“เพศ…วิถี” ที่ศิลปะงานช่าง

 ๑ “น้องจับพี่คลึงของตัวพระตัวนาง” ที่มีอิทธิพลช่างหลวงกรุงเทพฯ ในสิม วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ๒ “พี่ไม่ต้องน้องทำเอง” แบบสังคมมาตาธิปไตย (ผู้หญิงเป็นใหญ่) วัด หนองโนเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ๓ บักแบ้น พระเอกในงานแห่บั้งไฟ บ้านโนนใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี

เรื่องเพศ เป็นของชอบแต่มักแสดงออกด้วยอาการชิงชังจนกระทั่ง ตั้งแง่รังเกียจในบางบริบทบางสถาน การณ์ โดยเรื่องเพศถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ ทั้งหมดก็เพื่อดำรงไว้แห่งเผ่าพันธุ์ของตน แตกต่างกันไปตามรูปแบบแห่งรสนิยมโดยมีจารีตแห่งบทบัญญัติทางศีลธรรมและวัฒนธรรม ช่วยกำกับดูแล ดังนั้น เรื่องเพศ ไม่ว่าจะพูดหรือแสดงออกอย่างหนึ่งอย่างใดล้วนล่อแหลม สุ่มเสี่ยงที่ต้องลุ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณ์

โดยที่ผ่านมาสังคมไทยมักให้ความสำคัญกับเรื่องเพศอยู่ในกรอบแนวคิดเฉพาะเรื่องเพศศึกษา หรือเรื่องสุขภาวะทางเพศ โดยมองเรื่องเพศในมิติทางชีวภาพที่มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพ โดยหลงลืมละเลยเรื่องเพศในมิติทางสังคมวัฒนธรรม ที่ปรากฏซ่อนเร้นอยู่ทุกเรื่องราวโดยเฉพาะในศิลปะงาน ช่างของใช้ ก็เป็นนฤมิตกรรมเครื่องแสดงออกในการระบายถ่ายเททางความคิดอ่านดังปรากฏเป็นงานศิลปะแขนงต่างๆ ด้วยรูปแบบและรสนิยมที่ต่างกัน

อย่างที่คุ้นเคยมากที่สุด น่าจะเป็นการเปิดเผยแสดงให้เห็นอวัยวะเพศ การร่วมเพศ หรือที่เรียกด้วย ภาษาทางศิลปะว่า ศิลปะเชิงสังวาส หรือกามิศศิลป์ อย่างเช่นรูปรอยแกะสลักตุ๊กตาไม้ในกลุ่มชาติพันธุ์จราย (Jarai : Giarai) ที่อาศัยอยู่บริเวณ พื้นที่สูงตอนกลางของเวียดนาม มีสุสานแห่งจิตวิญญาณที่น่าสนใจคือ รูปสลักนิยมจำหลักเป็นรูปคนนั่งมี ลักษณะของความโศกเศร้าเสียใจ หรืออีกนัยยะหนึ่งนักวิชาการเวียดนามตีความว่าเป็นลักษณะท่านั่งของทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการเกิดใหม่ในภพหน้า อีกทั้งยังมีรูปเสพสังวาส และรูปผู้หญิงตั้งครรภ์ อันเป็นวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด หรือรูปสลักอื่น เช่น รูปสลักนํ้าเต้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพ และยังถูกเชื่อมโยงสัมพันธ์กับตำนานน้ำเต้าอยูใ่นหลายวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงมดลูกของแม่ผู้ให้กำเนิด ตามรูปลักษณะ ทั้งมีธรรมชาติที่ขึ้น ง่ายมีเมล็ดพันธุ์มากมาย แพร่ขยายได้ทั่วไป และรวดเร็ว มนุษย์ในผลนํ้าเต้าจึงอุปมาเหมือนเมล็ดนํ้าเต้า สัตว์ (ควาย) และพืช (นํ้าเต้า) จึงเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและการแพร่พันธุ์ และเมื่อคนไหลออกมาจากนํ้าเต้าเมื่อมีผู้เอาเหล็กมาแทงจึงอาจมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของอาการสมสู่ได้ (ปรานี วงษ์เทศ. สังคมและ วัฒนธรรมในอุษาคเนย์. สำนักพิมพ์ มติชน, ๒๕๔๓.)

