ถอดนัย “พิเภก” ยักษ์เปลี่ยนฝ่ายมาฝั่งพระราม สะท้อนเรื่องระลึกถึงการเสียกรุงจริงหรือ?

พิเภก ออกจากลงกา มาสวามิภักดิ์ พระราม ซึ่งเป็นฝ่ายศัตรู ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ผมอ่านบทความเรื่อง “พิเภกพิชิตคนพาล อภิบาลคนดี หรือ ‘ผู้ทรยศ’” ของคุณจันทร์ฉาย ภัคอธิคม ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2542 ติดต่อกัน 2 ตอน เป็นบทความที่ผมอ่านอย่างจดจ่อชนิดที่ว่า พอหนังสือส่งถึงบ้านก็เลือกอ่านเป็นอันดับแรกๆ เหตุที่สนใจนั้นก็เนื่องมาจากไม่บ่อยนักที่จะพบผลงาน ซึ่งเขียนถึงรามเกียรติ์ด้วยรูปแบบการวิเคราะห์

แต่เมื่ออ่านบทความดังกล่าวครบถ้วน ผมกลับรู้สึกคับข้องใจในบทวิเคราะห์ และการสรุปของบทความอย่างยิ่ง กระนั้นก็ตาม ในความคับข้องใจที่เกิดขึ้นก็มีความขอบคุณจากใจของผมด้วย เพราะความสงสัยช่วยให้ผมเริ่มมองกลับไปที่รามเกียรติ์อย่างพินิจพิเคราะห์ที่สุด ตั้งแต่ได้รู้จักวรรณคดีเรื่องนี้มา

ข้อสรุปที่ยังกังขา

คุณจันทร์ฉายเสนอไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“โดยปกติวิสัย ผู้ศึกษาหรือผู้อ่านต้องมีความรู้สึกนึกคิดทันทีว่า การเป็นไส้ศึกอาจทำให้คุณประโยชน์มหาศาล ดังกรณีพิเภก กรณีพิเภกยังฉายให้เห็นตัวอย่างครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคือ การที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงเป็นไส้ศึก แล้วพม่าบำเน็จรางวัลด้วยการ “มอบเมือง” กรุงศรีอยุธยาให้ครอบครอง

ความตั้งใจของผู้แต่งรามเกียรติ์ที่จะแสดงมหันตภัยของการเป็นไส้ศึก จึงอาจจะไม่โดดเด่นเท่าการแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์มหาศาลของการเป็นไส้ศึก รามเกียรติ์แสดงคุณมากกว่าโทษของการเป็นไส้ศึก แม้จะมีจุดประสงค์แสดงโทษมากกว่าคุณของการเป็นไส้ศึกก็ตาม แก่นเรื่องไส้ศึกขึดแย้งกับเค้าโครงเรื่อง โดยความพลั้งเผลอหรือความตั้งใจของผู้แต่ง?”

แสดงถึงความเชื่อว่า จุดประสงค์ของรามเกียรติ์คือ ต้องการแสดงโทษของการเป็นไส้ศึก แต่กลับไปขัดกับเค้าโครงเรื่อง (plot) แบบไทยที่ว่า เสร็จศึกต้องฆ่าไส้ศึกทิ้ง และยังเสนอไว้ว่า

“ความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างพี่น้องแบบพิเภกกับทศกัณฐ์เป็นแต่เพียงการฉายภาพประวัติศาสตร์ให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นทำนองให้ตระหนักว่าความแตกแยกในชนชั้นผู้ปกครองโดยเฉพาะในหมู่พี่น้อง คือเบื้องต้นมูลฐานของความล่มจมสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน รามเกียรติ์ต้องการให้คนไทยจดจำเป็นบทเรียนพึงละเว้น ทั้งนี้ควรคำนึงด้วยว่า รามเกียรติ์เป็นบทละครที่เป็นพระราชนิพนธ์แต่งเมื่อการเสียกรุงครั้งที่ 2 ยังอยู่ในความทรงจำของชนชั้นปกครองร่วมสมัย”

แสดงถึงความเชื่อว่าความแตกแยกของชนชั้นนำสมัยอยุธยาหรือชี้ให้ชัดว่าพี่น้องคู่หนึ่งเป็นที่ทราบกันดีในสมัยนั้นทั้งยังอยู่ในความทรงจำของบุคคลร่วมสมัย จนเลือกที่จะนำมาสอดแทรกไว้ในรามเกียรติ์ เพื่อเป็นบทเรียน

ทั้งหมดทำให้คุณจันทร์ฉายได้สรุปว่า รามเกียรติ์สามารถโน้มน้าวให้ระลึกถึงการเสียกรุงครั้งที่ 1 และ 2 แต่กลับประสบความล้มเหลวในการแสดงโทษของการเป็นไส้ศึก จนผิดประเพณีสงครามและการเมืองไทย

ผมไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ทั้งหมดที่กล่าวมา เพราะผมเชื่อว่าบุคคลในสมัยนั้นไม่ได้มีทัศนะต่อการเสียกรุงทั้งสองครั้งดังที่คุณจันทร์ฉายมี

