เผยแพร่ |
---|
นับตั้งแต่ล้านนาถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ (อย่างไม่เป็นทางการ) ตั้งแต่รัสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายฝ่ายเหนือกับเจ้านายกรุงเทพฯ นั้นถูกประสานให้แนบชิดกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นับแต่นั้นมาเจ้านายกรุงเทพหลายพระองค์จึงเสด็จดินแดนล้านนา (ต่อไปจะเรียก มณฑลฝ่ายเหนือ เพื่อความสะดวก) มากยิ่งขึ้น ทั้งไปรับราชการ เป็นผู้แทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และเสด็จประพาส
เมื่อมีแขกบ้านแขกเมืองที่เป็น “เจ้า” เสด็จเยือน ตามประเพณีของล้านนาแล้วก็จำต้องมีการจัดพิธีต้อนรับเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล เช่น กระบวนแห่รับเสด็จเข้าเมือง พิธีทูลพระขวัญ และการฟ้อนของเจ้านายฝ่ายเหนือทั้งผู้ชายและผู้หญิง
สู่ขวัญ
การสู่พระขวัญหรือทูลพระขวัญเป็นประเพณีของชาวล้านนามาแต่โบราณกาล มีความเชื่อว่าหากคนที่เดินทางไกลไปต่างถิ่นเป็นเวลานาน บางทีอาจประสบความเหนื่อยยากในการเดินทาง มีความคิดถึงบ้าน หรือต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทําให้ตกใจและเสียขวัญ เมื่อกลับมาถึงบ้านเรือนของตนแล้ว ก็นิยมเอาธูปเทียนดอกไม้ไปบูชากราบไหว้พระสงฆ์และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเช่นบิดามารดา เพื่อขอให้ท่านซึ่งมีวัยวุฒิเหล่านั้นเรียกขวัญและปลอบอกปลอบใจให้ขวัญกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว
โดยมักจะขอให้พระหรือคนเฒ่าคนแก่ทําพิธีผูกข้อไม้ข้อมือเรียกขวัญ ในการนี้ท่านจะกล่าวถ้อยคําอันเป็นสิริมงคล เรียกขวัญแล้วอํานวยอวยพรให้พ้นภัยพิบัติและอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป การกล่าวคําเรียกขวัญนี้ บางทีท่านจะกล่าวเป็นโคลงกลอน และอาจกล่าวเป็นทํานองที่มีเสียงไพเราะ ภายหลังได้ขยายการทําดอกไม้บูชาเป็นพุ่มงดงามเรียกว่าบายศรี ประกอบด้วยเครื่องเซ่นไหว้เพิ่มเติม โดยเฉพาะในการต้อนรับคนต่างถิ่นหรือผู้มีเกียรติที่มาเยี่ยมเยือน ถ้าเป็นงานต้อนรับขนาดใหญ่มากก็มักจะมีขบวนแห่ด้วย
พิธีทูลพระขวัญเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์กระทำขึ้นเพื่มเสริมสร้างความสิริมงคลในวาระสำคัญต่าง ๆ ตามความเชื่อของชาวเหนือเชื่อว่าในร่างกายประกอบด้วยธาตุและขวัญทั้ง 32 ที่เปรียบเสมือนจิตที่เข้ามาควบคุมให้สัมพันธ์กับร่างกายให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ ส่วนการฟ้อนก็เป็นการร่ายร่ำถวายการต้อนรับ ซึ่งมักถือปฏิบัติกันอยู่เสมอทั้งในกระบวนแห่รับเสด็จและในพิธีทูลพระขวัญจะฟ้อนนำหรือต่อท้ายกระบวนเครื่องบายศรีทูลพระขวัญ
รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ มณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2448 ตามพระบรมราชโอการของรัชกาลที่ 5 ที่มีพระราชประสงค์ให้เสด็จขึ้นไปตรวจราชการในมณฑลฝ่ายเหนือ ในครั้งนั้น รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ “ลิลิตพายัพ” ทรงแต่งลิลิตเป็นเสมือนบันทึกตลอดเวลาการเดินทางตั้งแต่เสด็จฯ ออกจากกรุงเทพฯ จนเสด็จนิวัติพระนคร ระยะเวลาตั้งแต่ 31 ตุลาคม พ.ศ 2448 ถึง 31 มกราคม พ.ศ. 2449 (นับศักราชแบบใหม่) เป็นเวลากว่า 3 เดือน
