เผยแพร่ |
---|
แม้วันหนึ่งจะมี 24 ชั่วโมง แต่เมื่อต้องทำงานเลี้ยงชีพ, ดูแลครอบครัว, ติดต่อกับผู้คน ฯลฯ ยิ่งมีภาระหน้าที่มากเท่าใด เวลาที่มีใน 1 วันก็ถูกลดทอนไปเรื่อย จนหลายคนพูดติดปากว่า “ไม่มีเวลา” เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงเกิดจัดสรรเวลาในรูปแบบต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ “พระราชานุกิจ”
พระราชานุกิจ คือ กําหนดเวลาซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆ ประจําวัน ได้แบบมาจากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ซึ่งพวกพราหมณ์นํามาสอนแต่ดึกดําบรรพ์ เมื่อนำมาใช้ก็แก้ไขรายการให้เหมาะสมประเพณีของสยาม
พระราชานุกิจสมัยรุงศรีอยุธยา ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่า ไว้ดังนี้
“พระราชนุกิจ รุ่งแล้วนาลิกา 1 เสด็จพระนั่งมงคล เบิกวังสนมเฝ้า 2 นาลิกาเสวยน้ำอยา แลกยาคู 3 นาลิกา เสด็จหอพระ เบิกวังสนมดํารวจในหฤไทยราชภักดิ์ ดำรวจนอก ดํารวจหัวเมืองเฝ้า 4 นาลิกาเรียกพระกยาเสวยเสดจ์ เข้าพระบันทม 5 นาลิกา หกนาลีกาเบิกใน 7 นาลิกา ประภาษ 8 นาลิกาเบิกธี่นั่งลูกเธอหลานเธอ พระสนมแก่ พระสนมสาว ชแม่เลกออกเจ้าในออกเจ้านอกแลพระกํานัลเฝ้า 9 นาลิกาเบิกนอกท้าวพญานา 10000 ลงไปถึงนา 800 พิภากษาการแผ่นดินตัดสํานวน สิบนาลิกาประภาษ 11 นาลิกาเสดจ์หอพระ 12 นาลิกาเสด็จพระนั่งในตรัสกิจฝ่ายใน
ค่ำแล้วทุ่ม 1 เบิกนอกพิภากษาการศึก 2 ทุ่ม พิภากษาการเมือง สามทุ่มพิภากษาเนื้อคดีโบราณ 4 ทุ่ม เรียกพระกยาเสวย 5 ทุ่มเบิกโหรราชบัณฑิตยสนทนาธรรม 6 ทุ่มเบิกเสภาดนตรี 7 ทุ่มเบิกนิยาย 8 ทุ่ม 9 ทุ่มเข้า พระบันทมหาประถมตีนม่าน”
เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ระเบียบพระราชานุกิจตั้งขึ้นแต่รัชกาลที่ 1 สันนิษฐานว่าเห็นจะเอาแบบพระราชานุกิจของพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงศรีอยุธยามาใช้ โดยพระราชานุกิจแต่ละรัชกาลอาจมีการจัดระเบียบแก้ไขโดยลําดับให้เหมาะแก่กาลสมัย ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ทั้งสิ้น 5 รัชกาล ดังนี้
พระราชานุกิจสมัยรัชกาลที่ 1
เช้า 9 นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร
10 นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรง ถวายภัตตาหาร เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง เจ้านายเข้าเฝ้าฯ และช่วยกันปฏิบัติพระสงฆ์เวลาฉัน พระกลับแล้ว ชาวพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลรายงานจ่ายเงิน แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนางข้าราชการ กรมพระตํารวจเข้าเฝ้าถวายรายงานชําระความฎีกา แล้วเบิกขุนนางเข้าเฝ้าประภาษด้วยอรรถคดี (แต่ในปลายรัชกาล เมื่อพระราชาเสด็จออกตอนเช้านี้ที่พระบัญชรพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ข้าราชการเฝ้าที่ชาลาริมพระที่นั่งอมรินทรฯ ข้าง ด้านตะวันตก)
