ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
---|---|
เผยแพร่ |
พ่อเพลงที่ผมเห็นว่ามีปฏิภาณ และมีความสามารถสูงยิ่ง สมควรที่สถาบันด้านศิลปวัฒนธรรมจะรีบเชิญไปบันทึกเสียง บันทึกการแสดงเอาไว้ให้มากๆ คือ
สุจินต์ ศรีประจันต์ หรือสุจินต์ ชาวบางงาม ซึ่งหัดเพลงและร้องเพลงเคียงคู่กันมากับขวัญจิตร ศรีประจันต์ ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว
สุจินต์ ศรีประจันต์ เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2492 ปีนี้ 2563 อายุ 71 เรี่ยวแรงยังดี สมองยังฉับไว
จะทำอะไรก็รีบทำนะครับ คนมีฝีมือแบบนี้นานๆ จะพบสักคน
เย็นวันหนึ่ง… คือเมื่อวันศุกร์ 19 มีนาคม 2536 หรือเมื่อ 27 ปีมาแล้ว
แม่บัวผัน พาลูกศิษย์ลูกหากลุ่มหนึ่งมาเล่นเพลงที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธ.กรุงเทพ ผ่านฟ้า แล้วบอกกับผมว่า หนนี้ พา “ไอ้จินต์” ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ มาด้วย มันไม่เคยมาที่นี่เลย
ส่วนขวัญจิตลูกศิษย์ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศนั้นไม่ต้องพูดถึง… มาหลายหนแล้ว และมาตั้งแต่เริ่มรายการครั้งที่ 1 ของศูนย์สังคีตศิลป์กันเลยทีเดียวละ วันศุกร์ 13 เมษายน 2522โน่น…
สุจินต์ไม่ค่อยชอบเข้ากรุง และชอบชีวิตอิสระ จึงคอยร้องหรือรับงานแต่แถวสุพรรณเป็นหลัก ถ้าไม่เพลงอีแซวก็ทำขวัญนาค ได้เงินเป็นกอบเป็นกำพอสมควร
ผมเห็นหน่วยก้าน “สุจินต์” หรือพี่จินต์แล้วก็รอดูฝีมือ พอพี่จินต์ร้อง ผมก็นึกในใจ “นี่ละโว้ย ตัวจริงเสียงจริง ของจริง” ทำไมไม่ยอมประกาศศักดาให้คนลือ
วันนั้นพ่อไสวไม่ได้มาด้วย เพราะเพิ่งตายไป 3 เดือนเศษ ส่วนขวัญจิตร ติดงานอื่น
พอออกหน้าเวที พี่จินต์ก็แสดงฝีมือเต็มที่ไม่มีออม พี่จินต์ได้เปรียบกว่าคนอื่นตรงที่เป็นคนรูปหล่อ
พูดหรือร้องเพลงเสียงดังชัดถ้อยชัดคำ แถมยังทะลึ่งตึงตังสมบทบาท เวลารำ ก็วาดวงออกท่าออกทางได้สนุกพิลึก จะร้องเพลงตามแบบที่จดจำกันมา หรือด้นเพลงก็ด้นได้สบายมาก
จะเอาเรื่องเกี้ยวพาราสี ชีวิตชาวนาชาวไร่ หรือเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังเป็นข่าวอยู่ก็ได้
ถ้าได้ประเพลงกับใครที่ทันๆ กันแล้ว รับรองฮาไม่หยุดฉุดไม่อยู่
แต่พี่สุจินต์มัวไปร้องเพลงแถวบ้านเสียมาก จึงยากที่จะตามไปอัดเสียงให้เป็นเรื่องเป็นราวได้
ในสมัยที่ผมอยู่ศูนย์สังคีตศิลป์ ผมพยายามเชิญพ่อเพลงแม่เพลงแต่ละจังหวัดมาเล่นเพลงบนเวที เพื่อเก็บฝีมือเอาไว้
