“โคมลอย” และ “ซึมทราบ” ศัพท์สแลงสมัยรัชกาลที่ 5 มีที่มาอย่างไร?

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษร (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ถ้อยคำหรือสำนวนที่เรียกว่า “ศัพท์สแลง” หรือที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า “ศัพท์แผลง” เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นมากมายทั้งที่แพร่หลายทั่วไปและนิยมใช้กันในหมู่เจ้านายและขุนนาง บางศัพท์ก็ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน บางศัพท์ก็ไม่มีใครใช้ต่อจนจางหายไปเอง

รัชกาลที่ 5 ทรงนำ “ศัพท์แผลง” มาใช้พระราชนิพนธ์ใน “กลอนไดเอรีซึมทราบ” ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ในปี 2431 เช่นคำว่า โคมลอย, บ๊ะ, สับพี, กู๋กู, สวิต, มะหลึกตึก, เย, โก๋, เม๊ก, ป๊อด, โก้งโค้ง ฯลฯ แน่นอนว่าศัพท์เหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตกและชาวจีน

Advertisement

คำว่า “ซึมทราบ” เองเป็น “ศัพท์แผลง” ในสมัยนั้น และเป็นสาเหตุในการทรงพระราชนิพนธ์ “กลอนไดเอรีซึมทราบ” นี้ด้วย ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “มูลเหตุอีกอย่าง 1 เกิดแต่ทรงเบื่อหน่ายหนังสือชนิด 1 ซึ่งเจ้านายเรียกกันว่าอย่าง ‘ซึมทราบ’ คือผู้แต่งไม่รู้จักถ้อยคำไม่รู้จักอักษร รู้แต่กลอนก็แต่งไป แต่ยังมีคนพอใจอ่าน จึงทรงแต่งบทกลอนอย่างซึมทราบล้อเล่นบ้าง ในจำพวกนี้มีหลอนไดเอรีซึมทราบ…”

ส่วนคำว่า “โคมลอย” หมายความว่าเหลวไหลไม่มีมูล ที่มาของคำนี้มีอธิบายอยู่ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ฯ พระราชทานแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถฯ (พิมพ์ในปี 2463) ความว่า

“คำว่า โคม นี้ มีความหมายตามศัพท์แผลงใช้กันว่า พูดฤาทำอะไรไม่กินความกัน ฤาไม่เข้ากับเรื่อง ฤาพูดหลงใหลไป ฤาพูดโดยไม่มีเค้ามูลที่เห็นว่าควรจะพูดอย่างนั้น แต่แรกใช้กันว่าโคมลอย เกิดจากหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่ง ชื่อฟัน มีรูปโคมลอยอยู่ที่ชื่อน่าต้นของหนังสือนั้น และในหนังสือพิมพ์นี้ มักมีความซึ่งกล่าวตามอย่างตลก ๆ ในภาษาอังกฤษ ดูไม่ใคร่จะเข้ากับเรื่อง…”

“ศัพท์แผลง” ทั้งหลายเมื่อเวลาผ่านไป บางคำก็คงอยู่ บางคำก็จางหายไป บางคำก็แปรเปลี่ยนความหมายไปจากเดิม ดังคำว่า “ซึมทราบ” ที่ในปัจจุบันแปลว่า “รู้ละเอียด” ทั้งที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความหมายไปในทาง รู้แต่เพียงผิวเผิน คือเป็นผู้ที่แต่งหนังสืออย่าง “ซึมทราบ” คือแต่งโดยไม่รู้จักถ้อยคำ ไม่สันทัดด้านภาษา เพียงแต่รู้วิธีแต่งกลอนก็แต่งไป

ส่วนคำว่า “โคมลอย” ที่ในปัจจุบันแปลว่า “(ปาก) ว. ไม่มีมูล, เหลวไหล” ซึ่งยังคงความหมายไว้เช่นเดิม

คำว่า “เหลวไหล” นี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เป็นคำที่มีที่มาจากคำว่า “เหลว” เป็น “ศัพท์แผลง” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ดังที่ พระยาประสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) บันทึกว่า

“ถ้อยคำที่พูดกันว่า ‘เหลว’ นี้ เกิดขึ้นเพราะพระจอมเกล้าฯ พระพุทธเลิศหล้าฯ รับสั่งให้พระจอมเกล้าฯ ถามความอะไร ข้าฯ จำไม่ได้ ลืมไป ว่าพระพุทธเลิศหล้าฯ รับสั่งถามพระจอมเกล้าฯ ว่าความเรื่องนั้นไม่ได้ความอย่างไร พระจอมเกล้าฯ ทูลเหลวไปเสียแล้ว เอาจริงยังไม่ได้ ท่านจึงรับสั่งว่า ให้มันข้นเข้าเสียเอาจริงให้ได้ คำเหลวนี้จึงได้พูดกันต่อมา…”

“ศัพท์แผลง” จากสมัยรัชกาลที่ 2 นิยมใช้กันเรื่อยมา จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังใช้คำนี้กันโดยทั่วไป สันนิษฐานว่าได้มีการคำว่า “เหลว” มาประสมกับคำว่า “ไหล” กลายเป็น “เหลวไหล” ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “เหลว” โดยคำว่า “เหลวไหล” ยังคงใช้กันอยู่ ส่วนคำว่า “เหลว” กลับไม่นิยมใช้กันแล้ว

“ศัพท์แผลง” ในอดีตอาจกลายเป็นศัพท์ธรรมดาที่ใช้กันในยุคต่อมา และ “ศัพท์สแลง” ในยุคปัจจุบัน ก็อาจกลายเป็นศัพท์ธรรมดาในยุคอนาคตก็เป็นได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2470). กลอนไดเอรีซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค. สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า โปรดให้พิมพ์ประทานช่วย พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงผ่อง ในงานทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 60 ปี บริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2470. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร.

รายงานจากสำนักศิลปวัฒนธรรม. (สิงหาคม, 2547). ศัพท์แผลง. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25 : ฉบับที่ 10.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2564