ต้นตอบท “ลี้คิมฮวง” บู๊อริใน “ฤทธิ์มีดสั้น” ฤๅ “โกวเล้ง” อ้างอิงปรัชญาเซนไม่ตรงต้นฉบับ?

กำลังภายใน กังฟู การต่อสู้ ตี๋เหรินเจี๋ย
ภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น - ภาพจำลองการต่อสู้ด้วยศิลปะป้องกันตัว

อีกหนึ่งผลงานนิยายกำลังภายในชิ้นเอกของ โกวเล้ง อย่าง “ฤทธิ์มีดสั้น” หรือ “เซี่ยวลี้ปวยตอ มีดบินไม่พลาดเป้า” สร้างชื่อให้กับนักเขียนดังและยังเป็นหลักไมล์ใหม่ในการสร้างสรรค์งานด้วยลีลาการเขียนที่แตกต่าง โดยเฉพาะการหยิบยกแง่มุมในเชิงปรัชญาเข้ามาประยุกต์ผสมผสาน ซึ่งฉากหนึ่งที่คอกำลังภายในน่าจะจดจำกันได้ดี คือ การประลอง (ภูมิ) ระหว่าง ลี้คิมฮวง (สำนวนแปลของ น.นพรัตน์ เรียก “ลี้ชิมฮัว”) กับ เซี่ยงกัวกิมฮ้ง คู่อริตลอดกาล เชือดเฉือนคารมว่าด้วยสุดยอดวิชาบู๊ ซึ่งบทนี้ถูกมองว่าได้รับอิทธิพลมาจากโศลกแบบเซนที่โด่งดัง

***เนื้อหานี้เปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญส่วนหนึ่งในนิยาย***

เป็นที่ทราบกันว่า โกวเล้ง เขียน “ฤทธิ์มีดสั้น” ขึ้นโดยผสมผสานแรงบันดาลใจจากผลงานแบบคาวบอยตะวันตกแนว “สิงห์ (ชัก) ปืนไว” และยังมีกลิ่นอายของการสืบสวนสอบสวน (ในช่วงจอมโจรดอกเหมย) ขณะเดียวกันเนื้อหารายละเอียดบางส่วนในเรื่องก็ยังได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาแบบเซน และประยุกต์มาใช้เป็นบทสนทนาของตัวละครสำคัญในฉากที่โดดเด่นอีกตอน

ตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ บทสนทนาในช่วงที่ ลี้คิมฮวง (ลี้ชิมฮัว) เจ้าของ “มีดบินไม่พลาดเป้า” เผชิญหน้ากับ เซี่ยงกัวกิมฮ้ง คู่อริผู้มากอิทธิพลที่ใช้ “ห่วง” เป็นอาวุธ

ในที่นี้จึงขอยกเนื้อหาส่วนหนึ่งมาแสดงเป็นตัวอย่างสำหรับการเปรียบเทียบ สำหรับสำนวนแปลของ ว. ณ เมืองลุง มีใจความดังนี้

“เซี่ยงกัวกิมฮ้ง เน้นทีละคำ ‘มีดของท่านเล่า’

ลี้คิมฮวงพลิกมือวูบ ปลายนิ้วมีมีดสั้นอยู่เล่มหนึ่งทันที นิ้วที่ยาวมีพลังเข้มแข็ง เล็บตัดไว้สะอาดเรียบร้อย

‘ห่วงของท่านเล่า’
‘ห่วงอยู่’
‘อยู่ที่ใด’
‘อยู่ในหัวใจ’
‘อยู่ในหัวใจ?’
‘ในมือเราแม้ไม่มีห่วง แต่ในใจกลับมีห่วง ตั้งแต่เมื่อเจ็ดปีก่อนในมือเราก็ไม่มีห่วงแล้ว’
‘นับถือ’
‘ท่านเข้าใจ?’
‘เลิศล้ำปานเนรมิต ไร้ห่วงไร้เงา ไม่มีร่องรอยพอสืบสาว ไม่มีความแกร่งกร้าวพอทนทานได้’
‘ประเสริฐมาก นับว่าท่านเข้าใจจริงๆ’
‘เข้าใจก็เป็นไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจก็เป็นไม่เข้าใจ'”

