ถอดนัยคณะเต้นแหวกแนวขณะแบกโลงศพ วัฒนธรรมแอฟริกัน สู่กิจการในยุคใหม่?

คนแบกโลงศพพร้อมเต้นรำไปด้วยจากคลิปที่เป็นไวรัลในช่วงต้นปี 2020 (ภาพจาก YouTube/BBC News Africa)

การรับรู้ของคนทั่วไปมักมองภาพบรรยากาศงานศพว่าสมควรเป็นงานไว้อาลัย ร่วมอำลาผู้จากไปเป็นครั้งสุดท้าย หากแต่ในบางพื้นที่ บรรยากาศของงานศพไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนภาพดังกล่าวนี้ย่อมเป็นคลิปที่กำลังกลับมาได้รับความนิยมในโลกไซเบอร์ในช่วงต้นปี 2020 ภาพที่ปรากฏในคลิปจากแดนแอฟริกาคือกลุ่มหนุ่มแต่งกายชุดสูทเรียบร้อยสง่างามแบกหามโลงศพพร้อมเต้นไปด้วยลีลาแปลกหูแปลกตา (คนทั่วไป)

คลิปดังกล่าว (ที่ถูกเผยแพร่ในปี 2020) เป็นภาพบรรยากาศเก่าที่เคยถูกสื่อต่างประเทศหยิบยกมานำเสนอเมื่อ 2-3 ปีก่อน สำนักข่าวบีบีซีเคยประมวลภาพบรรยากาศงานศพที่มีคนแบกโลงศพเต้นรำมานำเสนอเมื่อปี 2017 ในคลิปที่บีบีซีรายงานเล่าเรื่องราวของ “การเต้นของคนแบกโลงศพในกานา” โดยเผยที่มาที่ไปของภาพบรรยากาศครึกครื้นในงานศพว่า เป็นบรรยากาศสำหรับผู้ไว้อาลัยบางรายที่ต้องการให้สภาพแวดล้อมในงานนั้นดู “ครื้นเครง” ขึ้นอีก พวกเขาจะใช้บริการคนแบกโลงศพที่ไม่ได้แค่มาแบกธรรมดา แต่แบกพร้อมแสดงลีลาเต้นรำไปด้วย

ในรายงานของบีบีซียังสัมภาษณ์เบนจามิน ไอดู (Benjamin Aidoo) หัวหน้ากลุ่มผู้แบกโลงศพ โดยเบนจามิน เล่าว่า เขาตัดสินใจใส่ท่าเต้นเข้าไปให้คนแบกโลงศพในกลุ่มเพื่อว่ากรณีที่ลูกค้ามาใช้บริการ เขาจะได้สอบถามความต้องการของลูกค้าได้เลยว่า ต้องการบริการแบบเชิงพิธีกรรมทางศาสนา หรืออยากให้ออกแนว “การแสดง” มากขึ้นหน่อยไหม หรือต้องการให้ผสมท่าเต้นเข้าไปด้วยหรือไม่ ทางเลือกเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้บริการ พวกเขาสามารถตอบสนองให้ได้ทั้งสิ้น รายงานข่าวเผยว่า เบนจามิน สร้างงานให้กับทั้งบุรุษและสตรีมากกว่า 100 งาน

คำถามต่อมาคือ จะมีลูกค้าที่ต้องการใช้บริการของพวกเขาในรูปแบบงานศพที่ “ครื้นเครง” แบบนี้ด้วยหรือ?

แน่นอนว่า เมื่อมีภาพที่บันทึกเป็นวิดีโอขนาดนี้ ย่อมต้องมีผู้ใช้บริการแล้ว รายงานข่าวยังสัมภาษณ์ลูกสาวผู้วายชนม์รายหนึ่ง เธอชื่อว่า อลิซาเบธ แอนนัน (Elizabeth Annan) เธอเล่าเกี่ยวกับบริการของกลุ่มคนแบกโลงศพว่า พวกเขามีทางเลือกให้เต้นไปด้วยในช่วงนำคนที่เธอรักไปสู่สุขคติ ดังนั้น เธอจึงตัดสินใจมอบทริปการเดินทางให้แม่ของเธอกลับไปสู่ “ผู้สร้าง” โดยมีการเต้นรำระหว่างทางไปด้วย

เบนจามิน ให้สัมภาษณ์ว่า “บริการนี้คืออีกหนึ่งวิธีบรรเทาภาวะว่างงานด้วย” การบริการของเขายังต้องลงทุนงบประมาณก้อนโตในแง่เครื่องแต่งกายสำหรับทีมของเขา

ในสายตาของคนทั่วไป(ในไทย)แล้ว งานศพคืองานไว้อาลัย แต่ในปัจจุบันญาติผู้เสียชีวิตบางรายจัดงานศพโดยจ้างคณะแสดงรื่นเริง หรือแจ้งผู้ร่วมงานไม่ต้องแต่งกายด้วยสีไว้ทุกข์ ซึ่งอาจมาจากคำสั่งเสียของผู้วายชนม์ สำหรับกานา งานศพถือเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมทางสังคมที่สำคัญ

ประเพณีงานศพในกานา ถือเป็นงานใหญ่ สำนักข่าวเอเอฟพี เคยทำรายงานข่าวเกี่ยวกับงานศพของเกษตรกรชายวัย 82 ปีรายหนึ่งนามว่า จอห์น ทอร์วุดโซ (John Torwudzo) เมื่อปี 2008 รายงานข่าวเผยว่า ญาติเก็บร่างของเขาไว้ในที่เก็บศพ 2 เดือนครึ่งเพื่อเตรียมงานตามประเพณีให้กับชายคนนี้ที่มีลูกถึง 17 คน รายชื่อสิ่งที่ต้องทำก็มียาวเหยียด ตั้งแต่กระจายคำเชิญ จัดเตรียมงาน และหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดคือ สั่งโลงศพที่มีสีสันและมีรูปทรงเป็นลูกมะพร้าว

