คนเขมรแต่ก่อนไม่กล้ากิน “แก้วมังกร” เพราะดูคล้าย “เกล็ดพญานาค”

“แก้วมังกร” เป็นพืชท้องถิ่นของทวีปอเมริกาอยู่ในจำพวกเดียวกับพืชตระกูลตะบองเพชร ปัจจุบันเป็นที่นิยมในเมืองไทยพอสมควรด้วยเชื่อว่าเป็นพืชที่มีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น ช่วยเพิ่มธาตุเหล็ก และช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูง จึงเหมาะสำหรับคนที่พยายามควบคุมน้ำหนักด้วย

แต่ก่อนที่พืชชนิดนี้จะเข้ามาแพร่หลายในเมืองไทย พวกมันเริ่มเป็นที่รู้จักในดินแดนอาณานิคมฝรั่งเศสอย่างเวียดนามและกัมพูชามาก่อน ด้วยมิชชันนารีฝรั่งเศสเป็นผู้นำพืชชนิดนี้เข้ามาขยายพันธุ์ในแถบอินโดจีนเมื่อราวร้อยปีที่แล้ว

Advertisement

ข้อมูลจากคอลัมน์ “พืช ผัก สมุนไพร” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2538 บอกว่า พืชชนิดนี้คนเขมรเรียกว่า “สะกาเนียก” หรือ เกล็ดนาค ซึ่งแต่ก่อนคนเขมรไม่นิยมกินกันด้วยรูปลักษณ์ของมันที่ไปคล้ายกับสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อย่าง “พญานาค”

“คนเขมรเล่าให้ฟังว่า เกล็ดนาคขึ้นอยู่ตามป่าเขมรมานานนมแล้ว แต่ไม่มีใครกล้ากิน เพราะลูกใหญ่น่าพิศวง แถมเปลือกก็ยังดูเป็นเกล็ดคล้ายเกล็ดพญานาคในความเชื่อท้องถิ่น สีสันหรือก็สดจนหลงคิดว่าน่าจะเป็นพิษภัยต่อร่างกาย กระทั่งคนเวียดหิ้วเข้ามากินให้เห็นกับตาจึงกล้าลองตามด้วย”

ปัจจุบันแก้วมังกรเป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคกันในหลายประเทศ ในเมืองไทยปลูกกันเยอะในเขตมวกเหล็ก สระบุรี และปากช่อง นครราชสีมา เพราะเป็นพื้นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง และดินเป็นดินลูกรัง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะกันการปลูกพืชที่มีต้นกำเนิดในพื้นที่แล้งชนิดนี้

และว่ากันว่า เกษตรกรที่ปลูกแก้วมังกรในพื้นที่ราว 40 ไร่ จะทำให้มีรายได้ต่อปี ราว 2 ล้านบาทก่อนหักค่าใช้จ่าย ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2560