ตามรอยพิธีกรรมโบราณ การบูชาน้ำ-ขอฝน ที่อำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่

“สะนันตุ พะละโต ดูการาเทพยดาทั้งหลาย มีภุมมะเทวดา รุกขะเทวดา อากาศะเทวดา และแม่ธรณีเจ้าแม่คงคาทั้งหลาย อันอยู่รักษาต้นน้ำและแม่น้ำน้อยใหญ่ทุกเส้นทุกสาย บัดนี้ข้าทั้งหลาย ได้มาขอสักการบูชาถึงแก่ท่านทุกตน ๆ จงมารับเอายังเครื่องสักการบูชาทั้งหลายทั้งมวลฝูงนี้”

“แล้วท่านทั้งหลายจงเสด็จลีลามาสู่ที่อยู่แห่งตน ขอหื้อกำจัดปัดเป่า สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย อันเกิดแต่แม่น้ำไหลบ่ามาท่วมบ้านเรือน ไร่นา แห่งผู้ข้าทั้งหลาย ขอให้ตกไปตามแม่น้ำใหญ่ไหลไปเมืองใต้ขอบฟ้าจักรวาล พ้นแด่เตอะ”

“ตั้งแต่ยามนี้ วันนี้ไปภายหน้า ขอหื้อผู้ข้าทั้งหลายอันเป็นเจ้าเครื่องขิยา บูชาพ้นเสียยัง เคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์วัน เคราะห์ยาม อุปปะตะวะกังวลอนตรายทั้งหลาย ขอหื้อผู้ข้าทุกผู้ทุกคน จงอยู่เย็นเป็นสุข พ้นจากวาตภัย อุทกภัย อัคคีภัย โจรภัยทั้งหลาย”

“หื้อได้อยู่ดีกินดี มีอายุยืนยาว แม้นว่าทำไร่ ทำนา ทำสวน ก็ขอหื้อได้ผลได้ข้าว เต็มเม็ดเต็มหน่วย มั่งมูลต้นข้าวมีลูกมีเต้าก็ขอหื้อสอนง่ายดั่งใจ ไปทิศะหนใดก็มีผู้แบ่งยื่นแบ่งปัน เงินคำหื้อไหลดั่งข้าว หื้อได้เป็นเจ้าเงินเจ้าคำ เที่ยงแต้จิ่มดีหลีแต้เตอะ”

คำบูชานี้ พ่อหนานสุวรรณนัคคีย์ มัคนายกของวัดยางหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ แต่งไว้เพื่อใช้ในการบูชาแม่น้ำซึ่งเป็นพิธีกรรมดั้งเดิม จะจัดขึ้นเฉพาะเมื่อมีเหตุน้ำท่วมบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา มักจะจัดขึ้นในเดือน 11 เหนือ หรือเดือนสิงหาคม

…ภาวะน้ำท่วมเรือกสวนไร่นา บ้านเรือนอยู่เป็นประจำ น้ำที่พัดมาจากที่สูงก็ไม่ใสเหมือนดังเก่าก่อน กลับมีตะกอนดินโคลนขุ่นข้น เศษไม้ต่าง ๆ ปะปนมากับกระแสน้ำ เป็นสัญญาณว่ามีเหตุผิดปกติกับป่าต้นน้ำ ชาวบ้านยางหลวงจึงได้รวมตัวกันจัดพิธีบูชาน้ำขึ้นอีกครั้ง

ตอนเช้ากลุ่มคนเฒ่าคนแก่ที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว จะเป็นผู้ประกอบ “ยอมย่อ” ซึ่งเป็นเสา 3 ต้นเอาปลายมัดรวมกัน ตรงกลางทำเป็นแคร่ สำหรับวางของบูชา มีของบูชาอันประกอบด้วย ค้วก-ใบตองตึง ห่อของคาว ของหวาน หมากเมี่ยง กล้วย อ้อย โภชนาอาหารจัดวางไว้ในสะตวง (กระทงรูปสามเหลี่ยมทำจากกาบกล้วย)

ส่วนบนของร้านดอกไม้ หรือ “ยอมย่อ” นี้ จะเปรียบเสมือนต้นน้ำใหญ่ที่ไหลลงมายัง “สวย” หรือกรวยใส่ดอกไม้ เทียน เสาละ 12 กรวย ซึ่ง เท่ากับ 36 สาขาของน้ำแม่แจ่ม ซึ่งรวมกันไหลสู่แม่น้ำปิง

ด้านบนยังประดับ “ตุง” หรือ ธง และ “ช่อ” ซึ่งเป็นของบูชา ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้อื่น ๆ ก็ได้ ช่อนั้นเหมือนธงสามเหลี่ยม มีสีฟ้า ซึ่งหมายถึงท้องฟ้าอากาศ และสีแดงซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์ ที่ทำให้เกิดเมฆเกิดฝน