เมื่อสนทนากันถึงตอนนี้ ผู้อ่านอาจซึมซับกับความรู้สึกต่อแนวคิดลึกซึ้งว่าด้วยฝีมืออันล้ำเลิศของทั้งคู่ แต่มีตัวแปรอีกประการ นั่นคือตัวละคร “ชายชรากับหลาน” ที่สนทนากันเป็นลูกคู่สอดแทรกขึ้นมาตอบโต้แนวคิดของลี้คิมฮวง และเซี่ยงกัวกิมฮ้ง ข้อความที่ชายชราสนทนากับหลานสาว สำนวน ว. ณ เมืองลุง มีดังนี้

“‘ที่พวกมันจะต่อสู้เนื่องเพราะพวกมันความจริงไม่รู้แก่นแท้ของหลักวิชาบู๊เลย พวกมันเข้าใจว่าในมือไร้ห่วง ในใจมีห่วง ก็นับว่าถึงสุดยอดของแก่นวิชาบู๊แล้ว ความจริงยังห่างไกลอีกไกลนักดอก ยังห่างอีกสิบหมื่นแปดพันลี้’

‘ต้องอย่างไรจึงนับว่าถึงจุดสุดยอดของวิชาบู๊จริงๆ’

‘ต้องให้ในมือไร้ห่วง หัวใจไร้ห่วง เมื่อถึงระดับห่วงก็คือเรา เราก็คือห่วง จึงนับว่าพอจะใช้ได้’

‘พอจะใช้ได้ หมายความว่ายังด้อยอยู่อีกเล็กน้อย’

‘ใช่ ยังด้อยอยู่อีกเล็กน้อย’ หยุดชั่วขณะ แล้วชายชราจึงกล่าวช้าๆ

‘สุดยอดของหลักวิชาบู๊ที่แท้จริงจะต้องสามารถเลิศพิสดารปานปาฏิหาริย์ถึงระดับไร้ห่วงไร้เรา ลืมห่วงลืมเราไปสิ้น นั่นจึงจะบรรลุในทุกสรรพสิ่ง ทำลายในทุกสรรพสิ่งได้'”

วาทะท้ายสุดท้ายจาก “ชายชรา” ในใจความข้างต้นนั้น ตามความคิดเห็นของ เสถียร จันทิมาธร ถือว่าเป็นการตีความธรรมะเข้าสู่แก่นแห่งวิชาฝีมือโดยแท้ ซึ่งโครงเนื้อหาของบทสนทนานี้ โกวเล้งนำเอารายละเอียดมาจากการประชันโศลกของ “เซ่งสิ่ว” และ “ฮุ่ยเล้ง” มาสวมเข้าในบท โดยเปรียบเทียบกับตัวละคร “ลี้คิมฮวง” และ “เซี่ยงกัวกิมฮ้ง”

ฮุ่ยเล้ง (เว่ยหล่าง) เป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 6 ในนิกายเซน สืบทอดตำแหน่งจากพระสังฆปริณายกแห่งนิกายเซนองค์ที่ 5 ฮ่งยิ้ม เจ้าอาวาสวัดตังเซี้ยม (ตุงซั่น) ขณะที่ เซ่งสิ่ว เป็นผู้นำศิษย์ และผู้ทำหน้าที่แนะนำสั่งสอนอบรมพระเณรอื่นในวัด

ฮุ่ยเล้ง (เว่ยหล่าง) เป็นผู้เขียนคัมภีร์ศาสนาพุทธนิกายเซน ซึ่งชาวไทยรู้จักกันดีในชื่อ “สูตรของเว่ยหล่าง” ซึ่ง ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยแปลออกมาเมื่อ พ.ศ. 2496 เนื้อหาว่าด้วยคำสอนช่วงการสืบทอดตำแหน่งจากพระสังฆปริณายกแห่งนิกายเซนองค์ที่ 5 ฮ่งยิ้ม หลังจากนั้นก็มีหนังสือ “ภาพบรรยายชีวประวัติและธรรม ของพระสังฆปริณายก องค์ที่ 6 ฮุ่ยเล้ง (เว่ยหล่าง)” โดย คณะสงฆ์จีนนิกาย เผยแพร่ออกมา ซึ่งเสถียร จันทิมาธร บรรยายว่า ฉบับนี้บอกเล่าเรื่องในลักษณะประวัติของฮุ่ยเล้งแบบ “เพริศแพร้วพรรณราย” เข้าไปอีก