เที่ยง เสด็จขึ้นเสวยพระกระยาหาร และประภาษราชกิจภายใน เสด็จเข้าที่พระบรรทมทรงสําราญพระอิริยาบถ
ค่ำ 6 นาฬิกา เสวยพระกระยาหาร
7 นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรง ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง ชาวพระคลังฯ กราบบังคมทูลรายงานจ่ายสิ่งของต่างๆ มหาดเล็กกราบทูลรายงานก่อสร้าง พระอาการเจ้านายประชวร และอาการป่วยของพระราชาคณะหรือข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งโปรดให้เอาอาการมากราบทูล
เสร็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกข้าราชการทั้งฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้า กราบทูลใบบอกหัวเมือง ประภาษราชการแผ่นดิน และการทัพศึก
10 นาฬิกา เสด็จขึ้น เป็นสิ้นพระราชานุกิจประจําวัน แต่ถ้าเป็นเวลามีศึกสงคราม และมีราชการสําคัญ เสด็จขึ้นถึง 1 นาฬิกา 2 นาฬิกาก็มี
ถึงรัชกาลที่ 2
เวลาพระราชานุกิจตอนเช้า เสด็จลงทรงบาตร เสด็จออกเลี้ยงพระในท้องพระโรง ทรงฟังรายงานพระคลังมหาสมบัติ และเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง การเหล่านี้คงอยู่เหมือนเมื่อรัชกาลที่ 1 แต่ตอนกลางวันอันเป็นเวลาสําหรับประภาษราชกิจฝ่ายในนั้นมักทรงการช่าง ด้วยพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดการช่างต่างๆ การแกะสลัก ทรงได้ชํานิชํานาญด้วยฝีพระหัตถ์ โปรดให้ตั้ง โรงงานสําหรับช่างมหาดเล็กขึ้นในพระราชวัง มีเวลาเสด็จประพาสการช่างทุกๆ วัน ครั้นเวลาบ่ายอันเป็นเวลาสําหรับสําราญพระราชอิริยาบถ เสด็จออกประทับที่เฉลียงท้องพระโรง ทรงฟังรายงานการก่อสร้างบ้าง และเบิกกวีเข้าเฝ้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครบ้าง
เวลาค่ำเสด็จออกทรงธรรมและทรงฟังรายงานต่างๆ และต่อนั้น เสด็จออกขุนนางเหมือนอย่างในรัชกาลที่หนึ่ง แต่เสด็จออกในท้องพระโรงบ้าง บางวันก็เสด็จออกที่พระที่นั่งสนามจันทร์ซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ เสด็จขึ้นราวเวลา 9 นาฬิกา แล้วสําราญพระราชอิริยาบถข้างฝ่ายใน เช่นทอดพระเนตรละครหรือเสด็จลงสวนขวาเป็นต้น ต่อไปจนสินเวลา
ถึงรัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดการเล่นหัว จึงทรงแก้ไขเวลาพระราชานุกิจไปเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศล เช่น ก่อสร้างวัดวาอาราม เป็นต้น ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยรับราชการมาในรัชกาลที่ 3 กล่าวเป็นยุติต้องกันว่า พระบาทสมเด็จฯ นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประพฤติพระราชานุกิจโดยเวลาแน่นอนยิ่งนัก คือ