และด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้แต่ง (ผมขอใช้คำนี้เหมือนคุณจันทร์ฉาย ทั้งๆที่ผมชอบคำว่าผู้ถอดความมากกว่า) จึงไม่จำเป็นต้องสอดแทรกประเด็นเหล่านั้นลงในรามเกียรติ์ ที่สำคัญรามเกียรติ์มีจุดประสงค์ตัวของมันเอง และสามารถบรรลุจุดประสงค์นั้นได้ตามต้องการ

ปัจจัยที่ถูกมองข้าม

มีปัจจัยหลาย ๆ ด้านที่เป็นบริบทสําคัญในการวิเคราะห์บทบาทของพิเภกและคุณค่าของรามเกียรติ์ แต่ถูกละเลยไป ทําให้ข้อสรุปของคุณจันทร์ฉายขาดพลัง ซึ่งผมประมวลปัจจัยเหล่านั้นออกมาดังนี้

1. ความอิสระของการดําเนินเรื่อง

เรื่องแปล ต่างกับเรื่องแต่งตรงที่ความอิสระในการดําเนินเรื่อง ผู้กําหนดโครงเรื่องรามเกียรติ์คือ ฤๅษีวาลมีกิ แม้ผู้ที่นํามาแต่งเป็นภาษาไทยอาจจะเพิ่มเติมเนื้อหาหรือตัวละครลงไปบ้าง แต่ยากที่จะกล่าวว่า ผู้แต่งมีอิสระที่จะดําเนินเรื่องไปในทิศทางที่ต้องการ เพราะรามเกียรติ์ไม่เป็นอิสระกับรามายณะ

แหล่งข้อมูลที่ผมพอจะใช้เทียบได้คือ ละครอินเดียเรื่องรามเกียรติ์ที่ช่อง 3 เคยนํามาฉาย น่าจะราวๆ ปี 2530 ซึ่งมีตัวละครน้อยกว่าของไทย รายละเอียดปลีกย่อยก็ไม่มากเท่าของไทย แต่การดําเนินเรื่องเป็นไปในลักษณะเดียวกัน พฤติกรรมของพิเภกก็เหมือนกันกับของไทย แม้ผมจะไม่เคยอ่านรามายณะที่แปลจากฉบับอินเดียแท้ๆ แต่ผมก็เห็นว่า เมื่อเป็นละครอินเดียย่อมสะท้อนความรับรู้ของเขาที่มีต่อรามเกียรติ์ได้ไม่น้อย

หากผู้แต่งเป็นภาษาไทยเห็นว่า เมื่อแปลออกมาแล้วจะไม่สามารถนําเสนอคติความเชื่อที่ตนต้องการสื่อ ก็ไม่ควรจะนั่งแปลให้เหนื่อยยาก สู้เอาเวลาไปแต่งเรื่องใหม่น่าจะดีกว่า ทั้งยังมีตัวอย่างวรรณคดีในยุคเดียวกันที่เมื่อแปลออกมาแล้วบรรลุเป้าหมายโดยตรงอย่างสามก๊ก, ไซฮั่น และ ราชาธิราช ให้เห็นอยู่ ความผิดพลาดจึงไม่น่าจะเกิดกับรามเกียรติแต่ลําพัง

ดังนั้น รามเกียรติ์ของไทยจึงไม่ได้แสดงถึงความล้มเหลวของผู้แต่งไทยที่จะชี้ถึงโทษของการเป็นไส้ศึก เพราะบทบาทของพิเภกถูกกําหนดตายตัวจากรามายณะ หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าผู้แต่งต้องการสื่อคติที่ว่าเสร็จศึกต้องฆ่าไส้ศึกจริง ก็ไม่มีความจําเป็นที่จะต้องเลือกสื่อในรามเกียรติ์ ซึ่งมีอิสระในการดําเนินเรื่องน้อย ทั้งยังรู้ว่าจะมีความล้มเหลวรออยู่

ถ้าอย่างนั้น ผู้แต่งต้องการให้รามเกียรติ์สื่ออะไร? คําตอบต้องมีแน่นอน

2. จุดมุ่งหมายที่อยู่ในชื่อเรื่อง

การตั้งชื่อเรื่องว่า “รามเกียรติ์” ก็บ่งบอกอยู่ชัดเจนแล้วว่าเพื่อเป็นเกียรติแก่ “ราม” คติความเชื่อในสุวรรณภูมิล้วนสืบทอดต่อกันมาว่า พระมหากษัตริย์เป็นอวตารของเทพ เห็นได้จากการตั้งชื่อในหมู่กษัตริย์ ในเมื่อโครงเรื่องของรามเกียรติ์ล้วนแสดงบุญบารมีของพระรามผู้เป็นอวตารของพระนารายณ์ ทั้งยังเป็นปางที่สูงส่งเป็นเชื้อกษัตริย์ และมาปราบมารโดยตรง เนื้อเรื่องเหล่านี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งในการนํามาเป็นวรรณกรรมเพื่อเชิดชูผู้เป็นกษัตริย์ในดินแดนสุวรรณภูมิ

