“เมน็อคคิโอ” ชายชราผู้ตั้งคำถามต่อศาสนา โดนตัดสินเป็นพวกนอกรีต ถูกเผาทั้งเป็น

ภาพประกอบเนื้อหา - การลงโทษด้วยการเผา ส่วนเมน็อคคิโอ (Menocchio) ชายชราผู้ตั้งคำถามต่อศาสนาก็โดนตัดสินเป็นพวกนอกรีต และถูกเผาทั้งเป็น (ไฟล์ Public Domain)

บาปที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติล้วนถูกกล่าวอ้างในนามของ “ความรัก” [1] เพราะไม่ว่าสิ่งใดที่ทำลงไป แม้จะดูเลวร้ายเพียงใด แต่หากได้กล่าวอ้างอิงในนามของความรักและความหวังดีต่อประชาชนแล้วนั้นจะกลับกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการยกย่องน่านับถือทั้งสิ้น โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า บาปที่ร้ายแรงและไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรักนั้นคือ บาปในนามของของ “ศาสนา”

ความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างเป็นปัญหาที่ฝังลึกค้างคาใจมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หากลองพิจารณาดูจะพบว่า ประวัติศาสตร์การทำสงครามที่สร้างความหายนะให้กับมวลมนุษย์ มีเหตุผลอย่างหนึ่งที่เกิดจาก ความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่าง ในบทความเรื่องนี้จึงต้องการนำเสนอเรื่องของชายคนหนึ่งที่มีแนวคิด ความเชื่อที่แตกต่าง จนทำให้เขากลายเป็น “คนนอก” ในสังคมที่เขาดำรงอยู่ ชายผู้นั้นมีนามว่า “เมน็อคคิโอ” (MENOCCHIO)

เมน็อคคิโอเขามีชื่อจริงว่า โดเมนิโก สแกนเดลลา (Domenico Scandella) เกิดในช่วงศตวรรษที่ 16 เมน็อคคิโอเป็นเพียงชายชราเจ้าของโรงสีในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งเมืองมอลทาเรียล (Montereale) ประเทศอิตาลี

สิ่งที่น่าสนใจนั้นคือ ชายชราบ้านนอกมีแนวคิดที่แหวกแนวแตกต่างจากเพื่อนบ้านของเขาเป็นอย่างมาก และเขามักจะสั่งสอนเรื่องที่แปลกประหลาดให้กับเพื่อนบ้านอยู่เป็นประจำ จนในที่สุดเมน็อคคิโอก็โดนจับกุมตัวโดยองค์กรศาสนาและถูกนำตัวไปไต่สวนโดยพระท้องถิ่น เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ศรัทธาเลื่อมใสในแนวคิดของศาสนานอกรีต

ในระหว่างการไต่สวน เมน็อคคิโอได้กล่าวในศาลศาสนาว่า ความผิดบาปที่ร้ายแรงของเขานั้นมีเพียงประการเดียว คือ การที่เขาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ซึ่งเขามองว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร เขาแค่ไม่เห็นด้วยในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู ที่หลายๆคนเชื่อว่า พระเยซูเป็นชายที่แสนดี ไม่มีมลทิน และเป็นบุตรชายอันเป็นที่รักยิ่งของพระผู้เป็นเจ้า

เมน็อคคิโอโต้แย้งว่าเขาเชื่อไม่ลงว่า พระเยซูจะถือกำเนิดขึ้นมาได้โดยพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ที่เข้ามาปฏิสนธิในครรภ์ของนางมารีซึ่งเป็นหญิงพรหมจรรย์ สาเหตุอาจเป็นเพราะเมน็อคคิโอได้อ่านหนังสือเรื่อง Il Fioretto della Bibbia โดยมีสาระสำคัญในเนื้อหาที่กล่าวว่า พระเยซูถูกส่งไปโรงเรียนแต่แล้วก็ไปก่อเรื่องจนทำให้ถูกไล่ออก จากนั้นโจเซฟได้กล่าวกับพระเยซูว่า ลูกชายของฉัน ได้โปรดควบคุมตัวเองหน่อย [2] โจเซฟเรียกพระเยซูว่า “ลูกชายของฉัน”

