ที่มาของพิธี “เหม่อ เกื่อ มา” ไฉนถูกมองเป็น “ภาระ” หลังความตายในวิถีชีวิตลูกหลานเวียดนาม

ธงพุทธศาสนาพุทธมหายานแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศเวียดนาม (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2553)

พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามปฏิเสธศาสนามาโดยตลอด คงจะเห็นด้วยกับแนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่ว่า “ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน” (Religion is the opium of the people) อันถือเป็นสิ่งมอมเมา แต่มรดกคริสต์ศาสนาที่รับมาจากฝรั่งเศสฝังหัวคนเวียดนามจนไม่สามารถสลัดออกได้โดยง่าย

และแม้พรรคคอมมิวนิสต์เข้าควบคุมกีดกัน โดยเฉพาะสาวกคาทอลิกที่หมดโอกาสเข้ารับราชการ ถูกกลั่นแกล้งตามรังควานถึงต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไม่น้อย รวมทั้งผลพวงจากสงครามที่ต้องปากกัดตีนถีบจนดูเหมือนคนเวียดนามไม่มีศาสนา (เทียน, 2563)

แต่คริสต์ศาสนาและวิธีคิดแบบเต๋าและขงจื๊อของจีนซึ่งปกครองเวียดนามกว่าพันปี รวมกับศาสนาผีที่เป็นแก่นแกนยังคงอยู่ ตกตะกอนเป็นธรรมนูญหลังความตายที่กรอบความคิดด้วยระเบียบสังคมว่าด้วยความกตัญญูในบรรพชน (องค์ บรรจุน, 2558) ท้าทายความต้องการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลเวียดนามและโลกาภิวัตน์ชนิดที่ดูเหมือนว่าไม่มีฝ่ายใดยอมลดราวาศอกให้กัน

การนับถือศาสนาของชาวเวียดนาม

เดิมชาวเวียดนามนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน จึงมีพื้นฐานด้านจิตใจที่ฝักใฝ่ในศีล สมาธิและปัญญา แต่เมื่อจีนเข้ามาปกครองเวียดนาม (4 ช่วง คือ พ.ศ. 432-483 พ.ศ. 586-1087 พ.ศ. 1145- 1481 และ พ.ศ. 1950-70) (เหวียน คักเวียน, 2552) รวมเวลา 1,008 ปี ได้นำเอาลัทธิเต๋าและขงจื๊อเข้ามาเผยแผ่ นอกจากยอมรับนับถือลิทธิทั้งสองนี้ ยังรับเอาลัทธิการบูชาวิญญาณบรรพชนตามธรรมเนียมจีนเข้าไว้ด้วย ต่อเมื่อเวียดนามตกเป็นประเทศในอาณานิคมของฝรั่งเศส (พ.ศ. 2427-97) ทำให้คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic Church) เป็นตัวเลือกในการนับถือศาสนาเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญของเวียดนามปัจจุบันไม่มีการระบุศาสนาประจำชาติ หากแต่บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา ทำให้ชาวเวียดนามมีการนับถือทั้งศาสนาหลักคือ พุทธ คริสต์ ลัทธิสำคัญแบบจีนคือ เต๋า ขงจื๊อ และรับเอาประเพณีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเวียดนาม (ผุสดี จันทวิมล, 2541)

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ในเวียดนามอีกจำนวนมากที่เคารพบูชาเทพเจ้า ภูตผี และวิญญาณบรรพชน เช่นกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ (Tai Dam) ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม กลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับชาวไทยทรงดำหรือลาวโซ่งในประเทศไทย ที่ยังคงความเชื่อของพวกเขาที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ (องค์ บรรจุน, 2553)

ประเทศเวียดนามมีประชากร 97 ล้านคน (ข้อมูลในพ.ศ. 2563 – กองบรรณาธิการ) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธประมาณเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 87 ล้านคน นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 9 ล้านคน (เทียน, 2563) ส่วนที่เหลือนับถือศาสนาและลัทธิอื่นๆ อีกราว 1-2 เปอร์เซ็นต์