แต่รายการเดือนหนึ่งมีแค่ 4 ครั้ง แถมยังต้องซอยแบ่งไปให้การแสดงแบบอื่นด้วย เพลงจะได้เล่นกันสักกี่หนเชียว มากสุดก็น่าจะแค่ปีละ 3-4 หนเท่านั้น… โธ่…
ผมทำโครงการสัมมนาพ่อเพลงแม่เพลงแบบเป็นกรณีพิเศษ ไม่ต้องรอให้ถึงวันศุกร์
แต่ก็ไม่เคยเชิญพี่สุจินต์มาร้องเป็นการเฉพาะเพราะไม่ได้จังหวะ จนผมลาออกแบบก่อนเกษียณ สรุปแล้วสุจินต์มาขึ้นเวทีศูนย์สังคีตเพียงไม่กี่ครั้ง
แต่ขึ้นทุกครั้งก็ประทับใจทุกครั้งโดยเฉพาะการออกท่าครูเพลงรุ่นพ่อ เช่นครูโปรย เสร็จกิจ-ครูเฉลียว ช้างเผือก-ลุงกร่าย จันทร์แดง –พ่อบัวเผื่อน-พ่อไสว
หลังจากศูนย์สังคีตศิลป์หลุดออกจากสาขาผ่านฟ้าไปอยู่ที่อื่นแล้ว เวทีการแสดงแนวไทยๆ ก็ย้ายมาที่ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร ตลิ่งชัน โดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คอยช่วยดำเนินการ
หอการค้ายกเด็กไปฝึกเพลงกันที่บ้านขวัญจิตร สุจินต์ก็ไปเป็นครูช่วยฝึก วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ งานหลักของสุจินต์ก็ยังเป็นหมอทำขวัญเหมือนเดิม
สุจินต์รู้วิชาทำขวัญก็เพราะพ่อคือนายสังเวียนเป็นหมอทำขวัญ
นายสังเวียนเป็นคนดอนปรู อ. ศรีประจันต์ ส่วนแม่ของสุจินต์ชื่อนางยอม เป็นคนบางงาม ศรีประจันต์ อาชีพทำนา
อายุ 13-14 แม่บัวผันกับพ่อไสว ย้ายจากบ้านมะกรูดมาปักหลักสอนเด็กเล่นเพลงอีแซวที่หน้าวัดพังม่วง อ.ศรีประจันต์ สุจินต์ ไปเรียนด้วย
ขวัญจิตรก็อยากเรียน แต่พ่อไสวไม่ยอมให้เรียน แกบอกว่า เดี๋ยวมันก็โตเป็นสาว มีเหย้ามีเรือน ให้น้องสาวสองคนของมันคือ อีนงค์(ขวัญใจ) กับอีนะ เรียนดีกว่า
เกลียวหรือขวัญจิตรก็ได้แต่คอยไปเงี่ยหูฟังที่เขาร้องๆ กันอยู่ใต้ถุนเรือน
ตอนหลังแม่บัวผันช่วยกล่อมพ่อไสวให้รับขวัญจิตรไปหัดเพลงด้วย จึงได้เข้าร่วมวง ปรากฏว่าขวัญจิตรฉลาดกว่าใคร เก่งกว่าใคร ในขณะฝ่ายชาย สุจินต์ก็โดดเด่น
พ่อไสวพูดจากับผมสุภาพ แต่พี่จินต์บอกว่าความจริงแล้วแกเป็นคนดุ
เวลาเห็นสุจินต์ไปคุยกับผู้หญิงตามประสาหนุ่มก่อนเล่นเพลง(4 ทุ่ม) แกจะด่าเอาแรงๆ เรียกว่าหยาบคายฟังไม่ได้ อายกันไปทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชาย
สุจินต์จึงชอบหนีไปคลุกคลีกับนายโปรย ซึ่งเป็นตำรวจร่างใหญ่ มีบุคลิกโดดเด่น
นายโปรยหรือครูโปรยนี่แหละที่เป็นคนพาสุจินต์ ขวัญจิตรเข้าไปรู้จักกรุงเทพฯ
ครูโปรยรักและเอ็นดูสุจินต์ ศรีประจันต์มาก จึงเขียนเพลงให้สุจินต์ และเล่าเรื่องต่างๆ ให้สุจินต์ฟัง แม้แต่เรื่องบางเรื่องที่ฟังแล้วอึ้ง เปิดเผยไม่ได้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 24 สิงหาคม 2563