ประวัติ “แช่ม สุนทรวาทิน” ที่มาตัวตน “ขุนอินทร์” จากโหมโรง กับฉากดวลระนาดในตำนาน

ขุนอินทร์ โหมโรง แช่ม สุนทรวาทิน
(ซ้าย) ขุนอินทร์ จากภาพยนตร์โหมโรง (ภาพจาก Youtube : Sahamongkolfilm) (ขวา) พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)

ประวัติ “แช่ม สุนทรวาทิน” ที่มาตัวตน “ขุนอินทร์” จากภาพยนตร์ “โหมโรง” กับฉากดวลระนาดในตำนาน

ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เรื่องโหมโรง สร้างขึ้นจากชีวประวัติของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง พ.ศ. 2424-2507) ในเรื่องมี “นายศร” ซึ่งเป็นชื่อจริงของท่านเป็นพระเอก แต่ได้สร้างตัวละครสมมุติจากครูดนตรีไทยผู้ยิ่งใหญ่อีก 2 ท่าน คือ

ขุนอินทร์ ตัวจริงคือ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน พ.ศ. 2409-92) เจ้ากรมปี่พาทย์หลวง ปลายรัชกาลที่ 5

ขุนเทียน ตัวจริงคือ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์ พ.ศ. 2403-67) เจ้ากรมปี่พาทย์หลวงในรัชกาลที่ 6

พระยาเสนาะดุริยางค์ หรือ แช่ม สุนทรวาทิน
พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม) พ่อและครูดนตรีของครูเลื่อน

ในชีวิตจริง หลวงประดิษฐไพเราะเมื่อครั้งยังเป็นจางวางศรของวังบูรพาได้ประชันระนาดกับนายแช่ม คนระนาดเอกวังบ้านหม้อ ซึ่งในภาพยนตร์ใช้ชื่อสมมุติว่า ขุนอินทร์ โดยมีครูแปลกซึ่งในภาพยนตร์ใช้ชื่อสมมุติว่า ขุนเทียน เป็นครูผู้ชี้แนะและ “ติวเข้ม” ให้นายศร

ตามเรื่องในภาพยนตร์และละคร นายศร “ชนะขาด” และขุนอินทร์เป็น “ตัวโกง” ที่ชั่วร้าย แต่ตัวตนของขุนอินทร์ คือพระยาเสนาะดุริยางค์ เป็นครูดนตรีผู้ยิ่งใหญ่และประเสริฐยิ่งคนหนึ่งในประวัติการดนตรีไทย มีผลงานทางดนตรีโดดเด่นไปคนละด้านกับหลวงประดิษฐไพเราะ ที่สำคัญเป็นคนที่หลวงประดิษฐไพเราะชื่นชมยกย่องมากคนหนึ่ง ดังหลักฐานที่จะนำมาแสดงในตอนต่อไป

และผลการประชันจริงก็ “ก้ำกึ่ง” เพราะนายศรชนะ “ไหว” นายแช่มชนะ “จ้า” อีกทั้งการชนะไหวนั้น ก็ไม่ “เอกฉันท์” เพราะแม้แต่นายเพชร (ครูเพชร จรรย์นาฏ พ.ศ. 2420-90) คนฆ้องของวงวังบูรพาในวันประชัน กลับมีความเห็นว่า “พระยาเสนาะฯ (นายแช่ม) ไหวกว่า” เพราะอะไร? ติดตามอ่านต่อไป

ยังมีการประชันที่เรื่องโหมโรงไม่ได้นำมาแสดงอีกคือ ท่านทั้งสองประชันกันอีก 3 ครั้ง ผลปรากฏว่า นายแช่ม รักษา “แชมป์” ไว้ได้อย่างงดงามทั้ง 3 ครั้ง มีคำร่ำลือในวงการดนตรีไทยยุคนั้นว่า ในการประชันครั้งหนึ่งนายศรถึงกับ “สะอึกเป็นเลือด” แต่ออกจะเป็นการ “ใส่ไข่” ให้สะใจคนเชียร์มากกว่า

ในความเป็นจริงแล้วท่านทั้งสองมีอัจฉริยภาพและคุณูปการต่อวงการดนตรีไทยไปคนละทาง หลวงประดิษฐไพเราะเป็นเลิศในเรื่องแต่งเพลง คือทำนองดนตรี พระยาเสนาะดุริยางค์เป็นเลิศในการแต่ง “ทางร้อง” คือทำนองขับร้อง ทั้งสองท่านเชี่ยวชาญทั้งระนาดและปี่ ปัจจุบันทางระนาดของหลวงประดิษฐไพเราะได้รับความนิยมสูงสุดในวงการดนตรีไทย แต่ทางปี่ของพระยาเสนาะดุริยางค์ “กินขาด” และ “ยึดครอง” ไปทั่ววงการดนตรีไทย

……..

พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)

พระยาเสนาะดุริยางค์เป็นอัจฉริยบุคคลทางดนตรีไทย ที่หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก แตกฉานทั้งปี่พาทย์และมโหรี รอบรู้ทฤษฎีและฝีมือดีเยี่ยมแทบทุกเครื่องมือ เป็นเลิศในเรื่องปี่ ระนาด ฆ้อง ขับร้องตลอดจนเสภา เป็นผู้พัฒนาการขับร้องเพลงไทยให้ประณีตเสนาะไพเราะถึงสุดยอดอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนทางร้องของท่านแพร่หลายที่สุดในวงการดนตรีไทย

เป็นผู้พัฒนาการเป่าปี่ให้วิจิตรเพริศพราย ไพเราะ อลังการ มีชั้นเชิงหลากหลายไร้เทียมทาน เป็นระนาดที่ไหวจัด เสียงเจิดจ้าสง่างาม ได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของระนาดไหวแบบเก่า กลอนดี ไม่มีคนกล้าประชันด้วยตลอดช่วงกลางรัชกาลที่ 5 จนยอดฝีมือระนาดคนอื่นต้องคิดค้นศิลปะการบรรเลงแบบใหม่ให้น่าฟังต่างออกไป ไม่มีใครเทียบความเป็นสุดยอด “ระนาดคลาสสิก” ของท่านได้

ชาติภูมิ

พระยาเสนาะดุริยางค์เกิดในตระกูลดนตรีที่ยิ่งใหญ่แห่งสยาม ปู่ชื่อ ครูทั่ง สุนทรวาทิน ผู้แต่งเพลงโหมโรงมหาชัยอันเป็นอมตะมาจนปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 200 ปี บิดาคือ ครูช้อย สุนทรวาทิน มหาดุริยกวีจักษุพิการ ผู้แต่งเพลงไพเราะเป็นอมตะไว้มากมาย…