เช้า 9 นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร ทรงบาตรเสร็จเสด็จขึ้นบูชาพระในหอสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จลงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้านาย พระองค์หญิงคอยเฝ้าอยู่ที่นั้น เสด็จผ่านไปยังหอพระธาตุมนเทียรที่ไว้พระบรมอัฐิ อยู่ด้านตะวันออกพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงบูชาพระบรมอัฐิ
10 นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เลี้ยงพระสงฆ์ฉันเวร ลักษณะเลี้ยงพระสงฆ์ฉันเวรตั้งแต่ในรัชกาลที่ 1 มาจนรัชกาลที่ 3 เสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทรงศีล แล้วดํารัสถวายข้าวสงฆ์เป็นคําภาษามคธ พระสงฆ์รับสาธุ แล้วอปโลกน์ และ ถวายอนุโมทนาแล้วจึงฉัน ฉันแล้วถวายอดิเรก ถวายพระพรลา และในเวลาเลี้ยงพระนั้น เจ้านายฝ่ายหน้าเข้าช่วยปฏิบัติพระ ส่วนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปิดทองปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป บางทีก็ทรงปิดทอง หรือร้อยหูคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งทรงสร้าง
พระกลับแล้ว ชาวพระคลังมหาสมบัติกราบทูลรายงานจ่ายเงินพระคลัง
เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกตํารวจเข้าเฝ้ากราบทูลรายงาน ความฎีกาก่อนแล้วเบิกขุนนางเข้าเฝ้า เสด็จออกเวลาเช้านี้ประภาษเรื่องคดีความเป็นพื้น ถ้ามีราชการจรที่สลักสําคัญก็ประภาษด้วย ดังปรากฏ อยู่ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ
เที่ยง เสด็จขึ้นประทับที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสวยพระกระยาหาร
บ่าย 1 นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระเฉลียงข้างด้านตะวันตก พวกนายช่าง มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ แต่ยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์เป็นต้น เข้าเฝ้าถวายแบบพระอารามต่างๆ
2 นาฬิกา เสด็จขึ้น เข้าในที่พระบรรทม
4 นาฬิกา เสด็จออกที่พระเฉลียงพระมหามนเทียร ด้านตะวันออก ทรงสําราญพระราชอิริยาบถ
ค่ำ 6 นาฬิกา เสวยแล้ว เสด็จลงท้องพระโรงใน ประทับที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตรงช่องบันไดกลาง ผู้เป็นใหญ่ในราชการฝ่ายในขึ้นเฝ้า ดํารัสราชกิจฝ่ายใน
7 นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง เวลาพระเทศน์นั้น ข้างในออกฟังข้างในพระสูตรเทศน์จบข้างในกลับ
เมื่อทรงธรรมจบแล้ว ชาวคลังในขวา ในซ้าย และคลังวิเศษ กราบถวายรายงานต่างๆ คือ พระอาการประชวรของเจ้านาย และอาการป่วยของข้าราชการผู้ใหญ่หรือพระราชาคณะ บรรดาซึ่งได้ดํารัสสั่งให้เอาอาการกราบทูล กับทั้งรายงานตรวจการก่อสร้างด้วย
