“ลักษณะขอม” ในเชิงช่างไทยอีสาน…ร่วมสมัย

เมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราวหลัง พ.ศ. 500 มีคนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้กลุ่มหนึ่ง จากชมพูทวีปและลังกาทวีปเดินทางทางทะเลเข้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายกับคนพื้นเมืองสุวรรณภูมิเพื่อส่งต่อถึงจีนฮั่น คนตะวันตกเฉียงใต้พวกนี้มีทั้งพ่อค้าและนักบวช เป็นเหตุให้มีการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์-พุทธ ผ่านชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยทางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและปากแม่น้ำโขงขึ้นมาบริเวณสองฝั่งโขง ทำให้มีคนตะวันตกเฉียงใต้บางพวกเข้ามาตั้งหลักแหล่งทางอีสานด้วย

ซุ้มประตูโขง ศิลปะแบบอย่างลักษณะศิลปะขอมในรสนิยม ช่างเรียน เวียงสมศรี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ

คนพวกนี้อาจเรียกรวมๆ อย่างยกย่องว่าขอม เพราะมีความรู้ทางศาสนา อักษรศาสตร์ และเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น แกะสลักหิน สร้างปราสาทหิน ฯลฯ บางทียกย่องเป็นครู แล้วเรียกครูขอม ก็มีหลักฐานมีทั่วไปในสมัยหลังๆ เช่น ปราสาทพิมาย ฝ่ายพุทธมหายาน (นครราชสีมา) ปราสาทพนมรุ้ง ฝ่ายพราหมณ์ (บุรีรัมย์) (สุจิตต์ วงษ์เทศ. “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน?. 2549, น. 58.)

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า อิทธิพลศิลปะและวัฒนธรรมขอมตั้งแต่รัชกาลพระ
เจ้าสุริยวรมันที่ 2 นั้น ไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงภาคอีสานเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปยังบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลางด้วย (แอ่งอารยธรรมอีสาน, 2533, น. 163.) ดั่งปรากฏเป็นหลักฐานร่องรอยทางศาสนศิลป์มากมายที่มีลักษณะขอม ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งโบราณสถานต่างๆ และรวมถึงงานร่วมสมัยในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ อย่างกรณีผลงานการออกแบบสร้างสรรค์ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยของสมเด็จครูหรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งพระองค์ทรงได้รับการยกย่องเป็นนายช่างใหญ่แห่งสยามประเทศ พระองค์โปรดที่จะนำรูปลักษณะแบบอย่างศิลปะขอมมาสร้างสรรค์ประยุกต์ร่วมกับลักษณะไทยอยู่เสมอๆ ดังตัวอย่างผลงานการออกแบบพระอุโบสถวัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ เป็นต้น

ลวดลายศิลปะเขมรในองค์ประกอบสีหน้าสิมที่มีการนำรูปแบบทับหลังศิลปะ
(ซ้าย) พระธาตุเจดีย์ วัดสำโรงเกียรติ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ, (ขวา) ศาลหลักเมือง อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์

อีสานจะมีวัฒนธรรมลาวเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก แต่ในพื้นที่แถบอีสานใต้ วัฒนธรรมขอมได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแสดงอัตลักษณ์ตัวตนผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่นๆ ได้อย่างมีเอกลักษณ์ เช่น โดยในแง่ประวัติศาสตร์ เมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมขอมจากกัมพูชา โดยได้แผ่ขยายเข้ามาในอีสานตั้งแต่สมัยแคว้นเจนละ ต่อจากนั้นได้แสดงความเป็นปึกแผ่นมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ 16 (หลัง พ.ศ 1500) หรือตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 โดยแพร่เข้ามา 2 ทาง คือ

