“มกรา-กุมภา-มีนา(มีนา)-เมษา” ชื่อเดือนแบบไทยมาจากไหน ทำไมเรียก วันจันทร์-อาทิตย์

คำที่คนไทยใช้เรียกชื่อวัน ชื่อเดือนต่างๆ ตั้งแต่วันจันทร์ จนถึงวันศุกร์ และเดือนมกราคม จนถึงเดือนธันวาคม เหล่านี้ เคยสงสัยไหมว่า มีที่มาจากไหนกันบ้างก่อนที่เราจะนำมาใช้กันสารพัด ไม่ว่าจะนำมาร้องเป็นเพลงต่างๆ ในความบันเทิง หรือใช้สำหรับอ้างอิงลำดับเวลาให้สอดคล้องกับสากล

ชื่อวัน

กรณีนี้ ส.พลายน้อย นักเขียนอาวุโสเคยอธิบายไว้ในบทความ “ชื่อ ‘วัน-เดือน’ ของไทย” เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 เนื้อหาส่วนหนึ่งอธิบายไว้ว่า ในสมัยโบราณ ไทยกำหนดวันเดือนแบบจันทรคติ อาศัยการโคจรของดวงจันทร์เป็นหลัก โดยนับจำนวนวันตามดวงจันทร์ เริ่มตั้งแต่ดวงจันทร์มีแสงสว่างน้อย ไปจนถึงสว่างเต็มดวง ระยะนี้เรียกว่า “ข้างขึ้น” หรือ “เดือนหงาย” เพราะรูปดวงจันทร์มีลักษณะหงายขึ้น จนกระทั่งโตเต็มดวง เริ่มนับแต่ขึ้น 1 ค่ำไปจนถึง 15 ค่ำ

ต่อจากนั้นดวงจันทร์ก็เริ่มแหว่งมีแสงน้อยลงตามลำดับ ระยะนี้รูปดวงจันทร์ดูเหมือนคว่ำ มีลักษณะเป็นเสี้ยวเล็กลงจนดับมิดดวง เรียกว่า “ข้างแรม” เริ่มนับแต่แรม 1 ค่ำ เรื่อยไปจนถึงแรม 14 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ

เดือนหนึ่งจึงมี 29 วันบ้าง 30 วันบ้าง แล้วแต่เดือนขาด เดือนเต็ม (เดือนขาด คือมี 29 วัน เพราะมีเพียง แรม 14 ค่ำ จะมีในเดือน 3, 5, 7, 9 และ 11 )

สำหรับชื่อวันที่ใช้ว่า “วันจันทร์” ไปจนถึง “วันอาทิตย์” ส.พลายน้อย อธิบายไว้ว่า ไทยได้แบบอย่าง “การเรียกชื่อวัน” ทั้ง 7 นี้มาจากอินเดีย คือ วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์

แต่จะมีแตกต่างกันบ้างบางวัน เพราะในอินเดียเรียกวันทั้ง 7 เป็น รวิวาร-วันอาทิตย์, โสมวาร-วันจันทร์, มงคลวาร-วันอังคาร, พุธวาร-วันพุธ, พฤหัสบดีวาร-วันพฤหัสบดี, ศุกรวาร-วันศุกร์ และศนิวาร-วันเสาร์

สำหรับไทยเรานำแบบอย่างมา และเปลี่ยนคำเรียกให้เหมาะสมกับนามเทวดานพเคราะห์ที่ใช้เรียกในเมืองไทย การเรียกชื่อวันดังกล่าวมีมาเป็นเวลายาวนานแล้ว มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึกหลายแห่ง

ชื่อเดือน

ส่วน “การเรียกชื่อเดือน” ไทยไม่ได้เอาแบบของอินเดียซึ่งทางนั้นเริ่มที่เดือน จิตรมาส (เดือน 5), ไพศาขมาส (เดือน 6), เชษฐมาส (เดือน 7), อาษาฒมาส (เดือน 8), ศราวณมาส (เดือน 9), ภัทรบทมาส (เดือน 10), อัสวินมาส (เดือน 11), กัตติกมาส (เดือน 12), มาคศิรมาส (เดือนอ้าย), บุษยมาส (เดือนยี่), มาฆมาส (เดือน 3) และ ผาลคุนมาส (เดือน 4)