8 นาฬิกา เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุน เบิกข้าราชการทั้งฝ่าย ทหารพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมกัน กราบบังคมทูลใบบอกหัวเมือง และ ทรงประภาษราชการแผ่นดิน จนเวลา 10 นาฬิกา เสด็จขึ้นพระราชมนเทียร ถ้าหากเป็นเวลามีการสําคัญ เช่นมีศึกสงครามก็เสด็จขึ้นถึง เวลา 1 นาฬิกา 2 นาฬิกา
รัชกาลที่ 4
พระราชานุกิจในรัชกาลที่ 4 ต่างกันเป็น 2 สมัยๆ คือ เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน (ระหว่าง พ.ศ. 2394 จน พ.ศ. 2402) นับว่าเป็นสมัยแรก ตั้งแต่เสด็จไปประทับพระอภิเนาวนิเวศต่อมาจนสิ้นรัชกาล (ระหว่าง พ.ศ. 2402 จน พ.ศ. 2411)
พระราชานุกิจในสมัยแรก
เวลาเช้า 9 นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร เหมือนในรัชกาลที่ 3 ทรงบาตรเสร็จ เสด็จขึ้นบูชาพระในหอสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้านายผู้หญิงเฝ้า
เวลา 10 นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เลี้ยงพระฉันเวร (แต่เลิกวิธีถวายข้าวสังฆทานเป็นเลี้ยงพระอย่างสามัญ) และทรงปิดทองพระพุทธรูป และคัมภีร์อย่างเดิม
เมื่อพระกลับแล้ว ทรงฟังรายงานและเบิกขุนนางเข้าเฝ้าเหมือนรัชกาลก่อน แต่เสด็จประทับอยู่ที่พระราชอาสน์ ไม่ขึ้นพระแท่น
เวลาเที่ยง เสด็จขึ้นเสวยและบรรทมในพระมหามนเทียร
เวลาบ่าย 4 นาฬิกา เสด็จออกที่สกุณวัน (คือกรงนกใหญ่ อยู่ตรงสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท องค์ตะวันออกบัดนี้) ประทับพระที่นั่งเก๋ง โปรดฯ ให้เจ้า และข้าราชการผู้ใหญ่หรือชาวต่างประเทศเฝ้ารโหฐาน แล้วเสด็จออกรับฎีการาษฎร บางวันก็เสด็จเที่ยว ประพาสพระนคร
เวลาจวนค่ำ เสด็จกลับประทับที่สีหบัญชร (อยู่ระหว่างพระที่นั่งไพศาลทักษิณ กับหอพระธาตุมนเทียร) ข้าราชการในพระราชสํานักเข้าเฝ้าที่ชาลารอบพระที่นั่งสนามจันทร์ ทรงรับฎีกาซึ่งเจ้าพนักงานผู้รับนําถวาย และประภาษราชกิจตามพระราชอัธยาศัย แล้วประทับเสวยที่ห้องหลังสีหบัญชรนั้น
เวลาค่ำ 8 นาฬิกา (ถ้ามีพระราชธุระมาก ก็ดึกกว่านั้น) เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง แล้วทรงฟังรายงาน และเบิกข้าราชการเข้าเฝ้าตามแบบเก่า สิ้นราชการก็เสด็จขึ้น เป็นสิ้นพระราชานุกิจประจําวัน
ครั้งเสด็จไปประทับอยู่ ณ พระอภิเนาวนิเวศ พระราชมนเทียร สถานที่สร้างใหม่ แผนผังทําอย่างตึกฝรั่ง ไม่เหมาะแก่พระราชานุกิจตาม แบบเก่าเหมือนกับหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อีกประการหนึ่ง พระราชธุระอันเป็นส่วนซึ่งต้องทรงประพฤติก็มีเพิ่มเติมขึ้น จึงต้องแก้ไขพระราชานุกิจด้วยเหตุ 2 ประการนั้น
พระราชานุกิจสมัยตอนหลัง
เวลาเช้า 9 นาฬิกา คงมีการทรงบาตรตามเคย แต่ทรงบาตร ท้องฉนวนหลังพระที่นั่งนงคราญสโมสร เสด็จลงบ้าง โปรดฯ ให้พระเจ้าลูกเธอทรงบาตรแทนบ้าง มิได้เสด็จลงทุกวัน แต่บางวันก็โปรดฯ ให้นิมนต์เฉพาะพระสงฆ์ธรรมยุติกาเข้ามารับบิณฑบาตแต่เวลา 7 นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตรที่ชาลาใต้ต้นมิดตะวัน ริมพระราชมนเทียรเป็นการพิเศษ
