“โม่ สัมบุณณานนท์” นักชกไทยคนแรกพิชิต “มวยฝรั่ง” ยุคมวยสากลเพิ่งนำเข้าไทย

(ซ้าย) โม่ สัมบุณณานนท์ ช่วงชนะเลิศมวยนักเรียน พ.ศ. 2466 (ขวา) ภาพถ่ายนายโม่ เมื่อ พ.ศ. 2472 [ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, มิถุนายน 2526]

ปัจจุบัน วงการมวยเมืองไทยกําลังให้ความนิยมมวยแบบสากลกันอย่างกว้างขวาง มีการส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอยู่เสมอ ทั้งระหว่างชาติ โดยการสั่งนักมวยจากต่างประเทศเข้ามาชกในเมืองไทย หรือส่งนักมวยไทยออกไป ชกต่างประเทศ และทั้งระหว่างนักมวยไทยด้วยกันเอง เพื่อคัดเลือกคนเก่งไปแข่งขันในระดับโลกต่อไป

ในระยะ 20 ปีมานี้ (หมายถึงระหว่าง 2506 ถึง 2526) เรามีนักมวยชาวไทยหลายคนที่เอาดีทางการชกแบบสากลจนได้ขึ้นเป็นแชมเปี้ยนโลก เช่น โผน กิ่งเพชร, ชาติชาย เชี่ยวน้อย, เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย, เวนิช บ.ข.ส., แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ และ เนตร น้อย ศ. วรสิงห์ ส่วนที่เป็นระดับรองแชมปก็มีอีกมากมาย แต่ถอยหลังไปจากปัจจุบัน (2526) ราว 70 ปี มวยสากลหรือ “มวยฝรั่ง” ยังเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเมืองไทย และคงไม่มีใครคาดคิดว่า วันหนึ่งคนไทยจะสามารถพิชิตฝรั่งต่างชาติได้ด้วยการต่อสู้ที่จำกัดให้ใช้แต่เพียงหมัดเช่นนั้น

Advertisement

กำเนิด “มวยฝรั่ง” ในประเทศไทย

การชกมวยแบบชาวตะวันตก หรือที่แต่เดิมเรียกกันว่า “มวยฝรั่ง” นั้น ได้เข้ามาสู่เมืองไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2455 โดยหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล ซึ่งได้ทรงไปศึกษาในต่างประเทศ ได้ทรงนำเอาวิชาการชกมวยแบบฝรั่งมาจากประเทศอังกฤษ แล้วทรงเผยแพร่ฝึกสอนแก่บรรดาครูอาจารย์ที่สามัคยาจารยสมาคม (ในโรง เรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)

นอกจากนั้นยังได้ทรงคิดค้นกำหนดกติกาข้อบังคับ ในการแข่งขันขึ้นใช้อีกด้วย ต่อจากนั้นมาวิชามวยฝรั่งก็แพร่หลายไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว (นอกจากวิชามวยแล้ว ท่านยังได้นำเอาวิชาการต่อสู้แบบญูญิตสูมาเผยแพร่ด้วยเช่นกัน)

ในระยะแรก ๆ มวยสากลหรือมวยฝรั่งได้มีการแข่งขันกันแต่เฉพาะในหมู่โรงเรียนต่าง ๆ ก่อน เป็นชนิดมวยสมัครเล่นของนักเรียน ต่อมาจึงได้กลายมาเป็นการแข่งขันแบบมวยอาชีพขึ้นในที่สุด

มวยสากลอาชีพ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานที่ดินส่วนหนึ่งให้เป็นสวนสาธารณะ สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนที่เรียกว่า สวนลุมพินีนั้น พระยาคทาธรบดีสีหบาลเมือง ก็ได้ขอเช่าพื้นที่บริเวณสวนสาธารณะนี้ทางด้านศาลาแดง เพื่อจัดให้มีการละเล่นต่าง ๆ เรียกว่า สวนสนุก โดยเจ้าคุณคทาธร ฯ ร่วมกับหลวงรอบรู้กิจ (ทองดี ลีลานุช) เป็นผู้ดําเนินการ

และที่สวนสนุกแห่งนี้ นอกจากจะมีการแสดงต่าง ๆ และการแข่งขันชกมวยไทยแล้ว ยังได้มีการส่งนักมวยต่างประเทศเข้ามาชกโชว์ในแบบมวยสากล ให้ประชาชนชมอยู่เสมอ เรียกกันในขณะนั้นว่า เต็ดโชว์ (Ted Show)

