เจาะ “ขบวนการต่อต้านอเมริกา” พฤติกรรมแพร่หลายในอดีต ที่คนอเมริกันยังไม่ค่อยเข้าใจ!?

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) ชาวไทยหลายพันคนเดินขบวนต่อต้านนโยบายของสหรัฐอเมริกา กรณีเรือมายาเกซ (SS Mayaguez) (Photo by AFP)

ความนํา

ขบวนการโกรธ/เกลียด/ต่อต้านอเมริกา (Anti-Americanism) เป็น เรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นพฤติกรรมที่แพร่หลายมากแต่มีคนเข้าใจน้อย บางคนเข้าใจผิดแท้ๆ ส่วนใหญ่เข้าใจสับสน และบางคนไม่เข้าใจเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอเมริกันเอง

ความไม่เข้าใจของชาวอเมริกันเกิดจากการมอง “อัตลักษณ์” (Self-Image) ผิด ชาวอังกฤษ, ฝรั่งเศส, ดัตซ์ ฯลฯ เคยเป็นจักรวรรดินิยมอย่างโจ่งแจ้ง และเคยถูกขับไล่ด้วยความรุนแรงและสาปแช่ง อังกฤษจึงไม่สงสัยว่าทําไมพม่าไม่ค่อยรัก และฝรั่งเศสไม่ช้ำใจที่เวียดนามไม่เสน่หา

หากใครยังเคารพนับถือบ้าง อังกฤษกับฝรั่งเศสก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่อานิสงส์ความดีความงามที่ได้ทํามา

ในทางตรงกันข้าม ชาวอเมริกันสร้างอัตลักษณ์มองตัวเองว่า “เป็นคนดี หวังดีเสมอ มีใจเมตตากรุณาเอื้อเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่น” ดังนั้นชาวอเมริกันไร้เดียงสาหลายคนหันหน้าถามกันว่า Why do so many people hate us throughout the world?” คําถามข้อนี้ทั้งน่าสงสารและน่าสนใจพอๆ กัน

ผมไม่สนใจกรณีเฉพาะ (เช่น ทําไมชาวเวียดนามที่รักชาติและพึ่งได้ขับไล่ฝรั่งเศสจึงไม่ชื่นใจรับการแทรกแซงของสหรัฐ หรือทําไมชาวลาวและเขมรต่างไม่ยินดีที่ถูกทิ้งระเบิดยิ่งกว่าที่ทิ้งกันในยุโรปครั้งสงครามโลก ครั้งที่ 2 ผมสนใจมากกว่าในความหลากหลายของการเกลียดอเมริกาและที่มาของมัน

เพื่อความสะดวกผมขอแบ่งการเกลียดอเมริกา (Anti-Americanism) เป็นสามจําพวกใหญ่ คือ :- 1) ของเทียม 2) ของนักปราชญ์ และ 3) ของแท้

  1. การเกลียดอเมริกัน (เทียม)

การเกลียดอเมริกาส่วนใหญ่(หรืออย่างน้อยประมาณ 50%) เป็น ของเทียม โดยเกิดจากความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ที่ใครๆ เข้าใจว่าเกิดจากอเมริกา

แม่ผมเกลียดเครื่องโทรศัพท์ เพราะ “กริ๊ง” ที่ไรมักมีคนคร่ำครวญ, ฟ้องร้อง, หรือฝากงานที่แม่ไม่อยากทํา แม่จึงเรียกเครื่องโทรศัพท์ว่า That nasty, newfangled American thing!” (ไอ้เครื่องระยใหม่ๆ ของ อเมริกา) แม่ไม่ผิด เพราะเครื่องโทรศัพท์คิดขึ้นมาและพัฒนาโดยชาวอเมริกันจริงๆ

ปู่ย่าผู้เฒ่าทั่วโลกมักรําคาญเสียงดนตรี “เหี้ยมโหด” (Rock) ที่คน รุ่นใหม่หนุ่มสาวนิยมชมชอบ ปู่ย่าชาวยุโรปมักประณามว่า “ดนตรีเหี้ยม อเมริกัน” (Horrible American music) ในขณะที่ปู่ย่าชาวอเมริกันประณามว่าเป็น “ดนตรีเหี้ยมหนุ่มสาว” (Horrible teenage music) ที่จริงคนรุ่นเก่า (ไม่ว่าเป็นอเมริกันหรือเป็นอื่น) ต่างใจเดียวกัน คือหงุดหงิดในเรื่องเดียวกัน เสียแต่ว่าตายายชาวยุโรปเห็นความเสื่อมทั้งหมดมาจากสหรัฐ ซึ่งไม่เป็นความจริง วงดนตรี Rock ที่ “เหี้ยม” ที่สุดมักเป็นของอังกฤษ หรือเยอรมัน

