“สุวรรณภูมิ” ในนิทานนานาชาติ ทำไมสถานที่ในเรื่องมักคือชมพูทวีป-ไม่บอกเวลา

แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งสถานที่และเมือท่าโบราณตามคัมภีร์ภาษาบาลีและสันสกฤตโดยสันนิษฐานประกอบ (จากหนังสือสุวัณณภูมิ ของธนิต อยู่โพธิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๐)
บทความนี้เรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (2531) เนื่องจากได้พบข้อมูลเพิ่มเติม

กาลครั้งหนึ่ง ณ…

เกือบจะเป็นรูปแบบของนิทานไปแล้วว่าจะต้องขึ้นต้นด้วยฉากที่บอกเวลาและสถานที่ เช่น “กาลครั้งหนึ่ง ณ กรุงพาราณสี…” “ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองตักกสิลา…” เวลาที่บอกนั้น ไม่เจาะจงว่านานมาแล้วเพียงใดหรืออยู่ในสมัยใด เพียงแต่บอกให้รู้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดไกลตัว ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ฟังหรือแม้แต่ผู้เล่ามีโอกาสได้ประสบมาเอง ลักษณะนี้เป็นสากลเพราะอาจพบได้ในนิทานเกือบทุกชาติ ในนิทานตะวันตกใช้วลีว่า “Once upon a time…” และในนิทานอินเดียใช้คำว่า “กทาจิตฺ” ซึ่งมีความหมายเดียวกัน

นิทานชาดกซึ่งถือว่ามาจากอินเดียเช่นกันก็ใช้ฉากบอกเวลาที่ไม่เจาะจง เช่น “อตีเต กาเล…” (ในเวลาอดีต) แม้ในอรรถกถาจะแบ่งให้เจาะจงลงไปว่าเป็นเรื่องดั้งเดิมในกาลไกล (ทูเรนิทาน) เรื่องดั้งเดิมในกาลไม่ไกล (อวิทูเรนิทาน) หรือเรื่องระหว่างพุทธกาล (สันติเกนิทาน) ก็ยังนับว่าทุกเรื่อง “ไกล” จากยุคสมัยของผู้เล่าและผู้ฟังนิทานอยู่ดี

ฉากที่บอกสถานที่นั้นก็เช่นกัน มักเป็นเมืองที่อยู่ไกล ยิ่งไกลเท่าใดความตื่นเต้นแปลกใหม่ก็มีสิทธิ์อยู่ในนิทานได้มากเท่านั้น เพราะไม่มีใครค้านว่า “ไปดูมาแล้วไม่มีสักหน่อย” หรืออะไรทำนองนั้น ในนิทานไทยจึงมักไม่มีฉากเมืองกาญจนบุรี ลพบุรี เป็นต้น เว้นแต่จะเป็นนิทานแสดงตำนานของสถานที่นั้นๆ

ฉากในนิทานอาจเป็นเมืองสมมุติหรือเมืองต่างแดนไกลโพ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยสร้างเรื่องในจินตนาการที่ไกลตัวได้เช่นเดียวกับฉากเวลาที่กล่าวแล้ว

ฉากเมืองสมมุติอาจเป็นชื่อเมืองที่มิได้มีความหมายเอื้อต่อเรื่องเท่าใดนัก เช่น เมืองอาวหะนคร (จากเรื่องท้าวเอฬราชในนนทุกปกรณัม) ผู้ฟังนิทานแทบจะไม่จดจำว่าเรื่องเกิดขึ้นที่เมืองใด ผู้เล่าก็เช่นกัน เมื่อเล่าครั้งต่อไปอาจเปลี่ยนฉากเป็นเมืองอื่นเสียก็ได้

นอกจากฉากเมืองสมมุติแล้ว เมืองต่างแดนก็เป็นที่นิยมในนิทาน ตัวอย่างเช่น พระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสี (ในนิทานชาดกหลายๆ เรื่อง) พระไชยสุริยาครองกรุงสาวัตถี (ในกาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่) นางเกศนีมารดาของยอพระกลิ่นเป็นธิดาเจ้าเมืองปาตลี (ในเรื่องมณีพิชัย) พระเจ้าเสนากุฏบิดาของสังข์ศิลป์ชัยครองกรุงปัญจาล (ในเรื่องสังข์ศิลป์ชัย) โอรสพระเจ้ากรุงมัทราสเดินทางไปศึกษาศิลปศาสตร์ที่กรุงตักกศิลา (ในเรื่องนนทุกปกรณัม) เหล่าพราหมณ์จากเมืองกลิงคราษฎร์มาทูลขอช้างปัจจัยนาคจากพระเวสสันดร (ในเรื่องพระเวสสันดร)

เมืองต่างๆ เช่น พาราณสี สาวัตถี ปาตลี (ปาฏลีบุตร) ปัญจาล มัทราส ตักกศิลา (ตักกสิลา, ตักษศิลา) กลิงคราษฎร์ ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ล้วนเป็นเมืองในชมพูทวีป ซึ่งน่าจะเป็นเพราะนิทานเหล่านั้นมีที่มาจากนิทานอินเดีย หรือไม่ก็แต่งเลียนแบบนิทานอินเดีย