การที่ได้จัดให้มีการชกโชว์ในเชิงสากลนี้ เป็นแนวความคิดของเจ้าคุณคทาธรฯ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความนิยม ศิลปะการต่อสู้แบบนี้ขึ้นในเมืองไทย ซึ่งในที่สุด หลังจากที่นักมวยต่างชาติชกกันเองเป็นการโชว์หลายรอบแล้ว ก็เกิดมีนักมวยชาวไทย 2 คน อาสาขึ้นชกในแบบมวยฝรั่งกับนักมวยต่างประเทศ หรือพวกเต็ดโชว์เหล่านั้น คือนายสุวรรณ นิวาสวัด ซึ่งเป็นนักมวยชั้นนำผู้หนึ่งในเชิงมวยไทยสมัย นั้น และนายโม่ สัมบุณณานนท์ อดีตผู้ชนะเลิศมวยนักเรียนแบบมวยฝรั่ง รุ่น ข. 2 ปีซ้อน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เส้นทางสู่กำเนิด “มวยไทยสากล” และตำนานนักชก ผู้บุกเบิกมวยไทยสมัยใหม่

วันประวัติศาสตร์วงการมวยเมืองไทย

7 ธันวาคม 2472 วันแห่งประวัติศาสตร์ของวงการมวยเมืองไทยก็ได้อุบัติขึ้น โดยนักมวยชาวไทย 2 คนได้ขึ้นชกกับนักมวยต่างชาติในแบบมวยฝรั่ง นับเป็นครั้งแรกของเมืองไทย นายสุวรรณ นิวาสวัต ชกกับนายเทอรี่ โอคัมโป นักมวยชาวฟิลิปปินส์ และนายโม่ สัมบุณณานนท์ ชกกับนายยีซิล โคโรน่า ชาวฟิลิปปินส์เช่นกัน โดยมีนายเย.ดี. เพาเวลล์ ชาวอังกฤษเป็นกรรมการผู้ตัดสิน และในคืนที่จัดแข่งขันนั้น ร.อ. หลวงปฏิยัตินาวายุทธ ร.น. แห่งหน่วยวิทยุทหารเรือก็ได้ออกกระจายเสียงการชกครั้งสำคัญไปยังต่างประเทศด้วย

ในคืนวันที่นักมวยทั้ง 2 จะขึ้นเชิงชัยนั้น ผู้คนต่างพากันมาชมอย่างคับคั่ง หมายดูนักมวยไทยสำแดงเดชถลุงนักชกจากต่างแดนให้ราบเป็นหน้ากลองไป แต่แล้วเมื่อเริ่มคู่แรกระหว่างนายสุวรรณ กับโอคัมโป นายสุวรรณก็ต้องพ่ายแพ้แก่คู่ต่อสู้ไปแค่ยกที่ 4 เท่านั้นเอง

คู่ต่อมาคือนายโม่ สัมบุณณานนท์ อดีตผู้ชนะเลิศมวยฝรั่งรุ่น ข. จากโรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วแจ่มฟ้าล่างขึ้นชิงชัยกับยีซิล โคโรน่า เมื่อสัญญาณการแข่งขันในยกที่ 1 ดังขึ้น นายโม่ ก็บุกเข้าใส่นายโคโรน่าอย่างดุเดือด โดยนายโคโรน่าต้องตกเป็นฝ่ายรับตลอดเวลา ยิ่งเมื่อการชกผ่านไป นักชกจากฟิลิปปินส์ก็ถึงล้มลุกคลุกคลาน หน้าบวมปากแตกเลือดอาบ แต่นายเพาเวลล์ กรรมการผู้ตัดสินชี้ขาดบนเวทียังไม่ยอมจับมือให้นายโม่ชนะ คงปล่อยให้การชกดำเนินไปจนถึงยกที่ 4

ในที่สุดนายพันตํารวจโท พระรักษาพลบุรี ก็ทนเห็นการไล่ชกข้างเดียวอันแสนทารุณนั้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเกรงว่าจะเป็นการฆาตกรรมกันบนเวที จึงขึ้นไปบนเวที และให้กรรมการสั่งระงับการชกเสีย นายโม่จึงเป็นฝ่ายชนะแบบเทคนิเกิ้ล น็อคเอาท์ไปอย่างเด็ดขาดในยกนี้เอง

