เล่าเรื่องเยือนถิ่นเกาหลี และการประชุมเสวนาชาวพุทธกับคริสต์เพื่อสันติ-ความเป็นธรรม

ภาพประกอบเนื้อหา - วัง Gyeongbokgung

เมื่อกล่าวว่าถิ่น “อารีดัง” ในสมัยปัจจุบัน บางคนอาจสงสัยว่าคือแห่งไหน แต่หากกล่าวว่า “แดนโสม” หรือ “แดนกิมจิ” หรือที่ทันสมัยสุดก็คงเป็น “K-pop” คงเป็นที่รู้จักมากกว่าว่าหมายถึงประเทศเกาหลี แต่หากย้อนไปสัก 30 ปีที่แล้วคำว่า “อารีดัง” คงเป็นที่เข้าใจกันอย่างแพร่หลายว่าคือประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้เพราะ “อารดัง” เป็นทำนองเพลงของเกาหลีที่คนไทยนิยมมาก

ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ 10 ฉบับที่ 10 เดือนสิงหาคม 2532  บทความเรื่อง “เยือนถิ่น “อารีดัง” แสวงหาสันติภาพและความเป็นธรรมในเอเชีย” โดย อุทัย ดุลยเกษม อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกรในขณะนั้น มีข้อมูลบอกเล่าประสบการณ์ของอาจารย์อุทัย ที่พบเจอขณะเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้พร้อมกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เพื่อเข้าร่วมประชุมเสวนาเรื่องการแสวงหาสันติภาพและความเป็นธรรมในสังคมซึ่งจัดโดยสภาคริสตจักรแห่งโลก

การเดินทางในครั้งนี้ผู้เขียนเล่าว่ามีโอกาสพักในวัดพุทธนิกายมหายานในเกาหลี เป็นวัดขนาดเล็กใกล้พระราชวังเก่า (ที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) ผู้เขียนเล่าว่า เจ้าของเดิมเป็นคหปตานี และยกให้เป็นสมบัติของวัดนิกายโชกีย์ (Chogye)

ภายในห้องพัก (กุฏิ) มีเครื่องทำความอุ่น แต่ไม่มีห้องน้ำ การลุกไปทำธุระตอนกลางคืนต้องฝ่าความหนาวเหน็บไป สำหรับอาหารเช้าในวัดเป็นอาหารเจ 3-4 อย่าง แต่ผู้เขียนไม่รู้จักชื่อ พอเล่าได้ว่า รสชาติออกเค็ม ปะแล่มๆ พอกินได้ และสังเกตว่ามีชนิดหนึ่งที่อร่อยคือพริกไทยสดนำมาทำกิมจิ (คล้ายๆ ดอง)

สำหรับพระราชวังเก่าที่อยู่ตรงข้ามวัด ถือว่ามีพื้นที่กว้างขวาง สถานที่แห่งนี้เคยถูกยึดครองเป็นกองบัญชาการของทหารญี่ปุ่นเมื่อสมัยญี่ปุ่นยึดเกาหลี หลังจากนั้น เมื่อเวลาผ่านไปก็แปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