การเลี้ยงพระฉันเวรก็คงเลี้ยงทุกวัน แต่ย้ายไปเลี้ยงที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ มิได้เลี้ยงในท้องพระโรงอย่างแต่ก่อน และโปรดฯ ให้พระเจ้าลูกเธอไปทรงประเคน แต่เดิมมีสวดมนต์ในวันพระด้วย
เวลาเช้า เมื่อเสด็จการทรงบาตรแล้ว มักเสด็จไปบูชาพระ และทอดพระเนตรการก่อสร้าง ณ พระพุทธนิเวศน์ (อยู่ในบริเวณสวนศิวาลัยบัดนี้) ถ้าเป็นวันพระ ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาพระราชทานเจ้านายและข้าราชการฝ่ายในที่พระพุทธมนเทียร จนจวนเที่ยงวัน จึงเสด็จขึ้นเสวยพระกระยาหาร
เวลาบ่าย 1 นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้านายและขุนนางเข้าเฝ้า (เช่นเคยเสด็จออกเวลาเช้า 10 นาฬิกาอย่างแต่ก่อน) แล้วเสด็จขึ้น เข้าที่พระบรรทม
เวลาบ่าย 4 นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับที่รโหฐานให้เสนาบดีหรือผู้อื่นเฝ้าเฉพาะตัวบ้าง รับชาวต่างประเทศที่เข้าไปรเวตบ้าง จนเวลาเย็นเสด็จออกรับฎีการาษฎรที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ หรือเสด็จเที่ยวประพาสพระนครบ้าง จนเวลาค่ำเสด็จขึ้นข้างในเสวยพระกระยาหาร
เวลาค่ำ 8 นาฬิกา (แต่บางวันก็ดึกกว่านั้น แล้วแต่พระราชกิจ ที่ต้องทรงพระอักษรประจําวันจะเสร็จ) เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง แล้วเบิกขุนนางเข้าเฝ้าฯ ตามแบบเก่า เป็นสิ้นพระราชกิจประจําวันดังนี้
ครั้นรัชกาลที่ 5
ท่านผู้ใหญ่ที่ปรึกษากันว่าพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาไม่แน่นอนเหมือนพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มักลําบากแก่ข้าเฝ้า และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้น ก็ไม่มีพระราชกิจที่จะต้องทรงอักษรมากเหมือนอย่างพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกราบทูลขอให้แก้ไขพระราชานุกิจไปเป็นอย่างครั้งรัชกาลที่ 3 และความคิดนั้นก็พอเหมาะแก่พฤติการณ์
การจัดระเบียบพระราชานุกิจครั้งนั้น การฝ่ายในมอบให้ท้าวเจ้าจอมมารดาอึ่งในรัชกาลที่ 3 อันเป็นธิดาเจ้าพระยานิกรบดินทร์ และเป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าบุตรี เป็นผู้อํานวยการจัดการทุกอย่าง แต่ทางฝ่ายหน้า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบําราบปรปักษ์ ทรงอํานวยการ ทรงอนุโลมเอาแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ 4 ไว้โดยมาก พระราชานุกิจในรัชกาลที่ 5 เมื่อชั้นแรกเป็นดังนี้