แต่อีกเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้เล่านิทานต้องการสร้างเรื่องให้เกิดขึ้นไกลตัวผู้ฟัง เพื่อให้ผู้เล่าและผู้ฟังสามารถสร้างจินตนาการได้กว้างไกลกว่าที่ประสบอยู่ในชีวิตจริง

นิทานอินเดียหลายเรื่องมีลักษณะเช่นว่านี้ แม้จะเป็นฉากสถานที่ที่อยู่ในชมพูทวีปนั่นเอง แต่ก็อยู่ในทิศทางที่ห่างไกลจากตัวผู้เล่ามาก

จากการศึกษาเปรียบเทียบนิทานสันสกฤตเรื่องปัญจตันตระ มีข้อสังเกตว่า สำนวนถิ่นเหนือเช่นที่ปรากฏในพฤหัตกถา ของคุณาฒยะ ใช้ฉากเมืองมหิลาโรปยะ (เป็นเมืองที่อยู่ในอินเดียตอนใต้ ริมฝั่งตะวันออก ใกล้เมืองมัทราส)

ส่วนสำนวนถิ่นใต้ เช่น ตันโตรปาขยาน ของวสุภาค และหิโตปเทศ ของนารายณะ ใช้ฉากเมืองปาฏลีบุตร (เป็นเมืองที่อยู่ในอินเดียตอนเหนือ)

ประเด็นนี้สอดคล้องกับข้อสังเกตของแพทริก ออลิเวลล์ ที่ว่า “ในการเล่านิทานเกี่ยวกับเรื่องในอดีตที่ผ่านมานาน มักใช้ฉากท้องเรื่องเป็นแดนไกลที่ไม่เคยพบเห็นมากกว่าจะใช้ถิ่นที่ที่ตนคุ้นเคย เรื่องใดที่ขึ้นต้นว่า “ครั้งหนึ่งในทักษิณาบถ” จึงมักจะออกมาจากปากของผู้เล่าที่อยู่ในถิ่นเหนือ” (Olivelle, 1997 : XIII) ฉากท้องเรื่องในนิทานจึงมักจะเป็น “เมืองไกลโพ้น” สำหรับผู้เล่าและผู้ฟัง

สุวรรณภูมิ เมืองไกลโพ้น

ในบรรดา “เมืองไกลโพ้น” ที่ปรากฏในนิทานอินเดีย มีอยู่เมืองหนึ่งที่น่าสนใจ นอกจากจะมีชื่อบ่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นเมืองที่ผู้เล่านิทานหรือบรรพบุรุษของเขาคงจะได้เคยเดินทางไปเยือนแล้วด้วย เพราะเป็นดินแดนที่มีอยู่จริงและอยู่ในเส้นทางที่นักเล่านิทานอินเดียน่าจะผ่านในการเดินทางเรือค้าขาย ดินแดนที่จะกล่าวถึงนี้คือสุวรรณภูมิ

สุวรรณภูมิ หรือ “แผ่นดินทอง” เป็นปัญหาที่นักโบราณคดีศึกษาค้นคว้ามานานว่าเป็นดินแดนอยู่ที่ใด บ้างว่าอาจเป็นสะเทิมหรือสุธรรมวดี ดินแดนของมอญทางปากแม่น้ำคง บ้างว่าอยู่ที่นครปฐมของไทย และบ้างว่าเป็นดินแดนบริเวณเมืองอู่ทองที่จังหวัดสุพรรณบุรี

เมื่อพิจารณาจากนามที่ปรากฏเป็น “ฉาก” ในวรรณคดีประเภทนิทาน “สุวรรณภูมิ” ก็คือดินแดนที่อุดมสมบูรณ์มั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์ เป็นจุดหมายปลายทางของผู้เดินทางค้าขายทางเรือ แม้จะไม่ใช่ฉากอันเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นการดำเนินเรื่อง ก็ยังพอเห็นเค้าว่าอย่างน้อยผู้เล่าและผู้ฟังนิทานคงจะคุ้นหูชื่อสุวรรณภูมิ และเคยได้ยินกิตติศัพท์ว่าเป็นดินแดนที่ใครๆ ก็มุ่งหน้าไปค้าขายมาบ้างแล้ว ชื่อนี้จึงปรากฏอยู่ในนิทาน

ก่อนจะกล่าวถึงนิทาน จะขอย้อนขึ้นไปถึงเอกสารที่มีผู้นำไปใช้อ้างในการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพราะนับว่ามี “จินตนาการ” ปะปนอยู่น้อยกว่าในนิทานมากทีเดียว เอกสารที่ว่าคือ คัมภีร์ทีปวงศ์และคัมภีร์มหาวงศ์