ทำให้เมน็อคคิโอนำมาสนับสนุนความเชื่อของเขาแล้วโต้แย้งว่า พระเยซูจะเป็นบุตรของพระเจ้าได้อย่างไรในเมื่อโจเซฟคือพ่อของพระเยซูและเป็นสามีของนางมารี และนั่นยังหมายความว่า มารีไม่ใช่หญิงพรหมจรรย์อย่างที่เคยเชื่อกัน ดังนั้นหากพระเยซูเป็นลูกของมนุษย์ธรรมดาก็เท่ากับว่าผู้ที่อ้างตนสืบทอดเจตจำนงแห่งอำนาจของพระเยซู ซึ่งก็คือ พระสันตะปาปาก็ไม่ควรจะมีอภิสิทธิ์ชนเหนือคนทั่วไป และไม่ควรผูกขาดก้าวก่ายในความเชื่อทางศาสนาของผู้อื่น

เมน็อคคิโอคิดว่าบาทหลวงนั้นมีบทบาทในทางศาสนาน่าสงสัยเป็นที่สุด เห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments) โดยเฉพาะพิธีศีลล้างบาป (Baptism) ซึ่งเป็นพิธีกรรมเพื่อการชำระล้างบาปกำเนิดและเพื่อรับรองการเข้ามาเป็นคริสต์ศาสนิกชน เมน็อคคิโอโต้แย้งว่า มันล้วนแล้วแต่เป็นพิธีกรรมประดิษฐ์เพื่อการหวังผลให้เป็นธุรกิจของบรรดาพระและบาทหลวง ล่อลวงผู้คนให้เสียทรัพย์แลกกับผลบุญที่อ้างถึงพระผู้เป็นเจ้าจะประทานให้ผ่านพิธีกรรมต่างๆ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บาทหลวงค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ ตักตวงผลประโยชน์บริโภคจิตวิญญาณของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย เมน็อคคิโอยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า พระและบาทหลวงไม่ควรหลงมัวเมาตบแต่งศาสนสถานเพราะมันส่งผลต่อชาวบ้านตาดำๆ ที่ต้องถูกขูดรีดภาษีเอาไปสมทบในการบูรณะโบสถ์

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่และแก่นสารสำคัญขององค์กรศาสนา เมน็อคคิโอจึงได้กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือการที่เราสามารถเรียนรู้คำสอนของพระเจ้าได้ด้วยตัวเองไม่จำเป็นต้องพึ่งพระและบาทหลวงในการชี้นำคำสอน นอกจากการแสดงทัศนะวิพากษ์ต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูและบทบาทอันน่าสงสัยของพระสันตะปาปาแล้ว เมน็อคคิโอยังได้แสดงทัศนะของเขาที่มีต่อจุดกำเนิดของสรรพสิ่งและพระเจ้า ตลอดจนการตั้งคำถามในคำสอนของพระเจ้าไว้ดังนี้

“ข้าพเจ้าได้กล่าวไปว่า ในความคิดเห็นของข้าพเจ้านั้น ความวุ่นวายทุกอย่าง ทั้งดิน อากาศ น้ำ และไฟ หากนำมารวมเข้าด้วยกันแล้ว จากนั้นทั้งหมดนี้จะออกมาเป็นมวลสาร ก็เหมือนกับชีสที่ได้มาจากนม และจะมีหนอนปรากฏอยู่ในนั้น และนั่นก็คือเหล่าเทวดาผู้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ซึ่งในทั้งหมดนี้พระเจ้าและเหล่าเทวดา ต่างก็ถูกสร้างขึ้นมาจากมวลสารเดียวกันนี้พระองค์ก็ได้รับสมญานามพระผู้เป็นเจ้าพร้อมด้วยอัครทูตสวรรค์ 4 คน นั่นคือ ลูซิเฟอร์, มิคาเอล, กาบริเอล, และราฟาเอล

แต่เมื่อลูซิเฟอร์คิดเทียบชั้นตีตนเทียบพระบารมีแห่งพระผู้เป็นเจ้า ด้วยความยโสโอหังนี้ พระเจ้ามีพระบัญชาให้ขับไล่เขาออกจากสรวงสวรรค์ พร้อมทั้งผู้ที่อุ้มชูเขาแลพวกพ้องทั้งหลาย แล้วพระเจ้าองค์เดียวกันนี้ภายหลังได้สร้างอดัมกับอีฟและผู้คนขึ้นมาเป็นจำนวนมากมาแทนที่เทวดาที่ถูกขับไล่ออกไป และเมื่อผู้คนเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า พระองค์ก็ส่งพระบุตรมา ซึ่งถูกชาวยิวจับตัว แล้วก็โดนตรึงกางเขน” [3]