ผู้แต่งไทยจึงให้ชื่อรามายณะว่า รามเกียรติ์ ซึ่งบอกวัตถุประสงค์ของเรื่องไว้อย่างเด่นชัด ด้วยเหตุนี้ วิถีชีวิตของตัวละครในเรื่องจึงต้องเป็นไปเพื่อเสริมเกียรติของพระรามด้วย พิเภกก็ไม่พ้นข่ายนี้

พิเภกเป็นเทพบุตรเวสสุญาณมาเกิด โดยพระอิศวรบัญชาไว้อย่างชัดเจนว่าให้มาช่วยพระรามรบ เป็นวิถีชีวิตที่ถูกกําหนดไว้แล้วว่ามาช่วยให้องค์อวตารมีชัยชนะ และเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นเกียรติยศของพระรามที่รับรู้กันทั้งบนสวรรค์และผืนพิภพ

แม้แต่วานรต่างๆ ก็มีวิถีชีวิตเพื่อส่งเสริมเกียรติยศนี้ของพระราม ทั้งๆ ที่ในทัพที่ยกมาประชิดลงกานั้น มีคนที่พอจะนับว่ามีความแค้นกับทศกัณฐ์จริงๆ ชนิดที่นับหัวได้ อันที่จริงชาวอโยธยาต่างหากที่ควรจะแค้นที่มีคนมาลักเอาพระแม่เมืองไป ส่วนพลวานรจากเมืองขีดขินและเมืองชมพูยิ่งห่างไกลจากวังวนความแค้นเข้าไปใหญ่

สมมติว่า พิเภกไปเกิดเป็นผู้วิเศษกลางป่าให้พระรามไปเชิญมาช่วยรบ เหมือนเล่าปี่ไปเชิญขงเบ้ง หรือถ้อปาอ๋องได้ฟ่ำแจ้ง ก็เป็นไปได้ แต่ให้พิเภกเกิดเป็นยักษ์จะยิ่งได้ผลในการยกย่องบารมีของพระราม เพราะมีคนของอีกฝ่ายทิ้งบ้านเมือง ลูกเมียและพี่น้องมาสวามิภักดิ์กับองค์อวตาร เทียบแล้วนับว่ามีบุญบารมีกว่าไปได้คนจากที่อื่นมารบหลายเท่า

ยิ่งเมื่อนํารามเกียรติ์ไปเปรียบเทียบกับมหากาพย์มหาภารตะแล้ว ยิ่งทําให้เห็นวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมาชัดเจนขึ้น รายละเอียดเรื่องนี้จะกล่าวในข้อถัดๆไป

3. การเปรียบเทียบกับวรรณคดีในสมัยเดียวกัน

การฟื้นฟูวรรณคดีช่วงต้นแผ่นดินรัตนโกสินทร์อาจกล่าวได้ว่า เพื่อรักษาไว้ตามโบราณราชประเพณี เนื่องจากหนังสือต่างๆ ถูกเผาทําลายและคงถูกขนกลับกรุงอังวะไปมาก แต่ทําไมจึงเลือกแปลวรรณคดีต่างชาติอย่างราชาธิราช, สามก๊ก และไซฮั่น ซึ่งล้วนเป็นเรื่องห่างไกลจากราชสํานักในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

ประเด็นนี้ คุณกรรณิการ์ สาตรปรุง ได้ศึกษาไว้อย่างละเอียดในหนังสือ “ราชา ธิราช, สามก๊ก และไซฮั่น : โลกทัศน์ชน ชั้นนําไทย” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า วรรณคดีเหล่านั้นตอบสนองจุดมุ่งหมายทางการเมืองของชนชั้นนําใหม่สมัยรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี แสดงว่าชนชั้นนําใหม่มีความรอบคอบในการเลือกเรื่องและการแปลอย่างมาก จึงไม่น่าที่จะมาพลาดที่รามเกียรติ์เท่านั้น

สามก๊กและไซฮั่นล้วนกล่าวถึงการตั้งราชวงศ์ใหม่และให้คติเกี่ยวกับการเลือกผู้นํา ยิ่งเมื่อรวมกับราชาธิราชที่เน้นเรื่องความเป็นธรรมราชาแล้ว ทําให้เห็นว่าวรรณคดีทั้งสามล้วนให้ทัศนคติเกี่ยวกับการเป็นผู้นําในรูปแบบที่ไม่ต้องรบเก่งนัก แต่ต้องรู้จักใช้คนและมีความเป็นธรรมจึงจะมีบารมีจริง อีกทั้งสามก๊กและไซฮั่นก็ล้วนมีการ “ย้ายสังกัด” กันอลหม่านเพื่อให้ได้นายดี และในการย้ายสังกัดเหล่านี้ก็ไม่ค่อยปรากฏเรื่องทํานองเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล ส่วนมากก็อยู่ๆ กันไป จะได้ดีมากน้อยเพียงใดก็แล้วแต่ฝีมือ