เวลาเช้า 9 นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร ที่ทรงบาตรอยู่นอกกําแพงบริเวณพระมหามนเทียรทางตะวันออก ตั้งม้ายาววางขันเงินอันใส่ข้าวกับไข่ต้มและของฉัน 2 ห่อทุกขันเรียงกัน สําหรับทรงบาตร พระสงฆ์องค์ละขัน ต่อนั้นไปถึงม้าตั้งโต๊ะเภสัช ของหมากพลูสําหรับวางปากบาตร เมื่อรัชกาลที่ 3 พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงทรงวางของปากบาตร แต่ในรัชกาลที่ 5 เวลานั้นพระเจ้าลูกเธอยังทรงพระเยาว์ จึงให้พระเจ้าพี่นางน้องนางเธอผลัดเป็นเวรกัน ช่วยทรงวางของปากบาตร ต่อนั้นไปถึงม้าขันข้าวบาตรใบใหญ่ กับของใส่บาตรอีกสํารับหนึ่ง เรียกว่า “ขันรองทรง” (สันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะสําหรับสมเด็จพระ อัครมเหสี หรือสมเด็จพระพันปีหลวงทรงบาตรแต่เมื่อภายหลังมา) หม่อมเจ้าพนักงานเป็นผู้ตักบาตรรองทรง และมีปี่พาทย์ผู้หญิงประโคม ตลอดเวลาพระรับบิณฑบาต เรียกกันว่า “เวลาพระส่อง”
พระสงฆ์ที่รับบิณฑบาตนั้น นิมนต์เป็นเวรกันมารับ จึงเรียกว่า “บิณฑบาตเวร” เมื่อรัชกาลที่ 1 นิมนต์แต่พระสงฆ์วัดระฆัง ผลัดกันกับวัดพระเชตุพน ด้วยพระสงฆ์สองวัดนั้นต้องรับราชทัณฑ์ในครั้งกรุงธนบุรี เพราะซื่อตรงต่อพระวินัยบัญญัติ มีความชอบปรากฏอยู่เรื่องพงศาวดาร ครั้นต่อมาในรัชกาลภายหลัง เพิ่มจํานวนวัดซึ่งโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์เข้ามารับบิณฑบาตขึ้น จนครบตามวันในสัปดาห์และมีวัดสมทบด้วย จึงจัดเวร 7 ดังนี้
วันอาทิตย์ วัดมหาธาตุเป็นต้นเวร วัดดุสิตาราม สมทบ
วันจันทร์ วัดราชบูรณะเป็นต้นเวร วัดจักรวรรดิ วัดบพิตรพิมุข สมทบ
วันอังคาร วัดระวังเป็นต้นเวร วัดอมรินทร วัดรังษี วัดพระยาธรรม สมทบ
วันพุธ วัดพระเชตุพนเป็นต้นเวร วัดสังเวช วัดสามพระยา วัดนากกลาง วัดชิโนรส วัดศรีสุดาราม สมทบ
วันพฤหัสบดี วัดบวรนิเวศเป็นต้นเวร วัดธรรมยุติอื่นๆ สมทบ
วันศุกร์ วัดสุทัศน์เป็นเต้นเวร วัดสระเกศ สมทบ
วันเสาร์ วัดอรุณเป็นต้นเวร วัดโมฬีโลก วัดหงส์ วัดราชสิทธิ์ สมทบ
จํานวนพระสงฆ์รับบิณฑบาตเวรโดยปกติวันละ 100 รูป ถ้าเป็นเวลานักขัตฤกษ์เพิ่มขึ้นอีกเป็น 150 สามเณรพระองค์เจ้าและ หม่อมเจ้ากับทั้งสามเณรเปรียญ ก็ได้เข้ารับบิณฑบาตเวรด้วย พระรับบิณฑบาตเดินเข้าทางประตูดุสิตศาสดา (ประตูฉนวนวัดพระแก้ว) เมื่อรับบิณฑบาตแล้ว ภิกษุสามเณรที่เป็นพระองค์เจ้ากลับออกประตูสนามราชกิจ (ประตูยามค่ำ) ที่เป็นหม่อมเจ้ากลับประตูอุดมสุดารักษ์ (ประตูฉนวน) นอกจากนั้นออกประตูอนงคลีลา (ประตูดิน)
เวลาทรงบาตร แต่เดิมทรงเช้า 7 นาฬิกา เวลาเดียวกับที่ชาวพระนครตักบาตร แต่เหตุเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 1 มีคนคิดกบฏ ปลอม เข้าไปในวังหน้ากับพวกวิเสทซึ่งเข้าไปจัดของทรงบาตรแต่ก่อนสว่าง เปลี่ยนเวลาทรงบาตรเป็น 9 นาฬิกาแต่นั้นมา
