ลีลา “ศอก” 7 ท่วงท่า อาวุธเด็ดของ “แม่ไม้มวยไทย”

ลักษณะการออกอาวุธแม่ไม้ศอก (ภาพซ้ายจาก www.saranukromthai.or.th, ภาพขวาจาก หนังสือ มวยไทยรัตนโกสินทร์ ศาสตร์และศิลปะแห่งการต่อสู้ (ฉบับสมบูรณ์))

หมัด เท้า เข่า ศอก เป็นศิลปะการใช้อาวุธของ “แม่ไม้มวยไทย” ที่สำคัญในการรุกและรับ

ในที่นี้จะกล่าวถึงท่วงท่าทั้ง 7 ของ “แม่ไม้ศอก” อาวุธสำคัญที่หนักหน่วงไม่แพ้หมัด

ฝานลูกบวบ

จุดส่งพลัง : ปุ่มกระดูกปลายศอก, จุดรุกตี : ปลายคาง กราม ลิ้นปี่

ศอกนำและศอกตาม

1. ยกศอกขึ้นตวัดไปข้างหน้า โดยให้ฝ่ามือ (กำหมัด) เฉียดใบหูไปข้างหลัง พร้อมกับยกอกและลำตัวผลักดันไปข้างหน้า เล็งจุดส่งพลังเข้าปะทะจุดรุกติ

2. ดึงศอกกลับมาอยู่ในท่าจรดมวย

นาคาเคลื่อนกาย (ศอกเหวี่ยง)

จุดส่งพลัง : ปุ่มกระดูกปลายศอก, จุดรุกตี : โหนกแก้ม กกหู ปลายคาง ราวนม ชายโครง

ศอกนำและศอกตาม

1. ยกศอกขึ้นตั้งฉากกับลำตัว

2. บิดลำตัวข้างที่ยกศอกไปข้างหลังประมาณ 45 องศา

3. เอนตัวไปด้านหลังพออกตึง

4. บิดสะบัดลำตัวไปข้างหน้าพร้อมกับตวัดศอกไปข้างหน้า ลักษณะเหวี่ยงขนานกับพื้น เล็งจุดส่งพลังเข้าปะทะจุดรุกตี มีลักษณะเฉือนหรือเฉียดปนอยู่

5. ดึงศอกกลับมาอยู่ในท่าจรดมวย

อินทรชิตฟาดคันศร (ศอกเหวี่ยงคำ)

จุดส่งพลัง : ปุ่มกระดูกปลายศอก, จุดรุกตี : บริเวณใบหน้า กกหู ปลายคาง ทัดดอกไม้ ไหปลาร้า

ศอกนำและศอกตาม

1. ยกศอกขึ้นทางข้างลำตัวเล็กน้อย

2. บิดลำตัวข้างที่ยกศอกไปข้างหลังประมาณ 45 องศา

3. เอนตัวไปด้านหลังพออกตึง

4. บิดสะบัดลำตัวไปข้างหน้าพร้อมกับตวัดศอกขึ้นสูง ลักษณะเหวี่ยงคว่ำ (คล้ายขอเกี่ยวจากด้านข้าง) กดลงไปที่จุดรุกตี บิดลำตัวช่วยส่งพลัง

5. ดึงศอกกลับมาอยู่ในท่าจรดมวย

(ซ้าย) ท่า นาคาเคลื่อนกาย (ขวา) ท่า อินทรชิตฟาดคันศร (ภาพจาก หนังสือ มวยไทยรัตนโกสินทร์ ศาสตร์และศิลปะแห่งการต่อสู้ (ฉบับสมบูรณ์))

อิเหนาแทงกริช (ศอกอัด)

จุดส่งพลัง : ปุ่มกระดูกปลายศอกและกระดูกท่อนแขน, จุดรุกตี : ลิ้นปี่ ชายโครง ราวนม ยอดอก

ศอกนำและศอกตาม

1. ย่อเข่า ก้มตัวลงเล็กน้อย

2. ยกศอกขึ้นตวัดไปข้างหน้าประมาณครึ่งวง (90 องศา)

3. ดันหัวไหล่และลำตัวไปข้าง โดยเล็งให้จุดส่งพลังปะทะจุดรุกตี

4. ดึงศอกกลับมาอยู่ในท่าจรดมวย

ฤาษีบดยา (ศอกปัก)