หนังสือ “นามานุกรมศิลปินเพลงไทยในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เขียนไว้ว่า “พระยาเสนาะดุริยางค์ เป็นบุตรคนหัวปีของครูช้อยและนางไผ่ สุนทรวาทิน เกิดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2409 ตรงกับเดือน 9 ปีขาล ที่ตำบลสวนมะลิ ใกล้วัดเทพศิรินทราวาส” หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พระยาเสนาะดุริยางค์กล่าวว่าท่านเกิด “ณ บ้านสวนมะลิ ตำบลวัดเทพศิรินทร์ จังหวัดพระนคร” แต่จากหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2428 กล่าวว่า บ้านครูช้อยอยู่ริมคลอง (มหานาค) หลังวัดสระเกศ ซึ่งสมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตำบลสวนมะลิ อนึ่ง วัดเทพศิรินทร์ลงมือก่อสร้าง พ.ศ. 2419 มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2421 พระยาเสนาะดุริยางค์จึงน่าจะเกิดที่บ้านสวนมะลิแถบหลังวัดสระเกศ ซึ่งอยู่คนละด้านกับวัดเทพศิรินทราวาส…

การศึกษาเบื้องต้น

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พระยาเสนาะดุริยางค์ เขียนไว้ว่า “ครั้นมีอายุพอสมควรบิดาได้ให้เรียนหนังสือที่โรงเรียนใกล้บ้าน” ข้อมูลตรงนี้คลาดเคลื่อนแน่นอน เพราะยุคนั้นยังไม่มีการศึกษาระบบโรงเรียน โรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรกตั้งที่วัดมหรรณพาราม เมื่อ พ.ศ. 2428 ก่อนมีการศึกษาระบบโรงเรียนเด็กผู้ชายส่วนมากเรียนหนังสือกับพระที่วัด… ฉะนั้น พระยาเสนาะดุริยางค์ก็คงเรียนหนังสือเบื้องต้นที่วัดใกล้บ้านท่านคือวัดสระเกศ หรือไม่ก็วัดสิตาราม (วัดคอกหมู) ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามคลองมหานาค

ส่วนวิชาดนตรีนั้นท่านเรียนกับบิดาและปู่ จนมีความรู้และฝีมือดีมาแต่เยาว์วัย คุณย่าไผ่เล่าให้ครูเลื่อนฟังว่า ท่านตีฆ้องและระนาดเก่งมาตั้งแต่ยังเด็กมาก อายุราว 5 ขวบ จนต้องใช้ม้าเล็ก ๆ รองนั่งจึงจะตีถึง ปัญญาก็ไวมาก เมื่อเด็ก ๆ ท่านชอบเล่นปลากัดอยู่ใต้ถุนเรือน หูก็ฟังเสียงเพลงไปด้วย บางครั้งก็เอากะลามาฝังดินโผล่ปริ่ม ๆ ต่างฆ้องวง แล้วตีตามไป ปรากฏว่า ท่านจำเพลงที่ครูช้อยต่อให้ศิษย์บนเรือนฟังได้ก่อน…

เรื่องใช้กะลาตีต่างฆ้องวงนี้ ครูช้อยบิดาท่านก็เคยทำมาในวัยเด็กเช่นเดียวกัน เป็นคุณลักษณะของคนที่มี พรสวรรค์และสนใจดนตรีมาแต่เด็ก ในภาพยนตร์เรื่องโหมโรงได้นำเรื่องนี้ไปใส่เป็นบทบาทของ “เด็กชายศร” (หลวงประดิษฐไพเราะ) ในประวัติชีวิตจริงของท่านปรากฏชัดแต่เรื่องดีฆ้องวงใหญ่ได้เองตั้งแต่อายุราว 5 ขวบ ครูหลวงประดิษฐฯ เริ่มสนใจปี่พาทย์จริงจังตั้งแต่งานโกนจุกท่านตอนอายุ 11 ขวบ และเริ่มฝึกเป็นกิจจะลักษณะตั้งแต่นั้นมา ซึ่งช้ากว่าพระยาเสนาะดุริยางค์มาก เพราะเมื่ออายุ 10 ปี นายแช่มไปเป็นคนปี่พาทย์บ้านเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เป็นคนระนาดรุ่นเด็กที่หาตัวจับได้ยากแล้ว

การฟังเพลงอยู่ใต้ถุนเรือนแต่ได้เพลงก่อนคนที่เรียนบนเรือน แสดงว่าสติปัญญาและโสตประสาทท่านดีเยี่ยม ครูเฉลิม บัวทั่ง เล่าว่า “พระยาเสนาะดุริยางค์เป็นผู้ที่มีโสตประสาทดียิ่ง สามารถบอกเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยินว่าเป็นเสียงใด โดยถูกต้องตรงตามเสียงนั้น ๆ เป็นต้นว่า ท่านได้ยินเสียงคนตีระนาดท่านก็สามารถบอกได้เลยว่า เสียงนี้เป็นเสียงอะไรอย่างถูกต้องตรงตามระดับเสียงไม่มีผิดพลาด” ครูมิ ทรัพย์เย็น ก็เล่าไว้คล้ายกันว่า “พระยาเสนาะดุริยางค์มีโสตประสาทแม่นยำยิ่งนัก แม้ได้ยินเสียงเคาะระนาดเพียงครั้งเดียว ท่านก็สามารถบอกได้ถูกต้องว่าเป็นลูกที่เท่าไร เพลงการทั้งหลายนั้นท่านได้ยินเพียงครั้งเดียวก็จำได้ไม่ขาดตกบกพร่อง” ความสามารถพิเศษนี้ ก็ถูกนำไปใส่เป็นความสามารถของ “นายศร” ในเรื่องโหมโรงอีก เช่นกัน เป็นการเอาความสามารถของ “ขุนอินทร์” ตัวจริง ไปเติมแต่งให้เป็นอัจฉริยภาพของพระเอกในเรื่อง มีส่วนทำให้ “ความจริง” คลาดเคลื่อนไป ความจริงทั้งสองท่านมีอัจฉริยภาพทางดนตรีโดดเด่นไปคนละทาง น่ายกย่องไปคนละอย่าง