ด้วยความที่เวียดนามอยู่ชิดติดกับจีน ทำสงครามกันมาในประวัติศาสตร์ 32 ครั้ง เอาชนะจีนได้ 18 ครั้ง บางช่วงมีเอกราชปกครองตนเอง แต่ก็ต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้จีนแทบไม่ว่างเว้น (เทียน, 2563) เวียดนามจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจีนทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม มีภาษาพูดที่พูดกันรู้เรื่องราว 30 เปอร์เซ็นต์

ส่วนภาษาเขียนก็ใช้ตัวอักษรจีน แต่เมื่อฝรั่งเศสเข้าครอบครองในฐานะอาณานิคม ฝรั่งเศสต้องการกำจัดอิทธิพลจีนออกจากเวียดนาม จึงเปลี่ยนภาษาที่คนเวียดนามใช้แบบขุดรากถอนโคน นำเอาตัวอักษรโรมันมาบังคับให้คนเวียดนามอ่านเขียน รื้อวัดพุทธทิ้ง สร้างโบสถ์คริสต์ เป็นการลบประวัติศาสตร์ทำลายล้างวัฒนธรรม เพื่อให้ง่ายต่อการเผยแผ่ศาสนา เป้าหมายคือการกลืนชาติและวัฒนธรรม

ชาวเวียดนามจำนวนมาก โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศที่รับวัฒนธรรมจีนโดยตรง ต่างจากเวียดนามตอนใต้ที่เป็นวัฒนธรรมชนชาติจามเดิม (อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช, 2557) มีประเพณีการขุดศพบรรพชนขึ้นมาหลังจากฝังไว้ราว 3-5 ปี เพื่อชำระล้างทำความสะอาดก่อนจะนำกลับไปฝังใหม่ พิธีนี้เป็นหนึ่งในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายที่นับว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของเวียดนาม เช่นเดียวกับชาวอุษาคเนย์โบราณ ที่มีการประกอบพิธีฝังศพครั้งที่ 2 (สุกัญญา เบาเนิด, 2546)

พิธีกรรมหลังความตาย

ธรรมเนียมโบราณนี้มักมีการปฏิบัติกันในช่วงก่อนตรุษจีน ซึ่งถือเป็นเทศกาลปีใหม่ของเวียดนาม และถือว่าเป็นพิธีกรรมสุดท้ายในการช่วยทำให้ดวงวิญญาณของบุคคลอันเป็นที่รักได้เข้าสู่เส้นทางหลังความตายไปสู่ชีวิตใหม่ (BBC NEWS, 2562) พิธีกรรมการจัดการศพของชาวเวียดนามเป็นการฝังตามอิทธิพลที่ได้รับจากวัฒนธรรมจีนโบราณที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน เพื่อให้วิญญาณผู้ตายไปสู่ดินแดนอันสุขสงบในสัมปรายภพตามคติดั้งเดิมของชาวจีนที่ส่งต่อมายังชาวเวียดนาม

พิธีกรรมหลังความตายของชาวเวียดนามที่สำคัญจะเริ่มขึ้นหลังจากพิธีฝังศพผ่านไปแล้วในวันที่ 3 (นับวันที่ฝังศพเป็นวันแรก) จะมีการทำพิธี “เหม่อ เกื่อ มา” (Mo Cua Ma) ซึ่งก็คือพิธีเปิดประตูวิญญาณ เปิดประตูผี หรือเปิดประตูสุสาน เพื่อให้วิญญาณรับรู้การตายของตนเอง เพื่อบอกกล่าวต่อดวงวิญญาณบรรพชนที่ล่วงลับไปก่อนหน้า และเพื่อบอกกล่าวเจ้าที่ที่บ้าน และเจ้าที่ที่สุสาน รวมทั้งเหล่าดวงวิญญาณที่สุสาน

ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าที่และวิญญาณที่ตายไปก่อนหน้าเหล่านั้นรับรู้และยอมรับวิญญาณใหม่เพื่อขออนุญาตฝังร่างของวิญญาณใหม่ไว้ร่วมกันยังสุสานแห่งนี้ด้วย วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อให้วิญญาณบรรพชนผู้ล่วงลับได้ไปสู่สัมปรายภพ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลานที่ยังมีชีวิต

พิธีจะเริ่มขึ้นที่สุสานตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนที่จะกลับไปทำพิธีต่อที่บ้านในช่วงสายๆ โดยจะมีการเชิญป้ายวิญญาณมาที่สุสานอีกครั้ง ก่อนเริ่มพิธีมีการปรับแต่งบริเวณหลุมศพเพื่อใช้ทำพิธีไหว้วิญญาณใหม่ ซึ่งตามธรรมเนียมดั้งเดิม “โหม่” หรือ “ฮวงซุ้ย” จะไม่มีการทำความสะอาดหรือขัดถูใดๆ อีกเลยภายใน 2 ปีนับจากวันที่ทำพิธีฝังศพ เพราะเชื่อกันว่า การไม่แตะต้องโหม่ที่มีโลงศพซึ่งบรรจุศพผู้ตายนอนอยู่นั้น เพื่อให้วิญญาณผู้ตายได้สงบลงอย่างรวดเร็ว

แต่ในปัจจุบัน (2563) ไม่ได้เคร่งครัดในธรรมเนียมนี้เช่นในอดีตแล้ว มีการผ่อนปรนลง โดยการไม่ทำป้ายชื่อผู้ตายติดที่โหม่ ให้ลูกหลานสามารถดูแลขัดถูทำความสะอาดโหม่ได้ในช่วงตรุษจีนเพื่อความเรียบร้อยสวยงาม โดยผู้ที่มาร่วมพิธีตรงนี้จะเป็นลูกชาย ลูกสาว ลูกสะใภ้ และญาติสนิทเท่านั้น พร้อมด้วยของไหว้แยกเป็น 4 ชุด สำหรับเซ่นไหว้ 4 แห่ง คือ ไหว้เจ้าที่สุสาน ไหว้บรรพชนของผู้ตายใหม่ ไหว้วิญญาณใหม่ที่หลุมศพ และไหว้เจ้าที่ที่บ้าน

หลังจากเซ่นไหว้ที่สุสานเสร็จแล้วก็จะกลับมาทำพิธีไหว้เจ้าที่ที่บ้าน โดยเป็นการเซ่นไหว้ด้วยสำรับอาหารหวานคาว เพื่อบอกกล่าวการเสียชีวิตของคนในบ้าน และไหว้บรรพชนและวิญญาณใหม่อีกครั้งด้วยสำรับอาหารหวานคาวเช่นเดียวกัน แต่จะมีการสวดบทสวดที่แสดงความอาลัยอาวรณ์ถึงการจากไป และจะมีการแสดงความกตัญญูของลูกหลานโดยมีพิธีการยกข้าวยกน้ำของลูกสะใภ้และลูกสาว ซึ่งเป็นตัวแทนของลูกหลานทุกคนในตระกูล

หลังจากพิธีไหว้ 3 วันเสร็จสิ้นลง ลูกหลานจะต้องไหว้ด้วยข้าวและน้ำวันละ 3 มื้อ โดยเป็นการไหว้อย่างเรียบง่าย ด้วยสำรับขนาดเล็ก เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ โดยมีเคล็ดว่า ให้งดเว้นการเซ่นไหว้ด้วยอาหารจำพวกเส้น เช่น เฝ๋อ บะหมี่ และหมี่ซั่ว และพืชผักที่เป็นเถาเป็นเครือ เช่น กล้วย มัน และผักบุ้ง เพราะมีความเชื่อว่า หากเซ่นไหว้ด้วยสิ่งของเหล่านี้ จะทำให้วิญญาณของผู้ตายต้องพัวพันยุ่งเหยิงกับผู้ที่ยังมีชีวิต จนอาจถึงขั้นทำให้มีคนในบ้านหรือสมาชิกในตระกูลต้องเสียชีวิตซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้นอีกในระหว่างการไว้ทุกข์นี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคลอย่างยิ่ง