จุดที่น่าสนใจในลิลิตเรื่องนี้คือ เมื่อเสด็จข้ามเขตเมืองใดก็ตาม เจ้าเมืองนั้น ๆ ก็จะมารับเสด็จต่อทันที เช่นเมื่อเสด็จฯ ออกจากเมืองแพร่ถึงบริเวณเขตแดนระหว่างเมืองแพร่กับเมืองลำปาง เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าเมืองลำปางจะมาคอยรับเสด็จบริเวณนั้น มิได้รอรับเสด็จในตัวเมือง และเมื่อเสด็จฯ เข้าสู่เมืองนั้น ๆ ก็จะมีกระบวนแห่รับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ ในการเสด็จฯ เมืองลำปาง เชียงใหม่ และลำพูน เจ้านายฝ่ายเหนือแต่ละเมืองได้จัดพิธีทูลพระขวัญอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งทรงประพันธ์ถ้อยคำทูลพระขวัญเป็นโคลงไว้อย่างละเอียดและงดงาม ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 ขณะเสด็จฯ เมืองลำปาง ทรงประพันธ์ถึงการฟ้อนของเจ้านายฝ่ายเหนือเมืองลำปาง ความว่า
ขบวนบอกไฟล้วน ผจงถวาย
คู่แห่กุมธุชกราย ออกหน้า
ราชบุตรและเจ้านาย ฟ้อนเฉิด ฉายพ่อ
เสียงปี่เป่าเสียงจ้า แจ่มแจ้วจังหวะเจนฯ
และเมื่อเสด็จฯ เมืองลำพูน ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ทรงประพันธ์ความว่า
ทรงธรรม์จากวัดแล้ว เสด็จตรง
ทอดพระเนตร์ไฟผจง จัดไว้
ราชภาติกะวงศ นำน่า ฟ้อนแฮ
จุดเสร็จครบหมดไท้ กลับเจ้า คืนจวน
รัชกาลที่ 7
ครั้นเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์มีพระราชดำริเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ. 2469 จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกที่ได้เสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ ตามพระราชปรารถความว่า
“…นับว่ายังไม่มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์ใดได้เสด็จพระราชดำเนินไปเลย จริงอยู่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (บางทีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปแล้ว แต่เสด็จไปเมื่อยังมิได้ราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตราธิราช เพราะฉะนั้น หากครั้งนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังมณฑลพายัพ ก็ต้องนับว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปยังมณฑลนั้น… “
รัชกาลที่ 7 เสด็จมณฑลฝ่ายเหนือพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ แพทย์ประจำพระองค์รัชกาลที่ 7 และหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นต้น โดยเสด็จฯ ทางรถไฟ เมื่อเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็มีกระบวนแห่รับเสด็จเข้าเมือง ถือเป็นพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ตามที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล บันทึกไว้ว่า
“…วันเสด็จถึงเมืองเชียงใ
เสียงฆ้องกลองและสีสันของกร
วันต่อมามีการจัดพิธีทูลพระขวัญเพื่อถวายความเป็นสวัสดิมงคลแก่รัชกาลที่ 7 กระบวนแห่พิธีทูลพระขวัญมีมากถึง 20 กระบวนจากหลายกลุ่มชนพื้นเมือง บริษัทเอกชน ข้าราชการ นักเรียน แต่ละกระบวนจะมีผู้ถือพานไม้ธูปเทีนยถวาย หากกระบวนใดเป็นชนพื้นเมืองก็จะนำเครื่องดนตรีของกลุ่มตนนำหน้ากระบวนและบรรเลงอย่างสนุกสนาน ในกระบวนแห่พิธีทูลพระขวัญจะมีการแห่บายศรีทูลพระขวัญ และเจ้านายฝ่ายเหนือฟ้อนอย่างสวยงาม
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกว่า ตามประเพณีของทางเหนือแล้วหากมีแขกต่างบ้านต่างเมืองมาถึง เจ้าเมืองจะต้องออกมาฟ้อนรับเป็นการแสดงความยินดีรวมถึงการทำขวัญ ที่มีการให้พร ผูกข้อไม้ข้อมือ เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้นั้น ในวันพิธีนั้นรัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จฯ พระราชินีประทับ ณ พลับพลา หน้าศาลากลาง (ปัจจุบันที่ตั้งพลับพลาเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์) กระบวนนำมาด้วยบายศรีใหญ่สำหรับรัชกาลที่ 7 “…หลังบายศรีอันหน้าก็ถึงเจ้า
