สำนึกทางชนชั้นในเพลงพื้นบ้าน สะท้อนมุมมองไพร่-ทาส ต่อชนชั้นสูง-ขุนนาง แง่ไหนบ้าง

ภาพประกอบเนื้อหา - การแสดงหมอลำ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2528)

ความเป็นมา

เพลงพื้นบ้านเป็นวรรณกรรมประเภทมุขปาฐะ สืบทอดกันแบบปากต่อปาก จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง โดยไม่อาจหาที่มาหรือจุดเริ่มต้นที่แน่ชัดได้ แต่อาศัยการจดจำและการยอมรับจนได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย

ด้วยเหตุนี้เอง บทร้องเพลงพื้นบ้านในอดีตจึงเป็นบทร้องที่มักสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต การทำมาหากิน แนวความคิด ทัศนคติ ฯลฯ วรรณกรรมอย่างเพลงพื้นบ้าน จึงเปรียบเสมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่บันทึกแบบแผนการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงความคิดของชาวบ้านในอดีตที่มีต่อสิ่งต่างๆ ได้อีกอย่างหนึ่ง

จากการศึกษาแล้ว จุดเริ่มต้นของเพลงพื้นบ้านมีจุดมุ่งหมายในการร้องอยู่สามประการ หนึ่งคือเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในการทำงาน สองคือเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน และสามคือเพื่อใช้เป็นการแสดงในลักษณะมหรสพ

ซึ่งจุดประสงค์ประการแรกและประการที่สองได้เกิดขึ้นก่อนจากกลุ่มคนที่มารวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ของการทำงาน ความสนุก ความเพลิดเพลิน และด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดเพลงพื้นบ้านอย่าง เพลงเรือ เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงเกี่ยวข้าว เป็นต้น

แต่ไม่ใช่แค่เพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน หรือผ่อนคลายความตึงเครียดในการทำงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพลงพื้นบ้านยังสะท้อนให้เห็นถึงระบบความคิด ความเชื่อ ของชาวบ้าน ทั้งความเชื่อทางศาสนา ระบบครอบครัว หรือแม้กระทั่งสำนึกทางชนชั้นของผู้ถูกปกครอง ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาในบทเพลงสมัยก่อน เนื้อหาของเพลงมักทำให้เห็นถึงมุมมองของชาวบ้านต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่ถูกปกครองไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง

ลำดับชั้นทางสังคมในอดีต

ในอดีต การจัดลำดับชั้นของสังคมในสมัยปลายอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สามารถแบ่งได้เป็นสี่ชนชั้น คือ เจ้า ขุนนาง ไพร่ และข้าหรือทาส ซึ่งสามารถจัดกลุ่มเป็นชนชั้นกว้างๆ ได้สองชนชั้น คือ ชนชั้นผู้ปกครอง อันได้แก่ เจ้า ขุนนาง หรือมูลนาย และ ชนชั้นผู้ถูกปกครอง อันได้แก่ ไพร่ และข้าหรือทาส

สำหรับชนชั้นเจ้า หมายถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งในอดีต ตามปกติแล้ว โอกาสที่ชาวบ้านทั่วไปจะได้พบกับชนชั้นเจ้าถือว่าเป็นไปได้ยากมาก

ดังนั้น จึงไม่ค่อยพบเห็นการกล่าวถึงชนชั้นเจ้าในบทไหว้ครูเพลงพื้นบ้านของเก่า ซึ่งต่างจากวรรณคดีของราชสำนักที่ในบทไหว้ครูจะขาดบทสรรเสริญพระมหากษัตริย์มิได้

แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ชนชั้นเจ้าจึงได้เริ่มมีความสัมพันธ์กับชาวบ้านโดยตรงมากขึ้น ความรู้สึกห่างไกลกันระหว่างชาวบ้านกับชนชั้นเจ้าเริ่มลดลงอันจะเห็นได้จากเพลงระบำบ้านนา ของนครนายกที่ปรากฏข้อความบางตอนซึ่งสะท้อนถึงความจงรักภักดีของชาวบ้านต่อ “พระพุทธเจ้าหลวง” ผู้ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าดูแลทุกข์สุขของตน ยามเดือดร้อนพืชผลเสียหายก็นำข้าวสารและปุ๋ยมาแจก

หรือในปัจจุบันก็สามารถพบเห็นบทสรรเสริญสถาบันกษัตริย์ในบทไหว้ครู ดังในบทไหว้ครูเพลงฉ่อย ของคณะนางเหม อินทร์สวาสดิ ชาวสุพรรณบุรี

“ไหว้จงมานี้ไม่มีใครมาตีเสมอ สมเด็จพระพี่นางเธอ ลูกก็ไหว้
ไหว้พระบาทสมเด็จภูมิภูมี พระราชินี ลูกก็ไหว้
ไหว้สยามมงกุฎราชกุมารี ของราชวงศ์จักรี ลูกก็ไหว้”

ส่วนชนชั้นขุนนาง หรือข้าราชการที่ไม่ใช่ไพร่ อันเป็นชนชั้นที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด ถือเป็นชนชั้นที่ชาวบ้านนำมาเปรียบเทียบมากที่สุด เพราะชนชั้นขุนนางมีลักษณะแตกต่างจากชาวบ้านอันสามารถพบเห็นได้ทั่วไปหลายประการ

