ทำไมเพลงลูกทุ่งประเภทอกหักช้ำรัก จึงใช้อ้อย-น้ำตาล ฯลฯ เป็นตัวเปรียบเทียบ

เกษตรกรกำลังลำเลียงอ้อย (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

ในวงการเพลงลูกทุ่ง มีเพลงประเภทอกหักช้ำรักจำนวนไม่น้อยที่ครูเพลงหลายท่านนิยมเลือกใช้ อ้อย, ตาล, น้ำตาล รวมถึงบรรดาสิ่งที่ให้ความหวานอื่นเป็นตัวเปรียบเทียบถึงความรักที่ไม่สมหวัง

ตัวอย่างเช่น เพลงน้ำตาลก้นแก้ว ของสรุพล สมบัติเจริญ เนื้อร้องส่วนหนึ่งว่า

“แม่น้ำตาลก้นแก้ว เขาชิมเจ้าแล้ว จึงหยดถึงมือพี่ ถ้าหากเป็นแหวนก็เปรียบดังแม้นเจ้าโดนสวมฟรี เพชรที่งามหรือจะมี ค่าสูงยิ่งกว่าดัชนีของนาง แม่น้ำตาลก้นแก้ว เขาชิมเบื่อแล้ว จึงถูกเขาทิ้งขวาง สูญสิ้นความสาวแล้วเจ้าจึงรู้ว่าเดินหลงทาง พี่ไม่โกรธเจ้าหรอกนาง ยังรักไม่จางรักนางเสมอ…”

เพลงสาวโรงน้ำตาล ที่ดอย อินทนนท์ เป็นผู้แต่งเนื้อร้องไว้ดังนี้

“ก่อนหน้านี้สักปีกว่าๆ สองเราเจอหน้าค่าตา สนิทสนมกลมเกลียวกันดี เรารู้จักกันที่โรงน้ำตาลกุมภวาปี ประเดิมพร้อมกันพอดี เป็นลูกจ้างโรงงานดังกล่าว เริ่มรู้จักเราก็รักกัน รสรักฉ่ำหวาน อ้อยบวกตาลยังหวานไม่เท่า ชีวิตลูกจ้างเมื่อมีความหวัง ย่อมปลื้มไม่เบา ลิ้มรสหวานไม่นานก็เศร้า เพราะแฟนเราเขาลาลับไป….”

เพลงตาลต้นเดียว ของไพฑูรย์ ไก่แก้ว เขียนเนื้อเพลงว่า

“ตาลเดี่ยวยืนต้นเหมือนคนใจเดียว ยืนเดี่ยวเอกา ท่ามกลางผืนนาใต้ฟ้ากว้างใหญ่ ขาดต้นอื่นเรียงยืนเคียงคู่ใจ อยู่ห่างตาลต้นอื่นใด เหมือนถูกจงใจทิ้งขวาง ตาลเดี่ยวยืนต้นโต้ฝนกลางนา โถน่าเห็นใจ อยู่สุดแสนไกลพวกพ้องเมินห่าง สู้ลมแดดฝน ดังคนสิ้นทาง เปล่าเปลี่ยววังเวงอ้างว้าง ล่องลอยกลางทะเล…”

เพลงแม่ชานอ้อย ของสุรพล สมบัติเจริญ ที่ว่า

“เธอเหมือนกากอ้อยที่สิ้นรสหวาน เหลือเพียงแต่ชานที่คนเขาพ่นลงดิน แม้นแต่เพียงมดยังหมดกระจายมิใฝ่ถวิล เจ้าเป็นชานอ้อยไร้สิ้น ตกอยู่กลางดินสิ้นความเอมอิ่ม ถ้าแม้นหากเธอยังมีรสหวาน ติดเพียงผิวชานพี่ยังนึกอยากจะชิม เจ้าสิ้นโอชาพี่หมดศรัทธาแล้วที่จะลิ้ม เขาผ่านเจ้ามาเสียอิ่ม พี่หรือจะชิมแม่อ้อยเหลือเดน…”

ก็น่าแปลกที่ของที่ให้รสหวานกลับกลายเป็นสิ่งที่เอามาอุปมารักอันขื่นขม

เจนภพ จบกระบวนวรรณ นักวิชาการเพลงไทยลูกทุ่ง ให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า คนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวนา ชาวสวน เป็นเกษตรกร ขณะที่อ้อยก็เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของคนไทยมานาน เมื่อคนไทยรู้จักอ้อยดี ก็ย่อมคุ้นเคยกับน้ำตาลด้วยเช่นกัน แต่น้ำตาลยังมาจากพืชอื่นๆ เช่น ต้นตาล, มะพร้าว ฯลฯ ส่วนที่น้ำตาล, อ้อย ฯลฯ มาปรากฏในเพลงลูกทุ่งก็เพราะเพลงลูกทุ่ง เป็นเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต และสภาพสังคมไทย ครูเพลงท่านก็นำไปอุปมาอุปมัยในเรื่องของความรัก

ขณะที่อาจารย์กุสุมา รักษมณี ให้คำอธิบายไว้ว่า

ตามคติอินเดียเทพเจ้าแห่งความรักคือ กามเทพ ถือคันธนูที่ทำด้วยลำอ้อยที่นำมาโค้งเป็นคันธนู สายธนูคือผึ้งที่เกาะต่อๆ กัน มีลูกศรทำด้วยดอกไม้ เมื่อแผลงศรไปต้องผู้ใดจะทำให้เกิดความรักขึ้นในใจผู้นั้น อาวุธของกามเทพประมวลขึ้นมาจากธรรมชาติที่เป็นแหล่งความหวานคือ อ้อย ผึ้ง และดอกไม้ เพราะกวีต้องการจะสื่อให้รู้ถึงความหอมหวานของความรัก

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 


ข้อมูลจาก :

เจนภพ จบกระบวนวรรณ.  “น้ำตาล และ อ้อย ที่ปรากฏมนเพลงลูกทุ่ง” ใน, สหวิทยาการของอ้อยและน้ำตาล หนังสือที่ระลึกครบรอบ 43 ปี กลุ่มบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด 2499-2542

กุสุมา รักษมณี. “อ้อนในจิตนาการของกวี” ใน, สหวิทยาการของอ้อยและน้ำตาล หนังสือที่ระลึกครบรอบ 43 ปี กลุ่มบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด 2499-2542


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2564