คัมภีร์ทีปวงศ์เป็นพงศาวดารที่เก่าแก่ที่สุดของลังกา ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้แต่ง เนื้อหาแสดงประวัติของลังกาตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จมาลังกา ๓ ครั้ง จนถึงการตั้งราชวงศ์ลังกาตั้งแต่พระเจ้าวิชัยมาจนจบประวัติศาสตร์ลังกาในสมัยของพระเจ้ามหาเสนะ ผู้ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 325-352

ส่วนคัมภีร์มหาวงศ์ก็คือคัมภีร์ทีปวงศ์ฉบับปรับปรุงใหม่ มีลำดับเนื้อเรื่องและเนื้อหาสำคัญเหมือนกัน ต่างกันที่ระยะเวลาครองราชย์ของกษัตริย์บางองค์ และรายละเอียดบางตอนกับลีลาการประพันธ์ที่งดงาม ซึ่งคัมภีร์มหาวงศ์มีมากกว่าคัมภีร์ทีปวงศ์ (สุภาพรรณ, 2526 : 401-402)

ขุนศิริวัฒนอาณาทรผู้ศึกษาเกี่ยวกับสุวรรณภูมิ อาศัยเค้ามูลจากเนื้อความในคัมภีร์ทีปวงศ์และมหาวงศ์ประกอบกับตำนานพระเจ้าอโศกมหาราช สรุปความเบื้องต้นได้ว่า

218 ปีหลังพระปรินิพพานแห่งพระพุทธเจ้า พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ณ แคว้นมคธ ความสลดพระราชหฤทัยจากการสงคราม เป็นเหตุหนึ่งที่ทรงเปลี่ยนพระราชนิยมจากการใช้กำลังแสนยานุภาพ มาเป็นการบำเพ็ญพระกรณียกิจเพื่อเผยแผ่ธรรมานุภาพ ทรงมีพระราชประสงค์จะให้พุทธศาสนาเผยแผ่ไปยังดินแดนต่างๆ จึงทรงส่งพระเถระเป็นศาสนทูตแยกย้ายกันไปประกาศศาสนา พระโสณะกับพระอุตตระได้มายังสุวรรณภูมิ

ในคัมภีร์ทีปวงศ์และมหาวงศ์เล่าว่า ก่อนที่พระเถระทั้งสองจะมาถึง ชาวสุวรรณภูมิมีความเดือดร้อน เพราะมีผีเสื้อน้ำคอยช่วงชิงทารกที่คลอดใหม่ไปกินเสีย เมื่อชาวเมืองเห็นพระเถระทั้งสองก็คิดว่าเป็นพวกพ้องของผีเสื้อน้ำ แต่ต่อมาก็เข้าใจ พระเถระเทศนาพรหมชาลสูตรจนชาวเมืองบรรลุมรรคผล จึงเป็นอันว่าพุทธศาสนาได้ประดิษฐานลงที่แว่นแคว้นสุวรรณภูมิตั้งแต่ครั้งนั้น (ขุนศิริวัฒน์, 2514 : 1-3)

คัมภีร์ทีปวงศ์และมหาวงศ์เป็นตำนานพงศาวดาร ซึ่งนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ของประเทศแล้ว ยังมุ่งคุณค่าทางรสวรรณคดีและมุ่งเน้นรูปแบบและเนื้อหาที่เสริมสร้างความศรัทธาและความภูมิใจแก่ชาวเมืองในการที่ได้เกิดอยู่ในดินแดนพุทธศาสนาด้วย

พงศาวดารในลักษณะนี้จึงไม่อาจถือเป็นประวัติศาสตร์บริสุทธิ์ได้ แต่ก็ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หากผู้อ่านสามารถแยกส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์จริงออกจากอลังการแห่งการประพันธ์ แม้ส่วนที่เป็นอลังการก็ยังมีประโยชน์ เพราะสะท้อนให้เห็นความคิดความเชื่อของคนในยุคที่แต่ง สามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อได้ (สุภาพรรณ, 2526 : 403)

เมื่อขุนศิริวัฒนอาณาทรศึกษาเรื่องสุวรรณภูมิ ก็ได้ประเมินคุณค่าของคัมภีร์ทีปวงศ์และมหาวงศ์ไว้ว่าดังนี้

“สำหรับหนังสือทีปวงศ์มหาวงศ์ ย่อมรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย เพราะเป็นหนังสือที่มุ่งตรงในทางตำนานตามความนิยมครั้งโน้น และเมื่อสอบสวนเทียบเคียงกับความจริงที่ได้พบขึ้นใหม่ หรือแม้ด้วยวิธีการพิจารณาอย่างละเอียดเข้มงวดของคนชั้นใหม่ก็ยังปรากฏว่า ท่านผู้รจนาหนังสือทั้งสองเล่มนี้ได้พยายามจะบรรยายความตามสัตย์จริง” (ขุนศิริวัฒน์, 2514 : 56)

“การสอบสวนเทียบเคียงกับความจริงที่ได้พบขึ้นใหม่” ซึ่งเป็นวิธีการที่นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ใช้อยู่นั้น ทำให้เชื่อได้ว่า “สุวรรณภูมิ” มิใช่ดินแดนตามจินตนาการของผู้แต่งตำนานเท่านั้น