ในการชกกันของมวยคู่นี้ หนังสือลําตัดพญาลอมวยสวนสนุก ได้บรรยายไว้อย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา จะขอคัดเอาคำบรรยายในช่วงสองยกสุดท้ายมาให้เห็นภาพการต่อสู้ในวันนั้น ดังนี้

บทที่ 5

(ลูกคู่) มวยดี! นี่แหละมวยดัง ยกนี้แหละต้องจังยิ่งกว่าครั้งใด ๆ เมื่อทีแรกตั้งใจนึกว่า ได้กินหมู ต้องนึกว่าดีมีอยู่ (เว้) เขาย่อมกู้กันไปฯ

o เผงระฆังยกสาม บอก ณ ตามสัญญาณ จึงนักมวยสองหาญ รีบทยานเข้าใกล้, พอจดหมัดยัดผับ โม่ขยับต่อยเพียะ ซอยยีซิล ฉับเฉียะ บ๊ะถูกเดียะเร็วไว, ผับ หน้าเผงจมูก ดูมันถูกทุกที่ ล่อโน่นขยับนี้ โม่ซอยถี่รุกใหญ่, ฉับ ๆ ๆ เฉียะ ๆ เผี่ยะ ๆ ๆ ไม่มีผิด นายยีซิลสุดคิด โม่ยิ่งติดรุกไล่, ล่ออีกฉับติดเชือก ขยับเสือกอีกฉาด พอเซโม่โถมปราด (เว้) รุกเข้าฟาดวงใน ฯ

๐ นายยีซิลเคยคนอง ต้อง สุดป้องสุดปิด พักตร์สบัดหน้าบิด ในตาปิดเลือดไหล, จมูกครึ่ง ปากครึ่ง นายโม่งฉึ่งฉาดเฉียะ พับ ๆ ๆ ผัวะเผียะ ต่อยเดียะเป็นลูกไล่, ปิดเท่าไรไม่อยู่ ต้องงง ดูงันตื้อ สองในตาปิดปรือ เพราะฝีมือคนไทย, โดนเข้าผับติดเชือก ซะเซเฮือกติดหมัด สุดจะป้อง สุดจะปัด สุดจะทัดทานไหว, โม่ต่อยเอาต่อยเอา จนน้ำเดาเลือดนาสิก ไหลออกมาริก ๆ (เว้) โม่ ขยิกซอยใหญ่ ๆ

๐ พอดีหมดเวลา ตามสัญญา ดิ่งดัง จึงต่างคนต่างนั่ง พี่เลี้ยง ข้างเคียงไหล่, ฝ่ายตํารวจแลผิน เห็นฟิลลปปินเจ็บมาก กลัวจะล้มตายซาก เพราะหมัดหนักคนไทย จึงห้ามเป็นเด็ดขาด ไม่ให้ฟาดกันต่อ ต่อยเท่านี้เป็นพอ เดี๋ยวจะม้อบรรลัย, ตกลงหยุดเท่านั้น กรรมการนับคะแนน ให้นายโม่หมัดแน่น เป็นคะแนนชนะได้, เสียงคนไทยไชโย ฮิบ โฮโรอวยพร แยกย้ายกันบทจร กลับนอนกันเปรมใจ ฯ

๐ น่าชมฝีมือโม่ อุส่าห์โชว์ไทยหมัด แก้สุวรรณได้ชัด ไม่ได้ประมาทคนไทย, ส่วนคนดูยัดเยียด เราก็เบียดออกมา ครั้นจะรอชักช้า จะเวลาดึกไป…

นายโม่เป็นใคร ?