จากทัศนะเบื้องต้นของเมน็อคคิโอ สะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้เชื่อในแนวคิดการกำเนิดของสรรพสิ่งตามพระคัมภีร์ฉบับทางการเคยกล่าวไว้ว่า พระเจ้าคือผู้ที่สร้างโลกและทุกๆ สิ่งด้วยตัวของพระองค์เอง

เมน็อคคิโอถึงกับเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ถึงต้นกำเนิดของจักรวาลว่า เหมือนชีสก้อนใหญ่ที่ทำมาจากนม พระเจ้าและเหล่าเทวดาก็คือหนอนที่ชอนไชออกมาจากก้อนชีสเน่า จุดกำเนิดของพระเจ้าไม่ได้วิเศษวิโสและเต็มไปด้วยเรื่องราวมหัศจรรย์ กลับกลายเป็นเรื่องเล่าการกำเนิดที่แสนจะธรรมดาและเข้าใจได้ง่าย

แม้กระทั่งการที่พระเจ้าส่งบุตรชายมาสังเวยไถ่บาปแก่มวลมนุษย์ เมน็อคคิโอมีความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าหากเราทุกคนคือบุตรของพระเจ้าอย่างที่คำสอนทางศาสนาบอกแก่เรา แล้วเราจะได้รับความเมตตาและความปรารถนาดีจากพระเจ้าด้วยการถูกตรึงบนไม้กางเขนเฉกเช่นเดียวกับพระเยซูหรือไม่ หากความรักของพระเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์ตอบแทนในนามของความตายแล้วอะไรคือคุณค่าของความรัก

เขาตั้งคำถามต่อคำสอนของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ซึ่งเป็นคำสอนหลักของศาสนาคริสต์ที่กล่าวว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง”  เมน็อคคิโอกล่าวว่า หากมีคำสอนให้รักเพื่อนบ้าน เราก็ไม่จำเป็นต้องรักพระเจ้า บูชาพระเจ้า เราก็ควรจะหันมารักเพื่อนบ้านด้วยการมองเห็นคุณค่าและให้เกียรติซึ่งกันและกัน นี่อาจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้

คำโต้แย้งให้การในศาลของเมน็อคคิโอ สร้างความประหลาดใจแก่คณะลูกขุนที่ทำการไต่สวนเป็นอย่างมาก

ผู้เขียนคิดว่าเหตุผลที่พอจะอธิบายที่มาของแนวคิดแปลกๆ ของเมน็อคคิโอได้นั้น ต้องลองพิจารณาบริบทช่วงเวลาที่เมน็อคคิโอมีชีวิตอยู่ กล่าวคือ ในช่วงศตวรรษที่16 เป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ศรัทธาทางศาสนาในยุโรป อำนาจของพระสันตะปาปาถูกนักมนุษย์นิยมในดินแดนยุโรปวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเสื่อมขององค์กรศาสนา และพฤติกรรมของบาทหลวง ทั้งการซื้อขายตำแหน่งพระชั้นผู้ใหญ่ การขายบัตรไถ่บาปเพื่อนำเงินไปก่อสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้มาร์ติน ลูเธอร์ นักบวชชาวเยอรมัน เห็นว่าการขายบัตรไถ่บาปเป็นการมอมเมาประชาชน จึงได้จัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่แนวคิดต่อต้านพฤติกรรมอันมิชอบมิควรของพระสันตะปาปา แนวคิดของลูเธอร์ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจนนำไปสู่การปฏิรูปศาสนาและก่อตั้งลัทธิโปรเตสแตนต์

ผู้เขียนคาดว่าอิทธิพลภายนอกจากกระแสการปฏิรูปศาสนานี้ อาจส่งผลให้เมน็อคคิโอได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งคำถามต่อความเชื่อทางศาสนาและพฤติกรรมของบาทหลวงในนิกายคาทอลิก และปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งนั้นคือ ความชอบในการอ่านหนังสือของเมน็อคคิโอ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือต้องห้ามของพวกนอกรีต เช่น  The Bible in the vernacular, Il Fioretto della Bibbia, The Decameron of Boccaccio, Mandeville’s Travels และยังมีอีกหลายๆเล่ม นี้อาจเป็นเหตุผลที่เมน็อคคิโอมีความรู้จากการอ่านหนังสือที่หลากหลาย จนทำเกิดแนวคิดที่สวนกระแสกับคนส่วนใหญ่ในเวลานั้น