แม้ในงานเขียนที่หล่อหลอมด้วยจินตนาการ เช่น นิทาน นักวิชาการบางคนก็ยังเห็นว่ามีคุณค่าที่จะใช้เป็นหลักฐานได้ เพราะผู้แต่งมิได้ “ปั้น” เรื่องขึ้นมาทั้งหมด แต่ได้อาศัยประสบการณ์เป็นพื้นฐานอยู่ด้วย

ขุนศิริวัฒนอาณาทรกล่าวถึงนิทานชาดกซึ่งอ้างถึงสุวรรณภูมิว่า “จริงอยู่ชาดกเป็นเรื่องจำพวกนิทาน แต่เป็นนิทานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะหลั่งธรรม หาได้มุ่งความไพเราะเพลิดเพลินมิได้เรื่องเช่นนี้แม้ตัวบุคคลและพฤติการณ์อาจไม่ใช่ความจริง แต่สถานที่ จารีตประเพณีกับลักษณะกิจการที่อ้างจำต้องมีมูลมาจากความเป็นจริง หาไม่ก็จะเสียความดูดดื่มน้อมนำศรัทธา” (ขุนศิริวัฒน์, 2514 : 55-56)

สุวรรณภูมิในจินตนาการ

แต่อย่างไรก็ตาม ชาดกก็ยังเป็น “นิทาน” อยู่ แม้จะ “มีวัตถุประสงค์เพื่อหลั่งธรรม” แต่ฉาก ตัวละคร รายละเอียดต่างๆ ก็เป็นส่วนที่อรรถกถาจารย์ประพันธ์ขึ้น

อิทธิพลจากนิทานต่างๆ ที่เล่ากันแพร่หลายอยู่แล้ว อาจหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในนิทานชาดกได้ไม่ยาก ดังนั้นสถานที่ที่อ้างในนิทานชาดกจึงอาจ “มีมูลที่มาจากความเป็นจริง” บ้าง หรืออาจเกิดจากจินตนาการของผู้เล่านิทานแต่โบราณกาลบ้างก็เป็นได้

ถึงแม้ว่าฉากสถานที่ในนิทานจะถือเอาทิศทางและตำแหน่งที่ถูกต้องแน่นอนตามตำราภูมิศาสตร์ไม่ได้ แต่การพิจารณาเนื้อเรื่องตอนที่กล่าวถึงฉากเหล่านั้นก็น่าจะช่วยให้เข้าใจได้ว่าผู้คนที่เล่าและฟังนิทานในครั้งกระโน้นมีความคิดเกี่ยวกับเมืองต่างๆ นั้นว่าอย่างไร

ในนิทานชาดกเรื่องสุสโสนที (ลำดับที่ 360) ซึ่งมีเนื้อเรื่องเหมือนกากี พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นพญาครุฑอยู่ที่เมืองนาคทีป มักจะแปลงตนไปเล่นสกากับพระเจ้าตัมพะแห่งพาราณสี พญาครุฑได้พบนางสุสโสนทีมเหสีของพระเจ้าตัมพะ ทั้งสองต่างก็มีจิตเสน่หากัน

วันหนึ่งพญาครุฑก็แผลงฤทธิ์ให้ฟ้าดินมืดคลุ้มแล้วเหาะพานางหนีไป พระเจ้าตัมพะจึงส่งคนธรรพ์ชื่อสัคคะออกติดตามนาง สัคคะมาถึงเมืองภารุกัจฉะแล้วลงเรือไปยังสุวัณณภูมิ

ระหว่างเดินเรือกลางมหาสมุทร ลูกเรือขอให้สัคคะเล่นดนตรีให้ฟัง เสียงดนตรีทำให้ปลาใหญ่ในท้องทะเลบ้าคลั่งโถมเข้าทำลายเรือแตก สัคคะจึงต้องเกาะไม้กระดานลอยอยู่ในมหาสมุทรจนไปถึงเมืองนาคทีป และได้พบนางสุสโสนที

ในนิทานชาดกเรื่องมหาชนก (ลำดับที่ 539) พระเจ้าอริฎฐชนกแห่งมิถิลา ถูกอนุชาสังหารและชิงราชย์ไป มเหสีของพระเจ้าอริฎฐชนกจึงต้องหนีออกจากเมืองไปอยู่ที่จัมปากนคร ต่อมาประสูติโอรสชื่อมหาชนก

เมื่อมหาชนกพระชนม์ได้ 17 พรรษา มหาชนกก็ดำริจะเดินทางไปยังมิถิลาเพื่อทวงราชสมบัติของพระบิดาคืนมา ก่อนไปมิถิลามหาชนกต้องการจะเดินเรือไปค้าขายยังสุวัณณภูมิ แต่เรืออับปางเสียกลางทะเลลึก มหาชนกต้องว่ายน้ำอยู่ถึง 7 วัน มณีเมขลาผู้คุ้มครองดูแลมหาสมุทรจึงช่วยไว้และพาไปยังเมืองมิถิลา