แต่ก็มีกรณีที่ไม่เป็นเช่นนั้น ดังที่เล่าปังฆ่าฮั่นสินหลังจากครองแผ่นดิน ซึ่งผมเห็นว่าค่อนข้างจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของประวัติศาสตร์การเมืองจีน เช่น จูหยวนจาง หรือหมิงไท่จงฮ่องเต้ที่ขึ้นชื่อในเรื่องระแวงขุนพล ร่วมบุกเบิกแผ่นดิน, หย่งเจิ้นฮ่องเต้ฆ่าผู้ร่วมปลอมราชโองการหลังจากครองบัลลังก์ เป็นต้น

ในขณะที่ไม่ค่อยมีตัวอย่างเหล่านี้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การผลัดแผ่นดินของไทยล้วนมีลักษณะที่จะต้องฆ่าฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่า เช่น การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งเป็นวังหน้ามาก่อน ก็มีการฆ่าขุนนางวังหลวงมากมาย, เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ปราบดาภิเษก ก็มีบันทึกการประหารขุนนางเก่าอยู่เหมือนกัน ซึ่งเป็นลักษณะการฆ่าผู้ไม่ยอมจํานน

คติไทยจึงน่าจะอยู่ที่การกําจัดคู่แข่งหรือผู้ต่อต้านบารมีที่ไม่ยอมจํานน มากกว่าเป็นความเชื่อว่าจะต้องฆ่าไส้ศึกหรือผู้ร่วมก่อการเสมอไป ฉันใดก็ฉันนั้น ตลอดเวลาพิเภกไม่ได้แสดงท่าทีที่จะแข่งบารมีกับพระรามเลย กลับยกย่องในความเป็นองค์อวตารอยู่เสมอ ซึ่งไม่ขัดกับคติแบบไทยแต่อย่างไร และยิ่งไม่มีความจําเป็นต้องฆ่า

นอกจากนี้ การรบในรามเกียรติเป็นเรื่องของอิทธิฤทธิ์ที่ดูเหลือเชื่อและการรบก็ไม่มีลักษณะความเป็นจริงทางการเมืองที่เน้นเรื่องการได้มาซึ่งอํานาจปกครอง โครงเรื่องของรามเกียรติ์จึงขาดความยืดหยุ่นในการอธิบายความเปลี่ยนแปลงเชิงอํานาจการเมือง ซึ่งเทียบไม่ได้กับวรรณคดีในสมัยเดียวกันอีกสามเรื่องที่ประยุกต์เข้ากับนัยะทางการเมืองเกี่ยวกับความชอบธรรมของผู้ปกครองใหม่ได้สมจริงกว่า

รามเกียรติ์จึงเหมาะสมที่จะทําให้ผู้อ่านเกิดมโนภาพในพระเกียรติและบารมีของผู้เป็นกษัตริย์ มากกว่าจะนํามาเชื่อมโยงกับโลกของความเป็นจริง บทบาทในการเชื่อมโยงความเป็นจริงจึงไปตกอยู่กับวรรณคดีร่วมสมัยสามเรื่องที่กล่าวมาซึ่งดูสมจริงมากกว่า และสามารถสร้างความเชื่อเกี่ยวกับการสวามิภักดิ์นายดีและวัตรปฏิบัติที่กษัตริย์พึงมีต่อขุนนางได้ดี

นี่คือประโยชน์ของการเปรียบเทียบรามเกียรติ์กับวรรณคดีร่วมสมัย อันทําให้เห็นถึงวัตถุประสงค์การแต่งที่แตกต่างกัน

มุมมองทางประวัติศาสตร์

หากมองการเสียกรุงทั้งสองครั้งด้วยสายตาของชาตินิยมแล้ว จะทําให้ขาดความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ในบางประเด็น รวมถึงการนํามาเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวในรามเกียรติ์ก็จะขาดความถูกต้องด้วย

1. การเสียกรุงครั้งที่ 1

คุณจันทร์ฉายเห็นว่า รามเกียรติ์ล้มเหลวในการแสดงโทษของการเป็นไส้ศึก และไปพ้องกับตัวอย่างครั้งสําคัญในประวัติศาสตร์ไทย คือครั้งที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาช่วยพม่าตีกรุงศรีอยุธยาอันเป็นการกระทําเยี่ยงไส้ศึกแต่กลับได้ดี และทั้งหมดเริ่มจากความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับสมเด็จพระมหินทราธิราช จนนํามาเป็นอุทาหรณ์สอดแทรกในรามเกียรติ์

ผมข้องใจกับประเด็นนี้มาก โดยเฉพาะเรื่องการเป็นไส้ศึก และความชอบธรรมในการย้ายสังกัด

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเปรียบเทียบอํานาจปกครองของกษัตริย์ในดินแดนสุวรรณภูมิไว้ว่า เหมือนดวงเทียนที่จุดขึ้นในห้องมืด แสงสว่างหรือพระราชอํานาจจะเข้มแข็งบริเวณใกล้ศูนย์กลาง แต่ยิ่งไกลออกไปก็ยิ่งสลัว บางจุดอาจจะไกลจนมีแสงเทียนจากศูนย์กลางสองแห่งซ้อนทับกันจนยากจะระบุว่าอยู่ในพระราชอํานาจของฝ่ายใด

