การค้นพบ Ciudad Perdida เมืองที่สาบสูญ ชนเผ่าโบราณในโคลอมเบียอาศัยก่อนสเปนยึด

ฮวน มานูเอล ซานโตส ประธานาธิบดีโคลอมเบีย (ขวา) ตามมาด้วยเจ้าชายอัลแบร์ตที่ 2 แห่งโมนาโก ระหว่างเดินทางไป Ciudad Perdida ในโคลอมเบีย เมื่อ 19 มีนาคม 2018 ภาพจาก AFP PHOTO / COLOMBIAN PRESIDENCY / CESAR CARRION

ในรายชื่อแหล่งโบราณคดีสำคัญของโลกมีพื้นที่ห่างไกลผู้คนมากมาย พื้นที่ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเดินทางสายลุยคือ “ธิวแดด เปอร์ดีดา” (Ciudad Perdida) ในภาษาสเปน วลีนี้มีความหมายว่า “เมืองที่สาบสูญ” สถานที่แห่งนี้ถูกอธิบายว่าเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองที่ดำรงชีพในภูมิภาคมายาวนานก่อนหน้าที่สเปนจะเข้ามาในโคลอมเบียในช่วงต้นทศวรรษที่ 1500s

นักเขียนบางท่านอธิบายว่า สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งวัฒนธรรมโบราณ Tairona หรือ Tayrona อันเป็นชื่อเรียกวัฒนธรรมกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยในพื้นที่ (ซึ่งปัจจุบันเป็นของโคลอมเบีย) ก่อนหน้าการเข้าครอบครองของสเปนในศตวรรษที่ 16 สถานที่แห่งนี้สาบสูญไปจากสายตานานถึง 400 ปี ก่อนที่จะถูกค้นพบโดยบังเอิญในยุค 70s

Ciudad Perdidaภาพมุมสูงของแหล่งโบราณคดี จาก Flickr/Rory MacLeod (https://www.flickr.com/photos/macrj/3911007966/in/photostream/) CC BY 2.0

มีเสียงเล่าลือว่า กลุ่มผู้ที่ค้นพบเมืองที่สาบสูญแห่งนี้เป็นพวกลักลอบขุดหาฉกสมบัติในท้องถิ่น พวกเขาค้นพบกลุ่มก้อนหินบนพื้นและตามรอยแผ่นหินบนภูเขาไปเรื่อยๆ จนพบเมืองโบราณที่ถูกทิ้งร้างท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เวลาผ่านไปอีกหลายปีกว่าที่นักโบราณคดีและเจ้าหน้าที่ทางการจะทราบร่องรอยของเมืองที่สาบสูญแห่งนี้ โดยพวกเขาเริ่มจับสัญญาณได้เมื่อมีวัตถุโบราณ อาทิ เหยือกเซรามิก รูปแกะสลักสีทอง หลุดมาในตลาดมืด และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1976 เจ้าหน้าที่จากสถาบันทางโบราณคดีของทางการจึงเข้าถึงพื้นที่ และเริ่มบูรณะในช่วง 1976-1982 บางกระแสก็บอกว่า เป็นลูกค้าของพวกนักลักลอบขโมยสมบัติแจ้งกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในโบโกต้า (Santiago Giraldo, 2014)

เรื่องเล่าจากไกด์ท้องถิ่นที่บอกเล่าให้ ลุยซา เอร์เรร่า (Luisa Herrera) นักโบราณคดีจากสถาบันโบราณคดีแห่งโคลอมเบีย (Instituto Colombiano de Antropología-ICAN) ระหว่างการเดินทางสำรวจพื้นที่ในยุคแรกๆ มีว่า ฮูลิโอ เซซาร์ (Julio César Sepúlveda) ลูกชายของฟลอเรนติโน เซปุลเวดา (Florentino Sepúlveda) นักขุดสมบัติที่อาศัยในแถบริมแม่น้ำ Guachaca เป็นผู้ค้นพบเมืองระหว่างทริปล่าสัตว์ในช่วงปี 1975 โดยเขาสังเกตร่องรอยก้อนหินบนพื้นหลังจากพบนกที่เขายิงได้ร่วงลงมา (Santiago Giraldo, 2014)