ด้วยพรสวรรค์และความสามารถที่สั่งสมกันมาในครอบครัว นายแช่ม หรือพระยาเสนาะดุริยางค์จึงมีความรู้พื้นฐานทางดนตรีดีมากและมีฝีมือปี่พาทย์ดีรอบวง ทั้งเครื่องหนัง ฆ้อง ระนาด ปี่ และขับร้อง ที่โดดเด่นมากคือ ระนาดกับปี่

พระยาเสนาะดุริยางค์ หรือ แช่ม สุนทรวาทิน
พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) บุตรชายครูช้อย

เข้าวังบ้านหม้อ

ครูเลื่อนเล่าว่า ย่าไผ่ของท่านเล่าให้ฟังว่า “พ่อเอ็งเข้าไปอยู่วังบ้านหม้อตั้งแต่อายุ 10 ขวบ” นั่นคือราว พ.ศ. 2418 ครูช้อยพานายแช่มไปสมัครเป็นนักดนตรีวงวังบ้านหม้อของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ขณะนั้นยังเป็น จ่ายง มหาดเล็กเวรศักดิ์) ถึง พ.ศ. 2422 ได้บรรจุเป็นนักดนตรีกรมมหรสพ รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 12 บาท ขณะนั้นอายุเพียง 13 ปี ที่ทำการกรมมหรสพ อยู่ที่วังบ้านหม้อ นายแช่มจึงทำหน้าที่พนักงานปี่พาทย์ของกรมมหรสพและนักดนตรีของวงวังบ้านหม้อควบคู่กันไป ทั้งมีโอกาสศึกษาเรื่องโขน ละคร ดนตรี และวรรณคดีไปด้วย

……..

การที่นายแช่มหรือพระยาเสนาะดุริยางค์ได้เข้าไปร่วมงานดนตรีในวังบ้านหม้อ ตั้งแต่อายุ 10 ปี และเป็นนักดนตรีกรมมหรสพตั้งแต่อายุ 13 ปี ย่อมมีโอกาสได้เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อย่างดียิ่ง ได้เรียนกับครูเก่ง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2436 ซึ่งกรมพิณพาทย์ย้ายจากบ้านเจ้าพระยานรรัตนราชมานิตมาขึ้นกับเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ทำให้วังบ้านหม้อเป็นศูนย์กลางดนตรีและนาฏศิลป์รวมคนเก่งสาขาต่าง ๆ ไว้มากที่สุด พระประดิษฐไพเราะ (ตาด ตาตะวาทิต) หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี ทองพิรุฬห์) ก็ล้วนมารวมกันอยู่ที่วังบ้านหม้อ นอกจากนี้ยังมี ครูสิน สินธุนาคร (พ.ศ. 2375-2457) เป็นครูคนสำคัญในวังบ้านหม้อมาแต่เดิม และยังมีครูอื่น ๆ อีก

ส่วนพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร พ.ศ. 2356-2428) ยอดฝีมือระนาดอันดับหนึ่งในรัชกาลที่ 5 นั้น เมื่อท่านล่วงลับด้วยวัย 72 ปี พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม) อายุ 19 ปีแล้ว จึงโตทันช่วงที่พระเสนาะฯ หรือระนาดขุนเณร เป็นครูอาวุโสในวงการปี่พาทย์ น่าจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังฝีมือท่านบ้าง อีกทั้งปรากฏว่า ฝีมือระนาดของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม) ก็ไหวจัดจ้า ชัดเจนเช่นเดียวกับระนาดขุนเณรหรือพระเสนาะดุริยางค์…

ครูเลื่อนเล่าว่า “เมื่อหนุ่ม ๆ คนเรียกพ่อฉันว่า ระนาดขุนเณร” แสดงว่าท่านทั้งสองมีฝีมือระนาดไปในแนว เดียวกันคือ ไหวจัดและฟังแจ่มกระจ่างมาก

เมื่อเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ร่วมกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทำละครดึกดำบรรพ์นั้น (เริ่มฝึกหลัง พ.ศ. 2434 แสดงครั้งแรก พ.ศ. 2442) พระประดิษฐไพเราะ (ตาด) เป็นครูผู้ฝึกซ้อมการบรรเลง หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) ควบคุมการขับร้อง นายแช่ม เป็นคนระนาด ย่อมได้ศึกษาเพลงการและทางเพลงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์จากพระประดิษฐไพเราะ (ตาด) จนแตกฉาน

อนึ่ง ทางร้องละครดึกดำบรรพ์นั้น หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) แต่งขึ้นใหม่ ต่างจากทางร้องของละครทั่วไป มีลีลาประณีตไพเราะยิ่ง นายแช่มย่อมได้ศึกษามาอย่างดีจนตนเองมีความสามารถในการแต่งทางร้องและขับร้องดีเยี่ยม จึงนับว่าพระยาเสนาะดุริยางค์เป็นผู้สืบ “สายเสนาะ” จากเสนาะดุริยางค์ 2 ท่านผู้โด่งดังมาก่อนทั้งด้านราชทินนาม ฝีมือ และความรอบรู้ คือ มีฝีมือระนาดโด่งดัง เหมือนระนาดขุนเณร พระเสนาะดุริยางค์เป็นคนระนาดที่แตกฉานทั้งปี่พาทย์ มโหรี ดีด สี ตี เป่า ตลอดจนการขับร้อง เหมือนหลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี)

……..

ครูสําคัญอีกคนหนึ่งซึ่งพระยาเสนาะดุริยางค์น่าจะได้ศึกษาเรื่องร้องด้วยคือ ครูจ่าโคม ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็น จ่าเผ่นผยองยิ่ง ครูร้องสักวาคนสำคัญในยุครัชกาลที่ 4-5 ร่วมยุคกับครูช้อย ท่านแต่งเพลงไพเราะของสักวาไว้มาก เช่น ลาวคำหอม ลาวดำเนินทราย แขกสาหร่าย 2 ชั้น เทพบรรทม 3 ชั้น (ทางร้อง)…

บุคคลสำคัญที่น่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาความประณีตเสนาะให้นายแช่มอยู่ด้วยคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อัครศิลปินผู้เป็นเลิศในเรื่องความประณีตงดงามของศิลปะ บรรดาหม่อมนักร้องของเจ้าพระยาเทเวศร์ ครูและนักดนตรีผู้มีฝีมือคนอื่น ๆ ในวังบ้านหม้อ ก็คงเป็นแหล่งความรู้ให้นายแช่มได้ศึกษาศิลปะการดนตรีทั้ง ปี่พาทย์ มโหรี และขับร้อง