1. ผ่านช่องเขาต่างๆ ของเทือกเขาพนมดงรัก และ 2. คือขึ้นมาตามแม่น้ำโขง โดยทั้งหมดได้แสดงหลักฐานร่องรอยผ่านงานช่าง ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยเมืองโบราณ อ่างเก็บน้ำ ศาสนาคารในรูปเรือนปราสาท ไม่ว่าจะทำจาก อิฐ หิน ศิลาแลง ศิลปวัตถุแห่งพิธีกรรมความเชื่อ ศิลปะและวัฒนธรรมขอมได้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาโดยเฉพาะในยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จวบจนเมื่อสิ้นยุคนี้ อำนาจทางการเมืองตลอดจนศิลปวัฒนธรรมขอมได้ค่อยๆ เสื่อมลง โดยมีอำนาจทางการเมืองใหม่ของศิลปวัฒนธรรมลาวล้านช้างเข้ามาแทนที่ โดยบูรณาการร่วมกับวัฒนธรรมอื่นๆ ผ่านเงื่อนไขตามแรงกระเพื่อมทางสังคมการเมืองเรื่องวัฒนธรรม ทั้งในลักษณะผสมผสานบังคับและสมยอม

ซุ้มประตูโขง ศิลปะแบบอย่างลักษณะเขมร วัดในเมืองบุรีรัมย์

และอย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา งานช่างสิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะศาสนาคารพื้นถิ่นในอีสานใต้ ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวเนื่องในวัฒนธรรมขอมมากกว่าที่อื่นๆ ได้พยายามสร้างอัตลักษณ์ตัวตนเพื่อสร้างพลังต่อรองในบริบทพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ผ่านงานศิลปะสถาปัตยกรรมทั้งในรูปศาสนาคารและอาคารสาธารณะสมัยใหม่ จากฝีมือช่างในระบบราชการและนอกราชการ

รูปช่างเรียน เวียงสมศรี ในช่วงปัจฉิมวัย ถือเป็นนายช่างผู้บุกเบิกผสานรสนิยมศิลปะไทยอีสานเข้ากับศิลปะไทยเขมร ในงานออกแบบศาสนาคารแถบอีสานใต้โดยเฉพาะโบสถ์ในแถบจังหวัดศรีสะเกษ

ช่างเรียน เวียงสมศรี นายช่างมืออาชีพไทยอีสานเชื้อสายญวน ถือเป็นนายช่างนอกระบบราชการ
ผู้มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนรสนิยมในเชิงช่าง จากวัฒนธรรมแบบลาวล้านช้าง มาสู่รสนิยมศิลปะอย่างญวน (สายสกุลช่างนา) และสายสกุลไทยกรุงเทพฯ ในยุคสถาปนาความเป็นไทยแห่งชาติ ตามนโยบายรัฐนิยมสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท้ายสุดกลายมาเป็นแบบอิทธิพลศิลปะขอม โดยเฉพาะศิลปะสถาปัตยกรรมศาสนาคาร (พบมากสุดคือโบสถ์หรือสิม) ในแถบพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

ทั้งนี้แม้การปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะเป็นเพียงการผสมผสานศิลปะรสนิยมแบบอย่างลวดลายขอม มาผูกลายใหม่และสร้างสรรค์ไว้ตามองค์ประกอบส่วนประดับตกแต่งทางสถาปัตยกรรม ขณะที่รูปทรงโดยรวม จะยังคงมีอิทธิพลฉันทลักษณ์ความเป็นไทยกรุงเทพฯ แบบรสนิยมไทยอีสาน ด้วยปัจจัยเงื่อนไขทางการเมืองเรื่องวัฒนธรรม

ดังตัวอย่างรูปแบบสิมหรือโบสถ์ที่เปลี่ยนถ่ายรสนิยมแบบอย่างลักษณะลาวล้านช้างมาสู่ลักษณะแบบอย่างกรุงเทพฯ ทั้งขนาดรูปทรงและองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอย่างบริเวณสีหน้า หรือหน้าบัน จากที่ได้เก็บข้อมูลผู้ใกล้ชิดช่างเรียน ทราบว่าช่างเรียน ท่านจะไปศึกษารูปแบบลวดลายศิลปะขอมตามปราสาทสำคัญๆ เพื่อนำมาสร้างแรงบันดาลใจในงานออกแบบ และพัฒนานำมาผูกลายใหม่ทำพิมพ์สร้างลวดลายต้นแบบใหม่ อย่างที่ปรากฏอยู่ ณ รูปแบบของประตูโขงทางเข้าวัดปราสาทเยอเหนือ โบสถ์วัดพราน โบสถ์วัดสระกำแพงใหญ่ โบสถ์วัดจังกระดาน เมืองศรีสะเกษ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบผลงานอีกหลายแห่งที่ช่างท้องถิ่นอีสานได้นำเอารสนิยมศิลปะขอมมาสร้างสรรค์ ในลักษณะแบบช่างพื้นบ้านพื้นเมือง โดยที่โดดเด่นมากคือ ศาสนาคารต่างๆ ของวัดสำโรงเกียรติ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งล้วนเป็นฝีมือแรงงานของพระสงฆ์ในวัด หรือในยุคใหม่ๆ ที่มีการสร้างสรรค์ภายใต้รสนิยมศิลปะขอมของ ช่างสุเทิน เสาศิลา ที่สร้างสรรค์ประตูโขง ณ วัดบ้านลุมพุก อำเภอขุขันธ์ และวัดสำโรงระวี อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น

