เผยแพร่ |
---|
กลุ่มชาติพันธุ์จากกวางตุ้ง-กวางสี
มีชุมชนหมู่บ้านขนาดใหญ่เกิดขึ้นแล้วที่คลองอ้อม เขตอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ยังมีพระปรางค์รุ่นเก่าเป็นพยานอยู่ที่วัดปรางค์หลวง
พระปรางค์ที่วัดปรางค์หลวง เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมรุ่นเก่าสุดในบริเวณนี้ ซึ่งอยู่ทางใต้พระนครศรีอยุธยา เมื่อพิจารณาจากรูปแบบแล้ว ควรมีอายุถึงยุคต้นกรุงศรีอยุธยาราวแผ่นดินสมเด็จพระนครินทราธิราชหรือ “เจ้านครอินทร์” (เจ้าเมืองสุพรรณบุรีที่เสวยราชย์กรุงศรีอยุธยา ระหว่างพ.ศ. 1952-1967)
ช่วงเวลาก่อนหน้าและภายหลังหลังรัชกาลนี้เอง ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์พูดภาษาตระกูลไทย-ลาวจากภาคใต้ของจีนแถบกวางตุ้ง-กวางสี เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนกรุงศรีอยุธยา ดังมีเอกสารของหม่าฮวน ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยายุคนี้ระบุว่า ภาษาพูดของคนในพระนครศรีอยุธยาคล้ายคลึงกับภาษาถิ่นบ้านนอกที่พูดกันในกวางตุ้ง ซึ่งก็คือภาษาไทยที่ออกสำเนียงต่างไปนั่นเอง
นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่าชุมชนชาติพันธุ์จากกวางตุ้งที่พูดภาษาไทย ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณคลองอ้อมและใกล้เคียงด้วย จะส่งผลให้เกิดการทำสวนแบบ “ยกร่อง” อย่างจีน จนสมัยหลัง ๆ ได้ชื่อคู่กับ “บางช้างสวนนอก” (ที่อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม) “บางกอกสวนใน” คือ บริเวณแม่น้ำ (เจ้าพระยา) สายเก่า
กลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไทย-ลาวกับคนจีนจากเมืองกวางตุ้ง-กวางสี เคลื่อนย้ายทางทะเลเลียบชายฝั่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิแล้ว แต่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเนื่องมาเมื่อเกิดรัฐอโยธยาศรีรามเทพ ดังมีในนิทาน เรื่องท้าวอู่ทอง จนถึงยุคต้นกรุงศรีอยุธยา
สวนผลไม้ย่านบางกอก
เมืองธนบุรีที่บางกอกเต็มไปด้วยสวนผลไม้นานาชนิด ลาลูแบร์นั่งเรือผ่าน สวนผลไม้สมัยสมเด็จพระนารายณ์แล้วบันทึกว่ามีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่ง แม่น้ำตั้งแต่บางกอกถึงตลาดขวัญ (คือจังหวัดนนทบุรีปัจจุบัน)
พื้นที่เรือกสวนผลไม้อยู่สองฟากแม่น้ำที่เกิดจากการทับถมของตะกอน โคลนตม ซึ่งไหลหลากจากดินแดนตอนในหรือทางเหนือ ทําให้มีปุ๋ยธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ถัดจากเรือกสวนออกไปจะเป็นพื้นที่ทุ่งนากว้างไกล จึงมีคนอย่างน้อย 2 พวกปะปนอยู่ด้วยกันคือ ชาวสวนกับชาวนา
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เคยอธิบายว่าพื้นที่ซึ่งเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ใหม่ (young delta) ที่อยุธยามีพัฒนาการขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางของสยามประเทศ เกิดจากการทับถมโคลนตะกอนที่แม่น้ำลําคลองพัดพามาจากพื้นที่ราบและภูเขา ล้วนเป็นบริเวณที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง ทําให้บรรดาแม่น้ำที่ไหลลงสู่พื้นที่นี้มีขนาดใหญ่ไหลช้าและคดเคี้ยว จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า กุดน้ำ หรือ ox bow lake มากมาย ส่งผลให้บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำมักจะมีที่สูง โดยเฉพาะบริเวณที่มี ox bow lake จะ มีพื้นที่ดอนพอแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและทําเรือกสวนไร่นา
ลักษณะสภาพแวดล้อมดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ แบ่งออกได้เป็นภูมินิเวศต่าง ๆ คือ
บริเวณทะเลโคลน เป็นพื้นที่ปากแม่น้ำมีเวลาน้ำขึ้นน้ำลงจนเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วย กุ้ง หอย ปู ปลา นานาชนิด
บริเวณป่าชายเลน ที่มีป่าไม้ชายทะเลและพืชพันธุ์นานา อีกทั้งมีดินโคลนตม ตะกอนอันมีสัตว์น้ำเป็นอาหารมากมาย บริเวณนี้เหมาะเป็นแหล่งที่อยู่ของชุมชน ชาวประมงและสถานีการค้าของพวกพ่อค้าที่มาจากโพ้นทะเล แต่การตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จะต้องมีความรู้ทางเทคโนโลยีในเรื่องการเก็บน้ำจืดไว้อุปโภคบริโภค รวมทั้งการขุดและลอกลําน้ำที่เป็นเส้นทางคมนาคม