การอยู่ในกรมพิณพาทย์ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการบรรเลงปี่พาทย์พิธีการต่าง ๆ ของหลวงเป็นอย่างดี รวมทั้งมโหรีขับกล่อมและเฉลิมฉลอง การบรรเลงโขนละครก็ทำให้ได้เรียนวรรณคดีไปด้วยในตัว ในกรมมหรสพมีผู้ทรงความรู้เรื่องเหล่านี้อยู่พร้อม นายแช่มจึงมีความรู้เรื่องปี่พาทย์และมโหรีดีรอบด้าน ฝีมือก็เป็นเยี่ยม โด่งดังเรื่องระนาดและปี่ ทำให้ปี่พาทย์เสภาวังบ้านหม้อมีชื่อเสียง ได้รับเชิญให้ร่วมงานสำคัญของทางราชการเสมอมา

……..

ยอดฝีมือระนาดไร้เทียมทาน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่นิยมมีวงปี่พาทย์เสภาของตน มีการประชันขันแข่งกันแบบไม่เป็นทางการในงานต่าง ๆ อยู่เสมอ นักดนตรีและผู้ฟังต่างตัดสินกันเองในใจ แต่ก็จะรู้กันดีว่าวงไหน คนใด มีฝีมือเป็นอย่างไร

สองยอดฝีมือในช่วงกลางรัชกาลที่ 5 คือ นายแช่ม บุตรคนโตของครูช้อย กับนายแปลก ศิษย์เอกของครูช้อย นายแช่มโด่งดังที่สุดด้านระนาด นายแปลกเลื่องลือในเชิงปี่ ฉะนั้นวงปี่พาทย์ครูช้อยที่นายแช่มตีระนาด นายแปลกเป่าปี่ คงหาปี่พาทย์วงอื่นประชันด้วยยาก ความจริงทั้งสองท่านนี้เชี่ยวชาญทั้งระนาดและปี่ แต่ต่างให้เกียรติหลีกทางให้แก่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายแปลกไม่ยอมประชันนายแช่มเด็ดขาด เพราะเป็นลูกของครู ทั้งฝีมือระนาดก็ไหวมาก

อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าถึงฝีมือระนาดของพระยาเสนาะดุริยางค์ให้ผู้เขียนฟังว่า “ไหวจัดมาก แต่คนละแบบกับครูหลวงประดิษฐฯ คือไหวลูกโป้ง ชัดเจน เสียงโตเจิดจ้า มีพลังน่าเกรงขาม ที่อัศจรรย์ก็คือ ยิ่งไหวยิ่งจ้า หารสมืออย่างท่านอีกไม่ได้ คนระนาดด้วยกันจึงกลัวท่านมาก”

ปกติคนระนาดทั่วไปยิ่งตีไหว (คือเร็ว) เสียงระนาดจะลดลง ไม่เจิดจ้าชัดเจนเท่าเดิม เพราะต้องใช้กำลังไปในทางเร่งความเร็ว แต่พระยาเสนาะดุริยางค์หรือนายแช่ม “ยิ่งไหว ยิ่งจ้า” จนเป็นยอดฝีมือที่ไม่มีใครกล้าสู้ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เขียนเล่าไว้ว่า “เวลาไปประชันวงกับใคร พอรู้ว่าคนตีระนาดชื่อนายแช่มลูกครูช้อยแล้วละก็ นักดนตรีไทยสมัยนั้น เขายกย่องว่าไม่มีใครสู้ คนระนาดฝีมือดีจัดแค่ไหนก็ต้องกลัวนายแช่มคนนี้” นอกจากไหวจัดเสียงคมชัดแล้ว ยัง “กลอน” ที่มีลีลาองอาจสง่างามอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจบเพลง ครูหลวงประดิษฐไพเราะยกย่องให้ ครูประสิทธิ์ ถาวร ฟังว่า “ตีระนาดตอนจบเพลงไม่มีใครที่ได้ความรู้สึกที่เจิดจ้าเท่าพระยาเสนาะดุริยางค์”

ครูเฉลิม บัวทั่ง เล่าว่า ครั้งหนึ่งตัวท่านและครูปั้นบิดาล่องเรือมาถึงหน้าวัดเขมาภิรตาราม ตอนนั้นกำลังมีงานวัดพอดี ได้ยินเสียงเดี่ยวระนาดเพลงการเวก ครูปั้นบอกครูเฉลิมว่า “ฟังไว้ซี นั่นละฝีมือนายแช่มเขาละ” แล้วก็จอดเรือแวะไปที่งาน ปรากฏว่าเป็นเสียงจากลำโพงเครื่องเล่นแบบไขลาน ครูเฉลิมบอกว่า ท่านตีดีจริง ๆ ยังจำได้ติดหูมาจนทุกวันนี้ ครูปั้นเป็นครูผู้ใหญ่ เคยอยู่วงวังท่าเตียนของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ก็ยกย่องฝีมือนายแช่ม แสดงว่ายุคนั้นนายแช่มโด่งดังไม่มีตัวจับจริง ๆ

……..

จากยอดฝีมือระนาดสู่ยอดฝีมือปี่

นอกจากเป็นยอดฝีมือระนาด “ไหวจ้าสง่างาม” แล้ว ต่อมาพระยาเสนาะดุริยางค์ยังพัฒนาแนวทางปี่ของตนจนเป็นสุดยอดของปี่แนว “วิจิตรพริ้งพราย” เป็นยอดฝีมือปี่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 มีความโดดเด่นไปคนละแบบของพระยาประสานดุริยศัพท์

พระยาประสานดุริยศัพท์นั้น เสียงปี่โต หนักแน่น ทางแยบยล เป่าอุ้มเครื่องเพราะมาก เป่าเดี๋ยวคมคายไหว สง่างาม ไพเราะเลิศไปแบบหนึ่ง ส่วนพระยาเสนาะดุริยางค์ ไหวจัด เป่าหมู่มีชั้นเชิงพริ้งพราย เป่าเดี่ยววิจิตรเฉิดฉายมาก เป็นสุดยอดไปอีกแบบหนึ่ง ไม่เคยมีคนยุคหลังเทียบท่านทั้งสองนี้ได้อีกเลย

ความเป็นเลิศนั้นนอกจากเกิดจากสติปัญญาและความสามารถเฉพาะตัวของท่านทั้งสองเองแล้วยังมาจากพื้นฐานอันดีเยี่ยมที่ได้มาจากครูช้อยปรมาจารย์ของสำนัก “สุนทรวาทิน” อีกด้วย เพราะตัวครูช้อยก็มีฝีมือทั้งระนาดและปี่

อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าว่า ความเป็นยอดฝีมือของท่านทั้งสอง ทำให้คราวหนึ่ง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดชมีรับสั่งให้ทั้งสองท่านเป่าปี่ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสเดียวกัน เป็นการประชันกันโดยปริยาย ท่านทั้งสองรู้เชิงกัน จึงเป่าไปตามลักษณะเด่นของตน ในที่สุด ทั้งสองพระองค์สรุปผลให้นายแปลกเป็นคนปี่ใน นายแช่มเป็นคนปี่นอกประจำวงปี่พาทย์ฤาษี

……..