เดิมทีแล้ว ไทยเรียกเดือนแรกของปีว่า เดือนอ้าย เดือนที่สองของปี ว่าเดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ ไปตามลำดับ

แม้ต่อมา เราจะเปลี่ยนไปใช้เดือน 5 เป็นเดือนแรกของปีในภายหลัง เราก็ยังเรียกตามแบบเดิม

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่า การใช้วันเดือนตามแบบจันทรคติไม่สะดวก ไม่เหมาะสมกับความเป็นไปของบ้านเมืองที่ต้องมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่เขานับวันเดือนตามแบบสุริยคติ (กำหนดว่าเมื่อโลกโครจรไปรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งนับเป็นเวลาปีหนึ่งมีตำนวน 365 วันเศษ แบ่งเป็น 12 เดือน ส่วนจันทรคติกำหนดว่าดวงจันทร์โคจรไปรอบดวงอามทิคตย์ครั้งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี มีจำนวนเพียง 354 วันเศษ) จึงทรงหาจังหวะที่จะเปลี่ยนวิธีนับวันและเรียกชื่อเดือนเสียใหม่ เพื่อให้ใช้เรียกและกำหนดจดจำได้ง่ายขึ้น

เมื่อมาถึงในปีฉลู จ.ศ. 1251 มีวันประจวบเหมาะคือในเดือน 5 ขึ้น 1 คำซึ่งเป็นวันปีใหม่เปลี่ยนปีนักษัตรตามปกตินั้นตรงกับวันที่ 1 ตามปฏิทินสุริยคติพอดี คือเป็นวันที่ 1 ในเดือน 5 แต่จะใช้ว่าวันที่ 1 เดือน 5 หรือเดือนเจตรตามแบบอินเดียดูไม่เหมาะ จึงต้องคิดชื่อเดือนขึ้นใหม่ โดยอาศัยหลักโหราศาสตร์ที่ว่า เมื่อพระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ ที่เรียกว่าเป็นวัน สงกรานต์ขึ้นปีใหม่จึงเอาชื่อราศีเมษมาเป็นชื่อเดือน ราศีถัดไปคือราศีพฤษภ ราศีมิถุน ราศีกรกฎ ราศีสิงห ราศีกันย ราศีตุล ราศีพฤศจิก ราศีธนู ราศีมกร ราศีกุมภ ราศีมีน (ชื่อราศีเหล่านี้ตามตําราของอินเดีย)

เมื่อนําเอาชื่อราศีมาใช้เป็นชื่อเดือน เราก็เปลี่ยนแปลงรูปคําเสียใหม่ คือนําเอาคําอายน และอาคม มาสนธิ ต่อท้ายคําเดิม เช่น เมษก็เป็น เมษายน (เมษ + อายน) พฤษภ เป็น พฤษภาคม (พฤษภ + อาคม)

คําว่า “อายน” และ “อาคม” มีความหมายอย่างเดียวกันว่า “การมาถึง” คือดวงอาทิตย์มาถึงราศีนั้นก็หมายเอาว่าขึ้นเดือนนั้นจึงเรียกชื่อเดือนว่าเช่นนั้น โดยแบ่งเดือนที่มี 30 วันให้ใช้ “อายน” เดือนที่มี 31 วันให้ใช้ “อาคม” มีพิเศษอยู่เดือนหนึ่งมี 28 วัน ให้ใช้ “กุมภาพันธ์” (กุมภ+อาพันธ์ คําว่า อาพันธ์ หมายถึง ผูก ก็หมายอย่างเดียวกันคืออาทิตย์มาถึงราศีกุมภ)

