งิ้วมาจากไหน ในไทยเคยฮิตขั้นเจ้าเป็นเจ้าของโรงงิ้ว มหรสพชั้นสูงในราชสำนักถึงช่วงโรย

ภาพประกอบเนื้อหา - การแสดงงิ้วในโรงละครแห่งหนึ่งในจีน

คนเมืองกรุงในไทยย่อมคุ้นเคยกับภาพการแสดงงิ้วกันอย่างดี เมื่อจะพูดถึงความมหรสพที่เก่าแก่อย่างงิ้วมีอายุยาวนานไม่ต่ำกว่าพันปีมาแล้ว ไม่เพียงมีความเป็นมายาวนาน มหรสพลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม หรือแม้แต่เรื่องแนวคิดในการดำรงชีวิตของชาวจีน

ความเป็นมาของงิ้วนั้นมีนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ชี้แนะถึงจุดเริ่มต้นแตกต่างกัน บ้างก็ว่าเริ่มต้นจากช่วงรัชสมัยจิว (เลียดก๊ก) ช่วงนั้นเป็นการแสดงที่ผสมการขับร้องและบทเจรจาประกอบกับลีลาท่าทาง เนื้อเรื่องก็เป็นการนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเติมแต่ง เชื่อกันว่า แสดงกันในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดิน และเริ่มมีรูปแบบแตกต่างหลากหลายในเวลาต่อมา ในรัชสมัยจิวก็มีการแสดงรูปแบบใหม่เกิดขึ้น

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล นักวิชาการด้านจีนแสดงความคิดเห็นว่า การแสดงมาเป็นรูปร่าง “งิ้ว” ที่ชัดเจนในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ตรงกับสมัยสุโขทัยประมาณรัชกาลขุนศรีนาวนำถม

ขณะที่สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตระบุว่า งิ้วเกิดสมัยพระเจ้าถังสวนจง ราชวงศ์ถัง แต่อาจารย์ถาวร แสดงความคิดเห็นว่า ช่วงเวลานั้น “งิ้ว” ยังไม่เป็นงิ้วที่ชัดเจน พร้อมเปรียบเทียบว่ายังอยู่ในช่วง “เป็นไข่” การแสดงจะเล่นเป็นเรื่องสั้นๆ ตัวละครมีแค่ 3-4 ตัว ไม่ถือเป็น “งิ้ว” แบบสมบูรณ์ เพราะเล่นกับพื้นดิน เป็นวงกลม ผู้ชมมีส่วนร่วมเป็นผู้แสดงด้วย

ระหว่างการสัมมนาเรื่อง “งิ้วในเมืองไทย” จัดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 อาจารย์ถาวร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บรรยาย อธิบายว่า งิ้วเรื่องแรกคือ “ถ้าเหยาเหนียง” (tayauniang) หรือ “นางดำเนินครวญ” เรื่องย่อของงิ้ว คือ สตรีรูปงามได้สามีเป็นคนขี้เมา ถูกสามีตี มีตัวละคร 2 ตัวคือ สตรีตัวโศก และสามีตัวตลก เมื่อสตรีโดนสามีทุบตีแล้วก็เดินโซเซร้องไห้เล่าเรื่องให้ชาวบ้านฟัง คนดูที่ล้อมวงก็มีสิทธิ์ร้องเป็นบทงิ้วถามกลับไป ซึ่งงิ้วเรื่องนี้พัฒนาเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบันเป็นงิ้วเรื่อง “หยงเหนียงหยวน”

สำหรับรายละเอียดเรื่องพระเจ้าถังสวนจง นั้น ผู้เชี่ยวชาญบางรายบรรยายว่า ทรงพระปรีชาหลากหลายด้าน การแสดงงิ้วเป็นมหรสพที่พระองค์ทรงโปรดปราน

ในช่วงราชวงศ์ซ่งตอนปลายที่มองโกลยึดครองจีนตอนเหนือ ทางใต้ยังคงมีราชวงศ์ซ่งอยู่ ประมาณ พ.ศ. 1700 เกิดงิ้วเล่นเป็นเรื่องเป็นราวที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง หลังจากนั้นอีกประมาณ 5-10 ปี เกิดงิ้วตอนเหนือ งิ้วเหนือกับใต้เล่นแตกต่างกัน โดยงิ้วเหนือจะบอกว่าตัวพระเอกเป็นตัวหลัก หรือตัวนางเป็นตัวหลัก ตัวหลักจะเป็นคนร้องตัวเดียว ตัวละครอื่นแค่รำตาม การร่ายรำจึงงดงามประณีต ขณะที่งิ้วใต้ เล่นเหมือนละคร กล่าวคือ มีตัวละคร 10 ตัว แต่ละตัวจะร้องและเล่นบทของตัวเอง