บริเวณเรือกสวน เป็นที่ดอนถัดบริเวณป่าชายเลนขึ้นไป พื้นดินลักจืด และลักเค็ม เหมาะแก่การทําเรือกสวนผลไม้และตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง นับเป็นพื้นที่สําคัญที่สุดของ young delta ที่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองได้ใหญ่โตกว่าบริเวณอื่น ๆ
บริเวณไร่นา อยู่เหนือเรือกสวน บริเวณนี้มีทั้งที่สวนริมฝั่งแม่น้ำและที่นากับหนองน้ำมากมาย อาจพัฒนาให้เป็นบ้านเมืองได้เช่นเดียวกับบริเวณเรือกสวน ซึ่งล้วนต้องอาศัยความรู้และกําลังแรงงานในการปรับพื้นที่อยู่อาศัย การขุดคูน้ำ และลําคลอง
ชาวสวนเหล่านี้มาจากไหน? อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า ในกําสรวลสมุทรกล่าวถึงชาวสวนที่เป็นคนลาว มีในโคลงดั้นบทบางฉนัง (บางเชือกหนัง) ว่า “มือแม่ค้าล้าวล้าว” แต่ก็คงไม่ได้เป็นคนลาวทั้งหมด เพราะประเด็นสําคัญนั้นอยู่ที่การเป็นคนชาวสวนนี้สัมพันธ์กับการทําสวนแบบยกร่องเป็นขนัด มีร่องน้ำและลําประโดง เป็นรูปแบบในการจัดการน้ำ รูปแบบและวิธีการจัดการน้ำเช่นนี้ไม่พบในพื้นที่ภาคอื่น เช่น บริเวณภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ แต่กลับเป็นรูปแบบและลักษณะการทําสวนแบบผู้คนในมณฑลกวางตุ้ง กวางสี ทางตอนใต้ของจีน
ฉะนั้น คนที่เป็นชาวสวนในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ 21 ขึ้นไป หรือก่อน พ.ศ. 2000 น่าจะมีความสัมพันธ์กับผู้คนทางตอนใต้ของประเทศจีน คงมีการเคลื่อนย้ายผู้คนทางตอนใต้ของประเทศจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีนและแม่กลอง โดยยึดพื้นที่ตามป่าชายเลนและบริเวณที่ลุ่มต่ำของ แม่น้ำตอนใกล้กับปากอ่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและที่ทํากินในการประมง รวมทั้งการค้าขายกับผู้คนที่อยู่ภายในกับที่มาจากภายนอกทางโพ้นทะเล
เอกสารสําคัญที่สะท้อนให้เห็นเรื่องนี้คือตํานานท้าวอู่ทองที่ชาวยุโรปในสมัย พุทธศตวรรษที่ 23 บันทึกไว้ว่าเป็นผู้นําทางวัฒนธรรมจากเมืองจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองตามเขตชายทะเลตั้งแต่ปัตตานี นครศรีธรรมราช จนถึงเพชรบุรี ทําให้เกิดความเชื่อในเรื่องการสร้างบ้านแปลงเมืองของท้าวอู่ทองไปทั่วบริเวณลุ่มน้ำ เจ้าพระยาตอนล่าง คนกลุ่มใหม่ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาดังกล่าวนี้คงนําเอาความรู้เรื่อง การทําสวนผลไม้มาปรับใช้ในพื้นที่ลักจืดลักเค็ม อันเป็นที่ดอนของบริเวณแม่น้ำอ้อม (บางกรวย) ที่อยู่พ้นเขตป่าชายเลนขึ้นมา ทําให้เกิดย่านชุมชนบ้านเมืองของคนชาวสวนขึ้น
พื้นฐานของคนบางกอกก็คือชาวสวนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มาจากตอนใต้ของประเทศจีนนําเอาความรู้เรื่องการทําสวนผลไม้เข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับภูมินิเวศในลุ่มน้ำ (เจ้าพระยา) ตอนล่าง
สังคมชาวสวนผลไม้ย่านบางกอกเห็นชัดจากวรรณคดีกําสรวลสมุทร ว่าเป็นบริเวณมีคนหลากหลายเผ่าพันธุ์และหลายอาชีพเข้ามาอยู่รวมกันคือ ชาวประมง ชาวสวน และพวกที่ทําการค้าขาย การปรับเปลี่ยนพื้นที่เหนือเขตป่าชายเลนให้เป็น ที่ทําสวนนั้นแสดงให้เห็นภูมิปัญญาที่เข้าใจความสําคัญของดินลักจืดลักเค็มที่เหมาะกับการทําสวนผลไม้
การทําสวนแบบยกร่องเป็นขนัด ขุดลําประโดง และควบคุมน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายแก่ต้นไม้นั้น เป็นทั้งภูมิปัญญาที่สําคัญ และเป็นทั้งการแสวงหาพันธุ์ผลไม้นานาชนิดจากถิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะจากโพ้นทะเลเข้ามาปลูกด้วย แสดงให้เห็นการเลือกเฟ้นสิ่งใหม่ ๆ ที่เหมาะสมจากภายนอกเข้ามาให้เป็นประโยชน์
ข้อมูลจาก :
สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. “สวนยกร่อง เทคโนโลยีของจีน ในกรุงศรีอยุธยา” เอกสารภูมิสังคมเสวนาสาธารณะ “พระเจ้าอู่ทองมาจากไหน เป็นไทย ลาว หรือ “เจ๊ก” จีน?, กันยายน 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2562