ความสำคัญของพระที่นั่งภัทรบิฐ “ที่ประทับอันเป็นมงคลของพระมหากษัตริย์”

พระที่นั่งภัทรบิฐ

ด้านตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นที่ประทับอันเป็นมงคลของพระมหากษัตริย์ มีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรหรือฉัตรสีขาว 9 ชั้นกางกั้นเหนือพระที่นั่ง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นพระราชอาสน์แทนพระที่นั่งภัทรบิฐองค์เดิม โดยพระเก้าอี้ที่ใช้ประกอบเป็นพระที่นั่งภัทรบิฐนั้นเป็นงานประณีตศิลป์ประเภทเครื่องถมซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเป็นของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้สร้างขึ้นและน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะปูลาดหญ้าคาบนพระที่นั่งภัทรบิฐ และนำแผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณมาวางทับสำหรับเป็นที่ประทับเสมือนเป็นสิงหาสนราชบัลลังก์

การปูลาดหญ้าคาเป็นคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่าหญ้าคาเป็นพื้นที่อันปราศจากมลทินสำหรับบูชาบวงสรวงเทพเจ้า และพราหมณ์ยังใช้หญ้าคาเป็นเครื่องประพรมน้ำเทพมนต์ให้สถานที่นั้นบริสุทธิ์ จึงนำมาเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นสมมติเทพ

ส่วนในศาสนาพุทธก็ถือว่าหญ้าคาเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งมงคลเนื่องจากในพุทธประวัติได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงรับหญ้าคาจากพราหมณ์โสตถิยะแล้วทรงนำไปปูลาดเป็นอาสนะสำหรับประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก่อนที่จะตรัสรู้ในเวลาต่อมา

รัชกาลที่ 7 เสด็จประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงมหาพิชัยมงกุฏ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษกครบทั้งแปดทิศ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แล้ว จะทรงพระดำเนินมาประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ และเครื่องบรมราชูปโภคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


ข้อมูลจากเพจ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร