ข้าวเหนียวแดกงา (กวาญย์คะเปียง) อาหารจาก “ข้าวเหนียว” ในอุษาคเนย์

ชาวบ้านรวมตัวกันตำข้าวเหนียวแดกงาที่วัดเพื่อถวายพระ วัดใหญ่นครชุมน์ ราชบุรี

ชาดกเรื่องหนึ่งกล่าวถึงข้าวเหนียวแดกงาในทำนองว่า เป็นอาหารของคนชั้นต่ำ หรือพูดด้วยศัพท์วิชาการสมัยนี้ก็น่าจะหมายถึง ชนชั้นแรงงาน ที่มักกินเป็นอาหารว่างแต่ก็ใช้แทนมื้อหลัก เพราะขนมชนิดนี้ทำจากข้าวเหนียว กินแล้วรู้สึกอยู่ท้องแถมราคาถูก แน่นอนว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล เนื้อหาจึงเกี่ยวพันกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียวแดกงานี้ไม่ใช่กระยาจกยากจนเข็ญใจ แต่เป็น จิตตคหบดี มหาเศรษฐีผู้มาจากตระกูลที่เคยเป็นคนชั้นต่ำมาก่อน อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะถือได้ว่าขนมแดกงาเป็นขนมที่มีประวัติความเป็นมายาวนานมากชนิดหนึ่งของโลก

จิตตคฤหบดี เป็นชาวเมืองมัจฉิกาสัณฑะ แคว้นมคธ วันที่จิตตคฤหบดีถือกำเนิดขึ้นนั้นมีปรากฏการณ์ประหลาด นั่นคือ ดอกไม้นานาพรรณโปรยปรายจากท้องฟ้าทั่วไปทั้งเมือง ถือเป็นนิมิตดีในแง่ของความงดงาม ทารกผู้นี้จึงได้ชื่อตามนิมิตนั้นว่า จิตตกุมาร แปลว่า กุมารผู้น่าพิศวงหรือกุมารผู้ก่อให้เกิดความวิจิตรสวยงาม

จิตตคฤหบดี สืบทอดทายาทเศรษฐีมาตั้งแต่สมัยบิดา ก่อนที่ท่านจะยอมรับนับถือพุทธศาสนา จิตตคฤหบดีได้พบกับพระมหานามะ หนึ่งในปัญจวัคคีทั้งห้า ซึ่งสงบสำรวมน่าเลื่อมใสศรัทธา จิตตคฤหบดีนิมนต์ท่านไปฉันภัตตาหารที่คฤหาสน์ของตน และได้สร้างที่พำนักแก่ท่านในสวนชื่อ อัมพาฏการาม นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาเป็นการถาวร ระหว่างนั้นพระมหานามะได้แสดงธรรมให้จิตตคฤหบดีฟังเสมอ วันหนึ่ง ได้แสดงธรรมเรื่อง อายตนะ 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หลังจบธรรมเทศนา จิตตคฤหบดีได้บรรลุอนาคามิผล

จิตตคฤหบดีสนใจศึกษาธรรมอยู่เป็นนิจ จนแตกฉาน มีความสามารถในการอธิบายธรรมให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทั้งยังเป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้าถวายทานอย่างประณีตมโหฬารติดต่อกันถึงครึ่งเดือน ครั้งหนึ่งได้พาบริวาร 2,000 คน บรรทุกน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย 500 เล่มเกวียน ไปถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

ข้าวเหนียวแดกงา น้ำผึ้ง และน้ำตาลทราย

วาระสุดท้ายของจิตตคหบดี ขณะที่ป่วยหนักได้มีเทวดามาปรากฏกายให้เห็นและกล่าวกับท่านว่า ผู้มีบุญอย่างท่านนี้ แม้ปรารถนาทรัพย์สมบัติหลังจากตายแล้วก็ย่อมกระทำได้ จิตตคฤหบดีตอบกลับไปว่า

“ถึงทรัพย์สมบัติก็ไม่จีรัง เราไม่ต้องการ

บรรดาลูกหลานที่นั่งเฝ้าไข้อยู่นึกว่าท่านเพ้อ จึงกล่าวเรียกสติ

“เรามิได้เพ้อ เทวดามาแนะนำเราว่า หากปรารถนาทรัพย์สมบัติหลังความตายก็ย่อมทำได้ แต่เราปฏิเสธ เพราะยังมีสิ่งอื่นที่ดีกว่า น่าปรารถนากว่า ลูกหลานพากันถามว่าสิ่งอื่นที่ดีกว่า น่าปรารถนากว่า คืออะไร จิตตคฤหบดี ตอบว่า