ในเรื่องอื่นๆ อเมริกาโดนกล่าวโทษว่าทําลายวัฒนธรรมดีงาม เช่น “การแต่งกายมิดชิด, กิริยามารยาท, การรู้ที่ต่ำที่สูง” เป็นต้น

ผู้กล่าวหาเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า วัฒนธรรมหมายถึง “การนั่งพับเพียบเย็บกระทง” ดังนั้นเมื่อเด็กหนุ่มสาวไทยสมัยนี้ขี้เกียจจะนั่งพับเพียบเย็บกระทง ก็ถูกหาว่า “ลืมความเป็นไทยและกลายเป็นฝรั่งไป”

ยิ่งกว่านั้น “ผู้ดีตีนแดง” เหล่านี้ เมื่อเป็นเด็กน้อยก็ไม่เคยนุ่งผ้าขาวม้าขี่ควาย ดังนั้น เขาไม่มีทางเข้าใจว่า การขี่มอเตอร์ไซค์, การขับรถสองแถว, การนุ่งบลูยีนส์หรือมินิสเกิร์ต, ต่างเป็นสัญลักษณ์ของความปลดปล่อย (Liberation) จากความยากจนแร้นแค้นและความคับแคบของชีวิตตามประเพณีของคนรุ่นพ่อแม่และปู่ย่า

ผมโตขึ้นมาที่อังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงรู้จักกันดีกับความอดอยาก

สิ่งหนึ่งที่ผมจําได้ดีคือฉากหนึ่งในโรงแรมชั้นดีในลอนดอน นายทหารอเมริกันมีกิริยาท่าทางเบิกบานคุยเสียงดัง (กลิ่นหอมซีการ์) และเมียแต่งตัวสุดเท่สวยงาม (กลิ่นน้ำหอมแพงๆ) ทั้งนี้ เทียบกับชาวอังกฤษที่กําลังโทรมเป็นที่สุด

เมื่อผมเป็นวัยรุ่น (15-16 ราว ค.ศ. 1955) ผมสะสมรายได้นานๆ เข้าจนชื่อเป๊ปซี่ได้ 1 ขวด และบุหรี่ Camel 1 ซอง บริโภคแล้วผมค่อยรู้สึกว่าเป็นผู้เป็นคนขึ้นมา

ดังนี้จะโทษอเมริกาได้อย่างไร? “โลกเก่า” (ยุโรป, เอเชีย ฯลฯ) ล้วนมีความขัดข้องเก่าๆ ที่ต้อง “ยกเครื่อง” อเมริกา “ยกเครื่อง” ก่อน ใครคิดอยากปรับปรุงสังคมตามก็ดูไม่เป็น “บาป” หรือความเหลวไหล

อย่างไรก็ตาม เรายังโทษอเมริกาได้เพราะออลลีวู้ดสร้างภาพมายา เสมือนโลกตะวันตกมีแต่ความสําเร็จทุกประการโดยไม่มีปัญหา พระเอกทุกคนขับรถคาดิลแล็ค ยิงผู้ร้ายไม่พลาด นางเอกห่มเสื้อมิงค์ไม่รู้จักทํางานเหน็ดเหนื่อย

แล้วในที่สุดใครผิด? ชาวอเมริกันที่สร้างหนัง หรือผู้นําชาวเอเชีย ที่กินเบ็ดเข้าพุง?

อเมริกาจะน่ารักหรือน่าเกลียดอย่างไร ผมเห็นว่า Anti-Americanism ยี่ห้อนี้เป็นเพียงของเทียม ที่เกิดจากความเข้าใจผิดและความอิจฉาริษยา ไม่ใช่การเกลียดอเมริกาอย่างแท้จริง

  1. การเกลียดอเมริกันของนักปราชญ์

Anti-America ยี่ห้อนี้สับสนและซับซ้อนมาก จะว่า “จริง” หรือ “เทียม” ง่ายๆ ไม่ได้ มันไม่ได้เกิดจากความเข้าใจผิดหรีด ความ

อิจฉา แต่เกิดจากความผิดหวังของคนที่เคารพนับถือสหรัฐ

ในครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 14 (ต้นพุทธศตวรรษที่ 24) สหรัฐปฏิวัติ ทําสงครามปลดปล่อยตนเองจากอํานาจอังกฤษ แล้วตั้งเป็นประเทศเอกราชที่จะปกครองกันด้วยระบบใหม่ที่จะไม่ซ้ำความผิดพลาด และความชั่วร้ายของโลกเก่า (ยุโรป)