นายโม่ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2447…ถนนทรงวาด ตําบลโรงพยาบาลจีน (หลังวัดสัมพันธวงศ์ หรือวัดเกาะ) อําเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตร นายกิ๊ด มหาดเล็กวิเศษ กับนางจุ่น สัมบุณณานนท์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 12 คนด้วยกัน โดยนายโม่เป็นคนที่ 3 และเป็นบุตรชายคนโต ในบรรดาน้อง ๆ ของนายโม่นี้ มีคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะศิลปินนักร้องนั้นคือ คํารณ สัมบุญณานนท์

ในปี 2455 นายโม่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนราษฎร์เจริญ จนจบประถมปีที่ 3 แล้ว ก็เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา จนจบชั้นมัธยม 7 จากนั้นจึงย้ายไปเรียนต่ออีกที่โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วแจ่มฟ้าล่าง

คณะมวยนักเรียน (มวยฝรั่ง) ของโรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา ถ่ายเมื่อ 27 มี.ค. พ.ศ. 2467 แถวหลังคนที่สามจากซ้ายคือนายโม่ สัมบุณณานนท์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2526)

หัดมวยฝรั่ง

เมื่อนายโม่เป็นนักเรียนของโรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคาอยู่นั้น ได้มีความสนใจในด้านกีฬามวยฝรั่งเป็นพิเศษ ซึ่งในเวลานั้นก็ได้มีการจัดแข่งขันกันในระหว่างโรงเรียนต่าง ๆ อยู่เป็นประจํา จนปี 2464 ขณะมีอายได้ 18 ปี ก็ได้เริ่มฝึกหัดกับครูวาด ยิ้มละมัย ครูโรงเรียนปทุมคงคานั้นเอง ครูวาดผู้นี้เป็นศิษย์เรียนวิชามวยมาจากหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์อีกชั้น

สู่สังเวียนผ้าใบ

ปี 2465 นายโม่ก็ได้เข้าร่วมการแข่งขันมวยนักเรียน (มวยฝรั่ง) รุ่น ข. (126 ปอนด์) สถานที่จัดการแข่งขันคราวนี้คือที่สามัคคยาจารยสมาคม และมีหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล ทรงเป็นกรรมการผู้ตัดสินชี้ขาดปรากฏว่าในปีแรกนี้ นายโม่แพ้ในรอบคัดเลือกเพราะยังขาดความชำนาญ แต่อย่างไรก็ตาม การพ่ายแพ้จนต้องตกรอบไปในปีแรกนั้น ก็หาได้ทำให้นายโม่ทดท้อใจไม่ กลับยิ่งมุมานะเร่งฝึกซ้อมเป็นการใหญ่เพื่อการเข้าชิงชัยในปีต่อไป

ในปีรุ่งขึ้น นายโม่ก็ได้เข้าสมัครแข่งขันมวยนักเรียน รุ่น ข. อีก ในนามของโรงเรียนมัธยมปทุมคงคา ผ่านเข้ารอบจนได้ชิงชนะเลิศกับนักเรียนจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ผลปรากฏว่า นายโม่เป็นผู้ชนะ ได้รับพระราชทานรางวัลจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันนับเป็นเกียรติสูงสุดในวงการมวยทีเดียว

ในปี 2467 เมื่อนายโม่ได้ย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วแจ่มฟ้าล่างแล้ว ก็ได้เข้าแข่งขันชกมวยนักเรียนในรุ่น ข. อีกครั้งในนามของโรงเรียนพาณิชยการแห่งนี้ และได้เข้าชิงชนะเลิศกับนักเรียนจากโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา ซึ่งปรากฏผลว่า นายโม่ได้เป็นผู้ชนะเลิศไปอีกสมัยหนึ่ง ได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นปีที่ 2

นายโม่เรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้เพียงปีเดียวก็ต้องลาออก เพราะถูกเกณฑ์ทหารในปี 2468 ต้องไปรับราชการประจำเป็นทหารเสนารักษ์ ประจําอยู่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนปลดประจำการในปี 2470 ในช่วงที่เป็นทหารอยู่นี้ เมื่อมีเวลาว่างก็ยังคงซ้อมมวยอยู่บ้าง เมื่อพ้นราชการมาแล้วจึงได้รื้อฟื้นการฝึกซ้อมเป็นการใหญ่ โดยอาศัยลานพระอุโบสถวัดเกาะนั้นเองเป็นสถานที่ฝึกซ้อม