หลวงประดิษฐไพเราะ ศร ศิลปบรรเลง
หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

ประชันใหญ่ในชีวิต

ในวัยหนุ่ม นายแช่มหรือพระยาเสนาะดุริยางค์ เป็นคนระนาดฝีมือเยี่ยมสุดยอดแห่งยุค ไม่ค่อยมีคนกล้าประชันด้วย และตัวท่านเองก็ไม่ชอบประชันกับใครโดยไม่จำเป็น แต่ท่านเป็นคนซื่อตรงต่อหน้าที่มาก หากต้องประชันตามหน้าที่ที่ผู้ใหญ่มอบหมาย ท่านก็จะรักษาหน้าที่อย่างดีที่สุด ฉะนั้นเหตุการณ์ในเรื่องโหมโรงตอนขุนอินทร์ตีระนาด “ข่ม” นายศรจนขวัญเสียกลับบ้านไปนั้นเป็นเพียงเรื่องแต่ง “เอามัน”

การประชันใหญ่ในชีวิตจริงของท่านเกิดจากพระประสงค์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช (พ.ศ. 2402-71) พระราชอนุชาร่วมพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่ประชันคือ จางวางศร (หลวงประดิษฐไพเราะ) ทีแรกประชันระนาดกันก่อน ต่อมาประชันปี่กันอีก

พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช โปรดดนตรีไทยมาก ทรงตั้งวงปี่พาทย์เสภาประจำวังบูรพาของพระองค์ มีครูแปลก (ภายหลังเป็นพระยาประสานดุริยศัพท์) ศิษย์เอกของครูช้อยเป็นผู้ควบคุมวง แต่มิได้ถวายตัวเป็นข้าในพระองค์ เพราะครูแปลกสอนวงอื่นอีก เช่น วงมโหรีของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี วงปี่พาทย์วังบูรพาเป็นวงที่มีชื่อเสียงวงหนึ่งในยุคนั้น แต่คนระนาดซึ่งเป็น “พระเอก” ของวงปี่พาทย์ นายแช่ม วงวังบ้านหม้อเป็น “แชมป์” อยู่ จึงทรงพยายามเสาะหาคนระนาดดีมาประชันเพื่อจะเอาชนะให้ได้

ต่อมาครูแปลกได้นำนายนุช ศิษย์รุ่นเล็กของครูช้อยมาถวายตัว พระองค์โปรดฝีมือมากถึงกับประทานนามให้ใหม่ว่า “เพชร” ตามที่ทรงพระสุบินว่าได้เพชรเม็ดงามมา แต่พอเอาเข้าจริงนายเพชรก็ไม่กล้าสู้นายแช่มซึ่งเป็นลูกของครูตน ทั้งวัยและฝีมือก็เป็น “มวยคนละรุ่น”

ปี พ.ศ. 2442 (ร.ศ. 118) สมเด็จฯ วังบูรพาได้นายศร บุตรครูสิน สมุทรสงคราม มาเป็นคนระนาดใหม่ ฝีมือดีมาก หลังจากประชันชนะคนอื่นมาหลายคนจนไม่มีคู่ต่อสู้แล้ว จึงทรงจัดให้ประชันกับนายแช่ม ทั้งที่โดยวัยแล้ว เป็นมวยคนละรุ่น เพราะอายุต่างกันถึง 15 ปี การประชันครั้งนี้ นอกจากเป็นการประชันของยอดฝีมือระนาดของวังบูรพากับวังบ้านหม้อแล้ว ยังอาจถือได้ว่าเป็นการประชันของสำนัก “ประดิษฐไพเราะ” กับสำนัก “เสนาะดุริยางค์” กล่าวคือ

นายแช่มเป็นตัวแทนของสำนักเสนาะดุริยางค์ เพราะเป็นศิษย์หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) ตามหน้าที่การงาน และตีระนาดไหวจัดจ้าเหมือนพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) จนคนให้ฉายาท่านว่า “ระนาดขุนเณร” และต่อมาตัวนายแช่มเองก็เป็นนักดนตรีบรรดาศักดิ์ราชทินนามเสนาะดุริยางค์คนสุดท้าย

นายศรเป็นตัวแทนสำนักประดิษฐไพเราะ เพราะครูสินบิดาของท่านเป็นศิษย์เอกของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร – ครูมีแขก) และต่อมาตัวนายศรก็ได้เป็นนักดนตรีบรรดาศักดิ์ราชทินนามประดิษฐไพเราะคนสุดท้าย

……..

ปกติการประชันในสมัยก่อนจะไม่มีกรรมการตัดสิน ผู้ฟังซึ่งส่วนมากเป็นนักดนตรีหรือฟังดนตรีเป็นจะวิพากษ์วิจารณ์ตัดสินกันเองว่าใครฝีมือเป็นอย่างไร ในการประชันแต่ละครั้งจึงมีผู้วิจารณ์ให้ความเห็นต่างกันไปตามทัศนะและรสนิยมของตน

ก่อนจัดให้นายศรประชันนายแช่ม สมเด็จวังบูรพาได้จัดหาครูเก่ง ๆ หลายคนมาให้ แต่ในที่สุดนายศรเลือกเอาครูแปลก ศิษย์เอกของครูช้อย บิดานายแช่ม เป็นครูผู้ฝึกสอนและ “ติวเข้ม” ให้ตน เพราะเป็นผู้มีฝีมือและสติปัญญาเป็นเลิศจนได้ฉายาว่า “ครูแปลกพระกาฬ” อีกทั้งเป็นคนที่รู้ “เชิง” และ “ฝีมือ” ตลอดจน “แก้ทางเพลง” ของนายแช่มได้ดีที่สุด