การประชุมเสวนามีผู้เข้าร่วมทั้งชาวเกาหลี ศรีลังกา ญี่ปุ่น พม่า อินเดีย ไทย ทิเบต แคนาดา อเมริกา ฮ่องกง ไต้หวัน มีทั้งพระทั้งฆารวาส เริ่มต้นการเสวนาโดยนายอารี ยราชา ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการประชุมครั้งนี้ คือนายอารี เป็นชาวศรีลังกาเชื้อสายทมิฬ เขานับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ เขากล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดงานประชุมเสวนา และในตอนท้ายได้กล่าวเสนอแนะแนวทางการเสวนาว่ามีประเด็นสำคัญที่ผู้เข้าร่วมจะต้องพิจารณา ดังนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นธรรมกับสันติภาพเป็นเช่นไร มันมีนัยอะไรบ้างต่อการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมและสันติภาพ, ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตที่เป็นธรรมกับสันติภาพในแง่การดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคลและประเด็นที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมกับสันติภาพของสังคม, บทบาทของศาสนาต่างๆ ในการแสวงหความเป็นธรรมและสันติภาพทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคมเป็นอย่างไร เรามีบทเรียนอะไรที่จะเรียนรู้ได้บ้าง ศาสนจักรถูกผู้ที่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับความเป็นธรรมและสันติภาพใช้เป็นเครื่องมือในลักษณะใดบ้าง, ในสภาวะความขัดแย้งศาสนามีบทบาทอย่างไร และในการแสวงหาข้อยุติปัญหาขัดแย้ง ศาสนามีบทบาทอย่างไร เราจะทำอย่างไรกับความไม่ประสีประสาของศาสนจักรในภาวการณ์ที่มีความขัดแย้งมากมาย, การจัดเสวนาแบบนี้มีบทบาทอย่างไรในการแสวงหาความเป็นธรรมและสันติภาพ

ต่อจากนั้นนายปุน ซัน ฮวาน ชาวเกาหลีที่นับถือศาสนาคริสต์ได้เสนอบทความเรื่องการเสวนาระหว่างพุทธและคริสต์ เพื่อนำไปสู่การปลดปล่อยผู้ยากไร้ นายปุน กล่าวถึงการเกิดขึ้นของพุทธศาสนาสำหรับผู้ยากไร้ (Mingjung Buddhism) ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับเทววิทยาของผู้ยากไร้ของคริสตศาสนาในช่วงปี 2513 ในสมัยประธานาธิบดีปาร์ค จุงฮี แนวคิดเรื่องพุทธศาสนาเพื่อคนยากไร้เกิดขึ้นมาจากการสังเกตพระสงฆ์ในพุทธศาสนาว่ามักจะให้ความสำคัญกับการดับทุกข์ของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะตนเองมากกว่าที่จะให้ความสำคัญต่อต้นตอของปัญหาที่ก่อทุกข์ นายปุนเสนอว่านี่เป็นการหนีปัญหา เขาเสนอแนวทางตามศาสนาพุทธแบบมินจุนซึ่งเป็นนิกายหนึ่งในเกาหลี ซึ่งเน้นการตีความพุทธศาสนาให้โยงกับปัญหาสังคม ให้พระสงฆ์เห็นต้นตอของปัญหาที่ประชาชนประสบและหทางแก้ไขตรงนั้น การเสนอแนวทางนี้ของนายปุนผู้เขียนบทความกล่าวว่าได้รับความสนใจมากทีเดียว

รายการต่อมาคือการเสนอบทความของนางลิลลี่ เดอซัลวา เธอนับถือศาสนาพุทธและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจากประเทศศรีลังกา เธอนำเสนอบทความหัวข้อ “แนวคิดจากคำสอนของพระพุทธองค์ในการเสริมสร้างความเป็นธรรมและสันติภาพในโลกปัจจุบัน” นางลิลลี่ เสนอว่าพุทธศาสนามีแนวคิดหลายประการ เธอดึงแนวคิดออกมาให้ดู เช่น หิริโอตัปปะ ทศพิธราชธรรม หลักปัญจศีล เป็นต้น ผู้เขียนกล่าวว่านางลิลลี่ได้สรุปอย่างชาวพุทธอนุรักษ์นิยมว่า การได้มาซึ่งสันติภาพและความเป็นธรรมจะเป็นไปได้เมื่อแก้ที่จิตใจได้สำเร็จ เธอได้เสนอยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดสันติภาพและความเป็นธรรมหลายประการ แต่ผู้เขียนไม่ได้ระบุไว้เพราะเห็นว่าข้อเสนอของนางลิลลี่มีลักษณะพื้นๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ

ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอในประเด็นบทบาทของศาสนจักรกับปัญหาของศรีลังกา ผู้เขียนบทความกล่าวว่าการนำเสนอในประเด็นนี้น่าสนใจมาก โดยการเสนอให้เห็นสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของศรีลังกาแล้วโยงไปสู่ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวสิงหลกับทมิฬ ในการเสวนาประเด็นนี้อินเดียถูกกล่าวถึงในกรณีที่แทรกแซงจนทำให้บรรยากาศการเสวนเครียดขึ้นมา ซึ่งผู้เข้ารวมเสวนาจากอินเดียได้โต้แย้งว่าการเขาไปขออินเดียอาจเป็นเพราะรัฐบาลศรีลังกาขอความช่วยเหลือมา

การประชุมเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นหลายวัน วันต่อมาคือวันที่สองมีผู้นำเสนอบทความอีกสองคน เริ่มต้นคนแรกโดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ นำเสนอในหัวข้อ “ความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมและสันติภาพในแง่ของพุทธ : การท้าทายและการตอบสนองต่อความเป็นจริงในเอเชีย” ผู้เขียนเล่าว่าอาจารณ์สุลักษณ์ได้ชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาจะแก้วิกฤติการณ์ด้านต่างๆ ได้อย่างไร พร้อมทั้งตีความศีลห้าในบริบทของสังคมสมัยใหม่เพื่อการเสริมสร้างความเป็นธรรมและสันติภาพในสังคม การเสนอนี้ทำให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวางในที่ประชุมเสวนา

ต่อจากนั้นเป็นคิวของนายยาซูโอกะ ผู้นับถือศาสนาคริสต์และเป็นอาจารย์วิชารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโซเฟีย เข้านำเสนอโดยเอาประสบการณ์ที่เขาประสบในประเทศฟิลิปปินส์มาพูด ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นประเด็นสำคัญจึงม่ได้เล่าเนื้อหาของนายยาซูโอกะลงในบทความนี้

การประชุมเสวนาวันที่สาม เป็นการเสนอบทความโดยผู้เสนอสามคนในรูปแบบของการอภิราย ประกอบด้วย อาจารย์เดวิด ล็อคฮิด จากแคนนาดา คุณอึ้ง หยู ขวัน จากฮ่องกง และอาจารย์สุภาพรรณ ณ บางช้าง จากประเทศไทย หัวข้อในการพูดคือเรื่องบทบาทของศาสนาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและในการสร้างความเป็นธรรมกับสันติภาพ ผู้เขียนกล่าวว่ามีประเด็นที่น่าสนใจที่อาจารย์ล็อคฮิดพูดที่ว่าศาสนาคริตส์โดยพื้นฐานไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง แตพุทธศาสนานั้นที่จะสามารถประยุกต์ใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้

ส่วนอาจรย์สุภาพรรณเสนอว่าการศึกษาจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ โดยพิจารณาการจัดการศึกษาให้เหมาะสม การศึกษาต้องเป็นเนื้อเดียวกับศาสนา ส่วนนายอึ้งหยู ขวัน ชี้ให้เห็นว่าคริสตศาสนามีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือคนยากจนเพราะคริสตศาสนายืนอยู่ข้างคนยากจน

วันต่อมาเป็นการนำเสนอในประเด็นสันติภาพและความเป็นธรรมในสังคม คนแรกที่นำเสนอคือคุณแซนดี บุชเฌอ เธอเป็นชาวพุทธอเมริกานำเสนอในหัวข้อ “ความคิดเบื้องต้นว่าด้วยนัยยะทางด้านเทววิทยา ด้วยปรัชญาและด้านการปฏิบัติในการพัฒนาเรื่องความเป็นธรรมและสันติภาพในแง่ที่มันเป็นความจริงซึ่งสัมพันธ์กัน” ทั้งนี้ผู้เขียนกล่าวว่า เธอได้แย้งว่าสันติภาพที่แท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากสังคมขาดความเป็นธรรม เธอกล่าวอีกว่าสันติภาพที่แท้จริงนั้นจะต้องให้ความสำคัญต่อคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน และความเป็นธรรมนั้นต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อพวกเขา เธอได้กล่าวให้เห็นถึงผู้หญิงเนกลุ่มหลัก เพราะมักถูกกีดกันในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งนี่คือความไม่เป็นธรรมในสังคม และไม่อาจทำให้มีสันติภาพที่แท้จริงได้ นอกจากนี้เธอเสนอว่าพุทธศาสนาในอเมริกาเหนือไม่ควนยึดถือรูปแบบและแนวทางทุกอย่างตามพุทธศาสนาในเอเชีย แต่ควปรับให้เข้ากับบริบททางสังคมของอเมริกา