ประการสำคัญ ในระยะเวลา 100 วันของการประกอบพิธีไว้อาลัยเซ่นไหว้ผู้ตายนี้ ลูกหลานจะต้องพยายามจุดธูปไม่ให้ขาดดอก เพื่อให้ควันธูปนั้นอวลอยู่เสมอ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู ความรัก และความใส่ใจที่ลูกหลานมีต่อบรรพชนผู้จากไป

หลังศพผู้ตายถูกฝังไว้ใต้ดินราว 3-5 ปีแล้ว หรืออย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้เนื้อและผิวหนังศพเปื่อยยุ่ยย่อยสลายเหลือเพียงกระดูก ลูกหลานจะขุดโลงศพที่บรรจุอยู่ในโหม่ขึ้นมา โดยมากจะประกอบพิธีกันในเวลากลางคืน

พิธีเริ่มจากการนำอาหาร เครื่องใช้ในพิธี และจุดธูปเทียนเซ่นไหว้ขอขมาวิญญาณผู้ตายที่มารบกวน ญาติๆ จะช่วยกันเปิดโลงศพนำกระดูกออกมาจากโลงเช็ดล้างทำความสะอาด

จากนั้นบรรจุกระดูกลงในหม้อหรือหีบดินเผาขนาดเล็กแล้วนำกลับไปฝังไว้ในโหม่อีกครั้ง จะสังเกตว่า โหม่สำหรับการฝังศพครั้งที่ 2 นี้แม้จะสร้างตามฐานะของผู้ตายและลูกหลานแต่ก็มักจะสร้างขึ้นอย่างประณีตบรรจงกว่าโหม่ที่ฝังศพในครั้งแรก เพราะถือว่าเป็นสถานที่อาศัยแห่งสุดท้ายของผู้ตาย (BBC NEWS, 2562)

วัฒนธรรมการฝังศพของชาวเวียดนามจะทำในที่นาไร่หรือที่ทำกินของตนเอง เพื่อให้วิญญาณบรรพชนดูแลที่ทำกินและดูแลลูกหลานที่ยังมีชีวิตด้วย มีทั้งการฝังรวมกันของสมาชิกในครอบครัว และการฝังรวมกันทั้งหมู่บ้าน ชาวเวียดนามมีความเชื่อว่า สถานที่ที่ฝังศพแล้วและขุดขึ้นมาเพื่อจะฝังครั้งที่ 2 จะไม่สามารถใช้งานใดๆ ได้อีก เพราะถือเป็นสถานที่อัปมงคล

ส่วนสถานที่ตั้งโหม่หรือหลุมฝังศพครั้งที่ 2 ที่เป็นการฝังแบบถาวรยิ่งไม่สามารถรบกวนด้วยการรื้อทิ้งหรือเคลื่อนย้ายได้ เพราะถือเป็นสถานที่พักผ่อนสุดท้ายของบรรพชน อันเป็นสถานที่มงคลและศักดิ์สิทธิ์สำหรับลูกหลานที่ไม่อาจรบกวนวิญญาณบรรพชนได้ในทุกกรณี

การปรับเปลี่ยนวิถีและปรับตัวในยุคใหม่

ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามพยายามสร้างแรงจูงใจให้ชาวเวียดนามเปลี่ยนวิธีการจัดการศพจากการฝังมาเป็นการเผา โดยมีมาตรการช่วยเหลือในรายที่ต้องการเผาศพญาติผู้เสียชีวิตเป็นเงินรายละ 1.5 ล้านดอง (ประมาณ 4,800 บาท) (เทียน, 2563) ซึ่งแม้รัฐจะใช้งบประมาณมากมายมหาศาล เพื่อรักษาสุขอนามัยประชาชนไม่ให้เสื่อมโทรมระหว่างกระบวนการย่อยสลายของศพใต้ผืนดินที่ถูกฝังอยู่รวมกันจำนวนมากและต่อเนื่อง