อนึ่ง ความจริงแล้วท่านไม่อยากประชันเลย ดังที่ ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ เขียนเล่าไว้ว่า “ตอนนี้ท่านครูเล่าให้ผมฟังว่า พอได้ยินรับสั่งให้ไปประชันกับท่านผู้นั้นแล้วก็บังเกิดความกลัวจนลนลาน เพียงแต่ได้ยินชื่อก็ให้รู้สึกว่ามือเท้าอ่อนปวกเปียกไปเลยทีเดียว” แสดงให้เห็นว่าฝีมือนายแช่มต้องเป็นเลิศและชื่อเสียงโด่งดังมากจนคู่ประชันได้ยินชื่อก็ขวัญเสียไม่มีกะจิตกะใจสู้ มาลินี สาคริก หลานตาของหลวงประดิษฐไพเราะเองก็เขียนเล่าไว้ว่า

“ตอนนั้นจางวางศรมีความกลัวมากเพราะคิดว่าตนเองเป็นนักดนตรีรุ่นเด็กกว่า และท่านผู้นั้นยังเป็นครูดนตรีมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นด้วย จึงไปกราบไหว้ขอร้องผู้ใหญ่ที่ท่านนับถือท่านหนึ่งให้ช่วยไปกราบขออภัยต่อท่านผู้นั้นว่า ที่จริงแล้วมิได้คิดจะเปรียบเทียบฝีมือแต่อย่างใด หากแต่เป็นพระประสงค์ของสมเด็จวังบูรพา จึงไม่อาจขัดรับสั่งได้ ขอให้ท่านผู้นั้นออมมือให้บ้าง เพราะสมเด็จวังบูรพามีรับสั่งว่าถ้าจางวางศรแพ้จะทรงลงพระอาญา แต่ท่านผู้นั้นก็รักศักดิ์ศรีของท่านจึงไม่ยินยอมอ่อนข้อให้ และฝากกลับมาบอกว่าท่านจะแสดงเต็มฝีมือของท่าน เมื่อจางวางศรได้ทราบเช่นนั้นก็ยิ่งไม่สบายใจมากขึ้น คิดในใจว่าถ้าสู้ไปก็คงจะแพ้ถูกลงพระอาญา แม้ไม่ยอมสู้ก็จะถูกลงพระอาญาอยู่ดี จึงหนีออกจากบ้านไปอยู่กับพวกปี่พาทย์ที่คุ้นเคยกันในหัวเมืองต่างจังหวัด

เมื่อสมเด็จวังบูรพาทรงทราบก็กริ้วมาก ให้นำตัวนางโชติภรรยาของจางวางศรไปกักตัวไว้ในวัง และให้ส่งข่าวทั่วไปว่า ถ้าจางวางศรไม่กลับมาตีระนาดประชันจะลงพระอาญาแก่นางโชติแทน เมื่อทราบข่าวดังนั้นจางวางศรก็จำใจต้องกลับมาที่บ้านหน้าวังบูรพา เมื่อสมเด็จวังบูรพาทรงทราบก็เสด็จไปถึงบ้าน แล้วลงพระอาญาโดยใช้ปี่ชวางาที่ถือติดพระหัตถ์ไปด้วยฟาดศีรษะของจางวางศรจนลำโพงของปี่แตก แล้วทรงนำตัวจางวางศรไปกักไว้ที่ห้องพระบรรทมบนตำหนัก เพื่อให้ฝึกไล่ระนาดทุกวัน (ปี่ชวางาเลานั้นหลังที่จางวางศรตีระนาดประชันชนะแล้วสมเด็จวังบูรพาได้ทรงให้ช่างสลักข้อความบนลำโพงปี่แล้วประทานให้จางวางศรไว้เป็นที่ระลึก)

จางวางศรต้องฝึกไล่ระนาดอย่างหนักทั้งกลางวันและกลางคืน เข้าใจว่าสมเด็จวังบูรพาทรงทำไม้ระนาดทองแดงหนักข้างละ 10 บาท ไว้ให้จางวางศรฝึกไล่มือ และยังให้สวมกำไลตะกั่วถ่วงไว้ที่ข้อมือด้วย เพื่อฝึกให้กล้ามเนื้อแขนและข้อมือมีกำลังดี เมื่อเอาตะกั่วที่ถ่วงออกแล้วใช้ไม้ตีธรรมดาก็ทำให้ตีได้ไหว (เร็ว) เป็นพิเศษ

ก่อนที่จะถึงการประชันไม่นาน จางวางศรได้ฝันไปว่า มีครูเทวดามาบอกทางเพลงสำหรับเดี่ยวเพลง ‘กราวใน’ ให้ โดยบรรเลงให้ฟังแล้วยังเป่าศีรษะพร้อมทั้งให้พรว่า ต่อไปนี้ตลอดชีวิตของเจ้าจะไม่แพ้ระนาดแก่ผู้ใดเลย เรื่องนี้ท่านเป็นผู้เล่าให้ลูกหลานและศิษย์ที่สนิทใกล้ชิดฟังด้วยตัวเอง และยังกล่าวว่าทางเดียวที่ท่านได้ฟังจากในฝันนั้นไพเราะมากกว่าที่ท่านนำมาบรรเลง ‘กราวในทางฝัน’ มาก แต่น่าเสียดายที่ไม่มีผู้ใดได้รับการถ่ายทอดกราวในทางฝันจากท่านไว้เลย หลังจากนั้นจางวางศรจึงเกิดความมั่นใจในตนเองยิ่งขึ้น ได้ทำการฝึกซ้อมการตีระนาดอย่างจริงจังจนกระทั่งถึงวันประชัน”

1. หลวงประดิษฐไพเราะ 2. นางโชติ ศิลปบรรเลง 3. บรรเลง สาคริก ถ่ายที่บ้านบาตร

การประชันระนาดใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนนายแช่มรับบรรดาศักดิ์เป็นขุนเสนาะดุริยางค์ในปี พ.ศ. 2446 ครูหลวงประดิษฐฯ บันทึกไว้ว่าท่าเข้ามาอยู่วังบูรพาปี ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) แต่งงาน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) บวช ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) การประชันต้องหลังจากท่านแต่งงานแล้ว และน่าจะหลังจากลาสิกขาแล้ว คือช่วงปี พ.ศ. 2444-45 ขณะนั้นนายศรอายุ 20-21 ปี นายแช่มอายุ 35-36 ปี