“สิ่งอื่นที่ดีกว่า น่าปรารถนากว่า คือ ความศรัทธาอันแน่วแน่และมั่นคงในพระรัตนตรัย

อัมพาฏการามนั้นเป็นวัดที่ท่านสร้างและนิมนต์ให้พระมหานามะอยู่ประจำ แต่พระมหานามะพักอยู่ชั่วเวลาหนึ่งก็จาริกต่อไปที่อื่น พระเถระอื่น ๆ ก็แวะมาพักอยู่เสมอ ต่อมามีพระรูปหนึ่งนามว่า สุธรรมเถระ มาพำนักอยู่เป็นเวลานานกระทั่งเข้าใจว่าตัวท่านเป็นสมภารวัด พระสุธรรมเป็นปุถุชน จิตตคฤหบดี เป็นอริยบุคคลระดับอนาคามี ถือเพศฆราวาสแต่ก็ยังกราบไหว้พระภิกษุปุถุชน เพราะท่านถือว่าเพศบรรพชิตเป็น “ธงชัยแห่งพระอรหันต์

วันหนึ่ง พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกทั้งสองเดินทางผ่านมา จิตตคฤหบดีนิมนต์ให้ท่านทั้งสองพำนักอยู่ที่อัมพาฏการาม พร้อมนิมนต์ฉันภัตตาหารที่บ้านในวันรุ่งขึ้น จากนั้นจึงไปนิมนต์พระสุธรรมให้ไปฉันด้วย ฝ่ายพระสุธรรมถือตัวว่าเป็นเจ้าอาวาส เมื่อจิตตคฤหบดีให้ความสำคัญแก่พระอัครสาวกมากกว่าตนถึงกับนิมนต์ทีหลัง จึงไม่รับนิมนต์ ไม่ว่าจะอ้อนวอนอย่างไรก็ตาม

ตกเย็น ขณะที่จิตตคหบดีสั่งให้บริวารเตรียมภัตตาหาร พระสุธรรมได้เดินเข้าไปในคฤหาสถ์อย่างคนคุ้นเคย มองดูเหล่าภัตตาหารที่เตรียมไว้ แล้วจึงเปรยว่า “อาหารที่ท่านจัดเตรียมถวายพระพรุ่งนี้ดีทุกอย่าง ขาดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น” จิตตคฤหบดีถามขึ้นว่าขาดอะไรขอรับ พระคุณเจ้า

“ขนมแดกงา

คำตอบของพระสุธรรมทำให้จิตตคฤหบดีโกรธอย่างมาก ด้วยขนมแดกงานั้นมีนัยสำคัญถึงต้นตระกูลของท่านเมื่อครั้งยังยากจน ท่านจึงต่อว่าพระสุธรรมอย่างหนักเพื่อให้สำนึก แต่พระสุธรรมไม่สำนึกแถมโกรธตอบ ไปเข้าเฝ้ากราบทูลพระพุทธเจ้า แต่เมื่อพระพุทธองค์ทราบความโดยตลอดแล้วได้ตำหนิพระสุธรรม และมีบัญชาให้กลับไปขอขมาจิตตคฤหบดี ในครั้งแรกจิตตคฤหบดีไม่ยกโทษให้ พระสุธรรมจึงกลับไปเฝ้าพระศาสดาอีกครั้ง พระองค์ทรงแสดงธรรมให้พระสุธรรมฟังกระทั่งบรรลุพระอรหันต์ และให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นอนุทูตพาพระสุธรรมไปขอขมาจิตตคฤหบดีเป็นครั้งที่ 2 คราวนี้จึงได้รับการให้อภัย