พิษณุโลกก็เป็นประเทศราชที่ต้อง “ลู่ตามลม” แม้เจ้าเมืองจะเป็นเขยของกรุงศรีอยุธยาก็ตาม แต่เจ้าประเทศราชสํานักที่มีบารมีคุ้มครองจนเองได้ ยิ่งเมื่อสิ้นสมเด็จพระสมเด็จพระมหินทราธิราชก็ยิ่งขัดแย้งกับพระมหาธรรมราชามากขึ้น ถึงขั้นว่าหนหนึ่งเคยลักพาตัวลูกเมียสมเด็จพระมหาธรรมราชาไว้ที่อยุธยา ถ้าเจอขนาดนี้แล้วยังภักดีกับกรุงศรีอยุธยาก็นับว่าแปลกมาก

ที่สําคัญ คนในภูมิภาคนี้ไม่เคยมีความคิดเรื่องชาติมาแต่ไหนแต่ไร ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ฝรั่งเข้ามากําหนดเขตแดนด้วยแผนที่ จึงเป็นครั้งแรกที่คนในแถบนี้ต้องมองการแบ่งเขตแดนด้วยลักษณะมองจากด้านบน (Bird Eye View) จากเดิมเป็นการมองในแนวราบตามทฤษฎีแสงเทียนที่ใช้ความเข้าใจว่าบารมีของกษัตริย์แผ่ไปครอบงําถึงดินแดนใดบ้าง พระราชอาณาเขตเป็นลักษณะของแสงเทียนจริงๆ ไม่ใช่เป็นเส้นแบ่งแดนตายตัว ประชาชนที่อาศัยอยู่ต่างแดนกันก็ไม่ได้รู้สึกว่าหลัง จากบารมีแผ่มาถึงแล้วเขาจะต้องมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นหรือเป็นชาติเดียวกัน เพราะในยุคสมัยดังกล่าวอาจจะมีบารมีใหม่ๆ มาครอบงําได้เสมอ

ประเทศราชอย่างพิษณุโลกย่อมอยู่ในฐานะที่จะเลือกราชสํานักสังกัดได้ เพราะสมเด็จพระมหาธรรมราชาต้องยังไม่รู้จักคําว่า “ชาติไทย”, “ชาวไทย” และยิ่งไม่มี “แผนที่ประเทศไทย” มาครอบงําความคิดอยู่

นอกจากการเลือกฝ่ายแล้ว ขอให้ลองพิจารณาคําว่า ไส้ศึก ไส้ศึกควรมีนัยของการแฝงตัว คือไปอยู่ให้ฝ่ายหนึ่งเห็นหน้าและไว้วางใจ แต่แท้จริง กลับสืบเรื่องราวในทัพไปบอกอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นนี้จึงจะคงความเป็น “ไส้” เอาไว้ได้ เพราะใจจริงทรยศ แต่ยังอยู่ข้างในของอีกฝ่ายเพื่อล้วงความลับ คล้ายๆ กับไส้ที่เป็นอวัยวะภายใน และในคําว่า ไส้ ก็หมายถึงสิ่งที่อยู่ข้างใน

ขณะที่พิเภกและสมเด็จพระมหาธรรมราชานั้น แยกตัวออกไปให้เห็นว่าจะไปอยู่กับฝ่ายที่ตนมีความสัมพันธ์น้อยกว่า คือฝ่ายที่ไม่ใช่ญาติ เรื่องราวต่างๆที่ทั้งคู่รู้ก็เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในหัวใจ จึงเป็นเสรีภาพที่จะนําไปใช้ประโยชน์แก่ผู้ที่เขาภักดี และไม่ปรากฏว่าทั้งสองแกล้งกลับมาหาฝ่ายญาติเพื่อสืบเรื่องราวแล้วกลับไปบอกอีกฝ่ายอันเป็นลักษณะของไส้ศึกแท้ๆ แต่ประการใด พฤติกรรมเช่นนี้อาจเรียกว่า เอาใจ ออกห่าง, ย้ายฝ่าย หรือเปลี่ยนข้าง ให้ชัดไปเลย ก็ย่อมได้ แต่ไม่เข้ากับคําว่า ไส้ศึก แน่ๆ

พฤติกรรมของหนุมานที่แกล้งไปเข้ากับทศกัณฐ์เพื่อลวงเอากล่องดวงใจต่างหาก ที่พ้องกับลักษณะไส้ศึกมากกว่า เพราะไปเป็น “ไส้” อยู่ในลงกา แต่ทําประโยชน์ให้ฝ่ายพระราม

เพราะฉะนั้น พฤติกรรมของพิเภกและสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ไม่มีลักษณะปิดบังอําพราง “จึงไม่เข้ากับคําว่า ไส้ศึก และลักษณะทางการเมืองของพิษณุโลกกับกรุงศรีอยุธยาก็เป็นไปเยี่ยงประเทศราชกับราชสํานักหนึ่ง ไม่ได้มีความคิดเรื่องคนใน “ชาติ” เดียวกันครอบงําเอาไว้ อีกทั้งบุคคลในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ยังไม่มีความคิดเรื่องประเทศชาติแบบชาตินิยมมาครอบงําเช่นกัน จึงน่าจะมองเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 1 ว่าเริ่มจากการสูญเสียประเทศราชไปก่อนเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการระวังไส้ศึกแต่ประการใด

