“กวนอู” อ่านหนังสืออะไร? ขณะนั่งเฝ้าพี่สะใภ้อยู่หน้าห้อง

กวนอู ง้าวมังกรเขียวเสี้ยวจันทร์ ง้าวกวนอู
กวนอู เทพแห่งสงคราม (War God)

เมื่อกล่าวถึงตัวละครที่สำคัญในสามก๊ก ต้องมีชื่อ “กวนอู” อยู่ในลำดับต้น ในนามของตัวแทนความซื่อสัตย์ ซึ่งฉากหนึ่งที่สร้างให้กวนอูเป็นอย่างยิ่งในเรื่องนี้ก็คือ “กวนอูนั่งอ่านหนังสือเฝ้าพี่สะใภ้” ว่าแต่ กวนอู อ่าน “หนังสือ” อะไร?

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นที่เมืองแห้ฝือที่กวนอูเป็นผู้ดูแล และครอบครัวเล่าปี่อาศัย ภายหลังฝ่ายโจโฉยกทัพมาตีเมืองสู้รบจนชนะกวนอู จึงยึดเมืองแห้ฝือไว้ พร้อมทั้งควบคุมครอบครัวของเล่าปี่ไว้ โจโฉอยากได้นายทหารฝีมือดีอย่างกวนอูมาเป็นพวก เตียวเลี้ยวซึ่งรู้จักกับกวนอูจึงอาสาไปเป็นคนเกลี้ยกล่อม

สุดท้ายกวนอูก็ตกลงยอมติดตามโจโฉชั่วคราว แต่ขอทำสัญญา 3 ข้อ

“กวนอูจึงว่า เดิมเราได้สาบาลกันไว้กับเล่าปี่เตียวหุยว่า จะช่วยกันทำนุบำรุงพระเจ้าเหี้ยนเต้ แลอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเปนสุข ซึ่งเราจะสมัคเข้าด้วยนั้น เราจะขอเปนข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ประการหนึ่ง

เราจะขอปฏิบัติพี่สะใภ้เราทั้งสอง แลอย่าให้ผู้ใดเข้าออกกล้ำกรายเข้าถึงประตูที่อยู่ได้ จะขอเอาเบี้ยหวัดของเล่าปี่ ซึ่งเคยได้รับพระราชทานนั้น มาให้แก่พี่สะใภ้เราทั้งสองประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าเล่าปี่อยู่แห่งใดตำบลใด ถึงมาทว่าเรามิได้ลามหาอุปราช เราก็จะไปหาเล่าปี่ แม้มหาอุปราชจะห้ามเราก็ไม่ฟัง”  

แม้โจโฉจะตกลงตามข้อเสนอของกวนอู แต่โจโฉก็คือโจโฉ ดัดหลังกวนอูได้อย่างสุดแสบ

“เวลาค่ำถึงที่ประทับตำบลใด โจโฉจึงให้กวนอูกับภรรยาเล่าปี่ทั้งสองคนนั้นอยู่เรือนเดียวกัน หวังจะให้กวนอูคิดทำร้ายพี่สะใภ้ น้ำใจจะได้แตกออกจากเล่าปี่ จะได้เปนสิทธิ์แก่ตัว

ฝ่ายกวนอูให้พี่สะใภ้ทั้งสองนอนห้องข้างใน ตัวนั้นก็นั่งจุดเทียนดูหนังสือ รักษาพี่สะใภ้อยู่นอกประตูยังรุ่ง มิได้ประมาทสักเวลาหนึ่ง จนถึงเมืองฮูโต๋…”

นี่เป็นหนึ่งฉากไฮไลท์หนึ่งของสามก๊ก เป็นฉากที่มีการกล่าวขานอ้างอิงมากที่สุดฉากหนึ่ง

สาวงามอยู่ในห้องถึง 2 คน แต่ชายหนุ่มกำยำอย่างกวนอูกลับเพิกเฉย ใช้ความอดทนกับอากาศหนาวด้านนอก อดกลั้นกับอารมณ์หรือเปล่าไม่ทราบได้ นั่งเฝ้าหน้าห้อง 2 นางตลอดการเดินทาง  โดยมีหนังสือเล่มนึงในมือเป็นเพื่อน

นับเป็นภาพสะท้อนความองอาจ สง่าผ่าเผย ซื่อตรง ของกวนอู ที่เป็นอมตะจนทุกวันนี้

แต่กวนอูอ่านหนังสืออะไร? มันสนุกขนาดไหนถึงได้อ่านทุกค่ำคืน และ (อีกแต่) คือกวนอูนั่งเฝ้าหน้าห้อง นี่เป็นเรื่องจริงหรือ?