ใช่แล้ว ไม่ได้พิมพ์ผิด และผู้อ่านไม่ได้อ่านผิด โลงศพที่ครอบครัวจัดทำให้เป็นโลงศพรูปทรงและสีสันแบบลูกมะพร้าว ลูกชายของเขาเล่าให้ฟังว่า ผู้มาร่วมงานจะทราบว่า เขาเป็นผู้ทำงานเกี่ยวกับมะพร้าว ทั้งชีวิตของเขาเป็นเกษตรกรสวนมะพร้าว และเมื่องานศพสิ้นสุด รายงานข่าวเผยว่า ร่างของเขาจะถูกฝังใต้ต้นมะพร้าว

โลงศพในงานของเขามีมูลค่า 400 ดอลลาร์สหรัฐ เงินจำนวนนี้เป็นเงินไม่น้อยทีเดียวสำหรับครอบครัวเขา จอห์นสัน ลูกชายอีกคนของจอห์น ให้สัมภาษณ์ว่า เขาถ่ายภาพเกี่ยวกับงานของพ่อเขาไว้มากมาย และเขาจะไปแสดงให้เพื่อนรวมงานเห็นว่านี่คือโลงที่ฝังบิดาของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติเกี่ยวกับการฝังร่างผู้เสียชีวิตแบบชาวแอฟริกัน

งานศพในกานา มาพร้อมค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควร แต่ในอีกแง่หนึ่ง รายงานข่าวจากเอเอฟพี เผยว่า บรรยากาศของงานศพในกานา คนส่วนหนึ่งมองงานศพในฐานะห้วงเวลาแห่งการ “ฉลอง” (celebration) พร้อมไปกับการไว้อาลัย คนทุกทิศจะมาร่วมงานและเต้นรำเพื่ออุทิศการไว้อาลัยให้คนที่พวกเขารักเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเกิดงานศพดังเช่นกรณีโลงรูปทรงมะพร้าวของจอห์น แนวคิดนี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนเห็นและทำตามแบบอย่างต่อมา ดังเช่นคำให้สัมภาษณ์ของชายรายหนึ่งจากย่านชายหาดชามา (Shama Beach) ซึ่งเขาเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ เขามองว่า สำหรับงานของเขาแล้ว ก็อาจทำโลงเป็นทรงเลื่อย

และแน่นอนว่า โลงรูปทรงเลื่อย เครื่องบิน หรือกล้องถ่ายรูป สามารถสั่งทำได้ในกานา แต่กลุ่มคนที่รับสั่งทำนี้ก็ไม่ได้มีกว้างขวางนัก มีผู้รับทำโลงศพตามจินตนาการไม่มากนัก แต่พวกเขาเผยว่า มักได้รับคำสั่งซื้อมาจากนอกประเทศด้วย อาทิ ไนจีเรีย, โตโก, แอฟริกาใต้ หรือแม้แต่ประเทศจากยุโรปอย่างเดนมาร์ก หรือฝรั่งเศส พวกเขาเคยได้รับคำสั่งทำโลงเป็นรูปทรงวัว และปลา ให้ส่งไปปลายทางในยุโรป

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ธรรมเนียมในงานต่างๆ ของชาวแอฟริกันมักมีเสียงเพลงและการเต้นรำอยู่ด้วย แต่ละชาติพันธุ์ก็มีธรรมเนียมการเต้นของตัวเอง ลักษณะการเต้นก็มีแยกออกตามลักษณะประเภทในงานต่างๆ อาทิ งานศพ งานรื่นเริง หรือเชิงพิธีกรรม

ประเพณีการเต้นรำในงานศพไม่ได้ปรากฏในประเทศแถบแอฟริกาเท่านั้น ชุมชนแอฟริกัน-อเมริกันในนิว ออร์ลีนส์ ก็มีการจัดงานรื่นเริงเช่นกัน

มาลิค เจเอ็ม วอล์คเกอร์ ศาสนาจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร yes! เกี่ยวกับธรรมเนียมงานศพในแถบนิว ออร์ลีนส์ ว่า ประชากรส่วนใหญ่ในนิว ออร์ลีนส์ (โดยเฉพาะคนผิวดำ) มีทัศนคติและการรับรู้เกี่ยวกับความตายในแบบเฉพาะตัวเป็นพิเศษ และมันแสดงออกอยู่ใกล้ตัวทั่วไป

เมื่อมีผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงวัยที่มีชีวิตยืนยาวมาพอสมควร การเสียชีวิตแบบนี้แตกต่างจากการเสียชีวิตในวัย 16 ปีด้วยเหตุฆาตกรรม ประเพณีในการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่อายุยืนในนิว ออร์ลีนส์ ย่านที่อัตราผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมสูง ปรากฏเป็นการร่วมรำลึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับผู้จากไปและเฉลิมฉลองการมีชีวิตของผู้ตายด้วย จึงปรากฏเสียเพลง การเต้นรำ และเสื้อยืดที่มีสีสันซึ่งอาจสกรีนใบหน้าของผู้ตายขณะกำลังยิ้มแย้มอยู่


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อเมษายน 2563