หลังจากที่นายโม่มีชัยชนะต่อนายยีซิล โคโรน่าแล้ว นายเทอรี่ โอคัมโป ผู้พิชิตนายสุวรรณ นิวาสวัตก็ได้ส่งตัวแทนไปท้านายโม่ เพื่อขอแก้มือแทนเพื่อนร่วมชาติ แต่นายโม่ก็ได้ตอบปฏิเสธอย่างนิ่มนวลและสุภาพที่สุดไปถึง 2 ครั้ง 2 ครา เพราะถือว่าตนเป็นแต่เพียงนักมวยสมัครเล่นเท่านั้น และ ประกอบกับความเรื่องนี้ได้ทราบไปถึงเจ้าคุณภักดีนรเศรษฐ์ เจ้าของห้างน้ำแข็งนายเลิศ ท่านได้ห้ามปรามเสีย เพราะไม่ต้องการให้นายโม่ต้องเจ็บเนื้อ เจ็บตัวอีก เนื่องจากนายโม่ก็ทํางานอยู่ในห้างนายเลิศของท่านเป็นหลักเป็นแหล่งอยู่แล้ว และนโยบายของทางห้างก็ไม่ต้องการให้พนักงานไปชกมวย อาชีพแต่อย่างใด

ถึงจะปฏิเสธไปแล้ว แต่นายโอคัมโปก็ยังพยายามท้าทายต่าง ๆ นานา อย่างไม่ลดละ แน่ละนายโม่ก็เป็นคนหนุ่ม มีชีวิตจิตใจ และมีเลือดแห่งความเป็นนักสู้อยู่เต็มตัว ที่สุดก็ไม่อาจอดทนต่อคําสบประมาทของชาวต่างชาติได้ จึงตอบตกลงไปทันที

พ่ายก่อนชก

ข่าวการตอบตกลงของนายโม่รู้ไปถึงนาย ซี.เอส. ริชาร์ดสัน ผู้จัดการใหญ่ จึงเรียกนายโม่เข้าพบ พร้อมกับยื่นเซอติฟิเกตของทางห้างให้นายโม่ ออกจากงาน และขอบใจที่อุตส่าห์ร่วมทำงานด้วยกันมาด้วยความเคร่งครัด และขยันขันแข็งในหน้าที่เป็นอย่างดีตลอดมา เหตุผลที่ต้องให้ออกก็คือ นายโม่เป็นนักมวยอาชีพ เกรงว่าจะทําให้งานของบริษัทต้องเสียหายในภายหลัง

เมื่อนายโม่ถูกเชิญออกจากงานก็หมดกำลังใจที่จะชกมวยต่อไป ได้แต่ฝึกซ้อมไปอย่างแกน ๆ ไร้ชีวิตจิตใจ เพราะพะวงอยู่แต่เรื่องอาชีพการงาน ของตนที่ต้องหลุดลอยไป และจะต้องหางานใหม่ทําให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ปัญหาของครอบครัวที่เขาจะต้องรับผิดชอบดูแลแทนบิดาผู้ล่วงลับ ไปแล้วเป็นเรื่องหนักหนาพอดู เมื่อต้องออกจากงานเช่นนี้ ความยุ่งยากก็ติดตามมาหนักหน่วงขึ้นไปอีก

และแล้ววันแห่งการชิงชัยก็มาถึง คือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2473 อันเป็นวันแห่งความพ่ายแพ้ และเป็นวันสุดท้ายแห่งชีวิตบนสังเวียนของนายโม่ด้วย การชกครั้งนี้จัดขึ้นที่เวทีสวนสนุกเหมือนครั้งก่อน ผู้คนต่างตีตั๋วเข้าชมกันอย่างแน่นขนัดเพื่อจะดูนายโม่ถลุง นักชกจากฟิลิปปินส์ ให้อยู่มือเป็นการ ล้างแค้นให้กับสุวรรณ นิวาสวัตที่ต้องปราชัยไปในคราวที่แล้ว

การชกครั้งนี้หลวงพิพัฒน์พลกาย เป็นกรรมการผู้ชี้ขาดบนเวที เมื่อเริ่มยกแรกนายโม่ยังคงทะมัดทะแมงดี แต่ครั้นเมื่อล่วงถึงยก 2-3 ปรากฏว่านายโม่มีอาการอ่อนเปลี้ยลงอย่างผิดสังเกต หลวงพิพัฒน์พลกายก็จ้องดูนายโม่อย่างสงสัยและคนดูก็เริ่มรวนเร จนถึงยกที่ 4 นายโม่มีอาการเปลี้ยลงไปอีก นายโอคัมโปก็รุกใหญ่ จนที่สุดหลวงพิพัฒน์พลกายก็ต้องยุติการชก ชูมือให้เทอรี่ โอคัมโปเป็นฝ่ายชนะไป