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538)

จากนั้นในตอนบ่าย ชาวบ้านจึงแห่ยอมย่อ 3 อันไปวางไว้ที่ลำน้ำ เพื่อบูชาแม่คงคา แม่ธรณี และเจ้าป่า เจ้าเขา บนฝั่งนั้นจะตั้งเสามีปีกไม้ แยกออกไป 4 ทิศ ในพิธีจะใช้กระทงใบตอง 6 ใบ ใบหนึ่งจะวางไว้ที่พื้นดินเพื่ออัญเชิญพระแม่ธรณี อีก 5 ใบตั้งบนเสาเพื่อบูชาเทวดา ซึ่งประกอบด้วย พระยาอินทราธิราช เป็นประธาน ท้าวจตุโลกบาล ซึ่งเป็นเทวดารักษาทุกข์สุขของมนุษย์ ทั้ง 4 ทิศ อันมี ท้าวกุเวร-ทิศเหนือ ท้าวธตะรัฐ-ทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก-ทิศใต้ และท้าววิรุฬปักษ์-ทิศตะวันตก โดยจะกล่าวคำอัญเชิญดังข้างต้น จากนั้นพระสงฆ์สวดพุทธมนต์ ให้ศีล ให้พรเทวดาและชาวบ้านให้มีความสุขความเจริญ และขับไล่เสนียดจัญไรต่าง ๆ เป็นอันเสร็จพิธี

ในส่วนของพิธีสวดขอฝนนั้น พ่อน้อยตาคำ วงศ์ซื่อ เล่าว่า ตั้งแต่เกิดจนอายุ 66 ปีแล้ว [พ.ศ. 2538 – กองบก.ศิลปวัฒนธรรม] เคยเข้าร่วมในพิธีนี้เพียง 3 ครั้งเท่านั้นเอง โดยเมื่อเกิดฝนแล้งติดต่อกันหลาย ๆ ปีก็จะมีการปรึกษากันว่าควรจะต้องทำพิธีขอฝนแล้ว ซึ่งจะทำเมื่อใดก็ได้

พิธีจะเริ่มที่วัดตั้งแต่เช้า โดยชาวบ้านร่วมกันขุดสระน้ำสี่เหลี่ยมที่หน้าโบสถ์ ตั้งเสาสี่เสา ผูกเป็นซุ้มดอกไม้ ซึ่งดอกไม้ เทียนนั้นเป็นเก้า หรือของหลักที่ต้องมี โดยเฉพาะดอกพุทธรักษา และใบโกศล (ชาวบ้านจะออกเสียงว่า “ใบกุศล” อันเป็นความเชื่อว่าเป็นสิ่งดี)

แต่ละเสาจะมีสะตวง บูชาท้าวทั้ง 4 เหมือนพิธีบูชาน้ำ เปรียบเหมือนต้นไม้ 4 ต้น จากนั้นแกะไม้เป็นตัว นกยาง 1 กา 1 นกก้นหอย 1 เหยี่ยว 1 มาจับไว้ที่ต้นไม้ ในสระนำไม้มากน้ำนอง มาแกะเป็นปลาช่อนตัวหนึ่ง ไม้อีลุม (ไม้มะรุม) มาแกะเป็นปลาช่อนอีกตัวหนึ่ง นำมาลอยที่สระ ข้างสระตั้งศาลเพียงตา มีข้าวตอก ดอกไม้ โภชนาอาหาร เป็นของบูชา ศรัทธาวัดก็จะอ่านคัมภีร์บูชา ประชุมเทวบุตรขอฝน

พระสงฆ์ 9 รูปก็จะสวดคาถาขอฝน ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์ใบลานของวัด 108 คาบ ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง ระหว่างนั้นต้องไม่ปล่อยให้น้ำแห้ง มิฉะนั้นนกจะมากินปลา พิธีจะไม่ได้ผล สวดเสร็จพิธีก็จบเพียงเท่านี้

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538)

ทั้งพิธีบูชาน้ำและพิธีขอฝนนั้นเป็นความเชื่อเก่าแก่ของชาวล้านนา แฝงไว้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ พิธีเหล่านี้ยังพอพบเห็นได้ในเมืองเล็ก ๆ ที่คนยังมีความเชื่อในฮีตฮอย จารีตประเพณีโบราณ

เมื่ออารยธรรมจากต่างถิ่นไหลบ่าเข้ามา อีกไม่นานพิธีกรรมเหล่านี้ก็คงเป็นเพียงตำนาน ดังประเพณีของอีกหลายพื้นที่ที่วันนี้ได้กลายเป็นอดีต หรือถูกดัดแปลงจนกลายเป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวไปเสียแล้ว

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “บูชาแม่น้ำ-ขอฝน พิธีโบราณที่แม่แจ่ม” เขียนโดย มนตร์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2565