“นางนพมาศ” เมืองลพบุรี ไม่ได้ใส่ “ชุดไทย” ไฉนแต่งกายสมัยจอมพล ป.

ภาพประกอบเนื้อหา - การประกวดนางนพมาศ ที่ลพบุรี

เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองเป็นที่ทราบดีว่า“งานลอยกระทง” จะถูกจัดขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งประเทศ  โดยแต่ละจังหวัดจะสรรหาเรื่องราวต่างๆในท้องถิ่นมาเป็นจุดขายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลดังกล่าว  อาทิเช่น  งานผาเทียนเล่นไฟ.สุโขทัย งานยี่เป็ง .เชียงใหม่  งานล่องสะเปา จ.ลำปางตลอดจนงานลอยกระทงสาย .ตาก เป็นต้น

จุดเด่นของเทศกาลดังกล่าวนอกจากจะลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคาแล้ว  อีกกิจกรรมหนึ่งที่ขาดไม่ได้  นั่นก็คือ  “การประกวดนางนพมาศ” ที่บรรดาหญิงสาวแรกรุ่นต่างพากันแต่งชุดไทยโบราณเดินอวดโฉมกันบนเวทีให้เหล่าคณะกรรมการทำการตัดสิน  แต่ในขณะเดียวกันการประกวดนางนพมาศของ จ.ลพบุรีกลับไม่ได้แต่งชุดไทยประกวดเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ  แล้วเหตุใดพวกเธอถึงมาใส่ชุดในยุคจอมพล ป.  พิบูลสงคราม มาประกวดกัน?

Advertisement

นางนพมาศ : จาก สนมเอก ในตำนาน สู่ นางงามทั่วทุกภูมิภาค

“นางนพมาศ” หรือที่รู้จักในนาม “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ได้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมโดยอ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสุโขทัย  ซึ่งกล่าวไว้ว่าเป็นพระสนมเอกของกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง  ผู้เพียบพร้อมไปด้วยความงามและความสามารถ  อีกทั้งยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัวเนื่องในพระราชพิธีจองเปรียญลอยพระประทีปจนเป็นที่โปรดปรานของพระร่วงเจ้าอย่างมาก  ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน “นางนพมาศ” ยังคงเป็นที่ถกถียงถึงการมีตัวตนตามประวัติศาสตร์จริงหรือไม่?  แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามรถปฏิเสธได้ว่า  การรับรู้ของคนในสังคมไทยนางนพมาศ  คือ  ผู้คิดค้นประดิษฐ์กระทง  ดังนั้นเมื่อพูดถึงงานลอยกระทงแล้ว  จะไม่กล่าวถึงนางนพมาศเลยเห็นทีจะเป็นไปไม่ได้  

อย่างที่ทราบกันดีว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง..2475 รัฐบาล คณะราษฎร ได้ริเริ่มให้มีการประกวด “นางสาวสยาม” ครั้งแรกในปี พ..2477 ในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพ  ถือเป็นการจุดกระแสความนิยมการจัดประกวดนางงามประจำจังหวัดและนางงามประจำอำเภอเกิดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญตามต่างจังหวัด  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจนสามารถดึงดูดคนมาเที่ยวชมงานได้อย่างมาก  อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตามนโยบายสร้างชาติไทยสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม  เป็นนายกรัฐมนตรี  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การจัดงานเทศกาลประจำปีอื่นๆของท้องถิ่นมักจะมีการประกวดนางงามเป็นกิจกรรมสำคัญในงานอยู่เสมอ  

การประกวดนางงามในงานเทศกาลประจำปีได้เริ่มปรากฏในช่วงต้นทศวรรษ 2490 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน  รัฐบาลจึงริเริ่มนโยบายฟื้นฟูประเพณีไทยเพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีที่เก่าแก่ให้คงอยู่และการจัดงานรื่นเริงก็จะช่วยบำรุงขวัญและกำลังใจให้กับคนในชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นในการจัดงานสงกรานต์  จึงได้มีการเพิ่มกิจกรรมการประกวด “นางสงกรานต์”  ส่วนงานลอยกระทง  ก็มีการจัดประกวด “นางนพมาศ” เพื่อสร้างสีสันและดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยวชมงาน

กำเนิดงานลอยกระทงเมืองลพบุรี : ทำไมต้องย้อนยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ?