(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงนำชาดกเรื่องพระมหาชนกมาทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ และในแผนที่ฝีพระหัตถ์ได้ทรงแสดงเส้นทางที่พระมหาชนกเดินทางจากจัมปากนครไปยังสุวรรณภูมิ นอกจากตำแหน่งของเมืองสุวรรณภูมิที่ตรงกับประเทศไทยแล้ว ในพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2537 ยังมีตอนหนึ่งว่า “พระราชาสุวรรณภูมิทำฝนเทียม” จึงมักเข้าใจกันว่าสุวรรณภูมิในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกนั้น น่าจะเป็นประเทศไทย)

ในนิทานชาดกเรื่องสังขะ (ลำดับที่ 442) พราหมณ์เศรษฐีชื่อสังขะแห่งเมืองพาราณสี ได้สร้างเรือเพื่อจะเดินทางไปยังสุวัณณภูมิ (เคาเวลผู้แปลนิทานชาดกเป็นภาษาอังกฤษกล่าวว่า มีผู้เชื่อว่าสุวัณณภูมิคือประเทศพม่าและไทย, Cowell, 1978 : IV, 10)

ปัจเจกพุทธองค์หนึ่งเล็งเห็นด้วยเนตรทิพย์ว่าสังขะจะประสบอันตราย จึงปรากฏองค์ตรงหน้าสังขะซึ่งกำลังจะออกเดินทาง

ครั้นเดินเรือได้ถึงวันที่ 7 เรือก็รั่ว สังขะจึงสละเรือว่ายน้ำกลับไปยังเมืองของตน มณีเมขลาผู้คุ้มครองดูแลมหาสมุทรเห็นสังขะทนทุกข์อยู่กลางน้ำถึงเจ็ดวันจึงช่วยขึ้นมาแล้วพากลับบ้านเมือง

นิทานในเชียงใหม่ปัณณาสชาดก ซึ่งเป็นชาดกนอกนิบาตที่พระภิกษุชาวเชียงใหม่แต่งขึ้น มีเรื่องนรชีวชาดก (ลำดับที่ 12) ซึ่งกล่าวถึงทางสามแพร่งแห่งหนึ่งในป่าหิมวันต์ ทางสายหนึ่งไปเมืองพาราณสี สายหนึ่งไปภูเขาคันธมาทน์ และอีกสายหนึ่งไปเมืองสุวรรณภูมิ

นิทานเรื่องนี้มีฉากท้องเรื่องอยู่ที่เมืองเมืองหนึ่ง “ไม่ไกลจากหงสาวดี” พ่อค้าคนหนึ่งเดินทางออกจากหมู่บ้านไปยังสุวรรณภูมิ ใช้เวลาเดินทางรอนแรมอยู่หลายวัน

ในนิทานสันสกฤตชื่อกถาสริตสาคร ของโสมเทวะ (ศตวรรษที่ 11) กล่าวถึงดินแดนชื่อสุวรรณภูมิและสุวรรณทวีป สุวรรณภูมิซึ่งแปลว่าแผ่นดินทองนั้น เพนเซอร์ผู้ศึกษากถาสริตสาคร ว่าเป็นพม่าตอนล่าง ส่วนสุวรรณทวีปซึ่งมีผู้แปลว่าเกาะทองนั้น เขาว่าเป็นเกาะสุมาตรา (Penzer, 1968 : VII, 15; IV, 190-191)

วอร์เดอร์ผู้ศึกษานิยายนิทานสันสกฤตก็คิดว่าสุวรรณทวีปเป็นเกาะสุมาตรา (Warder, 1988 : V, 765)

มอเนียร์ วิลเลียมส์ ผู้เขียนพจนานุกรมสันสกฤต แปลชื่อสุวรรณทวีปว่าเกาะทอง และอธิบายว่า “น่าจะ” หมายถึงสุมาตรา แต่เมื่อถึงคำว่าสุวรรณภูมิ เขาก็มีความเห็นว่าคือสุวรรณทวีป

สุวรรณทวีปกับสุวรรณภูมิ

อันคำว่าสุวรรณทวีปกับสุวรรณภูมิจะเป็น 2 ดินแดนเพราะใช้คำท้ายต่างกันนั้น ยังน่าสงสัยอยู่

ด้วยคำว่า “ทวีป” นอกจากหมายความว่าเกาะแล้ว ตามศัพท์ยังแปลว่า “ที่มีน้ำอยู่ 2 ด้าน” หมายถึงดินแดนระหว่างแผ่นน้ำ 2 ข้าง เช่น เกาะหรือคาบสมุทร ชมพูทวีปก็ได้ชื่อเพราะเหตุนี้

สุวรรณทวีป (หรือบางครั้งใช้สวรรณทวีป ซึ่งมีความหมายเดียวกัน สวรรณเป็นคำที่กร่อนเสียงมาจากสุวรรณ) ที่ปรากฏในกถาสริตสาครก็มิได้บ่งว่าเป็นเกาะแต่อย่างใด