เมื่อมิได้ต้องการสื่อเรื่องภัยของไส้ศึกสมัยเสียกรุงครั้งที่ 1 ก็ไม่มีความจําเป็นต้องนํามาสอดแทรกไว้ในรามเกียรติ์ เหตุนี้รามเกียรติ์จึงมิได้ประสบความล้มเหลวในแง่ที่กล่าวถึง

2. การเสียกรุงครั้งที่ 2

คุณจันทร์ฉายตั้งข้อสังเกตว่า รามเกียรติ์สามารถแสดงภาพพี่น้องแตกแยกกันจนทําให้เสียบ้านเมืองได้ดีและเป็นอุทาหรณ์ ถึงเหตุการณ์การเสียกรุงครั้งที่ 2 ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่รามเกียรติ์จะสื่อเช่นนั้น เพราะบุคคลในสมัยที่มีการแต่งรามเกียรติ์ล้วนเป็นบุคคลร่วมสมัยในการเสียกรุงครั้งที่ 2

ผมกลับเห็นว่า ปัจจัยหนึ่งของการเสียกรุงครั้งที่ 2 คือความร้าวฉานที่ไม่ถึงที่สุดระหว่างพี่น้องต่างหาก และความทรงจําของบุคคลในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ต่อประเด็นความร้าวฉานนี้ก็ไม่ชัดเจนพอที่จะนํามาสอดแทรกไว้ในรามเกียรติ์

ทําไมผมจึงเชื่อเช่นนี้?

ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยอยุธยานั้นมีการแย่งชิงราชสมบัติกันหลายครั้ง อันเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการคัดเลือกผู้เข้มแข็ง เพื่อจรรโลงความเป็นราชอาณาจักรของกรุงศรีอยุธยาไว้ และกลไกนี้ก็ทําให้กรุงศรีอยุธยาอยู่มาได้ถึงสี่ร้อยกว่าปี เหตุนี้จึงต้องมีการสําเร็จโทษ เจ้านาย, รัชทายาท หรืออดีตกษัตริย์ ไม่ให้เหลือเป็นเสี้ยนหนาม มีวัดโคกพระยาเป็นที่สําเร็จเลือกสรรทางคติความเชื่อ นั่นหมายความว่า รามายณะสามารถผสมผสานเข้ากับคติความเชื่อในสุวรรณภูมิได้ดีกว่าจึงได้รับการเผยแพร่มากกว่า

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ความเชื่อที่ผสานเข้ากับรามายณะได้ดีคืออะไร

ผมก็ขอตอบเลยว่า นั่นคือความเชื่อเกี่ยวกับสมมติเทพหรือกษัตริย์นั่นเอง จึงต้องลองเปรียบเทียบระหว่างรามายณะกับมหาภารตะ เพื่อให้เห็นว่า การแต่งรามเกียรติ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น มีจุดประสงค์อะไร ที่จริงผมก็ไม่รู้ว่ายุคนั้นจะมีต้นฉบับของมหาภารตะให้ใช้แปลหรือไม่ แต่การเปรียบเทียบนี้จะช่วยให้เห็นจุดมุ่งหมายที่ต่างกันของมหากาพย์ทั้งสองเพื่อยืนยันว่า รามเกียรติ์สามารถรองรับความต้องการของชนชั้นนำสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ดีเพียงใด

ประเด็นการเปรียบเทียบ

แก่นเรื่อง

รามายณะ : ความถูกต้องอยู่ที่อวตารของเทพ ดังนั้นตัวละครอื่น จึงต้องช่วยเหลือและเสริมพระเกียรติขององค์อวตาร และองค์อวตารเป็นผู้มีฤทธิ์เดช นำทัพไปปราบมารด้วยองค์เอง

มหาภารตะ : ความถูกต้องไม่อยู่ที่องค์อวตารเสมอไป หากใครสักคนเกิดมีความขัดแย้ง ก็สามารถอาศัยความเป็นผู้มีธรรมของคนต่อต้านองค์อวตารได้ และองค์อวตารมีบทบาทในการช่วยผู้มีธรรมไปปราบมาร โดยไม่ค่อยได้แสดงอิทธิฤทธิ์ทางการรบ

ข้อยืนยันเชิงประจักษ์

1.การเลือกข้างเพื่อความถูกต้อง

รามายณะ : พิเภกไปอยู่กับพระรามเพื่อความถูกต้อง เนื่องจากเจ้าเหนือหัวของตนทำผิด และท้ายสุดพิเภกก็ได้รับผลตอบแทนที่ดี เพื่อเข้ากับฝ่ายองค์อวตารซึ่งเป็นผู้มีธรรม นอกจากนี้พิเภกก็มีชะตาต้องมาช่วยองค์อวตารรบประกาศพระเกียรติ นับเป็นการปูความถูกต้องไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องอยู่แล้ว

