืชอย่างน้ำมันมะพร้าวมาเป็นน้ำมันก๊าซ ซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ค้นพบใหม่ แต่ลักษณะของตะเกียงก็เหมือนกับตะคันนั่นเอง

ตะเกียงเกิดขึ้นสมัยใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ตะเกียงโบราณที่พบในประเทศไทยนั้น เป็นตะเกียงโรมัน ทำด้วยสำริด สูงประมาณ 27 เซนติเมตร พบที่ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี รูปร่างคล้ายกาน้ำ มีกระเปาะสำหรับใส่น้ำมันและมีส่วนที่ยื่นออกมาคล้ายถ้วยสำหรับใส่ไส้จุดไฟ มีด้ามงอนเป็นรูปลายใบปาล์มและปลาโลมาสองตัวหันหน้าชนกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ตะเกียงนี้อาจจะหล่อที่เมืองอเล็กซานเดรียในประเทศอียิปต์ ก่อนพุทธศตวรรษที่ 6 ในสมัยที่ชาวโรมันเข้าไปปกครองอียิปต์ ส่วนผู้ที่นำตะเกียงสำริดนี้เข้ามาในประเทศไทยคงเป็นชาวอินเดีย ที่เข้ามาค้าขายกับชาวพื้นเมืองในสมัยนั้น

นอกจากตะเกียงโรมันดังกล่าวแล้ว นักโบราณคดียังพบตะเกียงดินเผาแบบกรีก-โรมัน ในอินเดีย พม่า และบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตะเกียงดินเผาเหล่านี้ พ่อค้าชาวอินเดียอาจจะนำเข้ามาเมื่อเดินทางเข้ามาค้าขายกับชนพื้นเมืองตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 6-7 หากพิจารณารูปแบบของตะเกียงดินเผาและตะคันแล้ว จะเห็นว่ามีรูปร่างและการใช้งานที่คล้ายกันมาก เพียงแต่ตะเกียงมีกระเปาะสำหรับใส่น้ำมันและมีจะงอยสำหรับสอดไส้ไม่ให้ไส้จมลงไปในน้ำมัน ช่วยให้ไฟลุกไหม้ได้ดีกว่าตะคัน

ตะเกียงที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้กันในชนบทเมื่อประมาณ 40-50 ปีนั้น แนวคิดหลักไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพียงแต่เปลี่ยนจากการใช้ภาชนะดินเผามาเป็นภาชนะอื่นที่ผลิตได้ตามยุคสมัย เช่น ตะเกียงพื้นบ้านที่ชาวบ้านทำจากกระป๋องนม ตะเกียงที่ทำจากขวดแก้วรูปทรงต่าง ๆ ที่ทำเป็นตะเกียงโดยตรง ฯลฯ

แม้ตะเกียงจะเป็นเครื่องตามไฟพื้นบ้านที่ใช้ประโยชน์ได้ดีก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น จะดับเมื่อลมแรง ชาวบ้านจึงแก้ปัญหาอย่างง่าย ๆ โดยเอาตะเกียงใส่ในตะกร้าตาห่าง เพื่อชะลอความแรงของลม ช่วยให้ตะเกียงไม่ดับเมื่อถูกลม ต่อมา ชาวบ้านได้พัฒนาเครื่องป้องกันลมมาเป็นโคมอย่างง่าย ๆ โดยทำเป็นกล่องไม้ สังกะสี เจาะรูให้อากาศผ่านได้และเปิดด้านหนึ่งไว้ให้แสงออก ตะเกียงชนิดนี้ใช้เป็นเครื่องให้แสงสว่างในการเดินทาง ใช้ส่องปลา ใช้ส่องกบเวลากลางคืน

ตะเกียงโคมโบราณแบบตะวันตก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540)

