ทำไมอ้วนสุด จึงเรียกอ้วนเสี้ยว พี่ชายตนเองว่า “ขี้ข้าในบ้านกู”

อ้วนสุด อ้วนเสี้ยว สามก๊ก
สองพี่น้องตระกูลอ้วน ซ้าย-อ้วนสุด ขวา-อ้วนเสี้ยว

ในวรรณกรรม สามก๊ก “แซ่อ้วน” เป็นแซ่อัครมหาเสนาบดีติดต่อกันสี่ชั่วคน มีเกียรติคุณโด่งดังอยู่ในยุคนั้น แต่ “อ้วนเสี้ยว-อ้วนสุด” พี่น้องคู่หนึ่งของตระกูลอ้วน กลับรบกันเองหลายครั้ง อ้วนสุด ผู้น้องนั้นดูถูก อ้วนเสี้ยว ผู้เป็นพี่ชายอย่างมาก พงศาวดารราชวงศ์ฮั่นยุคหลังบันทึกไว้ว่า อ้วนสุดเคยถึงกับไม่ยอมรับว่าอ้วนเสี้ยวเป็นทายาทตระกูลอ้วนอย่างไม่เกรงใจ ทั้งยังเรียกอ้วนเสี้ยวว่า “ขี้ข้าในบ้านกู”

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นอกจากความขัดแย้งของทั้งสอง อ้วนสุดยังถือเอาจารีตเรื่องเมียหลวง-เมียน้อย และลูกที่เกิดจากแม่ที่เป็นเมียหลวงเมียน้อย มาอ้างอิงในการถากถางพี่ชายตัวเองอีกด้วย

ระบบเมียหลวง-เมียน้อย ของจีนเริ่มมีตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจวตะวันตก ผ่านยุคราชวงศ์ถัง-ซ่ง และยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงราชวงศ์ชิง ดังที่ในคัมภีร์เมิ่งจื่อกล่าวถึงตำนานเรื่อง “ชาวแคว้นฉีมีเมียหลวงหนึ่งคนเมียน้อยหนึ่งคน” แสดงให้เห็นว่า คนทั่วไปในยุคนั้นก็มีเมียหลวงเมียน้อยกันแล้ว

หนังสือ “อิเชี่ยจิงอินอี้ (เสียงและความหมายของคำในคัมภีร์ทั้งปวง)” อธิบายว่า “เมียน้อยใช้รูปเป็นเสน่ห์สนองคนจึงได้รับการสมัครสังวาส” นั่นก็คือเมียน้อยใช้รูปบำเรอนายผู้เป็นสามี จึงไม่มีสถานะใดๆ ในครอบครัว เมียน้อยมีภาระให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกอยู่ในครอบครัว แต่ไม่ได้รับการตอบสนองเยี่ยงเมียหลวง เพราะไม่ได้ผ่านพิธีแต่งงานเป็นทางการ

คัมภีร์หลี่จี้ (อธิบายจารีต) บทฝ่ายใน (เมีย) บันทึกไว้ว่า “สู่ขอตบแต่งคือเมียหลวง ตามมาอยู่คือเมียน้อย” เมียหลวงหรือภรรยาเอกต้องมีการสู่ขอตบแต่ง จึงเรียกว่า “แต่งเมีย (หลวง)” แต่เมียน้อยเพียงแต่รับมาอยู่ด้วย จึงเรียกว่า “รับเมีย (น้อย)” หรือ “หาเมียน้อย”

แรกทีเดียวการตั้งระบบเมียหลวงเมียน้อยขึ้นมานั้น ความสำคัญอยู่ที่เพื่อสืบวงศ์ตระกูล หากเมียหลวงไม่มีลูกก็ต้องหาเมียน้อย ลูกที่เกิดจากเมียน้อยก็คือผู้สืบวงศ์ตระกูล แต่แม่จะเลื่อนฐานะจากเมียน้อยขึ้นเป็นเมียหลวงนั้นแสนยาก

ในประวัติศาสตร์มีเมียน้อยจำนวนมากต้องโศกเศร้าอดทน เพราะสถานะทางการสมรสของตน ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “สถานะของเมียน้อยไม่ชัดเจน” นั่นก็คือเมียน้อยยังไม่มีสิทธิเลื่อนเป็นเมียหลวง ในยุคสามก๊ก “นางเปียนซี” เดิมทีเป็นเมียน้อยของโจโฉ เนื่องจากประเสริฐปรีชาช่วยโจโฉเลี้ยงลูกที่เกิดจากเมียอื่นโดยไม่ปริปากบ่น ทั้งเป็นเมียที่รักยิ่งของโจโฉ (เมื่อเมียหลวงโจโฉเลิกร้างกับโจโฉไปเอง) ต่อมาเมื่อโจโฉเป็นวุ่ยอ๋อง จึงตั้งนางเปียนซีเป็นพระชายา

เมื่อเมียหลวงเมียน้อยอยู่ร่วมกันในครอบครัว จึงมีวิธีการคุมเมียน้อยมากมาย ดังในคัมภีร์หลี่จี้ บทฝ่ายใน (เมีย) บันทึกไว้ว่า “เมียหลวงไม่อยู่ เมียน้อยหลับนอนด้วย แต่มิกล้าค้างคืนด้วย” นั่นคือเมื่อเมียหลวงไม่อยู่เรือนด้วยเหตุใดก็ตาม สามีมีเพศสัมพันธ์กับเมียน้อยได้ แต่ห้ามนอนร่วมกันตลอดคืน เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดความใกล้ชิดผูกพัน จนอาจคุกคามต่อสถานภาพของเมียหลวง นี่เป็นบทบัญญัติตามจารีต แม้ในหมู่ชาวบ้านการปฏิบัติตามจารีตเรื่องนี้จะมีความยากลำบากอยู่พอควร แต่ในแง่การควบคุมเมียน้อยก็พอจะเห็นจากเรื่องนี้ได้บ้าง