สหรัฐจะไม่มีกษัตริย์หรือชนชั้น แต่จะเป็นสาธารณรัฐ ประชากรทุกคนจะมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน และจะปกครองกันเองด้วยฉันทามติ และกฎหมาย ทั้งนี้ ระบุไว้ชัดเจนใน “คําประกาศอิสรภาพ” (Declaration of Independence) ค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) ที่สําคัญคือ รัฐใหม่นี้จะไม่มีการทําสงครามขยายอาณาเขต, แย่งชิงหรือเบียดเบียนรัฐอื่นดังที่เคยเกิดในยุโรปครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นพันๆ ปี

ดังนี้ นักปราชญ์ทั่วโลก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรปและอเมริกันเอง) ฝากความหวังอย่างยิ่งว่า นี่คงเป็นการเริ่มต้นสังคมใหม่ที่มีเหตุผล และความยุติธรรม ดีกว่าสังคมบกพร่องล้มลุกที่เคยมีมาในยุโรป

ต่อมาเมื่อสหรัฐปฏิบัติชั่วร้ายเยี่ยงประเทศเก่าอื่นๆ โดยละเมิดอุดมการณ์ดีงามที่เคยประกาศไว้ นักคิดโดยมากที่เคยศรัทธาสหรัฐ และฝากความหวังสูงสุดก็ย่อมโกรธและเกลียดสหรัฐที่ทําให้เขาผิดหวัง

อย่างไรก็ตาม จะว่า Anti-Americanism ชนิดนี้เป็นการ “เกลียด” ขนานแท้ไม่ได้ เพราะว่ามันเกิดจากความเคารพและความหวัง จะเทียบ ได้ก็กับความโกรธระหว่างเพื่อนหรือคู่รัก

  1. การเกลียดอเมริกาขนานแท้

ในอดีตสหรัฐเคยทําความชั่วมาก (เช่นในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง) ไม่แพ้จักรวรรดิยุโรปต่างๆ และเคยทําความดีงาม (เช่นในสงครามโลกครั้งที่ 1 และที่ 2) จึงย่อมมีคนโกรธบ้าง, รักบ้าง

การเกลียดอเมริกาขนานแท้ (Real Anti-Americanism) ทั่วโลกเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจผิด, ความอิจฉาริษยาหรือความผิดหวังของใครอื่น หากเกิดจากความโง่เขลา (Stupidity) ความจองหอง (Arrogance) และความปราศจากยางอาย (Shamelessness) ของผู้นําสหรัฐ

ปัญหาใหญ่คือ ผู้นําสหรัฐลืมเสียแล้วว่า เขาเองเคยเป็นสังคมปฏิวัติรักชาติที่ก่อสงครามปลดแอกเพื่อสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ผู้นําอเมริกันจึงไม่เข้าใจชาติอื่นที่มีความจําเป็นต้องต่อสู้เพื่อปลดแอก, เปลี่ยนแปลงสังคม และสร้างตนเองขึ้นมาใหม่ โดยไม่ต้องการ “ลูกพี่” จากภายนอกมาเสือกสอนหรือบังคับ

อย่าให้พูดถึงสงครามอินโดจีนที่เดียนเบียนฟู เมื่อ ค.ศ. 1954 ชาวเวียดนามชนะขาด ปลดแอกจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส เป็นการตั้งบ้านแปงเมืองใหม่ด้วยเสรีภาพและศักดิ์ศรี แต่แล้วอเมริกาแซงเข้ามาแทนจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส อํานวย “ผู้ปรึกษา” “ความช่วยเหลือ” และ “การสนับสนุนทางทหาร” จนอเมริกันเสียชีวิตเป็นเรือนหมื่นและชาวเวียดนาม-ลาว-เขมร ต่างเสียชีวิตเป็นเรือนล้าน ทั้งๆ ที่ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ไม่เคยเป็นอันตรายต่อสหรัฐแม้แต่น้อยหนึ่ง

ที่สหรัฐแพ้สงครามอินโดจีนนั้น ไม่ใช่เพราะความเก่งกาจของเวียดนาม, ลาว หรือเขมร เพียงอย่างเดียว แต่เพราะความโง่เขลา, จองหอง และหน้าด้านของผู้นําอเมริกันเอง ทั้งสามประเทศในอินโดจีน ต่างลุกขึ้นสู้เพื่อกู้ศักดิ์ศรีของตน แล้วสหรัฐเสือกเข้ามายังทําไม? คิดว่า ชาวโลกจะขอบคุณหรือนับถือบารมีหรือ?