จากตะเกียงที่มีเครื่องบังลมนี้ ต่อมาได้พัฒนาเป็น “โคม” แบบต่าง ๆ เช่น โคมล้อ โคมลอย ของภาคเหนือ และตะเกียงรังสะโละของภาคใต้ และพัฒนาต่อมาเป็นตะเกียงโคม ตะเกียงรั้ว และตะเกียงลาน ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จนถึงตะเกียงเจ้าพายุ ซึ่งเป็นตะเกียงที่พัฒนาทั้งการใช้ไส้ และการเผาไหม้น้ำมันด้วยนมหนูที่ฉีดน้ำมันเป็นฝอยอย่างต่อเนื่อง ตะเกียงชนิดนี้ให้แสงสว่างได้มาก จึงนิยมใช้กันในงานพิธีต่าง ๆ ตะเกียงเจ้าพายุนี้ บางที่ชาวบ้านเรียกตามชื่อของบริษัทผู้ผลิต เช่น ตะเกียงอีดา (AIDA) จาประเทศเยอรมัน เป็นต้น นอกจากตะเกียงเจ้าพายุแล้ว ยังมีผู้สั่งซื้อตะเกียงโคมแบบต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาใช้กันตามวัง วัด และบ้านคหบดี อย่างแพร่หลาย

เครื่องตามไฟพื้นบ้านที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยในชนบทใช้กันทั่วไปมาช้านานคือ “ไต้” ซึ่งเป็นเครื่องให้แสงสว่างที่ทำจากวัตถุดิบพื้นบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยใช้ “น้ำมันยาง” หรือน้ำมันจากต้นยาง (การเอาน้ำมันจากต้นยาง จะต้องเจาะโคนต้นยางให้เป็นหลุมลึกรูปสามเหลี่ยม พอจะตักน้ำมันได้ จากนั้นใช้กาบมะพร้าวหรือฟางข้าวสุมจนกระทั่งน้ำมันจากต้นยางไหลลงไปในช่องที่เจาะไว้ ทิ้งไว้สัก 2-3 วันน้ำมันยางจะไหลลงมาจนตักไปใช้ได้ น้ำมันยางมักใช้ทำไต้ ใช้ทาเครื่องจักสาน ผสมกับชันใช้ยาเรือหรืออุดรูรั่วต่าง ๆ) เป็นส่วนประกอบสำคัญ อาจจะคลุกกับเชื้อไฟอย่างอื่นเพื่อให้เหนียวพอที่จะทำเป็นดุ้น ๆ ได้ ในภาคใต้มักคลุกกับเปลือกต้นเสม็ดแล้วห่อด้วยใบไม้แห้ง เช่น ใบเตย กาบหมาก ทำเป็นดุ้นยาว ๆ เรียก “ลำ” ขนาดของลำไต้จะเล็กใหญ่ และยาวต่างกันไปตามความต้องการใช้สอย

ไต้ที่ใช้กันทั่วไปมีหลายขนาดและเรียกชื่อต่างกันไป โดยเฉพาะไต้ของภาคใต้นั้นทำกันแพร่หลายในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2441 ถึงกับผลิตเป็นสินค้าออกทีเดียว ไต้ในภาคใต้มีหลายชนิด เช่น ไต้เล็ก หรือไต้ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ยาวไม่เกิน 15 นิ้ว ไต้เสือมาย เป็นไม้ขนาดใหญ่ ใช้น้ำมันยางใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ยาวประมาณ 2 ศอก ใช้จุดไว้ตามสวนลางสาด สวนเงาะ เพื่อไล่ค้างคาวแม่ไก่ไม่ให้มากินผลไม้ตอนกลางคืน หรือจุดตามงานวัด งานบุญต่าง ๆ หรือจุดป้องกันขโมย ไต้หน้าช้าง ไต้ขนาดใหญ่เท่าต้นมะพร้าว ใช้น้ำมันยางคลุกกับไม้ผุ ๆ และใบปอจง นวดให้เข้ากันแล้วห่อด้วยลำไม้ไผ่ที่ทุบให้แตกอย่างไม้ฟาก มัดเป็นเปลาะ ๆ แล้วห่อด้วยใบเตย ไต้ชนิดนี้ใช้จุดเวลามีงานสำคัญที่ต้องการแสงสว่างมาก ๆ