ในยุค 70s พื้นที่แถบนั้นเต็มไปด้วยนักขุดสมบัติที่หวังมาหาทองของชนเผ่า Tairona เชื่อกันว่า นักขุดทองที่ถูกว่าจ้างมีนับพันราย พวกเขาได้รับเงินสนับสนุนจากลูกค้าจำนวนมากสำหรับทริปขุดสมบัติ เมื่อครอบครัว Sepúlveda มาถึงก็เริ่มจัดการขนสมบัติจากเมืองที่สาบสูญไปอย่างเงียบๆ (Santiago Giraldo, 2014)

ไม่นานนัก เหล่านักขุดฉกสมบัติก็เริ่มได้ยินข่าวการค้นพบและตามรอยมาถึงแม่น้ำ Buritaca วิธีตัดสินว่าใครจะมี “สิทธิ์” เหนือพื้นที่ในยุคนั้นยังตัดสินกันด้วยการดวลปืน ฮูลิโอ เซซาร์ เสียชีวิตระหว่างการยิงปะทะ หลังจากนั้นข่าวก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วว่า มีการค้นพบสมบัติและนักขุดค้นก็ยิงกันเพื่อแย่งชิงสมบัติจนล้มตายกันเอง หลังจากนั้น ฆอร์เก บารอน (Jorge Barón) ลูกค้าที่เป็นผู้สนับสนุนทุนทริปขุดค้นนำเรื่องไปแจ้งกับผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ในโบโกตา และเสนอจัดทริปร่วมที่ทั้งสองฝ่ายจะแบ่งผลประโยชน์ของสิ่งที่ค้นพบร่วมกัน นำมาสู่ทริปร่วมกันระหว่างนักวิชาการและนักเดินทางไปสู่สถานที่ลึกลับที่เหล่านักขุดสมบัติเรียกกันว่า “el infierno” หรือ นรก สืบเนื่องมาจากลักษณะพื้นที่อันห่างไกลและโดดเดี่ยวแยกจากพื้นที่อื่น (คลิกอ่านเรื่องราวการค้นพบเพิ่มเติมที่นี่-[เป็นบทความภาษาอังกฤษ])

แต่นี่เป็นเรื่องราวจากการบอกเล่าเท่านั้น แน่นอนว่า คงยากที่จะหาคำยืนยันต้นตอแบบเป็นหลักฐานแน่ชัดได้

เมืองโบราณแห่งนี้กินพื้นที่ประมาณ 80 เอเคอร์ เคยประกอบด้วยโซนพลาซ่า, คลอง, ร้านค้า, ทางเดินหิน และบันได นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ในยุครุ่งเรือง อาจมีประชากรอาศัยในละแวกเมืองโบราณประมาณ 2,500 คนเลยทีเดียว เชื่อกันว่า เมืองแห่งนี้ถูกสร้างระหว่างศตวรรษที่ 8 ถึง 14 โดยชนเผ่า Tairona หรือ Tayrona อย่างไรก็ตาม สภาพที่หลงเหลือในปัจจุบัน เหลือแค่ระเบียงดาดฟ้าที่ปูพื้นด้วยด้วยหินเท่านั้น

ระเบียงหลายระดับที่เหลือในพื้นที่ ไปจนถึงโครงสร้างหินอื่นๆ ถูกสันนิษฐานว่า เป็นพื้นที่สำหรับใช้งานหลายประเภท ทั้งใช้งานเชิงสังคม การเมือง และพิธีกรรม การศึกษาทางโบราณคดีพบว่า เมืองนี้เคยมีร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองที่น่าสนใจจากหลักฐานของการศึกษาที่พบโครงสร้างใต้ทางลาดหินลึกลงไปหลายฟุต บ่งชี้ว่า พื้นที่นี้ถูกตั้งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 7 สันนิษฐานว่า การแปรสภาพมาสู่รูปร่างแบบที่หลงเหลือมาให้เห็นอาจเริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ 12 หลังจากนั้นก็ถูกทิ้งร้าง สาเหตุหนึ่งที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นต้นเหตุคือสืบเนื่องจากโรคระบาดหลายครั้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 16