ภายหลังงิ้วใต้แตกแขนงออกเป็น 2 ชนิด คืองิ้วที่เข้าไปเมืองนานกิง ซึ่งกลายเป็นงิ้วคุนซาน และชนิดต่อมาคืองิ้วที่เข้าไปเมืองอื่น จนกลายเป็นงิ้วแต้จิ๋ว อาจารย์ถาวร อธิบายว่า งิ้วแต้จิ๋วช่วงแรกจะร้องเป็นภาษากลางสมัยราชวงศ์หยวน ต่อมาจึงเริ่มแทรกภาษาแต้จิ๋ว แล้วพัฒนาเป็นตัวละครขุนนางร้องเป็นแต้จิ๋ว เจรจาเป็นภาษากลาง ตัวละครชาวบ้านจะร้องแต้จิ๋ว ภายหลังก็กลายมาเป็นร้องแต้จิ๋วหมด เมื่อถึงต้นราชวงศ์หมิง งิ้วก็เริ่มแพร่หลายไปทั่วประเทศ ทำให้มีงิ้วท้องถิ่นตามแหล่งต่างๆ

โดยรวมแล้วงิ้วจากจีนมีมากกว่า 300 ชนิด งิ้วแต้จิ๋วถือเป็นหนึ่งในสิบตระกูลงิ้วที่ยิ่งใหญ่ ร่วมกับงิ้วชนิดอื่น อาทิ งิ้วผิงจี้ว์ งิ้วคุนฉี่ว์ และงิ้วปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม งิ้วปักกิ่งเพิ่งสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2420 มีอายุประมาณ 100 กว่าปี ไม่เก่าแก่เท่างิ้วแต้จิ๋ว

เมื่อกล่าวถึงงิ้วในเมืองไทยแล้ว มีข้อมูลที่บันทึกแตกต่างหลากหลายเช่นกัน หลักฐานที่มักถูกพูดถึงเกี่ยวกับงิ้วในไทยที่เก่าแก่อันดับต้นๆ ย่อมเป็นบันทึกของบาทหลวงชัวซีย์ ที่เข้ามาอยุธยาเพื่อเจริญไมตรี เมื่อ พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีกล่าวถึงการแสดงงานฉลองที่ทำเนียบของพระยาวิชเยนทร์ (คอนแสตนติน ฟอลคอน) นักเดินทางและพ่อค้าที่ภายหลังรับราชการกับสมเด็จพระนารายณ์ ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

“งานฉลองปิดท้ายรายการลงด้วยงิ้วหรือโศกนาฎกรรมจีน มีตัวแสดงจากมณฑลกวางตุ้งคณะหนึ่ง และจากเมืองจินเจาคณะหนึ่ง”

ขณะที่บันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด (Tachard) ผู้เดินทางเข้าสยามสมัยเดียวกับบาทหลวงเดอชัวซีย์ ก็กล่าวถึงการแสดงรื่นเริงต้อนรับราชทูต การแสดงเป็นงิ้วบู๊แนวตลก หลังจากนั้นก็มีหุ่นกระบอกของชาวลาว ฟ้อนรำของสยาม และการแสดงของอีกหลากหลายกลุ่ม ปิดท้ายด้วยการแสดงจากจีนอีก

นอกเหนือจากนั้น บันทึกของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสยังกล่าวถึงการแสดงงิ้วเพื่อต้อนรับราชทูตฝรั่งเศสอีกคณะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “งิ้ว” สมัยนั้นเป็นการแสดงที่มีสถานะ “วัฒนธรรมชั้นสูง” เอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งบอกเล่าสภาพวัฒนธรรมประเพณีสมัยรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีปรากฏคำว่า “งิ้ว” อยู่ในส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับการพระเมรุ เอกสารนี้มีข้อสังเกตว่าเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นหลังสมัยอยุธยาโดยใช้เรียบเรียงเอกสารจากสมัยอยุธยา

อย่างไรก็ตาม มีเอกสารเกี่ยวกับ “งิ้วในเมืองไทยที่เข้ามาเล่นเป็นครั้งแรกในไทย” อีกแห่ง เขียนโดย “พระสันทัดอักษร” จากหนังสือ “ศัพท์ไทย” เล่ม 3 ตอนที่ 9 เดือนเมษายน พ.ศ. 2467 เนื้อหาเล่าย้อนไปถึง พ.ศ. 2367 อันเป็นปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 2 ระบุว่า

“ประวัติงิ้วในเมืองไทยที่เข้ามาเล่นเป็นครั้งแรกในไทยนั้นเรียกว่า ‘งิ้วลั่นถั่น’ หรือ ‘ไซฉิน’ ครั้งต่อมางิ้วลั่นถั่นกลายเป็นงั่วกัง…”

สมัยต้นรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานที่เอ่ยถึงงิ้วในวรรณกรรมและจดหมายเหตุต่างๆ และคาดการณ์ว่าน่าจะมาเฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระสันทัดอักษร ยังบันทึกความนิยมของงิ้วสมัยนั้นใน “ตำนานงิ้วเมืองไทย” ว่า