หนังสือฉบับนี้บรรยายประวัติของพระสังฆปริณายก องค์ที่ 6 ฮุ่ยเล้ง (เว่ยหล่าง) ว่าท่านกำเนิดในที่มณฑลเนี่ยน้ำ เมืองซิงจิว สมัยราชวงศ์ถัง ในไท่จงเจงก่วน ปีที่ 12 (ค.ศ. 638) เป็นบุตรของอดีตข้าราชการแห่งเกาโจ้วที่ถูกถอดจากตำแหน่ง และถูกเนรเทศมาอยู่ที่ซิงจิว ภายหลังบิดาถึงแก่กรรม มารดาจึงย้ายถิ่นมาอยู่ที่น่ำไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง และเข้ากราบนมัสการพระสังฆปริณายกแห่งนิกายเซนองค์ที่ 5 ฮ่งยิ้ม ขอฝากตัวเพื่อหวังเป้าในความเป็นพุทธะ

รายละเอียดบางส่วนผสมเรื่องราวทำนอง “ตำนาน” ในที่นี้ขอตัดมาถึงประเด็นสำคัญที่โศลกของเซ่งสิ่ว และฮุ่ยเล้ง ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากพระสังฆปริณายกแห่งนิกายเซนองค์ที่ 5 ฮ่งยิ้ม สั่งการให้บรรดาศิษย์เขียนโศลกมาส่ง พร้อมระบุว่า ถ้าพิจารณาเนื้อหาแล้วทำให้เห็นว่า ผู้เขียนเข้าใจ “จิตเดิมแท้” แล้ว ผู้เขียนจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์ พร้อมทั้งธรรมะแห่งนิกายเซน และได้รับสถาปนาเป็นพระสังฆปริณายกแห่งนิกายเซนองค์ที่ 6

โศลกที่โกวเล้งหยิบมาใช้เปรียบเทียบในนิกายกำลังภายในนั้น เป็นโศลกของเซ่งสิ่วและฮุ่ยเล้ง ว่าด้วย “กระจกเงา และต้นโพธิ์” เซ่งสิ่วเขียนโศลกที่ผนังช่องทางเดินทิศใต้ของวัด มีฉบับแปลภาษาไทยหลายฉบับ อาทิ “ภาพบรรยายชีวประวัติและธรรม ของพระสังฆปริณายก องค์ที่ 6 ฮุ่ยเล้ง (เว่ยหล่าง) โดย “คณะสงฆ์จีนนิกาย” เป็นการแปลจากภาษาจีนและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย เย็นอิมภิกขุ และ หนังสือ “สูตรของเว่ยหล่าง” ฉบับแปลโดยพุทธทาสภิกขุ ท่านแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งว่องมูล่ำแปลจากภาษาจีน

โศลกของเซ่งสิ่ว ฉบับเย็นอิมภิกขุ มีใจความดังนี้

กายนี้อุปมาเหมือนดั่งต้นโพธิ์
ใจนี้อุปมาเหมือนดั่งกระจกเงาใส
จงหมั่นเช็ดถูอยู่ทุก-ทุกกาลเวลา
อย่าให้ฝุ่นละอองเข้าจับคลุมได้

ฉบับแปลโดยบุคคลอื่นอีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นท่านพุทธทาสภิกขุ, เสถียร โพธินันทะ, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้ภาษาแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ใกล้เคียงกัน และสื่อใจความทิศทางเดียวกัน