อนึ่งตรงที่ทรงบาตรนั้น เพราะเหตุที่ขึ้นใส่ข้าวบาตรตั้งเรียงไว้มากด้วยกัน ฝูงกาจึงมักมาคอยลอบโฉบเฉี่ยวเอาข้าวสุกในขัน ถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้จัดเด็กชายลูกผู้ดีที่เขาไปอยู่กับญาติในพระราชวัง มาคอยไล่กาในเวลาทรงบาตร เด็กพวกนั้นจึงได้นามเรียกกันว่า “มหาดเล็กไล่กา” แต่ในรัชกาลที่ 4 หามีไม่ ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 เพื่อจะให้เหมือนครั้งรัชกาลที่ 3 ให้ทุกอย่าง จึงจัดให้มีมหาดเล็กไล่กาขึ้นอีก มหาดเล็กไล่กาซึ่งกลับมีขึ้นคราวนี้ โปรดให้แต่งตัวอย่างทหาร เลยเป็นต้นที่จะเกิดตั้งกรมทหารมหาดเล็ก ดังจะปรากฏในที่อื่นต่อไปข้างหน้า
เมื่อทรงบาตรเสร็จ เสด็จขึ้นบูชาพระในหอพระสุราลัยพิมานแล้ว เสด็จทางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งพระเจ้าพี่นางน้องนางเธอคอยเฝ้าอยู่ (แต่เจ้านายผู้หญิงชั้นอื่นเสด็จขึ้นไปเฝ้าต่อเมื่อมีการงาน) เสด็จผ่าน ไปบูชาพระบรมอัฐิในหอพระธาตุมนเทียร เหมือนอย่างครั้งรัชกาลที่ 3 แล้วเสด็จขึ้นเสวย
พระราชานุกิจฝ่ายหน้า ในเวลาเมื่อพระบรมศพพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผิดกับชั้นหลังเพียงเมื่อเวลาเช้า 10 นาฬิกา เสด็จออกทรงพระราชยาน แต่เกยหน้าพระทวารเทเวศรักษาไปยังพระมหาปราสาท ทรงประเคน เลี้ยงพระฉันเวรหน้าพระบรมศพทุกวัน แล้วเสด็จกลับมาขึ้นพระแท่น ออกขุนนางที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ราว 11 นาฬิกา และเวลาค่ำ 8 นาฬิกา เสด็จไปยังพระมหาปราสาทอีกครั้งหนึ่ง ทรงสดับพระธรรม เทศนากัณฑ์หนึ่ง แล้วสดับปกรณ์พระบรมศพ เมื่อพระกลับแล้ว เสด็จออกขุนนางเวลาค่ำที่พระมหาปราสาท
เมื่อเสร็จการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วนั้น พระราชานุกิจโดยปกติ เวลาเช้า 10 นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจนิย ถ้าเป็นวันพระทรงประเคนเลี้ยงในท้องพระโรง วันอื่นเสด็จประทับที่ในห้องพระฉาก (เฉลียงด้านตะวันออกซึ่งกั้นเป็นที่เสด็จประทับ เมื่อก่อนเฉลิมพระราชมนเทียร) เจ้านายผู้ใหญ่คือกรมหลวงวงศาฯ หรือสมเด็จ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนบําราบปรปักษ์ เป็นต้น เข้าเฝ้า หรือมิฉะนั้นพวกข้าหลวงเดิมเข้าเฝ้า
เวลา 11 นาฬิกา เสด็จออกประทับราชอาสน์ ทรงปิดทอง และทรงฟังชาวพระคลังอ่านรายงานการจ่ายเงินพระคลัง และ
พระแท่นออกขุนนาง พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่กรมพระราชวังบวร เป็นต้น กับทั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย (เว้นแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) เข้าเฝ้า แล้วเสด็จขึ้นประทับในพระฉากอีกครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เข้าเฝ้าที่พระฉากในตอนนี้ เสด็จขึ้นข้างในราวเวลาบ่ายนาฬิกาหนึ่ง
เวลาบ่าย 3 นาฬิกา เสด็จลงทรงพระสําราญพระราชอิริยาบถ ที่ชาลาด้านทิศตะวันออกพระมหามนเทียร ทอดพระเนตรหัดมหาดเล็กไล่กาเป็นทหาร เป็นต้น