อาจกล่าวได้ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เป็น “วีรบุรุษแห่งเมืองลพบุรี” ก็ว่าได้  เพราะในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ  ผังเมือง และสิ่งปลูกสร้างแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) อันเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมในยุคคณะราษฎล้วนแล้วแต่เป็นมรดกตกทอดจากความพยายามปลุกปั้นให้เป็น “เมืองทหารที่สำคัญของประเทศ ตั้งแต่ หลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น)ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม  จวบจนกระทั่งครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  การสร้างเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองทหารนำมาซึ่งการวางผังเมือง  การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานศูนย์กลางทางการศึกษา การแพทย์ การคมนาคม และสวนสาธารณะเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจากการที่ข้าราชการทหารพาครอบครัวย้ายตามมาอาศัยอยู่ในเมืองลพบุรีด้วย  ดังนั้นจึงมีการพัฒนาในด้านอื่นๆเพื่อรองรับความเจริญของชุมชนเมือง  จนทำให้มีการขนานนามในยุคนั้นว่า ลพบุรีเปรียบเสมือนเมืองหลวงแห่งที่ 2 รองจากกรุงเทพ” เพราะมีความทันสมัยตามแบบที่กรุงเทพมี  ในขณะที่จังหวัดอื่นยังไม่มี อาทิเช่น

–  โรงพยาบาลอานันทมหิดล โรงพยาบาลแห่งแรกของกองทัพไทย  

–  โรงภาพยนตร์ทหารบก โรงภาพยนตร์แห่งที่ 2 ของประเทศต่อจากศาลาเฉลิมกรุง

–  สวนสัตว์ลพบุรี  สวนสัตว์แห่งที่ 2 ของประเทศต่อจากสวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน)

–  รถราง  ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่มีการใช้ระบบรถรางเหมือนที่กรุงเทพฯ

สำหรับงานลอยกระทงของ จังหวัดลพบุรี” แต่เดิมถูกจัดขึ้นที่บริเวณสวนสัตว์ลพบุรี  ซึ่งกิจกรรมภายในงานก็ไม่แตกต่างจากงานลอยกระทงในจังหวัดอื่นๆเท่าใดนัก  จนกระทั่งในปี พ..2539  นายประเวศ  พุ่มพวง  นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรีขณะนั้น  ได้ริเริ่มให้มีการจัดงานลอยกระทงโดยได้นำภาพความทรงจำความรุ่งเรืองในอดีตยุคของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม  มาเป็นจุดขายเพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างในการส่งเสริมการท่องเที่ยว  ภายใต้ชื่อ งานลอยกระทงย้อนยุค จอมพล ป.  พิบูลสงคราม” และได้ย้ายสถานที่มาจัดที่บริเวณวงเวียนศรีสุริโยทัย หรือ วงเวียนสระแก้ว สวนสาธารณะที่สร้างขึ้นในยุคของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม โดยมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางสระน้ำพุ ซึ่งในอดีตวงเวียนศรีสุริโยทัยยังเคยเป็น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแห่งเมืองลพบุรีอีกด้วย

วัตถุประสงค์ของการจัดงานนอกจากการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทยแล้ว  ยังเป็นการน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ที่ได้สร้างความรุ่งเรืองให้กับจังหวัดลพบุรีในหลายๆด้าน  อาทิเช่น  การทหาร การสาธารณสุข  การศึกษา  การวางผังเมือง  และการคมนาคมขนส่ง  โดยมีการจำลองบรรยากาศภาพแห่งความทรงจำที่เคยรุ่งเรืองในอดีตของเมืองลพบุรีในช่วงทศวรรษ 2480  เช่น รถราง  รถสามล้อ ฯลฯ พร้อมกันนี้ยังเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานแต่งกายย้อนยุคในสมัยจอมพล ป.  พิบูลสงคราม  ซึ่งกิจกรรมภายในงานมีทั้งขบวนแห่  การแสดงรำวงย้อนยุค  ประกวดกระทง  และประกวดนางนพมาศ