จากนั้นเป็นกระบวนบายศรีเล็กสำหรับสมเด็จพระราชินี หลังบายศรีก็เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือผู้หญิงตามมาเป็นกระบวนเช่นกัน เมื่อถึงหน้าพลับพลาแล้วเจ้านายฝ่ายเหนือทุกพระองค์ก็ยกมือรำขึ้นถวายบังคมแล้วฟ้อนร่ายรำเข้ากับจังหวะเครื่องดนตรี หม่อมเจ้าพูนพิศมัยทรงเห็นว่าการฟ้อนของเข้านายฝ่ายเหนือสวยงามมาก ดังความว่า
“ทุกคนที่ได้ดูร้องเป็นเสีย
งเดียวกันว่าไม่เคยเห็นอะไร งามอย่างนี้” https://www.youtube.com/watch?v=icPPd3SDTps
รัชกาลที่ 9
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จภาคเหนือเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม เสด็จฯ ณ พลับพลา โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนือได้จัดพิธีทูลพระขวัญและมีการฟ้อนในกระบวน เจ้านายฝ่ายเหนือผู้ชาย 4 คู่ ฟ้อนนำหน้าเครื่องบายศรีทูลพระขวัญรัชกาลที่ 9 นำโดยเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ และเจ้านายฝ่ายเหนือผู้หญิง 9 คู่ ฟ้อนนำหน้าเครื่องบายศรีทูลพระขวัญสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นำโดยเจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนีย์
เมื่ออ่านคำทูลพระขวัญแล้วเสร็จ จึงได้ผูกข้อพระกรถวายแด่ทั้งสองพระองค์ เป็นอันเสร็จพิธี
ต่อมา เมื่อจังหวัดเชียงใหม่จัดงานสมโภชเชียงใหม่ครบ 700 ปี รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเมืองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2539 และได้จัดพิธีสมโภชเมือง พร้อมพิธีทูลพระขวัญ ซึ่งมีการจัดพิธีตามแบบโบราณราชประเพณีดังที่เคยกระทำสืบมาแต่ครั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม ในพิธีทูลพระขวัญครั้งนี้มิได้มีเจ้านายฝ่ายเหนือผู้ชายฟ้อนนำหน้าเครื่องบายศรีทูลพระขวัญเช่นครั้งก่อน ๆ คงเหลือแต่ให้เจ้านายฝ่ายเหนือผู้หญิงฟ้อนจำนวน 18 คน
พิธีทูลพระขวัญและการฟ้อนของเจ้านายฝ่ายเหนือ นอกจากจะสะท้อนคติความเชื่อและประเพณีท้องถิ่นของชาวล้านนาแล้ว ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้านายฝ่ายเหนือและเจ้านายกรุงเทพที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง :
มงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ, พระบาทสมเด็จพระ. (2511). ลิลิตพายัพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ประเสริฐการพิมพ์.
จดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า
พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2552). สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: มติชน.
บุญเสริม สาตราภัย. (2532). เสด็จลานนา เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ทิพยวิสุทธิ์.
สูจิบัตร พิธีบวงสรวง เทพยดา บูรพกษัตริย์ล้านนา และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพิธีบายศรีทูนพระขวัญ งานสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี. (2539). เชียงใหม่: กลางเวียงการพิมพ์.
สินีนาฏ สมบูรณ์เอนก. (2538). เชียงใหม่ 700 ปี : กิจกรรมที่ควรบันทึก. วารสารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 5: 115-122.
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2562