เวลาบ่าย 4 นาฬิกา เสด็จออกข้างหน้า ในขั้นแรกทอดพระเนตรช่างก่อเขาที่อ่างแก้ว หลังพระที่นั่งสนามจันทร์ (ยังปรากฏอยู่บัดนี้) และก่อเขาทําภาพเรื่องสุภาษิต ในกระถางต้นไม้ดัดที่ตั้งรายกําแพงรอบท้องพระโรง ชั้นหลังต่อมาทอดพระเนตรหัดมหาดเล็กข้าหลวงเดิมเป็นทหาร บางวันก็เสด็จออกนอกพระราชวังทรงรับฎีการาษฎร และเสด็จประพาสจนเวลาค่ำเสด็จขึ้นข้างใน
เวลาค่ำ เสวยแล้ว ลงประทับที่ช่องบันไดพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระองค์เจ้าบุตรี กับท้าวนางในพระราชวังเฝ้า ประภาษราชการฝ่ายใน อย่างครั้งรัชกาลที่ 3 บ้าง บางวันก็เสด็จไปเฝ้ากรมพระสุดารัตนราชประยูร และเสวยที่พระตําหนักเดิมบ้าง
เวลา 8 นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระราชอาสน์ ทรงฟังชาวพระคลังในขวาพระคลังในซ้ายกราบบังคมทูลรายงานการจ่ายของ และมหาดเล็กกราบทูลรายงานตรวจการก่อสร้าง กับรายงานตรวจพระอาการประชวรของเจ้านาย หรือรายงานอาการป่วยของข้าราชการและพระราชาคณะผู้ใหญ่ แล้วทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง
การที่ทรงสดับพระธรรมเทศนาทุกวัน ก็เพื่อจะให้พระสงฆ์เอาใจใส่ศึกษาภาษามคธเป็นสําคัญ นิมนต์ถวายเทศน์ตั้งแต่พระราชาคณะตลอดจนเปรียญ แต่มิใช่แล้วแต่จะเทศน์เรื่องหนึ่งเรื่องใดถวายตามชอบใจ การถวายเทศน์นั้น กรมราชบัณฑิตย์เป็นผู้รับสั่ง ส่งหนังสืออรรถฉบับหลวงไปยังผู้เทศน์ให้แปลความเป็นเทศนามาถวายแล้วแต่จะต้องพระราชประสงค์ทรงฟังคัมภีร์ไหน ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้แปลพระไตรปิฎกออกเป็นภาษาไทย จึงโปรดให้ถวายเทศน์ตามลําดับคัมภีร์ในพระไตรปิฎก และให้ผู้เทศน์เขียนคําที่ได้เทศนาลงในสมุดไทยถวายด้วย ถึงรัชกาลที่ 5 ก็เอาแบบครั้งรัชกาลที่ 3 มาใช้เริ่มเทศนาพระสูตร และโปรดฯ ให้เขียนเทศนาเป็นเล่มสมุดถวายเหมือนกัน
เมื่อทรงธรรมแล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกข้าราชการ ทั้งฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้า และกราบทูลใบบอกหัวเมืองเหมือนอย่าง เมื่อรัชกาลที่ 3 เสร็จราชการเสด็จขึ้นข้างในราวเวลา 10 นาฬิกา เป็นสิ้นพระราชานุกิจประจําวัน
ระเบียบพระราชานุกิจอย่างนี้มาสัก 3 ปี จนเมื่อเสด็จกลับจากประพาสเมืองสิงคโปร์และเบตาเวีย จึงเริ่มมีการแก้ไข
ข้อมูลจาก
ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง, โรงพิมพ์เรือนแก้ว มกราคม 2529
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 เนื่องในวโรกาสที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศพระพุทธทีปังกรวชิรรัศมิ์นาถประชา และทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ อันเป็นการฉลองมหามงคลวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2562