ตัวอย่างเช่น เรื่องชาติกำเนิด เนื่องจากชนชั้นขุนนางส่วนใหญ่จะสืบทอดกันเฉพาะในตระกูลขุนนางเก่า เพราะมีกฎเกณฑ์ของผู้ที่จะเป็นราชการอย่างเคร่งครัด

ตามพระราชกำหนดเก่าผู้ที่จะเป็นขุนนางได้จะต้องมีวุฒิ 4 ประการ คือ ชาติวุฒิ วัยวุฒิ คุณวุฒิ และปัญญาวุฒิ จึงเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านธรรมดาๆ จะสามารถขึ้นไปเป็นข้าราชการได้

ดังนั้นในทัศนคติของชาวบ้าน เมื่อเปรียบเทียบกับขุนนาง จึงมีความรู้สึกที่ต่ำต้อยกว่า และในขณะเดียวกันก็ยอมรับในความด้วยกว่าทางชาติกำเนิดนี้ด้วย ดังความว่า

“โธ่ทุกวันนี้น้อยเตี้ยเอ๋ยระกำทุกวันน้องต่ำสกุล ทั้งพงศ์ไพร่เอ๋ยพยูรน้องนี้มิใช่เชื้อพระยา
จะมาคบน้องเข้าไปเป็นแถว พ่อไม่กลัวเสียแนวศักดินา”

สำนึกทางชนชั้นยังปรากฏในแง่สิทธิการถือครองที่ดิน โดยตามกฎหมายบานแพนกกำหนดให้ผู้ที่มีศักดินาตั้งแต่ 400 ไร่ขึ้นไป เป็นชนชั้นขุนนาง สิทธิในการถือครองที่นาของแต่ละบุคคลมิได้หมายความว่าบุคคลจะต้องมีนาเท่ากับศักดินาจริงๆ แต่หมายถึงสิทธิในการสิทธิในการควบคุมแรงงานไพร่และเก็บเกี่ยวผลผลิตของไพร่ในสังกัดเป็นค่าตอบแทน ความสำนึกต่อชนชั้นที่ต่างกันถูกถ่ายทอดออกมา ดังในบทตอนหนึ่งของ เพลงปรบไก่ คณะนางกุหลาบ เครืออยู่ ชาวนครปฐม

“น้องเป็นหญิงไม่ทิ้งช่วงไม่ต้องมาท้วงทัก เป็นลูกผู้ดีย่อมมีศักดินา”

รวมถึงเรื่องการแต่งกายก็สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากการแต่งกายเป็นสิ่งแรกที่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่าบุคคลนั้นเป็นชนชั้นใด และตามคติคำสอนโบราณที่ว่า ไม่ควรแต่งตัวเทียมเจ้าเทียมนาย จึงทำให้สำนึกทางชนชั้นในเรื่องการแต่งกายสามารถพบเห็นได้มากในเพลงพื้นบ้าน ดังตัวอย่างในบทตอนหนึ่งของเพลงยั่ว สำนวนอำเภอพนมทวน

“นุ่งม่วงไหมเหมาะจำเพาะจะต้องนุ่งม่วง ไม่ใช่พระใช่หลวงมันนุ่งดีกันไปไม่ได้
เราจะใส่คัชชูจะเป็นเจ้าชู้หยาบช้า แต่งนักจะเกินหน้าไม่ใช่ตำแหน่งเจ้านาย”

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ชนชั้นขุนนางมีวิถีชีวิตสะดวกสบาย ไม่ลำบากเหมือนกับชาวบ้าน หรือข้า ทาส ที่ต้องทำงานหนัก ความแตกต่างนี้สะท้อนออกมาในเพลงพื้นบ้านในท่วงทำนองยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้น ดังตัวอย่างในบทตอนหนึ่งของเพลงยั่ว สำนวนชาวอำเภอพนมทวน

“ถ้าได้น้องมาแนบนอนพี่จะเย็บนวมให้นั่ง จะให้เป็นขุนนางอยู่ห้องใน”

จากตัวอย่างข้างต้น พอจะกล่าวได้ว่า เพลงพื้นบ้านมิได้สร้างความสนุก ความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว แต่เพลงพื้นบ้านในอดีตยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้บันทึกความคิด ทัศนคติ หรือมุมมองของชาวบ้าน สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในสภาพทางชนชั้นของผู้ถูกปกครอง สำนึกทางชนชั้นที่รับรู้ถึงความสูงส่งกว่าของชนชั้นปกครอง อันเป็นสิ่งที่ปรากฏในเพลงต่างๆ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ฐานันดร” ของดนตรีไทย “ชนชั้น” ในงานศิลป์ อิทธิพลจากมนุษย์สร้าง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ถอดรหัสคำทางเพศใน “หมอลำ” ที่ชาวบ้านชอบ ชาวเมืองว่าหยาบโลน สะท้อนอะไร?


อ้างอิง :

สุกัญญา สุจฉายา. (2525). เพลงปฏิพากย์ : บทเพลงแห่งปฏิภาณของชาวบ้านไทย. ปทุมธานี: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2564