สำหรับนักเดินทาง(บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มีสิทธิพิเศษ)ที่สนใจไปสัมผัสพื้นที่เมืองโบราณที่หายสาบสูญแห่งนี้ มีเพียงเส้นทางเดียวที่จะเข้าไปถึงพื้นที่ได้ นั่นคือ เดินเท้าผ่านป่ารกชัฏขึ้นไปบนภูเขาระยะทางรวมประมาณ 30 ไมล์ นักเดินทางไม่สามารถเดินทางด้วยตัวเองโดยปราศจากไกด์หรือบริษัทที่รับบริการนำทางได้ โดยสภาพป่าที่ต้องฟันฝ่าไปนั้นก็เต็มไปด้วยยุงอีกต่างหาก ค่าใช้จ่ายในการเดินทางในทริป 4-5 วัน อยู่ที่ประมาณ 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน รวมอาหารและที่พักแล้ว ส่วนไกด์นำทางก็เป็นคนท้องถิ่นหรือคนในละแวกใกล้เคียง

แต่โชคดีที่ปัจจุบันพื้นที่ละแวกนี้ปลอดภัยแล้ว การท่องเที่ยวเริ่มได้รับความนิยมเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2008 แต่ก่อนหน้านั้น พื้นที่บริเวณนี้เคยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง

แม้เมืองโบราณจะกลายเป็นจุดที่ได้รับความนิยมในด้านการท่องเที่ยว แต่ต้องยอมรับว่า ชื่อเสียงและสภาพของมันยังเป็นรองแหล่งโบราณคดีสำคัญในอเมริกาใต้อย่างมาชูปิกชู ไม่เพียงแค่สภาพพื้นที่เท่านั้น การเดินทางไปมาชูปิกชูยังมีทางเลือกนอกเหนือจากเดินเท้าเพียงอย่างเดียว นักท่องเที่ยวสามารถใช้รถบัสหรือรถไฟเพื่อช่วยย่นระยะเดินทางเข้าถึงเมืองโบราณได้

มาชูปิกชูมีผู้เข้าเยี่ยมชมราวพันรายต่อวันในปี 2019 ขณะที่ Ciudad Perdida ต้องปีนเขาขึ้นไปแค่ทางเดียวเท่านั้น ในปี 2019 มีผู้เข้าเยี่ยมชมประมาณวันละ 70 คน การพัฒนาทางเลือกสำหรับเดินทางก็มีข้อจำกัด ทั้งกลุ่มชนพื้นเมืองและนักโบราณคดีต่างเห็นว่า ด่านแรกในการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีแห่งนี้คือ รักษารูปแบบการเดินทางด้วยเท้าเอาไว้ ข้อเสนอก่อสร้างรถเคเบิลขึ้นไปบนพื้นที่ถูกปฏิเสธมาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เส้นทางเดินเท้ามักพบเห็นเพิงขายอาหารและของว่าง หรือแคมป์พักปรากฏให้ใช้บริการกันแล้ว นั่นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า การท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นแหล่งรายได้ของคนท้องถิ่นอีกทาง

 


อ้างอิง:

Stephen Hiltner. “A Visual Trek Through the Sweltering Jungle : In Search of Colombia’s ‘Lost City'”. New York Times. Online. Published 15 APR 2020. Access 5 MAY 2020. <https://www.nytimes.com/2020/04/15/travel/colombia-lost-city-ciudad-perdida.html>

Santiago Giraldo. “A Tale of Cities Lost and Found”. Popular-Archaeology. Online. Published 5 JUN 2014. Access 5 MAY 2020. <https://popular-archaeology.com/article/a-tale-of-cities-lost-and-found/>

https://en.wikipedia.org/wiki/Ciudad_Perdida. Access 5 MAY 2020.

https://en.wikivoyage.org/wiki/Ciudad_Perdida_de_Teyuna#Q1094367. Access 5 MAY 2020.

https://en.wikipedia.org/wiki/Tairona. Access 5 MAY 2020.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2563