นอกจากนี้ ลูกเมียหลวงกับลูกเมียน้อยก็มีสถานะในครอบครัวต่างกัน ลูกเมียหลวงภาษาจีนว่า “ตี๋ชู (เกิดจากภรรยาเอก)” ลูกเมียน้อยภาษาจีนว่า “ซู่ชู (เกิดจากอนุภรรยา)” คำว่า “ตี๋” นั้น หมายถึง เอก, สายหลัก ส่วนคำว่า “ซู่” หมายถึง ห้องข้าง, ห้องรอง หนังสือซื่อหมิง (นามาธิบาย) เล่ม 3 บทอธิบายเครือญาติ อธิบายว่า “ซู่ (รอง)” ก็คือ “เก็บ, เก็บรวม” หมายถึง “เก็บมารับการตอบสนองชั้นรอง, ชั้นเลว” นั่นก็คือบอกว่า ชายผู้เป็นนายหาเมียน้อยนั้นง่ายมาก ดังนั้นลูกที่เกิดมาจึงไม่มีสถานะอะไรในครอบครัว การเลี้ยงดู หรือตอบสนองในเรื่องต่างๆ ก็ต่ำต้อย

ตอนนี้คงพอเห็นเค้าลางแล้วว่า ทำไมในวรรณกรรม “สามก๊ก” อ้วนสุด จึงเรียก อ้วนเสี้ยว ว่า “ขี้ข้าในบ้านกู”

พงศาวดารสามก๊ก ภาควุ่ยซู (เรื่องของแคว้นวุ่ย) เล่ม 6 เผยซงจืออธิบายเสริมโดยอ้างอิงจากพงศาวดารราชวงศ์ฮั่นมาว่า อ้วนเสี้ยวเป็น “บุตรสามัญ” ของอ้วนหง บุตรสามัญอันหมายถึงลูกเมียน้อย ส่วนบุตรที่เกิดจากเมียหลวงหรือเมียเอก เรียกว่า “บุตรเอก”

นอกจากนี้จีนยังมี “ระบบบุตรเอกคนโตสืบสกุล” เป็นหลักการพื้นฐานในระบบวงศ์ตระกูลของจีนยุคเก่า เริ่มมีช่วงปลายราชวงศ์ซางลงตัวในช่วงต้นราชวงศ์โจว กำหนดเป็นระบบแบบแผนว่า “ตั้งบุตรเอกตามลำดับอายุไม่ใช่ตามปรีชาสามารถ ตั้งลูกตามศักดิ์มิใช่ตามอายุ”

วรรคแรกหมายความว่า ตั้งทายาทต้องตั้งลูกเมียหลวงตามลำดับอายุ วรรคหลังหมายความว่า การแต่งตั้งลูกต้องตั้งตามศักดิ์ของแม่ ไม่ใช่ตั้งตามลำดับอายุ นั่นคือลูกเมียน้อยแม้อายุมากกว่าก็มีสิทธิหลังลูกเมียหลวงซึ่งมีสิทธิก่อนตามลำดับอายุ ตำแหน่งและทรัพย์สินของพ่อ ลูกคนโตของเมียหลวงซึ่งเป็นบุตรเอกคนแรกเป็นผู้สืบทอด

การให้บุตรคนโตสืบสกุล ก็เพื่อประกันความมั่นคงในราชบัลลังก์ของบุตรเอกหรือมหาสาขาทุกรุ่นของราชวงศ์โจว (ลูกเมียน้อยหรือ “บุตรสามัญ” เป็นอนุสาขาของสกุล) ระบบบุตรเอกคนโตสืบสกุล เป็นหลักการสืบวงศ์ตระกูลแบบหนึ่งที่ใช้อยู่ในสังคมจีนยุคเก่า ซึ่งสามีมีเมียหลวงคนหนึ่ง เมียน้อยหลายคน เป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งในการรักษาระบบวงศ์ตระกูลของจีน ช่วยแก้ปัญหาการสืบทอดและแบ่งทรัพย์สิน ยศศักดิ์ของตระกูล ช่วยสร้างความมั่นคงแก่ระเบียบการปกครองของสังคม เป็นหลักการพื้นฐานทางการเมืองประการหนึ่ง มีอิทธิพลสำคัญต่อการสืบราชสันตติวงศ์ของจีนยุคเก่า

ทว่า การสืบราชสันตติวงศ์ในอดีตของจีน ก็มิได้เป็นไปตามหลักการนี้เสมอไป ในประวัติศาสตร์มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชา แต่มิได้เป็นบุตรเอกคนโตหลายองค์ เช่น พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ พระเจ้าถังไทจง เป็นต้น

ด้วยระบบจารีตเกี่ยวระบบ “เมียหลวง-เมียน้อย” และ “บุตรเอก-บุตรสามัญ” ดังกล่าว แม้อ้วนสุดเป็นน้องชายอ่อนอาวุโสก็ยังถือว่าตนมีศักดิ์สูงกว่าจึงเรียกอ้วนเสี้ยวว่า “ขี้ข้าในบ้านกู” นั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ธันวาคม 2564