โดยเฉพาะสัญลักษณ์เครื่องเพศ มีการใช้รูปกบแทนความอุดมสมบูรณ์หรือเป็นสัญลักษณ์ของนํ้าหรือฝนโดยมีหลักฐานอ้างอิงทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีอยูที่หน้ากลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองซอน ที่จะมีรูปกบอยู่ที่หน้ากลอง บ้างก็กำลังสังวาสกันโดยมีทั้งแบบ ๒ ตัว ถึง ๔ ตัว ซ้อนทับกัน โดยกบยังถูกใช้เป็นชื่อเรียกแทนอวัยวะเพศหญิงในบางวัฒนธรรม ทั้งนี้ในวัฒนธรรมการทอ ผ้าก็มีคำอธิบายในลักษณะเดียวกัน ที่ว่าลวดลายพญานาคที่ปรากฏอยู่บน ผืนผ้าคือรูปสัญลักษณ์ของอวัยวะ เพศชาย ที่เป็นผู้บันดาลสายฝนเชื่อม โยงกับความอุดมสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

๔ ตุ๊กตาไม้เชิงสังวาส ในพิธีแห่งานบุญบั้งไฟของไทยอีสาน ๕ เทียนนานาชาติในยุคแรกๆ เมืองอุบล แบบแนวคิดเพศวิถีมีเพศแม่เป็นใหญ่แบบสังคมมาตาธิปไตย

เมื่อร่วมอยู่ในพิธีกรรมมักถูก อธิบายว่า ความอุดมสมบูรณ์กับการร่วมเพศนั้น ดูเหมือนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์ กันในความคิดของคนหลายวัฒนธรรม จนเกือบเรียกว่าเป็นสากลในยุโรปมีการขุดพบตุ๊กตาเพศหญิงของสมัยหิน มักทำเป็นคนท้องมีอวัยวะเพศขนาดใหญ่ผิดส่วน เชื่อกันว่าตุ๊กตาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ศิวลึงค์ที่ตั้งบนฐานโยนีนั้นที่จริงเป็นการสร้างสัญลักษณ์ของความงอกงามอยู่ด้วย พิธีกรรมและคติความเชื่อของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็สัมพันธ์ความงอกงาม อุดมสมบูรณ์กับเรื่องเพศมาแต่โบราณ ดังที่พบได้ในรัฐโบราณนับจากจามปา ไปจนถึงศรีเกษตร และจากทวารวดี ไปจนถึงมะตะรัมของชวา (นิธิ เอียว ศรีวงศ์. ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน. สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๘, น. ๑๙.)

๖ เต่ากำลังขูดมะพร้าวบนตัวกระต่าย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ๗ กระบวยตักนํ้าหรือกระบวนท่าเชิงสังวาส สมบัติอันหวงแหน อาจารย์นิวัติ กองเพียร ๘ ไม้เท้าแห่งเพศสรีระ สมบัติส่วนตัว ศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ

ในบริบทอีสานพบประเพณีการแห่บั้งไฟรวมถึงประเพณีการแห่นางแมว โดยในขบวนแห่คนที่มาร่วมจะทำของใช้งานช่างที่เรียกว่าบักแบ้น เป็นไม้แกะรูปอวัยวะเพศชาย หรือบ้างก็ทำไม้แกะเป็นรูปชายหญิงกำลังร่วมเพศ, หรือการทำรูปเพศผู้หญิงร่วมขบวนแห่และการ “ปั้นเมฆ” ดินปั้นรูปชายหญิงกอดก่าย กัน วางไว้ตามทุ่งนาเพื่อยั่วยุผีเทวดาให้ส่งฝนเทลงมา (แม้ใน “พระราชพิธี พิรุณศาสตร์” พระราชพิธีเดือนเก้า เพื่อขอฝนฤดูทำนา ก็มีว่าต้องทำตุ๊กตาเช่นนี้ไว้ด้วย) ทั้งหมดเป็นการสืบทอดคติ ความเชื่อของผู้คนเมื่อราว ๓,๐๐๐ ปี ก่อน ด้วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาพืชพรรณ ธัญญาหารยุคโบราณ เป็นการอ้อนวอนอำนาจเหนือธรรมชาติเพื่อดลบันดาลฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีสังคมชาวนาที่พบเห็นอยู่ในหลายวัฒนธรรม โดยมีการแสดงออกเรื่องเพศ รวมถึงความหยาบคายจากบทร้องหรือคำเซิ้ง ทั้งหมดล้วนเป็นสัญลักษณ์สำคัญในพิธีกรรมดังกล่าว

ในงานจิตรกรรมที่ฝาผนังไม่ว่า วัฒนธรรมหลวงหรือวัฒนธรรมชาวบ้าน ก็มักปรากฏภาพเขียนในลักษณะที่เรียกว่ารูปเชิงสังวาส แอบซ่อนอยู่ในภาพ ทั้งที่เป็นกากภาพหรือภาพปกติในองค์ประกอบหลัก โดยภาพเหล่านั้นได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงหรือไพร่สามัญชนล้วนมีรสนิยมเรื่องเพศอย่างธรรมดาวิสัย โดยภาพเรื่องเพศในบริบทต่างๆ ล้วนแสดงออกในเชิงสนุกสนานชวนขบขันมากกว่ามุ่งเน้นในเรื่องกามารมณ์ โดยเฉพาะในฮูปแต้มพื้นบ้านอีสานมักนำเสนอเพื่อเป็นการสอนทางศีล ธรรมเรื่องบาปบุญคุณโทษ หรือดูแล้วเกิดความรู้สึกปลง สลดสังเวช ดังที่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า

