ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | ภาษิต จิตรภาษา |
เผยแพร่ |
“ตุ่มสามโคก” หมายความว่าอย่างไร ทำไมต่อท้าย “ตุ่ม” ว่า “สามโคก” ?
สมัยเมื่อผมเป็นเด็ก เคยได้ยินผู้ใหญ่ท่านเปรียบเปรยผู้หญิงคนหนึ่งว่า “ยายตุ่มสามโคก” นั้นก็เพราะว่าผู้หญิงคนนั้นตูดใหญ่สะโพกผาย
ด้วยความด้อยประสาของผมก็ยังไม่รู้อยู่ดี กลับเห็นว่าสวย ถ้าหากสัดส่วนของเอว-อก มันไล่ส่วนกันได้ดี อีกหนึ่งในตอนนั้นตุ่มซีเมนต์มันมีขึ้นแล้ว แล้วก็ใบใหญ่กว่าตุ่มสามโคกด้วย จึงไม่เห็นแปลก
แท้จริงแล้ว มันเกิดขึ้นก่อนที่จะมีโอ่งซีเมนต์เข้ามา ท่านลองตระเวนดูเถอะตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ว่ามีโอ่งดินเผาลูกโตอย่างตุ่มสามโคกหรือไม่
“สามโคก” เป็นชื่อท้องที่อำเภอหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี ใครไปอยุธยาทางน้ำจะต้องผ่าน สุนทรภู่ก็ยังบอกไว้ในนิราศภูเขาทอง ว่า
“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว (มาก)”
ในท้องที่จังหวัดปทุมธานีนี้ ตั้งแต่เมืองนนท์ขึ้นไปก็มีโรงทำภาชนะดินเผาอยู่ทั่วไป ดังที่สุนทรภู่พรรณนาไว้ในนิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศ ว่า
“ชาวบ้านนั้นปั้นอีเลิ้งใส่เพิงพะ กะโถนกะทะอ่างโอ่งกะโถวกะถ่าง”
ตุ่มก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ได้เน้นความใหญ่ ชะรอยตุ่มใหญ่นี้จะมีแห่งเดียวแต่ที่สามโคกนี้ จึงเรียกกันเต็มปากเต็มคำว่า “ตุ่มสามโคก”
อ่านเพิ่มเติม :
- เกิดอะไรกับ “ไหกระเทียม” เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงรับสั่งใช้ถมพื้น วัดราชประดิษฐ
- รัฐประหาร 2490 กับกำเนิดรัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่ม และนายพล ตุ่มแดง
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “’ตุ่มสามโคก’ หมายความว่าอย่างไร” เขียนโดย ภาษิต จิตรภาษา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2552
ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 6 มิถุนายน 2562