ผู้หญิงนอกใจ ผู้ชายมีชู้ ในบทเพลง จริงหรือที่เนื้อหานอกใจยุคแรก คนนอกใจมักเป็นผู้หญิง?

​ภาพประกอบเนื้อหา - การแสดงของชาย เมืองสิงห์ ไม่ปรากฏปี สแกน​จาก​ฐาน​ข้อมูล​ห้องสมุด​ภาพมติชน สงวนลิขสิทธิ์ภาพ

นอกใจ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายว่า “ไม่ซื่อตรงต่อสามีหรือภรรยาด้วยการคบชู้สู่สาว” อันเป็นที่มาให้เกิดคำศัพท์อื่นๆ ตามมา เช่น ชู้, เมียน้อย, กิ๊ก ฯลฯ ขึ้นในสถาบันครอบครัว ความสัมพันธ์ฉันชู้สาวดังกล่าวมีทั้งที่แสดงออกอย่างเปิดเผย และไม่เปิดเผย การนอกใจหลายรูปแบบมีการนำมาสร้างเป็นบทเพลงสะท้อนความคิด, พฤติกรรมนอกกรอบของสังคมในช่วงนั้นๆ

บทเพลงว่าด้วยเรื่อง นอกใจ ในอดีต ส่วนใหญ่คนนอกใจมักเป็นผู้หญิง เช่น เพลงรุ่นเก่าอย่าง เพลงน้ำตาจ่าโท ของสุรพล สมบัติเจริญ ที่มีเนื้อร้องว่า

“สิ้นสุดกันทีไม่ว่าชาตินี้ชาติไหน เท่านี้ก็สาแก่ใจซาบซึ้งทรวงในอกเรา โบราณท่านว่า บรรดาช้างสาร งูเห่า อีกทั้งข้าเก่า เมียรัก ท่านเปรียบไว้นักอย่าได้วางใจ เช่นดั่งตัวผมต้องตรมดวงใจสุดถอน เมียรักที่เคยกอดนอนต้องมาหนีจรจากไป ลืมผัวทิ้งลูกปลูกฝังคิดคบชู้ใหม่ เมียเอ๋ยช่างเลวเหลือร้าย ผีป่าหรือไรสิงใจแม่นาง…

สิ้นชาติขาดกันตั้งแต่วันนี้เถดหนา นางหญิงใจทรามชั่วช้า เยี่ยงนางโมราฆ่าผัว ไม่เคยนึกอิ่ม ชอบชิมรสกามเมามัว จนลืมรักลูกรักผัวน้ำใจแสนชั่ว ผัวเดียวไม่พอ”

หรือเพลงในรุ่นถัดมาอย่าง เพลงเมียพี่มีชู้ ของชาย เมืองสิงห์ ที่ว่า

“เมียพี่มีชู้ ชาวบ้านรู้หรือเปล่า ไม่เคยรู้ข่าวแพร่งพราย ผู้หญิงผู้หยังนี่ชั่งกระไร ชอบเปลี่ยนสไตล์ไวไฟสิ้นดี เมียพี่มีชู้ คนรู้กันแซดอยู่กันตั้งแปดเก้าปี ลูกสองคนหน้ามนยังหนี แม่ยอดยาหยีแม่ผู้ดีตีนแดง ศีลธรรมศักดิ์ศรีทำแชเชือน ชอบเลียนแบบเหมือนดาราฝรั่ง หูฟังไม่รู้หรือตาถั่ว ไม่ยอมรักตัวหัวใจช่างแข็ง ผัวเดียวไม่รักไม่เป็นไร ผัวดีไฉนไม่เป็นแหล่งไหน ทำปากแข็งแต่ใจอ่อนเปลี่ยนแปลงที่นอนเดือนละกี่หน…”

ไม่ว่าจะเป็นเพลงน้ำตาจ่าโท หรือ เพลงเมียพี่มีชู้ก็ตาม เนื้อหาของเพลงจะเริ่มด้วยผู้ชายที่น่าสงสารถูกเมียทิ้ง ถูกเมียหลอกลวง ตำหนิผู้หญิงเป็นพวกหลายใจ ผิดศีลธรรม และจบลงด้วยการประณาม

นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เพลงเกี่ยวกับการนอกใจในยุคแรก คนนอกใจมักเป็นผู้หญิง ทั้งที่โอกาสที่ผู้หญิงจะทำอย่างนั้นได้จริงมีน้อย เพราะในยุคนั้นเธอต้องพึ่งพาการเลี้ยงดูจากผู้ชาย อาจเป็นไปได้ว่า ผู้ชายมีเมียน้อย มีชู้ มีกิ๊ก ฯลฯ เป็นเรื่องปกติที่มีอยู่ในสังคมทั่วไป การนอกใจของผู้ชายเป็นเรื่องที่ขายไม่ได้ในโลกบันเทิง แต่ผู้หญิงนอกใจ มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา ที่สำคัญมันขายได้

ในระยะต่อมาเริ่มมีเรื่องของผู้ชายเป็นคนนอกใจบ้างในบทเพลง แต่ผู้แต่งก็หาเหตุผลให้ว่า เป็นเพราะผู้หญิงประพฤติตัวไม่เหมาะสม เช่น เพลงเด็กมันยั่ว ของ ยอดรัก สลักใจ ที่ว่า

“เด็กมันยั่ว เลยหลวมตัวไปหน่อย ผีซ้ำด้ำพลอย ถึงคราวมันต้องเปลืองตัว ผู้หมวดครับถึงจะจับผมก็ไม่กลัว ที่ผมทำชั่วเพราะเด็กมันยั่วจริงจริง เด็กมันยั่วเลยหลวมตัวไปหน่อย เช้าขึ้นเด็กคอยมาทำเป็นยุ่งหนุงหนิง แล้วแม่คุณก็น่าเอ็นดูจริงจริงถ้าทำนิ่งโลกจะติงชายชาญ…”

หรือ เพลงชู้ ของ หลง ลงลาย ผู้ชายที่เป็นคนนอกใจก็คร่ำครวญให้ผู้คนและสังคมเห็นใจ เข้าใจ ในการกระทำของตน ดังเนื้อเพลงที่ว่า

“ทั้งทั้งที่รู้เธอมีเจ้าของ แต่หัวใจมันเรียกร้อง ฉันจึงจำต้องยอมทน เหมือนเวรกรรมเก่า ติดตามไม่อาจหลุดพ้น ไม่คิดไม่แคร์ผู้คนที่เขานินทาว่าร้าย ถึงรักครั้งนี้จะถูกประนาม จากคนทั้งโลกก็ตาม แต่คงจะห้ามไม่ไหว ถึงแม้จะรู้เป็นได้แค่ชู้ทางใจ ก็ช่างหัวมันปะไรในเมื่อหัวใจต้องการ…”

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บทบาทของผู้หญิงในสังคมก็เปลี่ยนไปจากเดิม ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน, มีรายได้เป็นของตัวเอง และเป็นผู้ซื้อที่มีกำลังในตลาด ฯลฯ เพลงที่กล่าวถึงการนอกใจของผู้หญิงก็เปลี่ยนไป อย่างชัดเจน เช่น เพลงฉันรักผัวเขา ของ สินจัย หงษ์ไทย ที่ว่า

“เอื้ออาทรฉันที คนจะมีรักใยกางกั้น จะทำฉันใดเมื่อใจรักกันสองเรา หากเธอเป็นของใคร ดังถูกไฟเผาใจเป็นเถ้า

แอบรักผัวชาวบ้านเขาเมามัว ทุกคนคงจะตราหน้าเรา ชอบผัวเขาเอาตัวเองพันพัว ตกนรกโลกันต์ไม่กลัวรักจริงใจ

ผัวใครควรทำป้ายแขวน บอกให้รู้เป็นแฟนใครแฟนใคร จะได้พ้นมลทินไม่เปลืองหัวใจ…”

ที่สำคัญ ฉันรักผัวเขา เป็นเพลงที่นิยมไปทั่วบ้านทั่วเมืองเสียด้วย ซึ่งเป็นการท้าทายวัฒนธรรมรักนวลสงวนตัวอยู่ไม่ใช่น้อย และการนอกใจไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ในวันที่สังคมมีเพศทางเลือก (LGBT) การนอกใจจึงไม่ได้จำกัดแค่ผู้ชายผู้หญิงอีกต่อไป

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ดราม่าแบ่งกลุ่ม “นักร้องเพลงผู้ดี” ในอดีต เหยียดเพลงตลาด คนด่าเพลงลูกทุ่ง “บ้าๆ บอๆ”


ข้อมูลจาก

ผศ. ปรมาภรณ์ ลิมป์เลิศเสถียร. “เพลงนอกใจ : ทางออกของคนในสังคมไทย” ใน, วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ปีที่ 34 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มีนาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2563