“ความนิยมงิ้วของเรามากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงเป็นเจ้าของก็มี เช่น คุณจ่ามีงิ้ว 1 โรง ขุนพัฒน์แหยมมีงิ้วถึง 4-5 โรง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มีงิ้วงั่วกงโรงหนึ่ง และพระองค์ท่านยังมีงิ้วเล่าแป๊ะอีกโรงหนึ่ง

แม้ที่สุดกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเป็นเจ้าของโรงงิ้วโรงหนึ่ง ยังเรียกกันติดปากจนบัดนี้ว่างิ้ววังหน้า ซึ่งทรงรวบรวมลูกจีนและมหาดเล็กเด็กชายในพระองค์หัดขึ้นจนออกโรงเล่นได้เป็นอย่างไรดี นอกจากนี้ยังมีเจ้านาย ข้าราชการ และคหบดีอีกมากมาย หลายพระองค์หลายท่านที่เป็นเจ้าของโรงงิ้ว”

มีหลักฐานว่าในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ งิ้วถูกนำมาประกอบพิธีในราชสำนัก อาทิ งิ้วประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระศพในการสร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพในท้องสนามหลวง ปีพ.ศ. 2354 สร้าง “โรงโขน โรงละคร โรงงิ้ว สิ่งละ 2 โรง”

เวลาต่อมา งิ้วในไทยช่วงรัชกาลที่ 5 ได้รับความนิยมมาก แต่มีบันทึกว่าชาวจีนในไทยยังนิยมว่าจ้างงิ้วจากจีนมาแสดงในงานประจำปีอยู่ การว่าจ้างในสมัยนั้นอาจไม่ใช่เรื่องยาก การจ้างมักจ้างเป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน งิ้วจากจีนที่เข้ามาแสดงในไทยไม่ใช่งิ้วแต้จิ๋ว แต่เป็นงิ้ว 4 ประเภทคือ งิ้วงั่วกัง งิ้วเจี่ยอิม งิ้วแป๊ะหยี่ งิ้วไซฉิ้ง

ขณะที่งิ้วแต้จิ๋วเริ่มเข้ามาในภายหลัง และทำให้งิ้วชนิดอื่นลดความนิยมลง งิ้วต่างๆ ที่เคยถูกว่าจ้างให้แสดงในศาลเจ้าประจำทุกปีก็กลายเป็นงิ้วแต้จิ๋ว เนื่องจากชาวจีนในไทยเป็นชาวจีนแต้จิ๋วจำนวนมาก หลังจากนั้นงิ้วแต้จิ๋วก็แพร่หลายตามงานศาลเจ้าเรื่อยมา

แต่เป็นที่ทราบกันว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา ความนิยมของงิ้วลดลงไปอย่างมาก โรงเรียนสอนงิ้ว และโรงงิ้วที่เคยมีอยู่ตามถนนสายเยาวราชปิดตัวลง โรงงิ้วที่ให้ความบันเทิงก็แทบไม่หลงเหลือ มีเพียงแค่คณะงิ้วที่เร่เดินทางไปแสดงตามศาลเจ้าต่างๆ ในงานฉลองประจำปี

พรพรรณ จันทโรนานนท์ นักวิชาการผู้ศึกษาวัฒนธรรมจีน วิเคราะห์สาเหตุของความนิยมที่ลดลงว่ามีหลากหลายปัจจัย ทั้งแง่ความเจริญทางสังคมและความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่เข้ามา อาทิ ภาพยนตร์ “งิ้ว” จากฮ่องกง เมื่อเวลาผ่านไป ชาวจีนรุ่นหลังก็ให้ความสำคัญกับงิ้วลดลง ไปจนถึงเรื่องค่าจ้างในการว่าจ้างคณะงิ้วที่แพงกว่ามหรสพอื่น

 


อ้างอิง :

ปรีดา จันทโชติ. การข้ามพ้นวัฒนธรรมของสื่อการแสดงงิ้วในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2557. ออนไลน์. เข้าถึง 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562.

พรพรรณ ล. จันโรนานนท์. “ฉาวโจวชี่ งิ้วแต้จิ๋ว ความเป็นมาและการแพร่กระจายเข้าสู่เมืองไทย”. ศิลปากร. 27 : 1 (มีนาคม, 2526).

_______. “ปู้ไต่ซี่ งิ้วหุ่นกระบอกของชาวจีนฮกเกี้ยนที่สิงคโปร์”. ศิลปการ. 28 : 3 (กรกฎาคม, 2527)

_______. “อุปรากรจีน ศิลปะที่กำลังจะสูญไปจากแผ่นดินไทย”. กินรี. 10 (ธันวาคม, 2536)

วิภา จิรภาไพศาล. “‘งิ้ว’ โอเปร่า (แฝงคุณธรรม) ตะวันออก ละครร้องที่ UNESCO ยกย่องเป็นมรดกโลก”. ศิลปวัฒนธรรม. พฤษภาคม 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2562