รวมทั้งเพื่อการสงวนพื้นที่ไว้สำหรับใช้ในการทำการเกษตร แก้ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน แต่มาตรการของรัฐดังกล่าวนี้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมการฝังศพของชาวเวียดนามได้ง่ายๆ เนื่องจากยังคงมีผู้นิยมฝังศพบรรพชนดังเดิมจำนวนมากแม้จะต้องเสียพื้นที่ทำกินหรือเสียทรัพย์สินเงินทองหาซื้อที่ดินขุดหลุมฝังศพบรรพชนซึ่งมีราคาสูงลิ่วก็ตาม รวมทั้งความเชื่อที่ว่า การเผาศพจะทำให้ผู้เสียชีวิตต้องอยู่ในสภาพที่ร้อนรุ่มไปตลอดกาล ยังจะส่งผลต่อลูกหลานให้ทำกินไม่ขึ้น ผูกติดกับระเบียบสังคมผ่านการนินทาว่าร้ายของชาวบ้าน ที่กรอบความคิดว่าลูกหลานที่ไม่ใส่ใจดูแลหลุมศพบรรพชนนั้นเนรคุณ

เมื่อต้นปีก่อนเกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาดหนัก ผู้เขียนเดินทางไปเวียดนามตอนเหนือ สองข้างทางของถนนทุกสายที่พาออกไปนอกเมืองมีหลุมศพบรรพชนตั้งอยู่ทุกระยะ อยู่ในทุกที่ ข้างบ้านเรือน กลางสวนและทุ่งนา กลางหมู่บ้าน และริมห้วยหนองคลองบึง แม้รัฐบาลเวียดนามจะใช้เงินสร้างแรงจูงใจในการจัดการศพ ยิ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ผู้เขียนยิ่งสนใจว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามจะจัดการปัญหานี้อย่างไร

ปรากฏว่า แม้เวียดนามจะมีประชากรถึง 97 ล้านคน และมีชายแดนติดกับจีน แต่กลับมีรายงานผู้ติดเชื้อเพียง 300 กว่าราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว แม้โควิดทำอะไรเวียดนามไม่ได้ แต่ก็ไม่มีรายงานเกี่ยวกับรายละเอียดของคำสั่งที่ว่าด้วยพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ

ได้แต่หวังว่ารัฐบาลเวียดนามจะไม่ฉวยโอกาสเหมือนรัฐบาลไทย ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพรัฐบาล และน่าสนใจว่า ภาระหลังความตายของลูกหลานชาวเวียดนามที่มีต่อบรรพชนปู่ย่าตายายในอนาคตจากนี้จะธำรงอยู่หรือเปลี่ยนไปอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


รายการอ้างอิง :

เทียน (เจิ๋น วัน ต้า), สัมภาษณ์โดย องค์ บรรจุน ที่เมืองซาปา ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563.

ผุสดี จันทวิมล. 2541. เวียดนามในเมืองไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

สุกัญญา เบาเนิด, บรรณาธิการโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2546. “วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้,” ใน ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม. กรุงเทพฯ : มติชน.

เหวียน, คักเวียน, บรรณาธิการโดย เหวียน, จีธง. แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร. 2552. เวียดนาม ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร (Vietnam A Long History). กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

องค์ บรรจุน. 2558. “เทศกาลวูลานของเวียดนาม : จิตวิญญาณบรรพชนในพิธีกรรมร่วมสมัย,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36 ฉบับที่ 3 (มกราคม), น. 26-32.

______. 2553. สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ : มติชน.

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. 2557. ศิลปะเวียดและจาม (เรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านศิลปกรรมโบราณ). กรุงเทพฯ : มติชน.

BBC NEWS. 2562. พิธีขุดศพขึ้นมาล้างแล้วฝังใหม่ในเวียดนาม ส่งดวงวิญญาณสู่ชีวิตหลังความตาย. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563. จาก www.bbc.com/thai/international-47103224/


หมายเหตุ : คัดนื้อหาจากบทความ “เหม่อ เกื่อ มา : ภาระหลังความตายของลูกหลานเวียดนาม” เขียนโดย ดร. องค์ บรรจุน คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2565