คำถามนี้ใน 101 คำถามสามก๊ก เฉลยไว้ว่า หนังสือที่กวนอูอ่านก็คือ “ชุนชิว” (ประวัติศาสตร์แคว้นหลู่ ขงจื๊อเป็นผู้เรียบเรียง)

ในพงศาวดารสามก๊ก เผยซงจือได้ยกข้อความจาก หนังสือ “เจียงเปี่ยวจ้วน” มาว่า ปกติกวนอูชอบอ่านหนังสือ “จั่วจ้วน” (ประวัติศาสตร์) มาก ถึงขาดสามารถ “ท่องจนคล่องปาก”

จัวจ้วนหรือชุนชิวชั่วชื่อจ้วนเป็นหนังสือประวัติศาสตร์อธิบายขยายความชอบ ชิว ก็คือหนังสือชุนชิวฉบับขยายความนั้นเอง เป็นคัมภีร์สําคัญเล่มหนึ่งของ วิชา “จิงเสว์ ศาสตร์แห่งปกรณ์สําคัญของสํานักขงจื๊อ” ในสมัยราชวงศ์ฮั่น “การใช้คําน้อยแต่ความหมายยิ่งใหญ่” ของคัมภีร์ชุนชิวนี้เป็นสาระสําคัญของวิชาขงจื๊อศึกษาที่สืบทอดกันตลอดมา มีอิทธิพลต่อความคิดในปรัชญาสํานักขงจื๊อยุคหลังมากยิ่งนัก

สมัยราชวงศ์ฮั่นนิยมท่องคัมภีร์ของสํานักขงจื๊อกันเป็นปกติทั่วไป ชุนชิวเป็นคัมภีร์สําคัญที่คนยุคนั้นต้องท่อง

“พงศาวดารสามก๊ก ภาควุยก๊ก บทประวัติลิเตียน” เผยซงจือเขียนอธิบายเสริมไว้ว่า “เมื่อเยาว์ลิเตียนใฝ่ศึกษา ไม่ชอบตำราพิชัยสงคราม แต่ศึกษาชุนชิวและจัวจ้วนกับครู และอ่านหนังสือต่าง ๆ มาก”

การอ่านหนังสือชุนชิวของกวนอูจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของยุคนั้น

ส่วนที่หนังสือ “เจียงเปี่ยวจ้วน” เขียนว่า กวนอูชอบชุนชิวนั้นคงมาจากสาเหตุหลายประการ แต่มีเรื่องหนึ่งซึ่งน่าจะยอมรับได้ก็คือ ถึงจะท่องหนังสือชุนชิวได้ แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้กวนอูกลายเป็นอภิมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งบุ๋นและบู๊ได้

หากแต่ภายหลัง เอาเรื่องนี้มาเสริมกวนอูให้เด่น ทำให้ภาพลักษณ์ของกวนอูลงตัวเป็นแบบแผน คือหน้าแดง หนวดยาว ถือคัมภีร์ชุนชิวอยู่ในมืออ่านเงียบ ๆ อยู่ในใจ ภาพลักษณ์เช่นนี้สร้างกวนอูผู้เชี่ยวชาญทั้งบุ๋นและบู๊ขึ้น ในสมรภูมิมีสง่า เดชานุภาพแผ่รอบตัว เสียงคำรามดังฟ้าร้อง ภายใต้แสงตะเกียงครุ่นคิด ใคร่ครวญ วางแผนการซับซ้อนแยบยล เป็นยอดคนผู้ไร้ข้อบกพร่อง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า กวนอูตัวจริงในประวัติศาสตร์ เพียงชื่นชอบหนังสือชุนชิว นอกจากนี้เรื่องกลางคืนอ่านชุนชิวนั้นเป็นเรื่องแต่ง เติมเพื่อเสริมให้กวนอูมีภาพลักษณ์งามยิ่งขึ้น อย่างที่เราทราบกันดีว่า “สามก๊กมีบางส่วนเป็นประวัติศาสตร์จริง และบางส่วนเป็นการเติมสีสันทางวรรณกรรม”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ราชบัณฑิตยสภาชำระ. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ธันวาคม 2554.

หลี่ฉวนจวินและคณะ (เขียน), ถาวร สิกขโกศล (แปล). 101 คำถามสามก๊ก. กรุงเทพฯ : มติชน, กรกฎาคม 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2563