เบื้องหลังความงามสุดเจ็บปวดของสตรีชาวอาปาตานี ชาติพันธุ์แห่งอรุณาจัลประเทศ

อาปาตานี ชนเผ่า อรุณาจัลประเทศ อินเดีย
สตรีชาวอาปาตานี

อาปาตานี (Apatani) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในรัฐ “อรุณาจัลประเทศ” (Arunachal Pradesh) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีประชากรประมาณ 70,000 คน อาศัยอยู่ที่หุบเขาซีโร (Ziro) ชาวอาปาตานีส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาที่เรียกว่า ทงอี-โปโล (Donyi-Polo) คือ การนับถือดวงอาทิตย์ (ทงอี) และดวงจันทร์ (โปโล) ศาสนานี้แพร่หลายในบางพื้นที่ อาทิ รัฐอรุณจัลประเทศ และรัฐอัสสัมของอินเดีย บางส่วนของทิเบตและพม่า ปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนาประมาณ 370,000 คน

ทงอี-โปโล ถูกปรับให้เข้ากับศาสนาดั้งเดิมของชนเผ่า นั่นคือ การนับถือผี พวกเขาเชื่อว่าความโชคร้ายที่เกิดขึ้นนั้นมาจากวิญญาณบางตน ดังนั้น พวกเขาจึงทำการสังเวยไก่ วัว และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ และอีกหนึ่งความน่าสนใจในประเพณีอันเก่าแก่ของชาวอาปาตานี คือ การทำนายดวงชะตาเด็กทารก โดยการดูจากลักษณะตับของไก่ป่า ซึ่งหมอผีจะทำการควักตับไก่ป่าออกมาเพื่อทำนายดวงชะตาให้เด็กคนนั้นว่ามีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ 

Advertisement

เรื่องราวของชนเผ่า อาปาตานี แห่ง อรุณาจัลประเทศ ไม่ปรากฏบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษร อีกทั้งหลักฐานทางโบราณคดีก็มีน้อยเกินไป เรื่องราวความเป็นมาของชาวอาปาตานีจึงเป็นการเล่ากันปากต่อปาก จึงทำให้ตำนานและประเพณีของชนเผ่ายังคงถูกสืบทอดต่อไปโดยผ่านตำนาน สุภาษิต คำพูด นิทานพื้นบ้าน เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งเรื่องเล่าดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาโบราณของผู้เฒ่าในชนเผ่า

ชาวอาปาตานีใช้ภาษา “ตานีอะกุน” (Tanii agun) เป็นภาษาที่หมอผีจะใช้ในพิธีกรรม และเป็นภาษาที่รู้กันเฉพาะผู้อาวุโสในหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งภาษานี้มีแนวโน้มที่จะสูญหายไป เนื่องจากมีผู้คนเพียง 26,000 คนที่ยังคงรู้จักภาษานี้อยู่ อีกทั้งการศึกษาแบบตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามา อาจจะทำให้ภาษานี้สูญหายไป เนื่องจากการเข้ามาแทนที่ของภาษาอังกฤษ

วัฒนธรรมที่ทำให้ อาปาตานี เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือการติดเครื่องประดับกลม ๆ สีดำของสตรี ที่เรียกว่า Yaping Hurlo โดยเจาะจมูกและติดไว้ตรงปีกจมูกทั้ง 2 ข้าง

เครื่องประดับดังกล่าวทำมาจากไม้และแกะสลักเป็นวงกลม นำมาประดับเริ่มจากขนาดเล็กแล้วปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้นจนกว่ารูจมูกจะใหญ่และผิดรูป นอกจากนี้ สตรีชาวอาปาตานีจะทำการสักบนใบหน้า โดยจะสักเป็นเส้นยาวตั้งแต่หน้าผากลงมาจรดปลายจมูก และที่คางอีก 5 เส้น หมึกที่ใช้สักจะเป็นไขมันหมูผสมกับเขม่าจากเตาผิง เริ่มสักเมื่อตอนมีประจำเดือนครั้งแรก เชื่อว่าเป็นการเลียนแบบเคราของบุรุษ

ภาพถ่ายสตรีชาวอาปาตานี (Apatani) วัย 109 ปี เมื่อ ค.ศ. 1954 (ภาพจาก University of Washington Libraries)

วัฒนธรรมเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากความเจ็บปวดในอดีตของสตรีในชนเผ่า เนื่องจากสมัยก่อนสตรีชาวอาปาตานีถูกยกย่องว่าสวยที่สุดในพื้นที่บริเวณนี้ ทำให้พวกเธอเป็นที่หมายปองของบรรดาบุรุษต่างเผ่าที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน บุรุษเหล่านั้นจะแอบเข้าไปในหุบเขาซีโร และลักพาตัวสตรีชาวอาปาตานี เพื่อข่มขืน บังคับให้แต่งงาน หรือนำไปเป็นทาส

เพื่อเป็นการปกป้องสตรีในชนเผ่า จึงมีการคิดหาวิธีที่จะทำให้ความสวยนั้นลดลง เกิดเป็นวัฒนธรรมดังกล่าวขึ้น เพราะชาวอาปาตานีมีความเชื่อว่า ความสวยมาพร้อมกับอันตราย และนำความเจ็บปวดมาสู่จิตใจของสตรี จากการถูกฉุดและลักพาตัวโดยบุรุษจากชนเผ่าอื่น ทั้ง ๆ ที่พวกเธอนั้นไม่เต็มใจ

เมื่อใส่ห่วงประดับที่จมูกและสักบนใบหน้า สตรีชาวอาปาตานีก็ถูกลักพาตัวน้อยลง กระทั่งการใส่ Yaping Hurlo และการสักได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและประเพณีของชาวอาปาตานี อรุณาจัลประเทศ ต่อมาใน ค.ศ. 1970 รัฐบาลอินเดียสั่งห้ามไม่ให้ใส่ที่อุดจมูกและสักใบหน้า ส่งผลให้ประเพณีดังกล่าวเริ่มเลือนหายไป

ปัจจุบัน สามารถพบเห็นการเจาะจมูกลักษณะดังกล่าวนี้ได้เพียงเฉพาะในหมู่สตรี อาปาตานี วัยชราเท่านั้น เพราะประเพณีนี้ถูกปฏิเสธจากคนรุ่นใหม่ เนื่องจากพวกเธอไม่ต้องการดูผิดแปลกไปจากสตรีอื่น จนหมู่บ้านต้องออกประกาศให้รางวัลแก่ผู้หญิงที่มีรูจมูกใหญ่ที่สุดหมู่บ้าน เพื่อหวังที่รักษาขนบธรรมเนียมความบริสุทธิ์ในวัยสาวให้ยังคงอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Adam Koziol. “India, Apatani People”. Atlas of Humani discovering the culture diversity. Retrieved June 19, 2021, https://www.atlasofhumanity.com/apatani

Anurag Trivedi. 2020. “India’s Tribal Communities- The Apatani Tribe of Arunachal Pradesh”. SHAAN foundation Education to Ethics. Retrieved June 19, 2021, https://www.shaanfoundation.org/blog/india-tribal-communities-the-apatani-tribe-of-arunachal-pradesh

Zinnia Ray Chauchuri. 2018. “The fading tradition of North East India’s Apatani and Konyak tribes”. Scroll.in. Retrieved June 20, 2021, https://scroll.in/magazine/903683/photos-the-fading-traditions-of-north-east-indias-apatani-and-konyak-tribes


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2564