มหาภารตะ : เชษฐบุรุษในหัสตินาปุระซึ่งได้รับการยกย่องในคุณธรรมและเป็นญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ต้องเลือกช่วยฝ่ายเการพแม้จะเห็นว่าเจ้าเหนือหัวของตนทำผิด เพราะล้วนเป็นข้าแผ่นดินหัสตินาปุระมาก่อน และเมื่อสิ้นสงครามก็ไม่มีใครประณามคนเหล่านี้ เพราะการภักดีต่อเมืองนั้นถูกแล้ว

2.การชดใช้ความผิดพลาดขององค์อวตาร

รามายณะ : พระรามหลงผิดจนสั่งประหารนางสีดาซึ่งเป็นพระลักษมีอวตาร แม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็ปล่อยปละละเลยนางสีดาไปนานจนมารู้ภายหลังว่ามีลูก พระรามชดใช้ด้วยการเดินป่าสะเดาะเคราะห์ 12 เดือนเท่านั้น แล้วก็ได้ปกครองบ้านเมืองตามเดิม พร้อมได้ลูกเมียกลับคืน

มหาภารตะ : นางคานธารี มารดาของพวกเการพต่อว่าพระกฤษณะว่าเลือกเข้าข้างพวกปาณฑพมากเกินไป อันแสดงถึงความลำเอียงและด้วยการบำเพ็ญความดีของนาง โดยเอาผ้าผูกตาตนเองมาตลอดนับแต่อภิเษกกับสวามีตาบอด ทำให้นางสาปแช่งพระกฤษณะและพวกยาทพ จนเมืองทวารกาของพระกฤษณะสูญสิ้นไปได้

3.ฤทธิ์เดชขององค์อวตาร

รามายณะ : พระรามมีความสามารถในการรบอย่างมาก แม้พญาวานรต่างๆ จะมีฤทธิ์เดชมาก แต่พระรามก็มีบทบาทในการรบครั้งสำคัญๆ หลายครั้ง

มหาภารตะ : พระกฤษณะได้รบหรือสำแดงฤทธิ์น้อยมาก แต่บทบาทเด่นในการแสดงความสามารถทางการรบไปตกกับภีมะและอรชุน

จากการเปรียบเทียบในประเด็นต่างๆ ทําให้มั่นใจได้ว่าโครงเรื่องของรามเกียรติ์นั้น สอดคล้องกับคติเกี่ยวกับกษัตริย์ไทยอย่างมากคือ ความเชื่อว่ากษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์ (สังเกตจากชื่อกษัตริย์) จึงเป็นผู้มีฤทธิ์ เมื่อถูกรุกรานก็สามารถสู้รบกับข้าศึกได้ ผู้ที่มาเป็นบริวารต้องช่วยกันเสริมพระบารมีและเกียรติยศชื่อเสียงของกษัตริย์ผู้เป็นนาย เมื่อนํามาเทียบกับคติทางพุทธ พระรามก็แสดงบารมีในการล้างคนพาลอภิบาลคนดีได้ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงกำราบพญามารที่มาผจญ ทั้งหมดจึงล้วนส่งเสริมความเชื่อเกี่ยวกับกษัตริย์ในสังคมไทย

แต่มหาภารตะนั้นยากที่จะเข้าได้รับทัศนคติเกี่ยวกับกษัตริย์ของไทย เห็นได้ว่าเนื้อเรื่องไม่ได้ผูกขาดความถูกต้องไว้กับพระกฤษณะเพียงฝ่ายเดียว กลับเปิดโอกาสให้ผู้มีธรรมสามารถขัดแย้งพระองค์ได้ หากความคิดนี้เข้ามาในสังคมไทยก็เท่ากับชี้นําให้เกิดการท้าทายพระราชอํานาจ เพราะในการเมืองไทยผู้ที่ท้าทายพระราชอํานาจมักจะอ้างความเป็นผู้มีบุญที่เรียกกบฎผีบุญ ซึ่งบางทีก็เป็นพระสงฆ์องค์เจ้าลงมือเอง นอกจากนี้ พระกฤษณะไม่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ในการรบ อันเท่ากับว่าไม่สามารถทําให้องค์อวตารเกิดความน่าเกรงขาม แน่นอนว่า ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชนชั้นนําใหม่ของรัตนโกสินทร์ต้องระวังอย่างยิ่ง

เมื่อนํามาเทียบเคียงกับคติทางพุทธศาสนา ขณะที่องค์อวตารในรามายณะเป็นผู้ปราบมารโดยตรง ซึ่งสังคมไทยรับตรงจุดนี้ได้ เพราะคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้ากราบพญามาร แต่องค์อวตารในมหาภารตะกลับส่งเสริมให้พี่น้องสองฝ่ายฆ่ากันดังบทภควัทคีตาที่แสดงแก่อรชุน แม้จะเป็นการเข้าข้างคนดีแต่ก็ส่งเสริมการฆ่าฟันระหว่างพี่น้อง ซึ่งขัดกับหลักเมตตาธรรม และยากที่สังคมไทยจะรับได้

