“ทายโจ๊ก” มนต์เสน่ห์ร้อยกรอง การละเล่นลับสมองประลองไหวพริบ

ทายโจ๊ก การละเล่นพื้นบ้าน

ทายโจ๊ก เป็น การละเล่นพื้นบ้าน ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ปัจจุบันการละเล่นชนิดนี้กลับไม่เป็นที่รู้จักและหาชมได้ยากเต็มที เนื่องจากถูกทดแทนด้วยวัฒนธรรมต่างชาติและความบันเทิงรูปแบบใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า

การละเล่น ทายโจ๊ก คือการเล่นทายปริศนาร้อยกรองชนิดต่างๆ ทั้งโคลง กาพย์ กลอน ฉันท์ ประวัติความเป็นมาของการละเล่นชนิดนี้คาดว่าเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แรกเริ่มเป็นการละเล่นของคนจีน เรียกว่า “ผะหมี” (ผะ แปลว่า ตี, หมี แปลว่า ปัญหา หรือปริศนา) แล้วคนไทยจึงเลียนรูปแบบการเล่น แต่เปลี่ยนจากโคลงกลอนภาษาจีนมาใช้ร้อยกรองภาษาไทย เป็นที่นิยมเล่นในหมู่ราษฎรและเจ้านายในราชสำนัก

การเล่นผะหมีไม่ได้จำกัดความนิยมอยู่แต่ในเขตพระนครเท่านั้น ชุมชนต่างๆ เช่น ปากน้ำ, บางพลี, แปดริ้ว, ชลบุรี และชุมชนอื่นๆ ก็นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในงานมหรสพ เช่น งานวัด งานโรงเรียน และงานศพ

ชาวชลบุรีเดิมเรียกการละเล่นนี้ว่า “ปริศนากวี” ส่วนคำว่า “โจ๊ก” นั้นมาจากผู้ช่วยในการละเล่นคนหนึ่งแต่งตัวเป็นตัวตลกแบบตัวโจ๊กเกอร์ สร้างความสนใจสนุกสนานให้คนดูเป็นอย่างมาก จึงได้ทำเช่นนั้นเรื่อยมาทุกครั้งที่มีการเล่น จนเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้เล่นทั่วไป เวลาไปเล่นหรือไปดูก็จะพูดว่าไปเล่นโจ๊ก, ไปดูโจ๊ก กลายเป็นเรียกการละเล่นชนิดนี้ว่า “โจ๊ก” ติดปากเรื่อยมา

บรรยากาศในการเล่น ทายโจ๊ก มักจะเป็นไปอย่างคึกคัก เพราะเป็นการละเล่นที่ให้ความบันเทิงกับคนทุกเพศ ทุกวัยสามารถสนุกสนานได้ทั้งผู้เล่นและผู้ชม “นายโจ๊ก” หรือผู้ที่แต่งคำกลอนปริศนาจะเขียนคำกลอนปริศนาแต่ละบทลงบนแผ่นกระดาษ แล้วนำมาแขวนเรียงรายไว้บนราว ลักษณะคล้ายราวตากผ้า เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่สนใจได้ร่วมสนุกในการทายปริศนา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากทายถูกจะได้รับความภาคภูมิใจและของใช้เล็กๆ น้อยๆ เช่น สมุด ปากกา สบู่ ยาสีฟัน ขันน้ำ เป็นรางวัล

คำกลอนปริศนาในการเล่นทายโจ๊กนั้น แต่ละบทจะมีอยู่ 4 บรรทัด แต่ละบรรทัดจะมีปริศนาซ่อนอยู่ 1 ข้อ คำตอบของปริศนาแต่ละข้อจะมีความเกี่ยวข้องพ้องเสียงกันในลักษณะต่างๆ เช่นพ้องเสียงพยางค์หน้า (เรียกว่าโจ๊กพ้องคำหน้า) พ้องเสียงพยางค์หลัง (เรียกว่าโจ๊กพ้องคำหลัง) ในกรณีที่มีคำตอบพยางค์เดียวอาจพ้องเสียงในพยัญชนะต้น หรือพ้องเสียงสระ (เรียกว่าโจ๊กพ้องคำเดี่ยว) นอกจากคำตอบของแต่ละบรรทัดจะมีความเกี่ยวข้องพ้องเสียงกันในลักษณะต่างๆ แล้ว แต่ละคำตอบต้องมีพยางค์เท่ากันอีกด้วย ดังตัวอย่าง

ปริศนา 01 (โจ๊กพ้องคำหน้า 5 พยางค์)

  • ร้องร่ำ คุณลำไย (คำตอบคือ ลูกนก สุภาพร)
  • เคยนั่งใน ดวงใจแห้ว (คำตอบคือ ลูกน้ำ พาเมล่า)
  • กิ่งโพยม ยังพราวแพรว (คำตอบคือ ลูกเกด เมธินี)
  • บีบไม่แคล้ว คงวางวาย (คำตอบคือ ลูกไก่ในกำมือ)

ปริศนา 02 (โจ๊กพ้องคำหลัง 3 พยางค์)

  • สกุณา บ้ากระจก (คำตอบคือ นกหงส์หยก)
  • จะหยิบยก เส้นอาหาร (คำตอบคือ บะหมี่หยก)
  • เมืองกรุง มุ่งอาคาร (คำตอบคือ ตึกใบหยก)
  • ตำนานบู๊ ดูก๊วยเจ๋ง (คำตอบคือ มังกรหยก)

การละเล่นทายโจ๊กนี้นอกจากจะทำให้ผู้เล่นได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ลับสมองประลองไหวพริบแล้วยังทำให้ผู้เล่นเกิดความรักในภาษาไทยและความรู้เรื่องบทร้อยกรองในรูปแบบต่างๆ

อาจารย์สามารถใช้เล่นเป็นเกมเพื่อสร้างบรรยากาศความสนุกสนานในการเรียน การสอนวิชาภาษาไทยได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2562