นิทานเรื่อง “จักระกับล้อเหล็ก” ในกถาสริตสาคร (Penzer, 1968 : IV, 229) กล่าวถึงพ่อค้าเมืองธวละชื่อจักระ เดินเรือไปค้าขายที่สวรรณทวีปทั้งๆ ที่บิดามารดาไม่เห็นด้วย เขาค้าขายได้กำไรงดงาม แล้วเดินทางกลับจากสวรรณทวีปโดยเรือที่บรรทุกเพชรพลอยเต็มลำ

ในนิทานอีกเรื่องหนึ่งในกถาสริตสาคร ชื่อเรื่อง “บุตรพ่อค้า นางคณิกา และวานรอาละ” บุตรพ่อค้าชื่ออีศวรวรรมัน เดินทางด้วยกองเกวียนจากเมืองจิตรกูฎไปค้าขายยังสวรรณทวีป ระหว่างทางผ่านเมืองชื่อกาญจนปุระ จึงหยุดพักแรมที่นั่น

ในนิทานสันสกฤตเรื่องติลกมัญชรี (ศตวรรษที่ 10) กล่าวถึงเจ้าชายแห่งเมืองอโยธยาในแคว้นโกศล ออกเดินทางผจญภัยทางเรือ มีลูกเรือหนุ่มคนหนึ่งเป็นพ่อค้าทางทะเลจากเมืองมณีปุระในสุวรรณทวีป (Warder, 1988 : V, 765)

และในนิยายภาษามหาราษฎรีเรื่องหนึ่ง (ศตวรรษที่ 8) เล่าว่าบุตรพ่อค้าชื่อธรณะเดินทางจากเมืองเวชยันตีบนฝั่งตะวันออก (ของชมพูทวีป) ลงเรือไปจีนทีป (หรือจีนทวีป, หมายถึงเมืองจีน) ระหว่างทางพายุพัดเรือแตก ต้องเกาะกระดานลอยไปถึงสุวัณณทีป (สุวรรณทวีป) ได้พบว่าดินแดนแห่งนั้น ในดินมีทองอยู่มากมาย (Warder, 1983 : IV, 514)

ในเรื่องเดียวกันนี้กล่าวถึงเมืองสุวัณณภูมิ (สุวรรณภูมิ) ไว้อีกตอนหนึ่ง (นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องยาวเล่าถึงชาติต่างๆ ของตัวเอก เรื่องเล่าจึงแบ่งเป็นตอนๆ ตามชาติที่เกิด) ในเรื่องตอนนี้ตัวละครอยู่ในแคว้นโกศล ต้องลี้ภัยออกจากเมือง เดินทางทางเรือรอนแรมไปสองเดือนจึงถึงสุวัณณภูมิ

ในนิทานสิงหลชุดสีหลวัตถุปกรณัม มีนิทานเรื่องช่างทองชื่อกุนตะ พระราชาประทานทองให้ทำชามถวาย แต่กุนตะเอาทองไปขายกินเสียหมด ด้วยกลัวอาญาจึงหนีออกจากเมืองเดินทางไปสุวัณณภูมิเพื่อไปหาทองมาทดแทนที่ตนใช้ไป กุนตะถวายอาหารแด่พระภิกษุรูปหนึ่ง พระภิกษุจึงบอกว่าที่ก้นบ่อแห่งหนึ่งมีชามทองจมอยู่ กุนตะงมขึ้นมาแล้วนำกลับไปถวายพระราชา พระราชาพอพระทัยมากเพราะเป็นชามทองที่งดงามมากกว่าที่คาดเอาไว้ (Warder, 1992 : VI, 502)

ในนิทานสันสกฤตอีกเรื่องหนึ่งในชุดพฤหัตถา ของคุณาฒยะ เล่าว่ามีพ่อค้าชื่อสานุทาสเดินทางจากตามรลิปติเพื่อไปแสวงโชค ได้พบพ่อค้าคนหนึ่งพร้อมบริวารกำลังจะเดินทางทางเรือไปยังสุวรรณภูมิ สานุทาสจึงร่วมเดินทางไปด้วย

หลังจากรอนแรมไกลข้ามมหาสมุทร วันหนึ่งก็ขึ้นฝั่งที่สุวรรณภูมิ ทุกคนต้องบุกป่าฝ่าดงและเผชิญอุปสรรคนานาชนิด แต่ก็ไม่ย่อท้อเพราะหวังจะได้ทองจากดินแดนนี้ (Warder, 1974 : II, 135-136)

เมืองสุวรรณทวีปและสุวรรณภูมิซึ่งเป็นฉากสถานที่ในนิทานที่กล่าวถึงเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้ เมื่อพิจารณาบริบทในเรื่องแล้วอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า

1. สุวรรณทวีปหรือสุวรรณภูมิตามความคิดของผู้เล่าผู้ฟังนิทาน น่าจะหมายถึงดินแดนเดียวกัน เป็นแดนที่สมบูรณ์ล้วนแล้วด้วยทอง เป็นดินแดนที่มั่งคั่ง จึงเป็นจุดหมายปลายทางของผู้แสวงโชคและพ่อค้าทั้งหลาย

2. สุวรรณทวีปหรือสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่อยู่ติดทะเล

3. สุวรรณทวีปหรือสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างทางจากชมพูทวีปไปยังจีนทวีป ต้องเดินทางไกลจากชมพูทวีปและส่วนมากต้องเดินทางเรือ

4. สุวรรณทวีปหรือสุวรรณภูมิบางครั้งก็มีความสัมพันธ์กับชื่อเมืองมณีปุระ (ชายแดนอินเดียติดกับพม่า) และจะเดินทางจากหงสาวดีก็ใช้เวลาหลายวัน

ข้อสังเกตนี้มิใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นทิศทางและตำแหน่งของสถานที่ในใจของผู้เล่านิทาน เป็นดุจเดียวกับที่ยาขอบบอกว่าเมืองแปร เมืองตองอู และเมืองหงสา ตามความรู้ของผู้อ่าน และตามตำราภูมิศาสตร์นั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเมืองแปร เมืองตองอู และเมืองหงสา ที่อยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือและที่อยู่ในใจของเขา (ยาขอบ, 2506 : I, (4))

รูปลวดลายศิลปะสุวรรณภูมิ อายุราว ๒,๕๐๐-
๓,๐๐๐ ปี ที่เพิงผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัด
อุบลราชธานี งานช่างที่ถ่ายทอดเป็นรูปสัญลักษณ์
คนในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

สุวรรณภูมิจากปากผู้เล่านิทานเตอรกี

ชื่อเมืองชื่อสถานที่ที่ออกมาจากปากของผู้เล่านิทานนั้นน่าจะเกิดจากการเก็บเล็กผสมน้อยเอาลักษณะต่างๆ ของเมืองและสถานที่ที่ได้ยินได้ฟังมาประสานเข้ากับจินตนาการของตน ผู้อ่านก็พลอยสนุกไปด้วย เมื่อคิดตามและปะติดปะต่อลักษณะเหล่านั้นเข้าเป็นชิ้นเป็นอันได้
สุวรรณภูมิไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักของผู้เล่าและผู้ฟังนิทานอินเดียเท่านั้น แต่ยังปรากฏร่องรอยอยู่ในนิทานเตอรกีเรื่องนิทานปาชา (ฉบับภาษาไทย) อีกด้วย

ในนิทานเรื่องนั้น ขุนนางเตอรกีตำแหน่งปาชาพยายามจะเลียนแบบพระเจ้าฮารูน-อัรรอชิดในนิทานอาหรับราตรี จึงปลอมตัวออกสังเกตความเป็นอยู่ของชาวเมือง เมื่ออยากจะรู้เรื่องใดก็ให้เรียกตัวผู้เกี่ยวข้องมาเล่า เป็นเรื่องจริงบ้าง เป็นนิทานบ้าง แล้วให้จดจารไว้เช่นเดียวกับที่กาหลิบฮารูนทรงมีบัญชาให้ทำ

นักเล่านิทานคนหนึ่งชื่อเมนูนีเข้ามาเล่านิทานเรื่อง “คู่รักมีตำหนิ” ให้ปาชาฟัง แต่ก่อนจะเล่า เมนูนีบอกปาชาว่า “อาศัยเหตุจะต้องซึมทราบต่อประเทศต่างๆ อันเกี่ยวกับเรื่องนิยายที่เล่าสืบต่อกันมา ข้าพเจ้าคิดว่าจำเป็นต้องมีความรู้ภูมิศาสตร์ด้วย”

แล้วจึงเริ่มต้นนิทานว่าดังนี้ “ในด้านทิศอีสานของคาบสมุทรภารตวรรษอันไพศาล เดิมมีราชอาณาจักรมหึมาไพบูลย์พูนเจริญ ภูมิประเทศเลื่องชื่อลือนามว่าเป็นประเทศงดงามยิ่งนัก เนื้อดินอุดมด้วยธัญชาติผลาหารและอากาศก็สดชื่นปราศจากสิ่งร้ายอันเป็นภัยต่อความสุข

ราชอาณาจักรนี้ ด้านตะวันออกจดประเทศมลายู ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือที่สุดของฝั่งแม่น้ำโขง เหตุเพราะฤดูหนาวร้อนจัด ทิศใต้ติดแผ่นดินอันหนึ่งจะชื่อใดข้าพเจ้าลืม จำได้แต่ว่าตกทะเลต่อกับอาณาจักรชาติลาวพุงดำ ทิศตะวันตกติดอาณาจักรชื่ออะไรข้าพเจ้าจำไม่ได้เหมือนกัน และทิศเหนือจดประเทศหนึ่งชื่อ ข้าพเจ้าลืมอีก

เมื่อได้กราบเรียนอธิบายมาถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้าหวังอยู่ด้วยความรู้อันกว้างขวางของพระเดชพระคุณซึ่งจะเปรียบกับท่านปราชญ์โลกมัน (Luqman เป็นชื่อนักปราชญ์ในตำนาน) ก็เสมอเมล็ดแตงกับผลแตง

เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องอธิบายต่อไปอีกว่า ราชอาณาจักรที่กล่าวนี้มีนามตามปุราณะว่า อาณาจักรสุฟฟรา”

แม้จะเป็นคำบอกเล่าที่กระท่อนกระแท่นเพราะความขี้ลืมของเมนูนี แต่ข้อมูลเท่าที่มีซึ่งคงไม่ถูกต้องตามภูมิศาสตร์ทีเดียวก็ทำให้พอจะจับความได้ว่า

ดินแดนแห่งนี้มิใช่เกาะ เพราะอยู่ติดแผ่นดินเกือบทุกด้าน และเป็นดินแดนที่มีอาณาเขตติดกับมลายูและลาว

ในราชอาณาจักรสุฟฟรานี้พระราชามีข้อกำหนดว่า ชายที่จะมาอภิเษกกับพระราชธิดาต้องมีชาติตระกูลสูง และไม่มีแผลเป็นตำหนิแม้แต่แห่งเดียว

ชายหนุ่มทั่วแดนซึ่งเป็น “คนพลเมืองสามล้านคน” ของสุฟฟราพากันมาให้นางเลือก ชาวเมืองแต่งตัวด้วย “แพรและต่วนมาจากเมืองจีน ผ้าห่มมาจากกัษมีระ เครื่องอาภรณ์ เพชรพลอย ช้างม้าลาอูฐ ก็มีปรากฏเกลื่อนกลาดในนครสุฟฟรา”

ในที่สุดเจ้าหญิงก็พบผู้ที่จะมาอภิเษกกับนาง เป็นชายหนุ่มรูปงามชื่ออโศตะ เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมอย่างไพเราะสละสลวยยิ่งนัก “ถึงกับได้จดถ้อยคำเหล่านี้ไว้ด้วยตัวทอง เพราะถือว่าเป็นอุดมภาษาของชาติสุฟฟรา” (เสฐียรโกเศศ, 2515 : 416-451)

ผู้ที่อ่านนิทานปาชาฉบับแปลเป็นภาษาไทย ของเสฐียรโกเศศ อาจนึกปะติดปะต่อภาพอาณาจักรสุฟฟราแล้วพาให้คิดว่าเป็นสุวรรณภูมิในใจของผู้เล่านิทานเตอรกีก็ได้

แต่ทว่าชะรอยจะเป็นเพราะเสฐียรโกเศศมีภาพของสุวรรณภูมิอยู่ในใจกระมัง จึงจัดตำแหน่งแห่งที่ของอาณาจักรสุฟฟราให้ชัดเจนออกมาเป็นเช่นนั้น

ในฉบับเดิมนั้นมีแต่ชื่อสถานที่จากความจำเลอะเลือนของเมนูนี (ผู้เล่านิทานให้ปาชาฟัง) ดังนี้ “ด้านตะวันออกจดประเทศลูซิตาเนีย ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือสุดของฝั่งไอซ์แลนด์…ทิศใต้ติดแผ่นดินอันหนึ่งจะชื่อใดข้าพเจ้าลืม จำได้แต่ว่าตกทะเลต่อกับอาณาจักรชาติตาร์ตาร์” (Marryat, 1904 : 207)

ในที่สุดลูซิตาเนียซึ่งอยู่ไกลถึงแถบสเปนก็มาเป็น “มลายู” “ฝั่งไอซ์แลนด์” ในแอตแลนติกเหนือก็มาเป็น “ฝั่งแม่น้ำโขง” และ “ชาติตาร์ตาร์” จากแถบทุ่งหญ้ารัสเซียใต้ก็มาเป็น “ชาติลาวพุงดำ”

จึงทำให้ฉากดินแดนนั้นเขยิบใกล้ตัวผู้อ่านคนไทยเข้ามาอีก มิหนำซ้ำชื่ออาณาจักร “สุฟฟรา” ยังมีเสียงคล้ายๆ “สุวรรณ” เสียอีก เมืองนี้จึงมาตั้งอยู่ในใจของผู้อ่านนิทานเรื่องนี้ได้ไม่ยากนัก

อย่างไรก็ตามชื่ออาณาจักรจากปากของเมนูนี นักเล่านิทานแบบประสมประเสนั้น จะเป็นอาณาจักรสุวรรณภูมิได้หรือไม่ หรือสุวรรณทวีปและสุวรรณภูมิในนิทานเรื่องต่างๆ จะเป็นร่องรอยของเมืองสุวรรณภูมิได้เพียงใด ผู้อ่านผู้ฟังนิทานไม่ค่อยใส่ใจ เพราะไม่ได้อ่านนิทานอย่างอ่านตำราประวัติศาสตร์หรือตำราภูมิศาสตร์

นอกเหนือจากความสนุกสนานและแง่คิดจากนิทานแล้ว ก็เห็นจะเป็นความเข้าใจร่องรอยความคิดและมุมมองของผู้คนผ่านนิทานนั่นเองที่ผู้อ่านผู้ฟังได้รับเมื่อนิทานจบลง


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2560