รัชกาลที่ 4 ออกประกาศ ควรใช้คำว่า “ใส่” ให้ถูกต้อง ใส่หมวก-สวมหมวก, ใส่ยา-ทายา

รัชกาลที่ 4
สมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้แต่งทูตมาแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อ พ.ศ. 2406 และได้ทูลเกล้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลยอง ดอนเนอร์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2410 เพื่อทรงรับราชทูตฝรั่งเศสอีกคณะหนึ่ง จึงทรงสายสะพายเลยอง ดอนเนอร์พร้อมดารา เพื่อเป็นเกียรติยศแด่ชาวฝรั่งเศส (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพเหตุการณ์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์)

ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความลื่นไหล มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอยู่เสมอ ช่วงไม่กี่ปีนี้มีการรณรงค์ให้ตระหนักใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการเขียน เพราะในโลกสังคมออนไลน์มักมีการใช้ภาษาไทยผิดกันบ่อยครั้ง ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ กรณีผิดแบบตั้งใจนั้นดูเป็นเรื่องของการใช้ภาษาเพื่อความสะดวก รวดเร็ว หรือเพื่อความบันเทิง ทว่าการตระหนักใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องนั้นเคยมีปรากฏมาแล้วในสมัย รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงให้ออก “ประกาศให้ใช้คำว่าใส่ในที่ควร” เมื่อ พ.ศ. 2411 เกี่ยวกับการใช้คำว่า “ใส่” ให้ถูกต้อง โดยระบุว่า ควรให้ใช้คำว่า “ใส่” กับของไม่มีตัว อันหมายถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นนามธรรม คือ ใส่ความ ใส่โทษ เอาใจใส่ ใส่ใจรักใคร่ ใสจริต เป็นต้น

แต่คำว่า “ใส่” จะนำไปใช้กับของมีตัวหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นรูปธรรมไม่ได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างคำตามที่มีระบุไว้ในประกาศฉบับนั้น ดังนี้

คำที่มักใช้ คำที่แนะให้ใช้
ใส่บาตร ตักบาตร
ใส่เสื้อ ห่มเสื้อ
ใส่กางเกง นุ่งกางเกง
ใส่หมวก สวมหมวก
ใส่กระดุม ขัดกระดุม
ใส่กำไล สวมกำไล
ใส่ปิ่น ปักปิ่น
ใส่สร้อย ผูกสร้อย
ใส่จี้ ผูกจี้
ใส่โซ่ตรวน จำโซ่ตรวน
ใส่ขื่อ จำขื่อ
ใส่คา จำคา
ใส่คุก จำคุก, ขึ้นคุก, ส่งคุก, ขังคุก, เข้าคุก
ใส่ตะราง (สะกดตามประกาศ) ขังตะราง (สะกดตามประกาศ)
ใส่ทิม ขังทิม
ใส่เล้า ขังเล้า
ใส่กรง ขังกรง, ไว้ในกรง
ใส่หม้อ กรอกหม้อ
ใส่ไห กรอกไห
ใส่ขวด กรอกขวด
ใส่เรือ บรรทุกเรือ
ใส่คลัง ขึ้นคลัง, ส่งคลัง, เข้าคลัง, เก็บไว้ในคลัง
ใส่กุญแจ ลั่นกุญแจ
ใส่กลอน ขัดกลอน

 

และมีคำในบางกรณีที่ได้อธิบายอย่างละเอียด เช่น

คำว่า ใส่หีบ ใส่ตู้ ใส่ถุง หากพูดถึงสิ่งของ ควรใช้คำว่า ของในหีบ ในตู้ ในถุง หากพูดเป็นคำกริยาควรใช้คำว่า เข้าหีบ เข้าตู้ เข้าถุง และคำว่า ใส่ช้าง ใส่เกวียน ใส่ต่าง หากของมีจำนวนมาก ควรใช้คำว่า บรรทุกช้าง บรรทุกเกวียน บรรทุกต่าง หากของมีจำนวนน้อย ควรใช้คำว่า ขึ้นช้าง ขึ้นเกวียน ขึ้นต่าง

ดังนั้น ใส่ ที่เป็นคำกริยานั้นควรจะนำมาใช้ให้ถูกต้อง โดยต้องพิจารณาจากกิริยาการกระทำนั้น ๆ ให้ดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่น การ “ทา” ยา ก็ควรใช้คำว่า ทา ไม่ควรใช้คำว่า ใส่ยา อย่างไรก็ดี คำว่า “ใส่” ถูกใช้กันจนติดปากไปเสียแล้ว ขณะที่เว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของ “ใส่” ว่า “ก. สวม เช่น ใส่เสื้อ ใส่กางเกง, เอาไว้ข้างในภาชนะหรือสถานที่เป็นต้น เช่น กรอกน้ำใส่ขวด นำนักโทษไปใส่คุก, บรรทุก เช่น เอาสินค้าใส่รถ.”

แต่จะเลือกใช้คำกิริยาที่เหมาะสมมากกว่าคำว่า “ใส่” หรือไม่นั้น หากพูดว่า “ใส่เสื้อ” แล้วผู้ฟังเข้าใจ นั่นก็ถือว่าภาษาได้ทำหน้าที่ของการ “สื่อสาร” ได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พุทธศักราช 2405-2411, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร. (2541). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2562