ทำไมราชวงศ์ชิงเปลี่ยนฮีโร่ จากเย่ว์เฟย (งักฮุย) เป็นกวนอู ?

หนังสือ “รวมเรื่องและภาพเทพกวนอู” ยุคราชวงศ์ชิง

การเซ่นไหว้บุคคลในประวัติศาสตร์ยุคราชวงศ์ชิง การที่กวนอูเข้ามาแทนเย่ว์เฟย (งักฮุย) นั้นเกิดจากสาเหตุทางการเมือง เนื่องจากเย่ว์เฟยเป็นแม่ทัพผู้มีชื่อเสียงในการต่อต้านราชวงศ์จิน เป็นวีรชนของประชาชนผู้ต่อต้านการรุกรานของชนต่างเผ่า เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านศัตรูจากภายนอก

เมื่อชาวแมนจูราชวงศ์ชิงเข้ามาในด่านก็คือการรุกรานของชนต่างเผ่าในยุคนั้น ปัญญาชนร่วมยุคเป็นอันมาก เช่น กู้เอี๋ยนอู่ หวงจงชี คิดโค่นชิงฟื้นหมิงอยู่ตลอดเวลา กวีนิพนธ์บท “หม่านเจียงหง-แดงทั่วธาร” ของเย่ว์เฟยซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ปณิธานกล้าจะกินเนื้ออนารยชนหรรษาสนทนาดื่มเลือดพวกคนเถื่อน” นั้น แสดงถึงปณิธานอันแน่วแน่ของเย่ว์เฟยที่จะไม่อยู่ร่วมฟ้ากับชนต่างเผ่าผู้รุกรานอย่างชัดเจน หลังจากทหารชิงเข้าด่านมา ภาระสำคัญทางการเมืองประการแรกคือ ป้องกันชาวจีน ทำให้คนจีนยอมสยบอยู่ใต้การปกครอง

ชาวแมนจูของราชวงศ์ชิงสืบเชื้่อสายมาจากชาวหนี่ว์เจินซึ่งเป็นชนกลุ่มหลักของราชวงศ์จิน ดังนั้น เย่วเฟยจึงมิอาจเป็นผู้รับการเซ่นไหว้จากราชวงศ์ชิงได้

ดังนั้น กวนอูจึงเข้ามาแทนเย่ว์เฟย ตอนนั้นคนจีนก็ยอมรับกวนอูอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีฐานมวลชนดี ในประวัติศาสตร์จีน กวนอูเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตว์ทางธรรมตลอดมา ในนิยายสามก๊ก กวนอูขี่ม้าคนเดียวไปนับพันลี้ ฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพล ทั้งนี้ก็เพื่อกลับไปอยู่กับเล่าปี่พี่ชาย นี่คือจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่รัฐบาลแมนจูต้องการที่สุด นั่นก็คืออาศัยการสร้างภาลักษณ์ซื่อสัตย์ทรงธรรมของกวนอูมาเชิญชวนให้คนจีนจงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิง

หนังสือไกอี๋ว์ฉงเข่าของเจ้าอี้ยุคราชวงศ์ชิง เล่ม 35 คำ “กวนจ้วงมิ่ว (กวนอู)” อธิบายว่า “กวนจ้วงมิ่ว (กวนอู) ในยุคสามก๊ก หกราชวงศ์ (คือราชวงศ์เหนือ-ใต้) ถัง ซ่ง ล้วนมีการเซ่นไหว้…รัชศกว่านลี่ ปีที่ 22 (ค.ศ. 1594) เนื่องจากการทูลขอของนักพรตจางทงเสวียนจึงสถาปนาเป็นเจ้า มีอภิไธยว่า อิ้งเลี่ย (วีรเดช) ถึงปีที่ 42 (ค.ศ. 1614) สถาปนาเป้น ‘ซันเจี้ยฝูหมอต้าตี้ (มหาเทพผู้สยบมารในสามโลก)’ ‘เสินเวยหย่วนเจิ้นเทียนจุน (อติเทพผู้มีฤทธิ์บำราบกว้างไกล)’ ‘กวนเสิ้งตี้จวิน (เทพกวนอูผู้ศักดิ์สิทธิ์)’…ถึงราชวงศ์นี้ (ชิง) รัชศกซุ่นจื้อ ปีที่ 9 สถาปนาเลื่อนขั้นเป็น ‘จงอี้เสินอู่กวนเสิ้งต้าตี้ (มหาเทพกวนอูผู้เรืองฤทธิ์และซื่อสัตย์ทรงธรรม)’ ปัจจุบันนี้บูชากันทั่วไปจากเหนือจรดใต้ แม้กระทั่งเด็กและสตรีไม่มีที่จะไม่ศรัทธาในเดชานุภาพ ไฟที่เซ่นไหว้เรืองโรจน์ เสมอด้วยฟ้าดินไม่มีเสื่อมโทรม”

จากข้อความตอนนี้เห็นได้ว่าชนชั้นปกครองยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงมีท่าทีต่อกวนอูต่างกัน ในยุคราชวงศ์หมิง กวนอูเป็นบุคคลของศาสนาเต๋า เป็นผู้ปราบมาร แต่ในยุคราชวงศ์ชิง ความจงรักซื่อสัตย์นำหน้า ชนชั้นปกครองให้ความสำคัญแแก่ความจงรักภักดีที่กวนอูมีต่อเล่าปี่


ที่มา :

คัดจากบทความ “ความศรัทธาในยุคราชวงศ์ชิง ทำไมกวนอูค่อยๆ เข้ามาแทนที่เย่วเฟย (งักฮุย) ?” โดย เซวียนปิ่งซ่าน (หลี่ฉวนจวินและคณะเขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. 101 คำถามสามก๊ก. กรุงเทพ : มติชน, 2556)


ปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 30 มีนาคม 2562