คณะลูกขุนได้ตัดสินความผิดของเมน็อคคิโอว่าเขาเป็นพวกศรัทธาศาสนานอกรีต ดูหมิ่นพระเจ้า ไม่เกรงกลัวและละอายต่อบาปที่ได้ล่วงเกินต่อพระผู้เป็นเจ้า และที่สำคัญอาจเป็นไปได้ว่า เมน็อคคิโออาจถูกวิญญาณร้ายจากปีศาจเข้าสิ่งสู่สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 (Pope Clement VIII) ได้มีคำสั่งให้ลงโทษโดยการเผาทั้งเป็น

สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 (Pope Clement VIII) (ภาพจาก website เข้าถึงได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Pope_Clement_VIII)

ความตายของเมน็อคคิโอ มีสาเหตุมาจากการที่เขาแตกต่างทั้งความคิดและความเชื่อจากสังคมที่เขาดำรงอยู่ ผู้เขียนคิดว่าเรื่องราวของเมน็อคคิโอ สะท้อนให้เห็นถึงความอึดอัดคับข้องใจ ต่อองค์กรศาสนาแบบรวมศูนย์อำนาจที่เห็นแก่ตัวไม่เปิดเสรีภาพในการแสดงออกและไม่ยอมรับความแตกต่างของศาสนา ลัทธิความเชื่ออื่นๆ และหากสังคมใดมีการปกครองแบบเผด็จการ ใช้อำนาจเหนือกฎหมายสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้มีความชอบธรรมกว่าศาสนาอื่นๆ ก็ยิ่งจะสร้างความแตกแยกภายในของประชาชน

และสักวันหนึ่งหน้ากากประชาธิปไตยจอมปลอมก็จะโดนกระชากออกโดยคนนอกรีต ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อนำพาความหวังใหม่มาสู่ประชาชนอย่างแท้จริง แต่ตอนนี้คงทำได้แค่รอคอยต่อไป.


เชิงอรรถ :

[1] Robert Langdon. “The greatest sins in human history were committed in the name of love”. inferno

[2] Carlo Ginzburg, The Cheese and the Worms: The Cosmos of a Sixteenth-Century Miller. Translated by John and Anne Tedeschi. (NEW YORK: DORSET PRESS, 1989) p. 36.

[3] “I have said that, in my opinion, all was chaos, that is, earth, air, water, and fire were mixed together; and out of that bulk a mass formed – just as cheese is made out of milk – and worms appeared in it, and these were the angels.

The most holy majesty decreed that these should be God and the angels, and among that number of angels there was also God, he too having been created out of that mass at the same time, and he was named lord with four captains, Lucifer, Michael, Gabriel, and Raphael.

That Lucifer sought to make himself lord equal to the king, who was the majesty of God, and for this arrogance God ordered him driven out of heaven with all his host and his company; and this God later created Adam and Eve and people in great number to take the places of the angels who had been expelled. And as this multitude did not follow God’s commandments, he sent his Son, whom the Jews seized, and he was crucified.” แปลโดย เฉลิมพล แพทยกุล กองบรรณาธิการมติชน Carlo Ginzburg. The Cheese and the Worms: The Cosmos of a Sixteenth-Century Miller, Translated by John and Anne Tedeschi. (NEW YORK: DORSET PRESS, 1989) pp. 5-6.

เอกสารอ้างอิง :

Ginzburg Carlo. The Cheese and the Worms: The Cosmos of a Sixteenth-Century Miller, Translated by John and Anne Tedeschi. (NEW YORK: DORSET PRESS, 1989)

แหล่งอ้างอิงออนไลน์ :

การปฏิรูปศาสนาในยุโรปสมัยกลาง, แหล่งที่มา http://religionsocial.blogspot.com/

มาร์ติน ลูเทอร์, แหล่งที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/มาร์ติน ลูเทอร์

MENOCCHIO 1532-1599, แหล่งที่มา http://ldysinger.stjohnsem.edu/@texts2/1581_menocchio_cheese_worms/01_intr-menocchio.htm

Sacrament, แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Sacrament

Baptism, แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Baptism

Pope Clement VIII, แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Pope_Clement_VIII


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 เมษายน 2560