แม้ว่าจิตตคฤหบดีจะมีปฏิภาณเฉียบแหลมและมีความสามารถในการแสดงธรรม ถึงกับได้รับการยกย่องในเอตทัคคะว่าเป็นเลิศกว่าผู้อื่นในทางธรรมกถึก ขณะที่พระสงฆ์บางรูปก็ยังมิได้หลุดพ้นและรู้ธรรมทัดเทียม แต่ถึงกระนั้นจิตตคฤหบดีก็ยังคงมีปมเขื่องแต่หนหลังที่แม้ธรรมขั้นสูงก็ไม่อาจข่มความโกรธได้ ชาดกเรื่องนี้จึงสะท้อนจริตของมนุษย์อย่างยากที่จะเข้าใจ และแก่นของเรื่องนี้อย่างหนึ่งที่สะท้อนคตินิยมในสมัยนั้นคือ ข้าวเหนียวแดกงา ว่าเป็นอาหารในหมู่ชนชั้นล่าง และคงจะเป็นที่เดียดฉันท์ แม้ชั้นลูกชั้นหลานที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน ซึมซับเพียงเรื่องราวที่มิได้ประสบมาด้วยตนเอง ก็ยังมองภาพขนมชนิดนี้เป็นของแสลง

ขนมแดกงา (ภาพจาก http://www.bansuanporpeang.com)

เนื่องจากขนมแดกงามีความเป็นมายาวนาน อย่างน้อยก็ถูกบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก จึงไม่อาจสืบค้นต้นกำเนิดที่ชัดเจนได้โดยง่าย แต่ละชนชาติก็คงทำกินกันมาช้านานและคงอ้างว่าตนเป็นต้นคิด ในฐานะที่มอญรับพุทธศาสนามาจากอินเดียก่อนใครก็คงได้รับเอาขนมแดกงามากินด้วย และก็ได้เชื่อถือกันมานานแล้วเช่นกันว่า ขนมแดกงาเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติมอญ ความที่ขนมชนิดนี้แพร่หลายมาช้านานแล้วจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มชนที่รู้จักกินขนมชนิดนี้ เช่น

คนไทยภาคกลางส่วนใหญ่รวบคำจากข้าวเหนียวแดกงาให้กระชับขึ้นเป็น ขนมแดกงา ภายหลังคนกรุงจำนวนหนึ่งทนฟังไม่ได้จึงได้ดัดลิ้นให้ไพเราะว่า ขนมงาดำ ในจังหวัดอุทัยธานีมีการพัฒนาการจนถึงขั้นใส่ไส้หวานไว้ข้างใน ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดใหญ่กว่าหัวแม่มือเล็กน้อย ที่แปลกกว่าใคร คือ พื้นที่แถบจังหวัดพิจิตร นิยมเรียกขนมอย่างนี้ว่า ขนมข้าวโปง หากเป็นย่านจังหวัดพิษณุโลก ในพิธีทำขวัญข้าว หรือรับขวัญแม่โพสพจากทุ่งนาก่อนเข้ายุ้งฉาง จะต้องเตรียมเครื่องเซ่น ประกอบด้วย กระบุงบายศรีปากชาม (เครื่องขอขมา) ขนม ได้แก่ ขนมแดกงา ขนมถั่ว ขนมปลากริม เผือก มัน (เป็นเครื่องบรรณาการ) ข้าวปากหม้อ ไข่ต้ม หมากพลู ด้ายขาว ด้ายแดง และดอกไม้ธูปเทียน (เครื่องบูชา)

ทางภาคเหนือเรียกว่า ขนมข้าวปุก ซึ่งในภาคเหนือและอีสานบางถิ่น ระหว่างโขลกข้าวเหนียวนึ่งปนงา จะมีการผสมน้ำตาลลงไปด้วย บางรายห่อด้วยใบตองเป็นชิ้นเล็ก บ้างเอามาแผ่ลงในถาด บ้างแบ่งออกเป็นก้อนย่างไฟ ชาวไทใหญ่รุ่นเก่า เรียกขนมชนิดนี้ว่าข้าวตำงาส่วนคนปัจจุบันจะเรียกว่าข้าวปุก” ชาวไทใหญ่จะทำขนมชนิดนี้ในช่วงปีใหม่ ถือเป็นขนมประจำเทศกาล ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย (เดือนเจียง) ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย (สยาม) ในอดีตอีกด้วย

ชาวไทใหญ่ในปัจจุบัน อธิบายความหมาย ขนมข้าวปุก (ปลุก) ว่า เป็นการปลุกให้คนไทใหญ่ตื่นตัวในการรักษาความเป็นไทใหญ่ อย่านอนเฉย คอยสอดส่องศัตรู แม้จะดูว่าอิงเข้ากับสถานการณ์กู้ชาติของกองทัพไทใหญ่ในปัจจุบัน แต่ก็ถือได้ว่าทุกสรรพสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงได้ เพราะหัวใจของวัฒนธรรมล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อรับใช้สังคมโดยธรรมชาติ อะไรที่ไม่สนองประโยชน์ก็ต้องถูกฝังกลบเป็นธรรมดา ถือว่าการเรียกชื่อข้าวปุกของคนไทใหญ่ เป็นการเลือกรับปรับใช้ให้เข้ากับบริบทเฉพาะตน ตราบใดที่ขนมข้าวปุกยังทำหน้าที่รับใช้สังคมไทใหญ่ได้ต่อไป

