ตำนาน “รัตนสูตร” ปัดเป่าเภทภัยยุคพุทธกาล ถึงการประพรมน้ำพระพุทธมนต์

(ภาพประกอบ) พระสงฆ์ในวัดสุทัศน์ฯ สวมหน้ากากอนามัย ป้องกันโรค COVID-19 ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563 (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

“รัตนสูตร” คือพระสูตรที่ว่าด้วยรัตนะ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร) ทรงอธิบายคำว่า “รัตนะ” แปลว่า “สิ่งที่นำความยินดี คือให้เกิดให้เจริญความยินดี หมายถึงสิ่งที่กระทำให้เกิดความยำเกรง สิ่งที่มีค่ามาก สิ่งที่ไม่มีสิ่งอื่นเสมอเหมือนหรือว่าชั่งไม่ได้เปรียบไม่ได้ สิ่งที่หาดูได้ยาก สิ่งที่เป็นของบริโภคของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทราม สิ่งที่ทำให้เกิดความยินดีอันมีลักษณะดังกล่าวนี้ ได้ชื่อว่ารัตนะ…”

ตำนาน “รัตนสูตร” เกิดในสมัยพุทธกาล มีอยู่ว่า เกิดเภทภัยอุบัติในกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี 3 เภทภัย คือทุกขภิกขภัยประการหนึ่ง เกิดภาวะข้าวยากเพราะฝนแล้งติดต่อกันหลายปี ทำไร่ทำนาไม่ได้ผลผลิตเพียงพอ พวกอมนุษย์เข้ามารบกวนทำร้ายผู้คนประการหนึ่ง และอหิวาตกโรคระบาดซ้ำเติมอีกประการหนึ่ง เหล่านี้ล้วนทำให้ประชาชนอดอยากถึงขั้นล้มตายกันจำนวนมาก

ประชาชนป่าวร้องต่อพระราชาว่า เป็นเพราะพระราชาปกครองบ้านเมืองไม่เป็นธรรม จึงเกิดได้เภทภัยต่าง ๆ ขึ้น พระราชาให้ประชาชนพิจารณาดูว่าพระองค์ปกครองบ้านเมืองไม่เป็นธรรมอย่างไร ประชาชนพิจารณาแล้วก็ไม่เห็นว่าทรงปกครองไม่เป็นธรรมอย่างไร จึงกราบทูลให้ทรงหาทางแก้ไข มีผู้เสนอให้อาราธนาศาสดาคณาจารย์เจ้าลัทธิต่าง ๆ มาประกอบพิธีระงับบ้าง หรือเชิญเสด็จพระพุทธเจ้ามาทรงระงับบ้าง

“…ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นชอบที่จะให้อัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จมา พระราชาแห่งกรุงเวสาลีก็ทรงส่งคณะทูตไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งรัฐมคธที่กรุงราชคฤห์ ขออนุญาตที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมากรุงเวสาลี…”

เมื่อคณะทูตจากกรุงเวสาลีได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้ว พระองค์จึงได้เสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลอาราธนาด้วยพระองค์เอง พระพุทธเจ้าก็ทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ เมื่อทรงรับแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงอำนวยการส่งเสด็จพระพุทธเจ้าไปยังกรุงเวสาลี

“…จากกรุงราชคฤห์ก็เสด็จโดยพระบาทไปสู่แม่น้ำคงคาก็เป็นอันว่าสิ้นเขตของรัฐมคธแค่นั้น พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงประทับเรือข้ามแม่น้ำคงคาไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นรัฐวัชชี พระราชาแห่งวัชชี กรุงเวสาลี ก็มารับเสด็จ แล้วก็นำเสด็จเข้าไปสู่กรุงเวสาลี”

ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จข้ามแม่น้ำคงคา อันเป็นเขตแดนระหว่างสองแคว้นนั้น ก็ปรากฏเหตุอัศจรรย์ “…ฝนตกหนักตลอดกรุงเวสาลีจนถึงกับได้พัดพาเอาซากศพต่าง ๆ ที่กองอยู่ในที่นั้น ๆ อันเป็นที่อากูลส่งกลิ่นตลบทั่วไปหมด ฝนตกใหญ่ก็พัดเอาศพเหล่านั้นไปหมด แผ่นดินก็สะอาด บ้านเมืองก็สะอาดขึ้น ปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็หายไป…”

และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงกำแพงกรุงเวสาลี ทรงแสดง “รัตนสูตร” แก่พระอานนท์ และรับสั่งให้พระอานนท์จำพระสูตรนี้และนำไปให้สวดทั่วทั้งกรุงเวสาลี จากนั้นพระอานนท์ก็สวดรัตนสูตรพร้อมประพรมน้ำในบาตรของพระพุทธเจ้าไปทั่วเมือง เสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าก็แสดงพระสูตรนี้แก่ที่ประชุม อันมีพระราชากรุงเวสาลี ข้าราชการ และประชาชนทั้งหลายอยู่ ณ ที่นั้น เภทภัยทั้ง 3 ประการแห่งกรุงเวสาลีก็ยุติลง

ในตำนานดังกล่าวระบุเพียงว่า พระอานนท์ถือบาตรของพระพุทธเจ้าที่เต็มไปด้วยน้ำ ประพรมน้ำไปด้วยแล้วก็สวดรัตนสูตรนี้ไปด้วย แต่ไม่ได้อธิบายว่าน้ำในบาตรนั้นได้ผ่านพิธีสวดมนต์หยดเทียนลงไปในน้ำอย่างที่ทำน้ำพระพุทธมนต์กันอย่างปัจจุบัน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร) ทรงวิเคราะห์ไว้ว่า

ในตําราที่เรียกว่าอรรถกถา ที่แปลว่าเป็นถ้อยคำที่อธิบายเนื้อความพระบาลีของพุทธวัจนะต่าง ๆ ซึ่งท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้แปลและเรียบเรียงขึ้นในลังกาเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปประมาณพันปี เนื่อง ด้วยตำนานนี้ที่แสดงอ้างว่า พระอานนท์ได้อุ้มบาตรเต็มด้วยน้ำของพระพุทธเจ้าสวดรัตนสูตรนี้ แล้วก็ประพรมน้ำไปทั่วเมืองเวสาลี ก็แสดงว่าธรรมเนียมประพรมน้ำดังที่เรียกว่าน้ำมนต์ในพุทธศาสนานั้นได้มีมาช้านาน

ถ้านับเอาแค่สมัยที่แต่งคัมภีร์นี้ในลังกา เมื่อพุทธศาสนาล่วงไปได้ประมาณพันปี ก็ต้องยืนยันว่าได้มีมาในลังกาตั้งแต่ครั้งนั้น และหนังสือที่แต่งในลังกาที่ได้อ้างถึงว่าได้มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล…จะเป็นจริงหรือไม่ หรือว่าจะเป็นความเชื่อถือ และก็แต่งตามที่เชื่อถือและบอกเล่ากันมาก็เป็นของยากที่จะวินิจฉัย…

ข้อที่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาได้มีพิธีประพรมน้ำดังที่เราเรียกกันว่าน้ำพระพุทธมนต์ในปัจจุบัน ก็เป็นธรรมเนียมที่มีมานานเป็นพัน ๆ ปีดังกล่าว และอาจจะมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้วก็ได้ หรือว่าถ้าไม่มีในสมัยพุทธกาล ก็มีต่อจากนั้นมาไม่นานนัก อาจจะก่อนพุทธศาสนาไปถึงลังกา หรือเมื่อไปถึงลังกาแล้ว ไปมีที่ลังกาก็ได้ แต่หนังสือนี้แต่งที่ลังกาในสมัยนั้นก็แสดงว่า ในสมัยนั้นก็ต้องมีธรรมเนียมประพรมน้ำดังที่เรียกว่าน้ำพระพุทธมนต์แล้ว…

สำหรับรัตนสูตรมีด้วยกัน 17 คาถา  แต่ทุกคาถามิใช่คาถาของพระพุทธเจ้าทั้งหมด สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร) ทรงอธิบายว่า

“รัตนสูตรนี้พระอาจารย์ท่านหนึ่ง ผู้แต่งคัมภีร์อธิบายแต่ดั้งเดิมได้แสดงมติว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองเพียง 5 คาถา คือ 2 คาถาแรกที่แสดงถึงภูตทั้งหลายที่มาประชุมกัน คาถาที่ 3 ที่แสดงถึงพระธรรมซึ่งเป็นสังขตธรรมคืออนันตริกสมาธิ ส่วนตั้งแต่คาถาที่ 6 ไปนั้น ท่านพระอานนท์ได้เป็นผู้แสดงเองในขณะที่ได้เดินพรมน้ำและกล่าวรัตนสูตรนี้ไปด้วย ท่านแสดงเองตั้งแต่คาถาที่ 6 นี้เป็นต้นไป ส่วนคาถาส่งท้ายอีก 3 คาถา ท้าวสักกเทวราชเป็นผู้กล่าว ก็จบรัตนสูตรเพียงเท่านี้”

 


อ้างอิง :

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก. (2554). เจ็ดตำนานพุทธมนต์และสิบสองตำนานพุทธมนต์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2563