นักปราชญ์ของไทยท่านเข้าใจดัดแปลงเอาชื่อราศีของอินเดียมาใช้เป็นชื่อเดือนได้อย่างเหมาะเจาะ ผู้ที่มีหน้าที่คิดชื่ออะไรต่างๆ ในสมัยนั้น ก็มีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นหลักอยู่ คงจะร่วมคิดกับ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) ซึ่งมีความชํานาญในวิชาโหราศาสตร์ และได้ทรงคิดวิธีปฏิทินไทยใช้ตามสุริยคติกาลนําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดให้ใช้เป็นแบบแผนของบ้านเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2432 คือปีที่ประกาศใช้ชื่อ เดือนเมษายน พฤษภาคม ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงใช้วันที่และเดือนตามแบบสุริยคติในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นแบบแผนที่ใช้ในราชการดังกล่าว มีหลักฐานเป็นพระบรมราชโองการเรียกว่าประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 4 แรม 12 ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 ตรงกับวันที่ 28 มีนาคม 2431 มีข้อความกล่าวถึงคติทางดาราศาสตร์มากมาย จะคัดมาทั้งหมดก็ยึดยาวไป จะกล่าวเฉพาะที่ตราเป็นพระราชบัญญัติมาพอให้เห็นความสําคัญดังนี้

“ข้อ 1 ให้ตั้งวิธีนับปีเดือนตามสุริยคติกาลดังว่า ต่อไปนี้ เป็นปีปรกติ 365 วัน ปีอธิกสุรทิน 366 วัน ให้ใช้ศักราชตามปีตั้งแต่ตั้งกรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยาบรมราชธานีนั้น เรียกว่ารัตนโกสินทรศก ใช้เลขปีในรัชกาลทับหลังศักด้วย…

ข้อ 2 ปีหนึ่ง 12 เดือน มีชื่อตามราศีที่เดือนนั้นเกี่ยวข้องอยู่ มีลําดับดังนี้ เดือนที่ 1 ชื่อเมษายน มี 30 วัน…วันในเดือนหนึ่งนั้นให้เรียกว่าวันที่ 1 วันที่ 2…

ข้อ 3 ให้นับใช้วิธีนี้ในราชการแลการสารบาญ ทั้งปวงตั้งแต่วัน 2 เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู ยังเป็น สัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 นั้นเป็นวันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทรศก 108 ต่อไป แต่วิธีนับวันเดือนปีตามจันทรคติ ซึ่งเคยใช้มาในการกําหนดพระราชพิธีประจําเดือนต่างๆ ก็ดี แลใช้สังเกตเป็นวันกําหนดหยุดทําการที่ดี ให้คงใช้ตามเดิมนั้น”

ที่ยกมากล่าวข้างต้น เฉพาะหลักสําคัญที่ได้เปลี่ยนแปลงตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งสรุปแล้วก็คือ เลิกใช้มหาศักราช จุลศักราช ในทางราชการให้เปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทรศก ตั้งแต่วันจันทร์ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู ซึ่งตรงกับวันอย่างใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทรศก 108 (พ.ศ. 2432) การเรียกวันเป็นวันที่ 1 วันที่ 2 ฯลฯ และเรียกชื่อเดือนว่าเมษายน พฤษภาคม ฯลฯ จึงได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในวันนั้น

หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงจากข้อมูลในบทความ “‘วัน-เดือน’ ของไทย” โดย ส.พลายน้อย ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2535 ต่อมาข้อมูลในบทความนี้ถูกเผยแพร่ในออนไลน์เป็นบทความ “ชื่อ “วัน-เดือน” ของไทยมาจากไหน เริ่มเรียกวันที่เป็นเลข 1-2-3 เมื่อใด?”


บทความ “มกรา-กุมภา-มีนา(มีนา)-เมษา” ชื่อเดือนแบบไทยมาจากไหน ทำไมเรียกชื่อวัน “จันทร์-อาทิตย์” เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2564