เรื่องความผิด (Wrong) และความผิดพลาด (Mistake) ของสหรัฐนในอินโดจีน คุณผู้อ่านไม่ต้องเชื่อผมหรอก ให้ไปอ่านหนังสือ In Retrospect (1995) ของนาย Robert Macnamara รัฐมนตรีกลาโหมสมัยประธานาธิบดี Kennedy และ Johnson ที่น่าเชื่อกว่าผม, รู้ดีกว่าผม, และสำนึกความผิดอย่างสุจริตใจ

ต่อมามีกรณีที่ร้ายแรงกว่าสงครามอินโดจีน

เมื่อลัทธิสตาลินและลัทธิเหมาเจ๋อตุงสลายตัว และจีนกับโซเวียตเข้าสมัครเป็นพรรคพวกกับโลกทุนนิยม (ราว 25 ปีมาแล้ว) โลกทั้งโลกหายใจโล่ง โดยเชื่อว่า “ต่อไปนี้สันติภาพมีโอกาสเป็นไปได้” แต่แล้ว ผิดหวัง หลังวันที่ 11 สิงหาคม 2001 ที่ WTO ถูกผู้ก่อการร้ายถล่ม ผู้หวังดีต่อโลกส่วนใหญ่หันมามองสหรัฐด้วยความเห็นอกเห็นใจ, ยินดี สนับสนุน

ชาวโลกที่หวังดีและปรารถนาสันติภาพ ต่างฝันว่าผู้นําสหรัฐจะใช้ปัญญาและพลานุภาพ 1) เพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมพื้นฐานที่ทําให้ชาวมุสลิมดีๆ ทั่วไปโกรธแค้น 2) เพื่อสร้างแนวร่วมกว้างใหญ่ (รวมทั้งมุสลิมหัวก้าวหน้า) และ 3) เพื่อโดดเดี่ยวผู้นําผู้ก่อการร้ายจนปราบปรามได้ โดยชาวโลกตะวันออกกลางเดือดร้อนน้อยที่สุด และมีการเสียเลือดเนื้อน้อยที่สุด

แต่ที่ไหนได้?

ประธานาธิบดีบุช (องค์ที่ 2) เลือกที่จะ 1) สนับสนุนอิสราเอล ปราบปรามชาวปาเลสไตน์ 2) ละเมิดมติสหประชาชาติ แล้ว 3) ทําสงครามบุกรุกอิรักโดยพลการ นี่แหละคือเวียดนามอีกแล้ว

อิรักเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ไม่เคยเป็นอันตรายต่อสหรัฐ เคยเป็นลูกเลี้ยงของสหรัฐครั้งสงครามกับอิหร่าน เป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการก่อการร้าย อัล เคดา มาแต่ไหนแต่ไร แล้วบุชคิดว่าชาวอิรักจะยินดีที่สหรัฐบุกรุกประเทศเขาหรือ? ชาวบ้านจะดีใจหรือที่เห็นพ่อๆ พี่ๆ ถูกทําอนาจารและถ่ายรูปไว้ดูเล่น?

ชาวมุสลิมทั่วโลก (ที่อาจจะไม่ชอบอิรัก) จะชื่นชมได้อย่างไร?

และชาวโลก ไม่ว่าเป็นคริสต์, มุสลิม หรืออื่นๆ จะเคารพรัก สหรัฐได้อย่างไร?

ที่น่าประหลาดใจมากที่สุดคือ ผู้นําเคยนึกสงสัยหรือว่า การบุกรุก และการทําลายความสมดุล (ที่ร่อแร่อยู่แล้ว) จะมีผลอย่างไรกับราคาน้ำมันดิบ? และเมื่อราคาน้ำมันดิบแปรปรวนอีก (จํา 1973 ได้ไหม) จะ มีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก?

โลกทั้งโลกเคยมองสหรัฐด้วยความสับสน (รักบ้าง, โกรธบ้าง) แต่มาบัดนี้รัฐบาลของประธานาธิบดีบุชได้สร้าง “การเกลียดสหรัฐ” (Anti-Americanism) และ The Ugly American ขนานแท้ให้แพร่หลายทั่วโลก แม้กระทั่งในหมู่ชนที่เคยสนับสนุน, ศรัทธา, และฝากความหวังไว้กับสหรัฐอเมริกามาแต่ก่อน

ความส่งท้าย

เรื่องการเกลียดอเมริกาขนานแท้นี้ไม่น่ายินดี แต่น่าสลด และน่ากลัว

ทั้งนี้ เพราะสหรัฐต้องการโลกเป็นเพื่อนที่สนับสนุน และโลกต้องการสหรัฐที่เป็นเพื่อนและผู้นําที่ดี

ไม่ใช่ปีศาจอาละวาด

[บทความนี้มิได้เกิดลอยๆ จากอารมณ์ร้ายของ ไมเคิล ไรท หรือปาก เสียของอีโมติณี บทความนี้ได้รับความดลใจจากบทสัมภาษณ์ของ Loaniew Srzeginski ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ สมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เทอร์ บทความดังกล่าว ชื่อ Much damage self-inflicted after 9/11 ในหน้า 5 Bangkok Post Sunday 13 มา 204 ใครสนใจเรื่อง Ugly American ควรหามาอ่าน]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2563