ซุ้มประตูโขง ศิลปะแบบอย่างลักษณะศิลปะเขมรในรสนิยม ช่างสุเทิน เสาศิลา ณ วัดบ้านลุมพุก อำเภอขุขันธ์ และวัดสำโรงระวี อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ

ในอาคารสาธารณะสมัยใหม่ทั้งโรงแรม โรงเรียน ก็มีการหยิบยืมนำเอารูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมปราสาทขอม มาสร้างสรรค์ในลักษณะร่วมสมัย ด้วยเทคนิควิธีวิทยาการก่อสร้างสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีการลดทอนรายละเอียดส่วนประดับตกแต่งแบบติดพิมพ์ โดยให้เหลือแต่บางส่วนของรูปทรงที่แสดงกลิ่นอายของความเป็นเขมร

ทวารบาลรูปนางอัปสรา แบบศิลปะไทยบ้านอีสาน เมืองศรีสะเกษ

โดยทั้งหมดถูกนำมาบูรณาการเข้ากับศิลปวิทยาการเทคโนโลยีการก่อสร้างและวัสดุสมัยใหม่ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนประยุกต์รูปแบบจากในสังคมจารีตมาสู่ประโยชน์การใช้สอยที่ว่างในคติใหม่ๆ ที่รับใช้วิถีสังคมร่วมสมัยแห่งความเป็นปัจจุบันสมัย ที่ต่างจากคติความเชื่อการใช้ที่ว่าง (รวมถึงรูปแบบและการตกแต่ง) เดิมที่เคยใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ปรับมาสู่การใช้พื้นที่สาธารณ์

(จากซ้าย-ขวา) ศาลหลักเมือง จังหวัดสุรินทร์,ศิลปะสถาปัตยกรรมขอมร่วมสมัย วัดศาลาลอย เมืองสุรินทร์, ศาลหลักเมือง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ซุ้มหน้าต่างศิลปะขอมร่วมสมัยไทยอีสาน ณ วัดสำโรงเกียรติ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
ซุ้มหน้าต่างศิลปะไทยกรุงเทพฯ ผสานกับรสนิยมไทยเขมรอีสาน โดยช่างเรียน เวียงสมศรี ณ วัดสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

ดังนั้น รูปแบบศิลปะเขมรร่วมสมัยในอีสาน แม้จะเป็นการโหยหารากเหง้า หรือจะเป็นการสร้างอัตลักษณ์ การผลิตซ้ำของชุดความรู้เดิมๆ ในบริบทแห่งรูปลักษณ์ใหม่ ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงการที่ท้องถิ่นพยายามสร้างพลังการต่อรองในเชิงศิลปะและวัฒนธรรม ภายใต้รสนิยมความเชื่อความชอบ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนย้อนแย้งไปๆ มาๆ ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งรูปแบบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคงมีทั้งด้านบวกและด้านลบในแง่การอนุรักษ์สืบสานและพัฒนา ส่วนคุณค่าความหมายก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้มาตรฐานของใครเป็นกรอบกำหนดวัดตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

ศิลปะสถาปัตยกรรมเขมรร่วมสมัยในแถบอีสานใต้

ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการให้เกียรติวัฒนธรรมท้องถิ่นให้พวกเขาได้มีที่ยืน อย่างน้อยที่สุดก็ในพื้นที่วัฒนธรรมของตัวเอง ไม่ใช่รูปแบบสำเร็จรูปอย่างแบบศาลากลางจังหวัด อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2560