มาลานำไทย : แฟชั่นสมัยใหม่ของท่านผู้นำ

ในช่วงทศวรรษ 2480 รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม  ได้ออกการประกาศใช้รัฐนิยมซึ่งเป็นนโยบายสร้างชาติเพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ  โดยเฉพาะฉบับที่ 10  ว่าด้วยเครื่องแต่งกาย “เหตุผลที่เราต้องปรับปรุงเครื่องแต่งกายให้เรียบร้อยดั่งที่ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในเบื้องต้นย่อมเป็นอีกประการหนึ่งที่จะช่วยบำรุงจิตใจไปในตัวด้วย การออกประกาศดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของประชาชนโดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามกาลเทศะ อาทิเช่น  ผู้หญิงห้ามเปลือยอกหรือพันผ้ามัดอกเดินในที่สาธารณะ  ผู้ชายห้ามนุ่งกางเกงแพรเมื่อเข้างานสังคม ฯลฯ

ขณะเดียวรัฐบาลได้ส่งเสริมให้คนไทยสวมหมวกเมื่อออกนอกเคหะสถาน หรือที่รู้จักในนโยบาย “มาลานำไทย” อันสะท้อนได้จากคำวิงวอนของท่านนายกรัฐมนตรีแด่พี่น้องสตรีไทยเรื่องการสวมหมวก  ที่ถูกแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ความตอนหนึ่งว่า ..สวมหมวกเพื่อส่งเสริมการสร้างชาติ  ในหน้าที่สตรีไทยได้เด่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้ทำคู่มือให้คำแนะนำในการเลือกสวมหมวกแก่ประชาชนตามโอกาสต่างๆอีกด้วย

ด้วยเหตุที่ต้องการให้บรรยากาศภายในงานไปในทิศทางเดียวกัน คือ ย้อนยุคไปสมัยของ จอมพล ป.  พิบูลสงคราม  การประกวดนางนพมาศ จึงได้กำหนดให้ผู้เข้าประกวดแต่งกายตามแบบรัฐนิยมของสตรียุคนั้น กล่าวคือ  ใส่กระโปรง  สวมหมวก และดัดผมลอน ซึ่งรูปแบบการแต่งกายดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ในการแสดงพื้นบ้านของ จ.ลพบุรี ที่เรียกกันว่า “รำโทน” อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้หญิงยุคจอมพล ป.  พิบูลสงคราม ผ่านบทเพลง “ผู้นำของชาติ”  ดังนี้

“เชื่อผู้นำของชาติ  ประกาศทั้งชายและหญิง  สตรีเอาไว้ผมยาว (ซ้ำ)  ใส่หมวกรองเท้าให้ทันสมัย  นุ่งถุงกระตุ้งกระติ้ง (ซ้ำ)  มันน่ารักจริงยอดหญิงชาวไทย (ซ้ำ)”

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

การจัดงานลอยกระทงย้อนยุคจอมพล ป.  พิบูลสงครามของ จ.ลพบุรี เป็นที่จับตามองและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆของประเทศ  ถึงขนาดที่ว่าช่วงทศวรรษ 2540 การประกวดนางนพมาศของ จ.ลพบุรี  ได้ถูกถ่ายทอดสดการประกวดในค่ำคืนวันลอยกระทงผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องดังอีกด้วย แต่ทว่าในปีนี้ (พ..2563)  เป็นครั้งแรกที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบครั้งใหญ่ในรอบ 20 กว่าปี  และไม่ได้มีการใช้ชื่อของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม เป็นชื่องานอีกต่อไป  แม้แต่ “มาลานำไทย” แนวคิดที่เคยถูกใช้เป็นชุดผู้เข้าประกวดนางนพมาศก็ถูกยกเลิกให้ไปสวมใส่ชุดไทยโบราณแทน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  สถานที่ในการจัดงานดังกล่าว ก็ยังคงเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์อันเต็มไปด้วยความทรงจำในยุครุ่งเรืองของคณะราษฎร  วงเวียนศรีสุริโยทัย อดีตอันเคยเป็นที่ตั้งของ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”  มรดกทางสถาปัตยกรรมชิ้นใหญ่ที่จอมพล ป.  พิบูลสงคราม ได้มอบไว้ให้แก่คน “ลพบุรี” เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะให้ได้ใช้ประโยชน์กันเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน

—————

อ้างอิง

(3) สร.0201.55/42 เรื่อง เบ็ดเตล็ดเรื่องวัฒนธรรม

ชาตรี  ประกิตนนทการ.  ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร.  กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.

อัฐฐานิตย์  คะเชนทร์.  การออกแบบผังเมืองสมัยจอมพล ป.  พิบูลสงคราม (พ..2475-2487): ลพบุรี, สระบุรี และเพชรบูรณ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาวิชาศิลปสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2558.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2563