จากการพ่ายแพ้ในครั้งนี้ นายโม่ ก็ประกาศเลิกชกมวยอย่างเด็ดขาดเพื่อไปประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน สําหรับการรับผิดชอบต่อครอบครัวต่อไป (ใน ปี 2474 ก็ได้เข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวง กระทั่งเกษียณอายุในปี 2508) ซึ่งในการพ่ายแพ้นี้ แฟนมวยทั่วไปต่างก็ลงความเห็นต้องกันว่า เหตุที่นายโม่แพ้เพราะขาดกําลังใจในการฝึกซ้อมและการชก เพราะต้องออกจากงานนั่นเอง ซึ่งทุกคนก็เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดี

ชีวิตที่ผกผัน

หลังจากที่นายโม่เล็กชกมวยแล้ว ก็ได้ทํางานในกรมรถไฟหลวงตลอดมาจนได้เลื่อนขึ้นเป็นข้าราชการชั้นโท ตําแหน่งหัวหน้าแผนกบัญชีเดินรถร่วม การรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อเกษียณอายุแล้วก็คงพักผ่อนอยู่กับบ้าน กระทั่งถึงแก่กรรมในตอนเช้าวันที่ 26 พฤษภาคม 2520 ด้วยโรคเบาหวาน กับเส้นเลือดอุดตันในสมอง รวมอายุได้ 72 ปีเศษ

และก่อนที่นายโม่จะถึงแก่กรรม ท่านก็ได้มีโอกาสเห็นนักมวยชาวไทยคนแล้วคนเล่าก้าวขึ้นไปครองตําแหน่งแชมเปี้ยนโลกมวยฝรั่ง ท่านจะคิด อย่างไรเราไม่ทราบ แต่โดยตัวของท่านเอง เราต้องให้เกียรติด้วยความคารวะว่า ท่านคือนักชกไทยคนแรกที่พิชิตมวยฝรั่งได้สําเร็จด้วยศิลปะการ ต่อสู้ที่ยังใหม่มากสําหรับเมืองไทยในเวลานั้น

อันที่จริงนายโม่มิได้เป็นแต่เพียงนักมวยเท่านั้น ท่านยังเป็นนักเขียน และนักดนตรีด้วย งานเขียนส่วนมากเป็นกลอนลงในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เช่นหนังสือพิมพ์การรถไฟ หรือหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ส่วนการเป็นนักดนตรีนั้นสมัยเป็นนักเรียนอยู่ปทุมคงคาก็ได้เข้าร่วมวงเครื่องสายของโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ (ผสมกับนักเรียนจากปทุมคงคา) พร้อมกับเพื่อนจากโรงเรียนเดียวกันมี อรุณ สัมบุณณานนท์ (น้องชาย), เหลี่ยม ประคองเพชร, จิตติ ติงศภัทิย์ และสมบุญ เวชชาปัชช์ โดยมีหลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นอาจารย์ผู้กำกับวง แม้ในระยะไม่กี่ปีก่อนถึงแก่กรรมก็ยังได้เข้าร่วมวงกับคณะหนุ่มน้อย ออกแสดงทางสถานีไทย ที.วี. ช่อง 4

ชีวิตของน้องชายคนหนึ่งของท่านคือ คำรณ สัมบุณณานนท์ เหมือนเป็นชีวิตที่ผูกพันกัน เพราะคำรณเคยหัดมวยและหมายจะเอาดีทางมวย แต่แล้วก็กลายมาเป็นศิลปินนักร้องนักแสดงที่มีความสามารถสูง หาตัวจับได้ยากจนทุกวันนี้ แม้จะถึงแก่กรรมไป 14 ปี และมีนักร้องใหม่ๆ เกิดขึ้นมากก็ตาม ส่วนนายโม่ที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับครูใหญ่ทางดนตรีไทย คือหลวงประดิษฐไพเราะกลับมามีชื่อเสียงทางมวย การดนตรีดูจะเป็นเพียงเครื่องหย่อนใจเท่านั้นเอง

คำเตือนใจจากผู้พิชิตมวยฝรั่งคนแรก

นายโม่ได้เขียนบทความสั้นๆ ในทำนองให้ข้อคิดแก่นักมวยรุ่นหลังเรื่อง “ชีวิตนักมวย” ลงในหนังสือเจริญกรุง ฉบับประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2473 มีความทั้งหมดว่า …