“…ฮูปแต้มอีสาน (ในอดีต) สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะโครงสร้างสังคมแบบเสมอภาคโดยเฉพาะเรื่องราววิถีที่เกี่ยวกับชาวบ้าน สะท้อนให้เห็นค่านิยมบางอย่างของความเป็นกันเองมากแตกต่างจากสังคมที่มีกฎเกณฑ์หรือถูกครอบงำอย่างภาคกลาง…จิตรกรรมฝาผนังอีสานคนที่เขียนไม่ใช่ช่างแต่เป็นพวกที่เรียกว่า local scholar หรือผู้รู้นักปราชญ์ เขาแสดงออกถึงความรู้เพื่อการสอนอันเป็นประโยชน์กับสังคม ดังนั้นเราจึงหาความงามในแง่สุนทรียะจากงานจิตรกรรมอีสานนั้นไม่ได้ เพราะสังคมนี้เขาไม่ได้เน้นในเรื่องการแสวงหาสุนทรียะจากงานจิตรกรรมฝาผนัง…” (ศรีศักร วัลลิโภดม. สิ่งแฝงเร้นใน จิตรกรรมฝาผนังอีสาน. ๒๕๒๖, น. ๘๑-๘๔.)

เพศสรีระในเชิงช่าง การกำหนดบทบาทสถานภาพฐานะทางสังคมของชายหญิงหรือเพศที่สามล้วนมีเบ้าหลอมตัวแปรสำคัญคือสังคมวัฒนธรรม เช่น การสร้างมายาคติที่ใช้เป็นกรอบแนวคิดเรื่องเพศสรีระ อย่าง ที่เรียกว่าลักษณะทางชีวภาพที่ตายตัวมากำหนดบทบาท แบ่งแยกประเภทว่าใครควรเป็นฝ่ายกระทำ (ผู้นำ) หรือสมควรเป็นผู้ถูกกระทำ เช่น ผู้ชาย มีข้อได้เปรียบในด้านสรีระร่างกายที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมาให้มีข้อได้เปรียบกว่าสตรีเพศ ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปตามตรรกะพื้นฐานที่มนุษย์รู้สึกและสัมผัสได้ อย่างในองค์ประกอบส่วนประดับตกแต่งงานช่างศาสนาคาร มีการตีความจากรูปลักษณะของท่อนแขนนางแห่งสตรีเพศ มาใช้เรียกไม้คํ้ายันที่ใช้รับนํ้าหนักหลังคาบริเวณชายคาหรือที่รู้จักกันในหมู่ช่างที่เรียกว่าคันทวย โดยในกลุ่มวัฒนธรรมลาวในอีสานและ สปป. ลาว นิยมเรียกองค์ประกอบส่วนนี้ว่า แขนนาง

๙ แขนนาง ความงามแห่งเพศสรีระของสิมวัดคีลี เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ๑๐ เก้าอี้นมสาว งานออกแบบแห่งความงามของแนวคิดเพศสรีระของ ทินกร รุจิณรงค์ ๑๑ พวงกุญแจเย้ยฟ้าท้าดิน สินค้าเอกลักษณ์ไทยในตลาดโลก

ในวิถีสังคมใหม่เรื่องเพศได้ถูก นำมาเชื่อมโยงรับใช้ผู้คนในวิถีร่วมสมัย อย่างโคมไฟหรือรูปพวงกุญแจที่ ออกแบบเป็นรูปเด็กยืนโชว์อวัยวะเพศ (ชาย) ซึ่งสะท้อนอารมณ์สนุกสนาน และความน่ารักของเพศสรีระเด็กมากกว่าเรื่องกามารมณ์ผ่านผลิตภัณฑ์ของใช้ในวิถีสังคมเมือง หรือในวิถีสังคมเก่า อย่างกระต่ายขูดมะพร้าว ก็มักถูกนำมาออกแบบสร้างสรรค์ในแนวตลกขำขัน อย่างในวิถีไทยๆ เช่น รูปกระต่ายกำลังสังวาสกับเต่า

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องเพศไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในบริบทของวิทยาศาสตร์สุขภาพหรือกามารมณ์เพื่อการสืบพันธุ์เท่านั้น หากแต่สัมพันธ์กับเรื่องวิถีชีวิตกับสรรพสิ่ง คือสังคมวัฒนธรรมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 15 มกราคม พ.ศ.2560