ไต้เป็นเครื่องตามไฟที่ทำใช้กันในชนบททุกภาค แต่ส่วนผสม ขนาด จะแตกต่างกันไป แม้ไต้จะเป็นเครื่องตามไฟที่ชาวบ้านทำใช้เองได้และมีราคาถูกก็ตาม แต่ไต้ก็มีข้อเสียคือ มีควันมาก เมื่อจุดแล้วจะมีกากที่เหลือจากการลุกไหม้ เรียก “ขี้ไต้” ร่วงหล่นลงมา ดังนั้น ชาวบ้านจึงทำที่สำหรับปักไต้ให้มีที่รองรับขี้ไต้ อาจจะทำด้วยไม้หรือดินเผา ที่ปักไต้มีรูปร่างและเรียกต่าง ๆ กัน เช่น ภาคใต้เรียก “ตีนไต้” ทำด้วยไม้รูปร่างคล้ายเกือกม้า มีขอบ มีด้ามสำหรับถือโค้งคล้ายคันไถ ตรงกลางมีเหล็กแหลมปักไว้สำหรับเสียบไต้ ตีนไต้จะช่วยให้ยกเคลื่อนย้ายไต้ที่ติดไฟอยู่ไปตามที่ต่าง ๆ ได้สะดวก และขี้ไต้จะร่วงหล่นอยู่ในตีนไต้ไม่เลอะเทอะ

ที่ปักไต้ในภาคต่าง ๆ มีทั้งที่ทำด้วยไม้และดินเผา มักทำเป็นรูปร่างแตกต่างกัน แต่รูปแบบหลัก ๆ จะคล้ายกันคือ มีที่สำหรับปักไต้ อาจจะใช้เสียบเข้ากับเหล็กแหลม หรือเสียบเข้าไปในกระบอกหรือช่องที่ทำไว้เพื่อให้ลำไต้ตั้งอยู่ได้ ที่ปักไต้จะต้องมีฐานหรือตีนเป็นที่รับขี้ไต้ไม่ให้ร่วงหล่นลงบนพื้นหรือตกลงบนเท้าคน เพราะขี้ไต้จะมีสีดำ เหนียว และร้อน จึงต้องมีที่รองรับ ที่ปักไต้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก “โฮงไต้” หรือ “โฮงขี้ไต้”

ที่ปักไต้ทำด้วยดินเผา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540)

ทุกวันนี้แม้ชาวบ้านจะไม่ใช้ไต้เป็นเครื่องตามไฟแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางท้องถิ่นยังใช้ได้เป็น “เชื้อไฟ” สำหรับจุดไฟในครัวเรือน โดยตัดเป็นท่อนเล็ก ๆ สำหรับจุดไฟในเตาฟืนและเตาถ่าน ซึ่งช่วยให้ยังมีผู้ทำได้ขายอยู่และมักทำไต้ลำเล็กมัดรวมกันเป็นแพ ๆ หรือทำเป็นมัด ๆ อาจจะมีสามลำหรือหกลำขายเพื่อให้ชาวบ้านซื้อไปทำเชื้อไฟ หรือในบางโอกาส ชาวบ้านก็ยังใช้ได้ส่องทาง เพราะให้แสงสว่างและโต้ลมได้ดีกว่าตะเกียง หรือใช้เป็นเครื่องตามไฟส่องปลา ส่องกบตามทุ่งนา

เครื่องตามไฟชนิดต่าง ๆ ดังกล่าว แสดงให้เห็นแนวคิดในการใช้แสงสว่างจากไฟของคนไทย ทั้งที่ประดิษฐ์คิดขึ้นเองตามสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตน และประดิษฐ์ขึ้นจากอิทธิพลทางความคิดที่ได้รับมาจากต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นอดีตของคนไทยที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เครื่องตามไฟพื้นบ้าน” เขียนโดน วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2565