ต่อจากนั้นเป็นการเสนอโดยนายฮี ซุง คีล อาจารย์ชาวเกาหลี เขาเสนอแนวทางให้เกิดตวามเป็นธรรมและสันติภาพในเกาหลีสามแนวทางคือ แนวทางแรกเป็นแบบดั้งเดิมโดยพยายามเน้นให้คนมีจริยธรรม ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาสนาที่ตนนับถือ แนวทางที่สองคือสังคมจริยธรรม มีแนวคิดว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าสังคมยังไม่เป็นธรรม และความเป็นธรรมในสังคมเกิดขึ้นไม่ได้จากปัจเจกบุคคลแน่ และแนวทางที่สามเป็นแนวทางของของเทวนิยมเพื่อลดปล่อยหรือแบบพุทธศาสนามินจุง

ท้ายสุดนี้ บทความของอาจารย์อุทัย ดุลยเกษม แม้จะเขียนขึ้นมาแล้วกว่า 30 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นข้อเสนอต่างๆ นานาจากนักคิด นักวิชาการ สำหรับการประยุกต์ใช้ศาสนาพุทธและคริสต์ในการสร้างความเป็นธรรมในสังคมและสร้างสันติภาพ แต่จวบจนปัจจุบันข้อเสนอเหล่านี้ที่สรุปออกมาเป็นบทความโดยอาจารย์อุทัย บ่างข้อเสนอก็ยังไม่ได้นำมาใช้จริงทำให้ความเป็นธรรมในสังคมยังไปเกิดอย่างแท้จริง และสันติภาพก็ยังไม่เกิดเช่นกัน

ผู้เขียนยังเล่าว่า มีโอกาสเดินทางไปยังเมืองกว่างจู (Kwangju) ทางตอนใต้ของเกาหลี เมืองแห่งนี้เคยได้รับกล่าวขานเมื่อสมัยประธานาธิบดีชุนดูวาน ปกครอง เนื่องจากประชาชนในเมืองนี้ประท้วงการทำงานแบบเผด็จการของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลส่งทหารไปปราบจนประชาชนเสียชีวิต ที่วัดซองกว่างสง (Songgwang-Sa) แปลว่า วัดที่มีป่าสนกระจายทั่วไป แห่งนี้ได้พบกับพระคุณเจ้าชื่อ ป้อบ จยุง อายุในขณะนั้นประมาณ 50 ปีเศษ เป็นพระสงฆ์นักวิชาการ มีชื่อเสียงด้านเขียนบทกวี และแสดงความเห็นผ่านสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเผด็จการของรัฐบาล

ที่พักของพระคุณเจ้าอยู่บนยอดเนินสูงเนื่องจากแสวงหาความวิเวก ปฏิบัติธรรม ท่านอนุญาตให้ผู้คนพบได้สัปดาห์ละ 2 วัน

วัดแห่งนี้พระมาทำวัตรเช้าตอนตีสาม หลังเลิกตอนตีห้าแล้วก็ฉันเช้า หลังจากนั้นแยกย้ายกลับกุฏิและปฏิบัติกิจของแต่ละราย


ที่มา

อุทัย ดุลยเกษม. เยือนถิ่น “อารีดัง” แสวงหาสันติภาพและความเป็นธรรมในเอเชีย. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 10  ฉบับที่ 10 เดือนสิงหาคม 2532. หน้า 80 – 95.