โครงเรื่องรามเกียรติ์ที่องค์อวตารปราบมารเสียเอง ทําให้พระรามสมเป็นธรรมราชาและสร้างมุมมองที่ดีกว่าให้แก่ผู้เป็นกษัตริย์

ทั้งหมดยิ่งทําให้เชื่อได้ว่า รามเกียรติ์บรรลุจุดหมายในการสร้างเสริมบารมี ให้ผู้เป็นกษัตริย์ได้เป็นอย่างดี และนี่น่าจะเป็นวัตถุประสงค์สําคัญของการเลือกแต่งรามเกียรติ์ในช่วงเริ่มแผ่นดินใหม่ ซึ่งชนชั้นนําใหม่กําลังแสวงหาความชอบธรรม โดยจุดมุ่งหมายเหล่านี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อนําไปเปรียบเทียบกับมหากาพย์ที่มีชื่อเสียงมาคู่กันอย่างมหาภารตะ

บทสรุป

ข้อเขียนนี้มีวัตถุประสงค์หลัก ๆ อยู่สองประการ

ประการแรก ต้องการโต้แย้งบทสรุปที่ว่า มีความต้องการสอดแทรกอุทาหรณ์ทางประวัติศาสตร์ไทยไว้ในรามเกียรติ์ และการสื่อนั้นล้มเหลวในกรณีของการเสียกรุงครั้งที่ 1 เพราะโครงเรื่องเกิดขัดแย้งกับประเพณีการเมืองไทยบางประการ จึงต้องกลับไปพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่า บุคคลในสมัยที่แต่งรามเกียรติ์นั้นคิดเกี่ยวกับความเป็นอาณาจักรหรือความเป็นชาติไม่เหมือนปัจจุบัน

ดังนั้น การที่คนยุคปัจจุบันอ่านรามเกียรติ์แล้วเรื่องราวไม่เป็นไปตามที่ตนเห็นควรจะเป็น จึงไม่ใช่ความล้มเหลวของผู้แต่งรามเกียรติ์ รวมทั้งต้องการชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ช่วงก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 อาจไม่สําคัญพอที่ผู้แต่งจะนํามาสอดแทรกไว้ในรามเกียรติ์ด้วย

ประการที่สอง เพื่อวิเคราะห์เป้าหมายที่แท้จริงของรามเกียรติ์ อันจะช่วยให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า การสอดแทรกอุทาหรณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่จุดมุ่งหมายในรามเกียรติ์ เพราะแท้จริงแล้วรามเกียรติ์มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองในระดับที่ต้องการเสริมบารมีและความเชื่อต่อผู้เป็นกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังไม่ก้าวไปถึงระดับที่ต้องการสื่อเรื่องการปกครองคน, การวางตนในความเปลี่ยนแปลงเชิงอํานาจ หรือพิชัยสงคราม ดังที่วรรณคดีร่วมสมัยสื่อเอาไว้

และเมื่อนํารามเกียรติ์ไปเปรียบเทียบกับมหาภารตะที่มีศักดิ์ศรีและความศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นมหากาพย์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็ยิ่งชี้ชัดว่า รามเกียรติ์มีความมุ่งหมายในการเสริมบารมีของกษัตริย์ผู้ได้รับความนับถือในฐานะอวตารของพระนารายณ์ไว้มากเพียงใด ที่สําคัญรามเกียรติ์สามารถผสานเข้ากับคติเชิงพุทธและเรื่องธรรมราชาได้ดียิ่งกว่ามหาภารตะ

เช่นนี้ต้องนับว่าการเลือกแต่งรามเกียรติ์นั้นประสบความสําเร็จตามความมุ่งหมายที่แท้จริง

หากจะมีเค้าโครงเรื่องบางส่วนที่ฤๅษีวาลมีกิ ผู้แต่งที่แท้จริงได้แต่งไว้ แล้วเผอิญไปคลับคล้ายคลับคลากับประวัติศาสตร์ไทยอยู่บ้าง นั่นก็เป็นความบังเอิญโดยแท้ อีกทั้งเมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์ช่วงที่ถูกอ้างถึงโดยละเอียดแล้ว ข้อเขียนนี้ก็ชี้ให้เห็นว่ายังมีความไม่ลงตัวอีกหลายด้าน จึงไม่เหมาะสมในการนํามาเปรียบเทียบเพื่อสรุปว่ารามเกียรติ์ล้มเหลว

สําคัญที่สุดต้องไม่ลืมว่า ผู้แต่งรามายณะที่แท้จริงต้องการให้วรรณกรรมนี้สื่อความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าของเขา ไม่ได้วางโครงเรื่องไว้เพื่อให้ใครเอาไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของดินแดนตนโดยเฉพาะ


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความ “แค่เปลี่ยนข้าง กับข้อแก้ต่างให้รามเกียรติ์” เขียนโดย ศุภวิทย์ ถาวรบุตร เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2542

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2565 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ โดยกองบรรณาธิการ