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 5 ฮ่งยิ้ม เห็นว่า โศลกนี้ “ยังไม่รู้แจ้งจิตเดิมแท้ แค่มาถึงนอกประตูแห่งการบรรลุธรรม แต่ยังไม่ก้าวข้ามธรณีแห่งประตู”

ขณะที่โศลกของฮุ่ยเล้ง สำนวนแปลของท่านเย็นอิมภิกขุ มีดังนี้

ต้นโพธิ์เดิมหามีต้นไม่
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใส
มูลเดิมไม่มีอะไรสักอย่าง
แล้วฝุ่นละอองจะลงจับอะไร

สำนวนแปลของท่านพุทธทาสภิกขุคือ

ไม่มีต้นโพธิ์
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว
ฝุ่นจะลงจับอะไร

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบโศลกของเซ่งสิ่ว กับฮุ่ยเล้งแล้ว เสถียร จันทิมาธร แสดงความคิดเห็นว่า โศลกของรายแรกยืนยันถึงการดำรงอยู่และตั้งมั่นของกายและใจ เสมือนโพธิ์กับกระจกเงา

ขณะที่โศลกของฝ่ายหลังยืนยันถึงการไม่ดำรงอยู่ ไม่ตั้งมั่นของทั้งต้นโพธิ์และกระจกเงา เมื่อไม่มีและอยู่ในสภาพว่างลง ฝุ่นละอองย่อมยากจับคลุมได้

จะเห็นได้ว่าบทช่วงลี้คิมฮวงประลองยุทธ (วาทะ) ถูกประยุกต์มาจากโศลกของเซ่งสิ่วและฮุ่ยเล้ง แต่รายละเอียดในส่วนต่อมาที่โกวเล้งกล่าวอ้างถึงนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ฤา “โกวเล้ง” ใส่รายละเอียดที่อ้างอิงไม่ตรงข้อเท็จจริง?

ในบทช่วงต่อมาที่ชายชราและหลานสาวบรรยายขึ้นต่อนั้น โกวเล้งระบุว่าโศลกแรกเป็นของพระสังฆปรินายก องค์ที่ 5 แต่เสถียร จันทิมาธร แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อเทียบกับโศลกของเซ่งสิ่วแล้ว ย่อมเห็นได้ว่ามีเนื้อหามาจากโศลกของเซ่งสิ่ว แต่สาเหตุที่โกวเล้งอ้างอิงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงนั้น ไม่สามารถหาเหตุผลอธิบายได้อย่างชัดเจน

ข้อความต่อจากที่ยกมาข้างต้นอันมาจากนิยาย “ฤทธิ์มีดสั้น” (มีดบินไม่พลาดเป้า) สำนวนแปลของ ว. ณ เมืองลุง มีว่า

“ตอนเซี่ยงจง (ปัญญาบารมีภิกขุ) แสดงธรรมเทศนาโง้วโจ๊ว (มหาสมณะที่ 5) ได้เทศน์ขึ้น

สังขารดุจต้นโพธิ์
หัวใจดุจกระจกใส
หมั่นเพียรเช็ดถูไว้
ไม่ให้มีธุลีติดได้

นับเป็นหลักการที่ลึกซึ้งแล้ว
เสียงชายชรากล่าว ‘เหตุผลนี้ก็เช่น ห่วงก็คือเรา เราก็คือห่วง ฝึกถึงระดับนั้นนับว่าไม่ง่ายดาย’
เสียงดรุณีน้อยกล่าว ‘แต่มหาสมณะที่ 6 (ลักโจ๊ว) ฮุ่ยเล้ง ยิ่งเทศน์ได้เลิศกว่า โดยท่านว่า’

ต้นโพธิ์ความจริงหาใช่ไม้
กระจกมิใช่กระจกใส
ความจริงไร้วัตถุใดๆ
ไปมีธุลีได้อย่างไร