ต้องขออนุญาตเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เรื่องการประชันครั้งนี้ ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ นำมาเขียนเผยแพร่เป็นคนแรกโดยไม่ออกชื่อนายแช่ม ได้แต่เรียกว่า “นักระนาดผู้ยิ่งใหญ่” หรือ “ท่านผู้นั้น” ผู้เขียนได้ฟังเรื่องนี้จากปากผู้ใหญ่ในวงการดนตรีไทย 3 ท่าน คือ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ธิดาครูหลวงประดิษฐฯ ครูจำรัส เพชรยวง ศิษย์ครูจางวางสวน ชิดท้วม (พ.ศ. 2405-85) ผู้ได้ดูการประชันครั้งนั้น และครูถวิล อรรถกฤษณ์ ศิษย์ครูเพชร จรรย์นาฏ ผู้เป็นคนฆ้องวงวังบูรพาในวันที่ประชัน ข้อมูลที่ได้ส่วนมากตรงกัน ต่างกันแต่เรื่องผลแพ้ชนะ ซึ่งก็พอวิเคราะห์ได้ว่าเพราะอะไร

การประชันครั้งนั้น เป็นการประชันวงปี่พาทย์เครื่องห้า เพราะต้องการดูฝีมือคนระนาดกันให้ชัด วงวังบูรพาทราบชื่อนักดนตรีคือ ระนาดเอก จางวางศร ฆ้องใหญ่ นายเพชร ปี่น่าจะเป็นนายวิ่ง เครื่องหนังคือ นายเนตร ยอดฝีมือเครื่องหนังผู้ได้รับคัดเลือกไปบรรเลงดนตรีที่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2428 ผู้ปรับวงน่าจะเป็นครูแปลก คนร้องไม่ทราบชื่อ ส่วนวงวังบ้านหม้อไม่ทราบชื่อผู้ร่วมวงกับนายแช่มเลยว่ามีใครบ้าง

การประชันเริ่มตั้งแต่เพลงโหมโรงและรับร้องไปตามธรรมเนียม แล้วต่อด้วยเพลงเดี่ยวระนาด ตั้งแต่เดี่ยวเชิดนอก พญาโศก และเพลงเดี่ยวสำคัญอื่น ๆ ไปจนถึงเดี่ยวกราวใน ซึ่งเป็นเพลงเดี่ยวสูงสุด นายศรได้งัดเอา “เดี่ยวกราวในทางฝัน” ออกมาใช้ก็ยังไม่สามารถเอาชนะฝีมือและทางกราวในของนายแช่มได้ จึงต้องวัดฝีมือกันที่ “เชิดต่อตัว” เทียบได้กับฟุตบอลเตะลูกโทษ

การตี “เชิดต่อตัว” ต้องอาศัยความ “ไหว” และ “อึด” เป็นกำลังสำคัญ เพราะทั้งสองฝ่ายต้องผลัดกันตีเชิดคนละตัว (ลักษณะนามของเพลงเชิด) ส่ง-รับ หมุนเวียนกันไป ต้องรักษาเสียงระนาดให้ชัดเจนและเร่งความ “ไหว” ขึ้นไปเรื่อยๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนส่งให้คู่ต่อสู้สวมรับ จนคู่ต่อสู้ “หลุด” คือสวมรับไม่ทัน หรือ “ตาย” คือสวมรับทันแต่ไม่สามารถตีด้วยความ “ไหว” เร็วระดับนั้นต่อไปได้จนต้องหยุดตีไปเอง

ครูจางวางสวนเล่าให้ครูจำรัส เพชรยวง ศิษย์ของท่านฟังว่า ถึงเพลงกราวในก็ยังแพ้ชนะกัน ไปชนะกันที่ “เชิดต่อตัว” นายแช่มมือตาย แต่ มาลินี สาคริก ซึ่งคงจะได้ข้อมูลมาจากคุณหญิงชิ้น เขียนไว้ว่า “จางวางศรได้ปล่อยฝีมือกราวในทางฝันของท่านอย่างเต็มที่ ขณะนั้นเวลาล่วงเข้าไปเกือบตีสามแล้ว ฝีมือก็ยังคงคู่คีกันอยู่ จนกระทั่งถึงเพลงสุดท้ายที่จะรู้แพ้รู้ชนะกันในด้านความไหวของระนาด คือ เพลง ‘เชิด’ ตีกันตั้งแต่ 3 ชั้นลงมา พอถึงตัวสองตีสองชั้น ตีกันคนละตัวรับส่งกัน เพลงเชิดนี้มีนับสิบตัว ยิ่งตีจังหวะก็ยิ่งจะรุกเร้าขึ้นทุกที ระนาดยิ่งไหวเท่าใด คนกลองก็ยิ่งเร่งจังหวะขึ้นเท่านั้น เมื่อถึงจุดสุดท้ายที่จะแพ้ชนะกัน จางวางศรเร่งฝีมือจนสุดแล้วส่งไปให้อีกวงรับ ปรากฏว่าคนระนาดอีกวงรับไม่ทัน ก็เลยวางไม้ระนาดยอมแพ้”

ตามที่มาลินีเขียนไว้นี้ เป็นการแพ้ “หลุด” คือสวมรับไม่ทัน แต่จางวางสวนเล่าว่าแพ้ “ตาย” คือสวมทัน แต่ตีต่อไปไม่ได้ สมเด็จวังบูรพาจึงตัดสินว่า “จางวางศรไหวกว่า” ครูเพชรซึ่งเป็นคนฆ้องวงวังบูรพาในวันประชันกลับบอกกับครูถวิลศิษย์ท่านว่า “พี่แช่มไหวกว่านายศร แต่ท่าไม่สวย พอตีไหวมากแล้วข้อศอกกาง แต่แกสวมรับแล้วไม่ยอมตีต่อเลยถูกปรับแพ้”

ครูเพชรคุ้นเคยทั้งนายแช่มและนายศร รู้ฝีมือในยามปกติของคนทั้งสองดี ตัวท่านคงจะชอบระนาดไหวแบบเก่า คือไหวลูกโป้งเต็มเสียง ฟังกระจ่างชัดทุกลูก จึงเห็นว่านายแช่มไหวกว่านายศร ซึ่งใช้วิธีที่ไหวแบบใหม่ คือไหวร่อนเร็วมากแต่ฟังไม่กระจ่างชัดเท่าไหวแบบเก่า แต่การสวมรับแล้วไม่ตีต่อย่อมต้องถูกปรับแพ้ “ตาย”

