อิฌิอิ โยะเนะโอะ นักวิชาการชาวญี่ปุ่น “ผู้หลงรักภาษาไทย”

(ซ้าย) อาจารย์อิฌิอิ โยะเนะโอะ ถ่ายภาพร่วมกับหัวหน้าเผ่าม้งที่ภูขุน และเพื่อนชาวญี่ปุ่น (ภาพจาก หนังสือกึ่งศตวรรษบนเส้นทางไทยศึกษา)

สำหรับคนไทยภาษาไทยที่เราพูด-อ่าน-เขียน เป็นปกติในชีวิตประจำวันคงไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว ชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า อาจารย์อิฌิอิ โยะเนะโอะ ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยถึง 2 ครั้ง เพื่อไปเรียนภาษาไทยในอีกมหาวิทยาลัย และเพื่อได้สัมผัสภาษาไทย

นั้นทำให้อาจารย์อิฌิอิไม่เคยสําเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย หากความเชี่ยวชาญและรอบรู้อย่างลึกซึ้ง ในด้านภาษาอาจารย์อิฌิอิมีความรอบรู้ในภาษาต่างๆ อย่างกว้างขวาง สามารถอ่าน เขียน และพูด ภาษาอังกฤษและภาษาไทย ได้เป็นอย่างดี ส่วนภาษาจีน ฝรั่งเศส อิตาเลียน กรีก สันสกฤต บาลี สิงหล พม่า และเขมร ก็ถึงขั้นสามารถอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีได้ ทั้งยังมีความสนใจการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทําให้อาจารย์อิฌิอิได้รับเชิญเข้าดํารงตําแหน่งรองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโต ใน พ.ศ. 2508 และรับตําแหน่งศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเกียวโต ตั้งแต่ พ.ศ. 2510-2533

ชีวประวัติของอาจารย์อิฌิอินั้น สำนักพิมพ์มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้นำ หนังสือบันทึกความทรงจำที่อาจารย์อิฌิอิเขียนไว้เป็นภาษาญี่ปุ่นมาแปลเป็นภาษาไทย โดย ชลาวิน เศวตนันท์, กนกวรรณ เกตุชัยมาศ ใช้ชื่อว่า “กึ่งศตวรรษบนเส้นทางไทยศึกษา”  เมื่อ พ.ศ. 2550 ได้อธิบายถึง “นักวิชาการผู้หลงรักภาษาไทย” ท่านนี้ไว้

อาจารย์อิฌิอิ โยะเนะโอะ (10 ตุลาคม พ.ศ. 2470 – 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553) แต่เดิมนั้นอาจารย์อิฌิอิวางแผนจะสอบเข้าเป็นนักศึกษาทางด้านวิศวกรรม มหาวิทยาลัยวาเซะดะ ตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยม ด้วยพี่ชายแนะนำว่า จบมาแล้วจะหางานได้ง่าย ส่วนภาษาที่ชอบนั้นค่อยไปเรียนเมื่อจบมหาวิทยาลัย แต่เขาก็สมัครสอบย้ายเข้าเป็นนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยวะเซะดะแทน โดยที่ไม่รู้ว่าที่คณะอักษรศาสตร์ของวาเซะดะไม่มีภาควิชาภาษาศาสตร์

ช่วงเวลาที่อยู่มหาวิทยาลับวาเซะดะ อาจารย์อิฌิอิเลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจ เช่น ภาษาละติน, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, สันสฤต, กรีก, อิตาเลียน, มาเลย์ ฯลฯ ทั้งในมหาวิทยาลัย และกับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ เช่น อาจารย์โคบะยะฌิ ฮิเดะโอะ จนลืมเรื่องการเก็บหน่วยกิตให้ครบเพื่อให้จบการศึกษา