‘ใช่แล้ว นี่จึงนับเป็นแก่นธรรมอันเลอเลิศสุดของเซี่ยงจง เมื่อถึงระดับนั้นจึงถึงระดับเทพยดาอันสูงส่ง แต่เสียดายที่มีบ้างบางคนยังไม่เข้าใจ พอถึงระดับมือไร้ห่วง หัวใจมีห่วง ก็อิ่มเอมเปรมใจ หลงทะนงโอหัวในตัวเอง โดยมิทราบว่านั่นเป็นระดับเพิ่งก้าวข้ามประตูเท่านั้น

‘จะเข้าในห้องใหญ่ยังมีระยะห่างไกลนักดอก’

เรื่องราวและรายละเอียดในเส้นทางของพระสังฆปริณายก องค์ที่ 6 ฮุ่ยเล้ง (เว่ยหล่าง) ยังมีอีกมากก่อนที่จะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นเครื่องหมายดำรงตำแหน่ง แต่หากจะตอบคำถามว่า ทำไมเซ่งสิ่ว ศิษย์ที่ช่วยสอนและอธิบายความหมายพระสูตรอันลึกซึ้งต่างๆ ได้ กลับไม่ได้รับกาสาวพัสตร์นั้น

คำตอบส่วนหนึ่งอยู่ในหนังสือ “คำสอนของฮวงโป” ที่ท่านพุทธทาสภิกขุแปลจากเรื่อง The Zen Teaching of Huang Po ฉบับ John Bolfeld แปลจากภาษาจีนอีกทอด

หนังสือเล่มนี้ให้เหตุผลว่า เพราะว่าท่านเซ่งสิ่วยังคงปล่อยตนในความคิดปรุงแต่งในธรรมที่นำไปสู่การกระทำ กล่าวคือ ท่านยังยึดถือประโยคที่ว่า “เมื่อเธอปฏิบัติจึงจะบรรลุ” เป็นของจริงอยู่ ใจความในการอธิบายจากหนังสือ “คำสอนของฮวงโป” มีว่า

“ท่านฮุ่ยเล้ง ได้บรรลุถึงความเข้าใจซึมซาบชนิดที่ไม่ต้องมีคำพูด และได้รับธรรมหฤทัยอันลึกซึ้งที่สุดของพระตถาคตไปอย่างเงียบกริบ

นั่นแหละคือข้อที่ว่า ธรรมนั้นจึงถูกถ่ายทอดไปที่ท่าน

พวกเธอไม่เห็นว่า หลักคำสอนอันเป็นรากฐานของธรรมนั้นคือหลักที่ว่าไม่มีธรรม ถึงกระนั้น หลักที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละเป็นธรรมอยู่ในตัวมันเอง

และบัดนี้ หลักที่ว่าไม่มีธรรมนั้น ก็ได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว หลักที่ว่า มีธรรม จะเป็นธรรมได้อย่างไรกัน

ใครก็ตามเข้าใจซึมซาบความหมายของข้อความนี้ ย่อมควรจะได้นามว่า ภิกษุ คือผู้ซึ่งเชี่ยวชาญต่อ ‘ธรรมปฏิบัติ'”

ข้อความข้างต้นย่อมเป็นเรื่องยากจะเข้าใจ แม้แต่ท่านพุทธทาสภิกขุ ทำเชิงอรรถอธิบายว่า “ข้อความนี้เป็นข้อความที่เข้าใจได้ยากที่สุด แม้ผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ลงเชิงอรรถไว้ว่า ผู้แปลเองก็ไม่ทราบว่าของเดิมมีความหมายอย่างไร…”

กรณีนี้เสถียร จันทิมาธร ปลอบใจผู้ที่คิดว่าอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ พร้อมชักชวนให้ศึกษาเพิ่มเติมต่อ ในที่นี้ขอยกบทสรุปอันรวบรัดของท่านฮวงโป ยกมาให้อ่านปิดท้ายว่า

“ท่านอาจารย์ผู้ก่อกำเนิดนิกายเซนของเราไม่ได้สอนอะไรให้แก่สาวกของท่านเลย นอกจากการทำให้ว่างไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งนำไปสู่การเพิกถอนเสียซึ่งความรู้สึกต่างๆ ทางอายตนะ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เสถียร จันทิมาธร. เส้นทางสาย ZEN. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2562