การแพ้ตายตามปกติก็แค่ตีด้วยความไหวเร็วเท่าที่สวมรับมาต่อไปไม่ได้หรือได้ไม่นานก็ล้าต้องหยุดตี ที่จะถึงกับมือเกร็งเป็นตะคริวแข็งตีต่อไม่ได้เกิดขึ้นยากมาก เพราะธรรมชาติของการตีระนาดเมื่อตีเร็วจัดต่อไปไม่ไหวเหมือนคนวิ่งเร็วสุดตัวสุดกำลังก็ต้องหยุดไปเอง คำว่า “ตาย” คือนิ่งไม่เคลื่อนไหวต่อไป เป็นความหมายเชิงอุปมา ไม่ใช่มือเกร็งเป็นตะคริวตายอย่างในเรื่อง “โหมโรง” ซึ่งมุ่งเอาสนุก สะใจคนดู เพราะถือว่าเป็น “ความบันเทิง” ไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์”

แช่ม สุนทรวาทิน พระยาเสนาะดุริยางค์
พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)

แต่ที่ในหนังสือ “หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลป บรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์” เขียน ว่า “ผลการต่อตัวเชิดครั้งนั้นปรากฏว่าในที่สุดนายแช่ม นักระนาดรุ่นพี่แห่งปี่พาทย์วงหลวงเกิดอาการ ‘มือตาย’ ยิ่งตียิ่งเกร็ง ปวดจนชา ต้องถอนจังหวะลงมา เข้าวรรคท้ายจบเพลงก่อน ใบหน้าชุ่มเหงื่อ กายสั่นระริก สองมือยังกำไม้ระนาดแน่น จนลูกวงต้องช่วยกันแกะไม้ออกจากมือ” นั้นเป็นการ “ใส่สีใส่ไข่” เพื่อ “เอามัน” มากเกินไป เพราะหนังสือเล่มนี้เป็น “ชีวประวัติ” ไม่ใช่ “นิยาย” อย่างเรื่อง “โหมโรง”

ความจริงท่านทั้งสองตีระนาดไหวคนละแบบ ใช้เทคนิคการที่ต่างกัน นายแช่มหรือพระยาเสนาะดุริยางค์ ตีระนาดไหวแบบเก่า เสียงโตชัดทุกเสียง และคงจะใช้ไม้ตีปื้นหนา พันไม่แข็งนัก ตีด้วยกำลังแขน จึง “ดูดไหล่” คือกินแรง ประกอบกับท่านรักษาความคมชัดเจิดจ้าของเสียงให้ “ยิ่งไหวยิ่งจ้า” ยิ่งตีไหวจ้ามากขึ้นเท่าไร ก็ต้องใช้กำลังแขนไปถึงไหล่มากขึ้นเท่านั้น จึงย่อมจะล้าง่าย ส่วนจางวางศรน่าจะใช้ไม้ตีขึ้นเล็กกว่า แข็งกว่า และก้านอ่อนกว่า ทำให้เบาแรง ตีด้วยข้อให้ไหวร่อนได้เร็วกว่า แม้เสียงจะไม่จ้าเท่าที่ด้วยกำลังแขน แต่ก็ไหวทนกว่า

การตีเพลงเชิดต่อตัวหรือต่อตัวเชิด จะวัดฝีมือกันที่ความไหวและเสียงระนาดที่ชัดเจน ไม่ใช่ระกลั้วไป แต่ผลการแพ้ชนะที่ “ตาย” หรือ “หลุด” นั้น ความไหวเป็นตัวตัดสิน

ในการประชันครั้งนั้นไม่มีคณะกรรมการร่วมกันตัดสินอย่างเป็นทางการ ผู้ฟังแต่ละคนตัดสินกันเองตามเกณฑ์และรสนิยมของตัวเอง คนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ชอบระนาดไหวแบบเก่า แม้กระทั่งครูจางวางสวนก็สรุปว่า “นายศรชนะไหว นายแช่มชนะจ้า” ซึ่งเป็นคำตัดสินที่เที่ยงตรงมาก ตัวครูหลวงประดิษฐฯ เองก็ยอมรับว่า ตีระนาดเสียงเจิดจ้า จบเพลงให้ความรู้สึกบรรเจิดประทับใจ ไม่มีใครเกินพระยาเสนาะดุริยางค์

การประชันครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มพัฒนาศิลปะการตีระนาดของหลวงประดิษฐไพเราะ และท่านได้พัฒนาปรับปรุงต่อไปอีกตลอดเวลา จนระนาดของสำนักท่านมีชั้นเชิงแพรวพราวได้รับความนิยมสูงสุดในกาลต่อมา เป็นความยิ่งใหญ่ในเชิงระนาดที่แท้จริงของท่านยิ่งกว่าผลการประชันในครั้งนั้น ซึ่งเป็นเพียง “จุดเริ่ม” ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในวงการ

คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า ศิลปะมีพัฒนาการไปตามยุคสมัย ระนาดแบบเก่าพัฒนามาถึงจุดสูงสุดที่พระยาเสนาะดุริยางค์ ท่านมีพรสวรรค์ทางดนตรีสูงมากและฝึกฝนมาแต่เด็กเต็มที่ไม่มีใครเสมอเหมือน ฝีมือท่านจึงสูงสุดของระนาดแนวเก่า ไม่มีใครที่ให้ดีกว่าท่านได้ ครูหลวงประดิษฐไพเราะจึงต้องหาแนวทางใหม่ มีเทคนิคและกลวิธีการตีแบบใหม่ ทำให้ได้เสียงที่หลากหลาย สะดุดหูชวนฟังมาก ยิ่งขึ้น ศิลปะการตีระนาดบางอย่างที่มีมาก่อนแต่มีที่ใช้น้อยหรือไม่เด่น เช่น กรอ สะบัด ท่านนำมาปรับปรุงใช้ได้โดดเด่นชวนฟังมาก เทคนิคการตีบางวิธีท่านพัฒนาให้วิจิตรโลดโผนขึ้น เช่น การตีคาบลูกคาบดอก รัวแบบต่าง ๆ เรื่องนี้เป็นคุณูปการและเกียรติคุณของท่านมากกว่าชนะการประชัน

……..

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตัวตนจริงของขุนอินทร์ นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ในเรื่องโหมโรง” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2564