ทางอีสานเรียกขนมชนิดเดียวกันนี้ว่า ขนมข้าวเปียง คำว่า ข้าวเปียง นี้เชื่อกันว่า น่าจะมาจากภาษามอญ นั่นคือคะเปียง” (Kepcj) ที่แปลว่าขนมชนิดหนึ่งทำจากข้าวเหนียวและงาดำ ปัจจุบัน ข้าวเหนียวแดกงามีการดัดแปลงกันไปหลายรูปแบบ แต่สำหรับคนมอญส่วนใหญ่ยังคงรักษาแบบดั้งเดิม ไม่มีไส้ เวลากินจิ้มน้ำผึ้งหรือน้ำตาลทราย เนื่องจากปัจจุบันหาน้ำตาลทรายได้ง่ายกว่า ในอดีตถือว่าน้ำผึ้งนั้นเป็นของสำคัญและมีประโยชน์มาก ตามคติของมอญจึงได้จัดให้มีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เพื่อให้พระสงฆ์อาพาธได้ใช้น้ำผึ้งเป็นกระสายยา

ปฏิทินประเพณี 12 เดือน ของชาวมอญราชบุรี (เดือน 10 ตำข้าวเหนียวแดกงา)

ขนมแดกงา ใช้วัตถุดิบเพียง 4 ชนิด สามารถซื้อหาได้ง่าย ๆ คือ ข้าวเหนียว งาดำ เกลือ และน้ำผึ้งหรือน้ำตาลทราย วิธีทำเริ่มจาก นึ่งข้าวเหนียวจนสุก คั่วงาดำให้เหลืองหอม นำข้าวเหนียวนึ่งสุกลงครกอย่างที่ใช้ตำข้าว ระหว่างตำให้โรยงาสลับกันไปเรื่อยๆ เหยาะน้ำเกลือ (เกลือละลายน้ำ) ลงไปตำจนแหลกเหนียวเป็นเนื้อเดียวกัน คนมอญในเมืองมอญ (ประเทศพม่า) บางรายชอบให้มีรสมัน นิยมใส่มะพร้าวห้าวขูดฝอยลงไปด้วยระหว่างตำ พอได้ที่นำออกมาจากครกปั้นเป็นแผ่นเล็ก ๆ คล้ายทอดมันปลา จิ้มกินกับน้ำผึ้งหรือน้ำตาลทราย

คนชนบทในอดีต กินอยู่กันแบบคนกันเอง ผู้คนแวดล้อมก็ล้วนเครือญาติเพื่อนบ้านคุ้นเคย มีของกินของใช้ดี ๆ ก็คิดถึงเพื่อนบ้านญาติพี่น้อง ที่สำคัญคือ พระสงฆ์ที่วัด แม้แต่กิจกรรมยามว่างหลังหน้าเก็บเกี่ยว ทั้งที่เป็นเรื่องปากเรื่องท้องแต่ไม่วายนึกถึงและนำพาไปเกี่ยวพันกับศาสนา โดยพ่วงความสนุกสนานจนเกิดเป็นงานประเพณีขึ้น นั่นคือ ประเพณีเดือน 10 หนึ่งในประเพณี 12 เดือนของมอญ (ทุกวันนี้ยังคงเหลืออยู่แถบราชบุรี) ข้าวใหม่ที่ได้มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ชาวบ้านจะตำข้าวเหนียวแดกงาไปถวายพระก่อนเป็นสิริมงคล เท่ากับได้ออกวัดทำบุญพบปะสังสรรค์ระหว่างพักผ่อนและพักนา แดดร่มลมตกก็รวมกลุ่มกันตรงลานวัดลานบ้าน เล่นผีกระด้ง ผีกะลา ผีสุ่ม ผีข้อง ผีลิงลม สนุกสนานกันตามประสา ถึงปีหน้าฟ้าใหม่ก็ไถคราดหว่านดำทำนาหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวงล้อของฤดูกาล

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2562