“ข้าพเจ้าสงบใจมาหลายเดือนเพราะว่าการชกมวยแบบตะวันตกได้ถูกห้ามและเผอิญได้รับอนุญาตให้นักมวยไทยได้ปล่อยฝีมือ ประจวบในคราวที่ได้รับอนุญาตเป็นเวลากระชั้นนัก โดยที่ข้าพเจ้ามิได้เตรียมตัวไว้ ทั้งนี้มีมีอุปสรรคขัดขวางอยู่บ้าง และอุปสรรคเหล่านี้ ข้าพเจ้าก็หาทำหาผู้ทำลายไม่ได้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองต้องกังวลใจ

ข้าพเจ้ามีงานเป็นหลักอาชีพ แต่ทว่าเป็นงานใช้ปากกา เมื่อข้าพเจ้าจะโยนปากกาทิ้ง ข้าพเจ้าต้องพิเคราะห์ดูว่า การจัดระบำในเวทีควรจะพึงเป็นอาชีพซึ่งยึดได้พอหรือไม่? เพราะขณะนี้ข้าพเจ้ามีอายุไม่ใช่หนุ่มนัก

เหตุที่ข้าพเจ้าสงบใจมาหลายเดือน ข้าพเจ้าได้ถูกร้องขอให้สวมนวมเข้าเวทีอีก มีนักมวยบางคนเชิญให้ข้าพเจ้าแข่งขันกับเขา ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าไม่สู้ ข้าพเจ้าได้พูดเป็นส่วนบุคคลว่าข้าพเจ้าไม่นึกจะมีอาชีพในทางมวยเลย แต่ยินดีในการแข่งขันกับข้าพเจ้าแล้วขอให้เป็นยุติธรรมสักหน่อย จะชกเพื่อชิงตำแหน่งเอกประเทศสยาม หรือชกเพื่ออะไรกัน

ชีวิตของนักมวยอาชีพเป็นชีวิตที่ไม่ถาวรเสมอไป ในระยะนักมวยกำลังหนุ่ม อาจกล่าวได้ว่าเป็นระยะซึ่งกำลังฟู แต่เมื่อมีวัย 30 ปีพ้นไปแล้ว ก็เป็นระยะกำลังแฟบลงทุกคราว เพราะฉะนั้นเมื่อการชกมวยแบบฝรั่งเพิ่งมาเริ่มความนิยมใน พ.ศ. 2471 เป็นเวลาที่ข้าพเจ้ากำลังมีอาชีพอยู่ทางหนึ่ง ยังทายไม่ถูกว่าข้าพเจ้าจะได้เข้าสนามอีกหรือไม่?

แท้จริงการชกมวยที่เป็นอาชีพต้องอาศัยผู้มีอุปการะสนับสนุน ไม่ใช่ว่าพอสวมนวมชกได้ก็เข้าในเวที สำหรับผู้ที่จะหาชื่อเสียงในทางมวยจริง ๆ ขอให้ล้มความคิดนี้เสียที เพราะว่าการชกมวยจะเจริญได้ย่อมอาศัยนักมวยเป็นผู้รักษาเกียรติยศ ไม่ใช่แต่ว่าชกเพื่อเอาเงินอย่างเดียว และทั้งนี้นายสนามย่อมต้องเห็นอกนักมวยบ้าง มิฉะนั้นการชกมวยแบบฝรั่งนานวันจะทรุดลง หาได้ดีเมื่อแรกไม่

ข้าพเจ้าหวังว่านายสนามคงจะได้จัดแจงป่าวประกาศ เลือกนักมวย สําหรับประเภทแบบตะวันตก และวันหน้า ๆ ต่อไปในการชกระหว่างนักมวยไทยกับนักมวยต่างประเทศ คงเป็นอาชีพของนักมวยไทยที่กําลังรุ่งๆ สืบไป”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : กรมหลวงชุมพรฯ กับการเลี้ยงนักมวยในวัง สู่การปั้นชกไฟต์แห่งยุค กำปั้นไทยดวล “มวยจีน”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : วังหน้าทรงพระพิโรธถีบฝรั่ง ชกมวยตุกติก หลังสู้กลเม็ดนักชกไทยไม่ได้


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2563