อาจารย์โคบะยะฌิยังให้คำแนะนำว่า “คุณน่าจะลองเรียนภาษาของประเทศในแถบเอเชียน ประเภทที่ยังไม่ค่อยมีคนเรียนเท่าไรดู เพราะไม่อย่างงั้น คูณอาจจะกลายเป็นพวกอาจารย์ภาษาที่อับจนหนทางไปเสียก่อน”

ก่อนหน้านั้น อาจารย์อิฌิอิเคยลองเรียนภาษามาเลย์แต่พอได้เรียนไประยะสั้น ก็คิดว่าควรจะเรียนภาษาที่เขียนด้วยอักษรที่อ่านไม่ออกดีกว่า [ภาษามาเลย์ใช้ตัวอักษรโรมันในการเขียน] และการเรียนภาษาประเภทนี้ไม่สามารถเรียนด้วยตัวเอง ในที่สุด อาจารย์อิฌิอิก็ลาออกจากวาเซะดะ หลังจากเรียนอยู่ได้ 4 ปี โดยสอบเข้าเป็นนักศึกษาคณะภาษาต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวภาษาต่างประเทศ เพื่อเรียนภาษาไทย เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1953/พ.ศ. 2496

เมื่อเริ่มเรียนภาษาไทยในช่วงแรกนั้น อาจารย์อิฌิอิ บันทึกไว้ว่า

“ตัวอักษรภาษาสยามที่มีลักษณะเหมือนลายเหล็กดัดได้กลายมาเป็นเสมือนกุญแจที่เปิดประตูให้ผมก้าวเข้าไปสู่โลกอีกใบหนึ่ง ผมรู้สึกปลาบปลื้มยินดีเสียยิ่งกว่าตอนที่ได้เรียนตัวอักษรกรีกหรือตัวอักษรที่มีหนวดของภาษาเยอรมันเสียอีก

ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีการแบ่งระดับเสียงสูงต่ำออกเป็นห้าเสียง ถึงแม้จะเป็นพยางค์เสียง ‘มา’ เหมือนๆ กัน แต่เมื่อออกเสียงสูงต่ำต่างกันก็จะมีความหมายว่า ‘มา’ บ้าง ‘หมา’ บ้าง ‘ม้า’ บ้าง ต่างๆ กันไป ผมฝึกออกเสียงตามอาจารย์พลางก็คิดไปว่าชักไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เสียแล้วละสิ”

ขณะเดียวกันอาจารย์อิฌิอิก็มุ่งมั่นว่า “จะลองไปสัมผัสกับภาษาสยามของจริงดูสักครั้ง” แต่ในเวลานั้นยังไม่มีระบบนักเรียนทุนรัฐบาล และการเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ง่ายเหมือนปัจจุบัน

หากอาจารย์อิฌิอิได้รับการช่วยเหลือจากนักวิชาการท่านหนึ่งของกระทรวงต่างประเทศ ที่บอกอาจารย์อิฌิอิว่า คำว่า “ภาษาสยาม” นั้นเชยมาก เพราะชื่อประเทศได้เปลี่ยนจากสยามเป็นประเทศไทย ตั้งแต่ ค.ศ. 1939/พ.ศ. 2482 จึงควรเรียกว่าภาษาไทย

นักวิชาการท่านนี้ยังแนะนำว่าแม้กระทรวงต่างประเทศจะยกเลิกการหารให้ทุนของกระทรวงเพื่อส่งนักศึกษาไปต่างประเทศ แต่ยังมี “การสอบเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการของกระทรวงต่างประเทศ” ซึ่งทุกปีจะมีการคัดเลือกผู้ที่สอบผ่านส่งไปฝึกอบรม “ภาษาเฉพาะ” ในต่างประเทศ

อาจารย์อิฌิอิจึงมุ่งมั่นเตรียมตัวสอบเข้ากระทรวงต่างประเทศอย่างจริงจัง และเข้าสอบเมื่อ ค.ศ. 1954/พ.ศ. 2497 แน่นอนว่าอาจารย์อิฌิอิสอบได้ นั้นทำให้เขาต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยก่อนที่จะสําเร็จการศึกษาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ และถูกส่งมายังประเทศไทยเพื่อเป็นนิสิตพิเศษชาวต่างชาติที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2500-2501

วันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1957/พ.ศ. 2500 อาจารย์อิฌิอิขึ้นเครื่องบินของสายการบิน KLM มาเมืองไทย

“ผมก้าวเข้าไปในเครื่องบิน ในเขตที่นั่งชั้นประหยัดด้านหน้าว่างโล่งไปหมด ดูเหมือนว่าจะมีผู้โดยสารอยู่เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น เมื่อนั่งลงแล้วแอร์โฮสเตสร่างใหญ่ชาวดัตช์ก็ทยอยลําเลียงอาหารมาให้ แต่ผมยังรู้สึกตื้นตันอยู่เลยพานทําให้ไม่อยากจะกินอะไร…

ฟ้าเริ่มสาง รู้สึกว่าเครื่องบินจะอยู่เหนือคาบสมุทรอินโดแล้ว สายน้ำใหญ่ที่เห็นบนผืนดินคงจะเป็นแม่น้ำโขง พอได้เห็นแม่น้ำสายย่อยที่ค่อนข้างกว้างใหญ่หลายสาย ตัดตรงไปบรรจบกับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก ก็ทําให้รู้ว่าอีกประเดี๋ยวก็คงถึงจังหวัดอุบลราชธานี เมืองหลักของภาคอีสานแล้ว

ในตอนนั้น เครื่อง KLM ที่เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกมาโดยตลอดก็เริ่มจะลดระดับความสูงลง ผมมองออกไปข้างนอกเห็นนาข้าวผืนใหญ่ มีบางอย่างคล้ายๆ เม็ดสีดํา ๆ อยู่ตรงกลาง ผมเอาจมูกชิดกับหน้าต่างแล้วเพ่งมองดู จึงได้เห็นว่าน่าจะเป็นควายนั่นเอง มันคงกําลังลากคันไถอยู่ข้างหลัง มีคนเดินตาม พอควายเคลื่อนไป คนก็เคลื่อนตาม คงจะเป็นคนไทยแน่ๆ นี่คือคนไทยที่มีชีวิตจริงๆ หรือ พอเรียนจบแล้ว เราน่าจะพูดคุยกับคนเหล่านี้ได้

เอ… ว่าแต่ว่าเราจะพูดภาษาไทยได้จริงๆ หรือเปล่าหนอ ไม่ใช่สิ ต้องพูดให้ได้ มีเวลาตั้ง 2 ปี เราต้องพยายามให้ถึงที่สุด

จากนั้นไม่นานเครื่องบินก็เบี่ยงหัวไปทางใต้เพื่อเตรียมตัวลงจอดที่สนามบินดอนเมือง ทิวทัศน์บนพื้นดินยิ่งดูใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ อีก 10 เมตร อีก 5 เมตร อีก 3 เมตร อีกเมตรเดียว … กึ่ง! เครื่องบิน KLM ลงจอดอย่างสง่างาม

ถึงแล้ว เมืองไทยในฝันอยู่ตรงหน้านี้แล้ว พอประตูเครื่องบินเปิดออก คลื่นความร้อนระดับ 40 องศาก็แผ่กระจายเข้ามาภายในเครื่องบิน กระทบกับผิวกายของผมที่กําลังเตรียมตัวลง นี่แหละใช่เลย ความร้อนแบบนี้เป็นความร้อนแบบไทยแท้ๆ เลย เสียงที่ลอยไปลอยมาอยู่ท่ามกลางความร้อนระอุเช่นนี้แหละ คือภาษาไทยของจริงที่ผมเสาะแสวงหา…”


ข้อมูลจาก

อิฌิอิ โยะเนะโอะ (เขียน) ชลาวิน เศวตนันท์, กนกวรรณ เกตุชัยมาศ(แปล). กึ่งศตวรรษบนเส้นทางไทยศึกษา, สำนักพิมพ์มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, มิถุนายน 2550


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2563