ผู้เชี่ยวชาญจากบริติชมิวเซียม อธิบายข้อจำกัดของการกำหนดอายุจารึกจากการ “ผุพัง”

สืบเนื่องจาก “ข้อสงสัยการตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ (ศิลปวัฒนธรรม, กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗)

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมได้สอบถามไปยังบริติชมิวเซียม [http://www.thebritishmuseum.ac.uk/science/index.html] เกี่ยวกับการตรวจหาอายุของวัตถุโบราณ และได้รับตอบจากคุณเจเน็ต แอมเบอร์ (Janet Amber) จาก Department of Conservation, Documentation and Science British Museum

โดยผมได้ยกเอาผลสรุปการทดลองของกรมศิลปากรเฉพาะที่เกี่ยวกับการใช้เครื่อง Energy Dispersive X-ray Spectrometer ตรวจวัดหินตัวอย่าง และได้รับคำตอบมา เห็นว่าน่าสนใจ ผมจึงขอยกข้อความในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่เขียนไปถามและได้รับตอบมาเล่าให้ทราบเผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจครับ

Advertisement

จดหมายถึงคุณเจเน็ต (๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๖) มีความว่า

ขอบคุณมากสำหรับความเอื้อเฟื้อให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์มาก ผมอยากจะขอคำแนะนำเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

ถ้าหากว่าเรามีศิลาจารึกที่ทำจากหินทรายแป้ง (Siltstone) เหมือนกัน ๒ หลัก หลักหนึ่งรู้แน่ๆ ว่าสร้างขึ้นราว ๖๐๐ ปี อีกหลักหนึ่งไม่รู้ มีการทดสอบโดยใช้ Energy Dispersive X-ray Spectrometer กับหินตัวอย่าง (specimens) จากทั้งตัวที่รู้อายุ และตัวที่ต้องการหาอายุ โดยที่หินตัวอย่างทั้ง ๒ มีผิวด้านนอก (exposed surface) ห่างจากชั้นผิวด้านใน (unexposed layer) ประมาณ 0.3-0.5 mm โดยพบว่า

๑. ปริมาณ Silicon (Si) และ Silica (SiO2) ที่ผิวด้านนอก (exposed surface) สูงกว่าผิวด้านในที่เป็น unexposed layer ประมาณ ๓-๑๐% เหมือนกัน

๒. ปริมาณ Aluminium (Al) และ Alumina (Al2O3) ที่ผิวด้านนอก (exposed surface) ต่ำกว่าชั้นด้านในที่เป็น unexposed layer ประมาณ ๒-๑๐% เหมือนกัน

ผมขอถามว่า จากข้อมูลนี้สามารถสรุปได้หรือไม่ว่าศิลาจารึกทั้งสองทำในสมัยเดียวกัน

ผมสงสัยว่า ค่าช่วงห่างประมาณ ๓-๑๐% และ ๒-๑๐% นั้น เป็นตัวเลขที่สามารถบอกได้ว่าวัตถุทั้งสองอยู่ในยุคสมัยเดียวกันได้จริงหรือไม่ ควรมีการทดลองอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่?

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ผมได้รับจดหมายตอบดังนี้

เรียน คุณชัชวาล

ดิฉันต้องขอโทษด้วยที่ตอบมาล่าช้า ดิฉันเห็นว่าคุณต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการที่จะบอกว่าศิลาจารึกทั้งสองหลักนี้อยู่ในยุคเดียวกัน ความยากลำบากในการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการผุพังอยู่กับที่ (Weathering) ก็คือ การผุพังอยู่กับที่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นอย่างยิ่ง (Local conditions) ของทำเลที่ศิลาจารึกตั้งอยู่ และขึ้นอยู่กับธรรมชาติของหินที่นำมาตรวจสอบด้วย

ความแตกต่างแม้เพียงเล็กน้อยของตำแหน่งแห่งที่ของศิลาจารึก หรือความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของหินทั้งสองจะก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างสำคัญ (Critical differrence) ของปริมาณการกร่อน (erosion) ที่เกิดขึ้นแก่แท่งหินทั้งสองนั้น

ดิฉันเกรงว่าการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการผุพังอยู่กับที่นั้น จะบอกได้เพียงแค่ข้อบ่งชี้ทั่วไปคร่าวๆ เกี่ยวกับอายุของมัน (general indication of age) เท่านั้น

with best wishes

Janet Ambers

นี่คือความคิดเห็นหนึ่งของผู้ทำงานด้านนี้ที่บริติชมิวเซียม หากท่านใดมีความคิดเห็นมาร่วมแลกเปลี่ยนก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ชัชวาล ปัณปุน

ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๕๐๒๐๐

ป.ล. ผมแนบต้นฉบับจดหมายตอบคุณเจเน็ตมาด้วย

Date: Mon, 23 Feb 2004

14:36:26 +0000

From: “Janet Ambers”

<[email protected]>

To : [email protected]

Subject: Re: asking for suggestion

Dear Dr Poonpun

Sorry for the delay in my reply. I think you would have to be very careful about suggesting that the two inscriptions are the same period. The difficulty with using data on weathering is that it is so dependent on local conditions and on the exact nature of the stone under examination. A very slight difference in position or in the mineralogy of the two pieces could make a critical difference between the amount of erosion which has occurred-I’m afraid any use of weathering can only give you a general indication of age

with best wishes

Janet Ambers

Department of Conservation,

Documentation and Science

British Museum

Gt Russell St London WC1B 3DG

Tel +44 (0) 20 7 323 8332

Fax +44 (0) 20 7 323 8276