จุดส่งพลัง : ปุ่มกระดูกปลายศอก, จุดรุกตี : กระหม่อม ไหปลาร้า กระดูกหัวไหล่

ศอกนำและศอกตาม

1. ยกศอกนำขึ้นตั้งสูงให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับยกเท้านำ (เท้าหน้า) ขึ้นให้สูงจากพื้นประมาณ 1 ศอก เขย่งเท้าตาม (เท้าหลัง)

2. ปักศอกยังจุดรุกตี พร้อมกับกระทืบเท้าที่ยกไปข้างหน้า

3. ดึงศอกกลับมาอยู่ในท่าจรดมวย

คลื่นกระทบฝั่ง (ศอกเฉียงหลัง)

จุดส่งพลัง : ปุ่มกระดูกปลายศอกและกระดูกท่อนแขน, จุดรุกตี : ปลายคาง ลิ้นปี่ ราวนม

ศอกนำ

1. ก้าวเท้านำ (เท้าหน้า) เฉียงเข้าด้านในลำตัวหน้าประมาณครึ่งก้าว

2. ยกศอกนำขึ้นให้ขนานกับพื้น

3. บิดลำตัวเข้าด้านในประมาณ 45 องศา

4. ตวัดศอกกลับไปข้างหลังครึ่งวง (90 องศา)

5. ดึงศอกกลับมาอยู่ในท่าจรดมวย

ศอกตาม

1. ก้าวเท้าตาม (เท้าหลัง) ไปข้างหน้า 1 ก้าว (สลับเปลี่ยนเหลี่ยมมวย)

2. ก้าวเท้านำ (เท้าหน้า) เฉียงเข้าด้านในลำตัวหน้าประมาณครึ่งก้าว

3. ยกศอกนำขึ้นให้ขนานกับพื้น

4. บิดลำตัวเข้าด้านในประมาณ 45 องศา

5. ตวัดศอกกลับไปข้างหลังครึ่งวง (90 องศา)

6. ดึงศอกกลับมาอยู่ในท่าจรดมวย

จักรนารายณ์ (ศอกกลับ)

จุดส่งพลัง : ปุ่มกระดูกปลายศอก, จุดรุกตี : ปลายคาง ขมับ กกหู เบ้าตา โหนกคิ้ว

ศอกนำ

1. ก้าวเท้าตามไปข้างหน้าประมาณครึ่งก้าว เปลี่ยนเหลี่ยมมวย

2. ก้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย

3. ยกศอกตาม (ศอกหลัง) ตั้งเฉียงกับพื้นประมาณ 45 องศา

4. ตวัดศอกที่ยกกลับไปข้างหลังเต็มวง (180 องศา) พร้อมกับวาดเท้าตาม (เท้าหลัง) ไปข้างหลังเต็มวง (180 องศา) ให้ศอกปะทะจุดรุกตี

5. ดึงศอกกลับมาอยู่ในท่าจรดมวย

ศอกตาม

1. ก้าวเท้านำเฉียงไปข้างหน้าประมาณครึ่งก้าว

2. ก้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย

3. ยกศอกตาม (ศอกหลัง) ตั้งเฉียงกับพื้นประมาณ 45 องศา

4. ตวัดศอกที่ยกกลับไปข้างหลังเต็มวง (180 องศา) พร้อมกับวาดเท้าตาม (เท้าหลัง) ไปข้างหลังเต็มวง (180 องศา) ให้ศอกปะทะจุดรุกตี

5. ดึงศอกกลับมาอยู่ในท่าจรดมวย

เมื่อพูดถึงมวยไทย ก็มักให้ความสำคัญกับ “แม่ไม้หมัด” หรือไม่ก็ “แม่ไม้เข่า” เสียมากจนมักจะหลงลืม “แม่ไม้ศอก” ซึ่ง “ศอก” ก็เป็นแม่ไม้มวยไทยที่อันตราย สามารถออกอาวุธจนน็อกคู่ต่อสู้ได้เช่นกัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชนาเทพ วะสวานนท์. (2555). มวยไทยรัตนโกสินทร์ ศาสตร์และศิลปะแห่งการต่อสู้ (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2565