แรกเริ่มราชสำนักสยามรู้จักจักรยาน เจ้านายพระองค์ไหนทรง “ไบซิเกิ้ล” ก่อน ใครฝึกให้?

พลอย กับ ช้อย ละคร สี่แผ่นดิน กำลังสนใจ จักรยาน คันใหม่ ที่ เสด็จ ประทานให้
ตัวละครพลอยกับช้อยในละครเรื่อง "สี่แผ่นดิน" (เวอร์ชัน พ.ศ. 2534) กำลังสนใจกับจักรยานคันใหม่ที่ "เสด็จ" ประทานให้พลอย ขอบคุณภาพจาก Youtube Ch3Thailand (https://www.youtube.com/watch?v=vTU7ndhlNA8&t=2498s)

แรกเริ่มราชสำนักสยามในสมัย รัชกาลที่ 5 รู้จัก “จักรยาน” เจ้านายพระองค์ไหนทรง “ไบซิเกิ้ล” ก่อน ใครฝึกให้?

เป็นที่ทราบกันดีว่าสยามเข้าสู่สมัยแห่งการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 4 ซึ่งได้ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม การเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวสยามหลายประการ

วัฒนธรรมหรือนวัตกรรมจากตะวันตกอย่างหนึ่งที่เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวสยาม คือ “จักรยาน” สันนิษฐานว่าจักรยานเข้าสู่สยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยคณะมิชชันนารีเป็นผู้นำเข้ามา แต่จักรยานเป็นที่แพร่หลายกลายเป็นที่ฮือฮาในราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2442 หรือ ร.ศ. 118 โดยเรียกกันว่า “รถไบซิเกิ้ล”

กลุ่มเจ้านายพระองค์แรก ๆ ที่เริ่มทรงจักรยานในวังก่อนผู้ใดคือ รัชกาลที่ 5 โดยมีพระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) และพระยาศักดา เป็นผู้ฝึกให้ทรงจักรยานในสวนศิวาลัย นอกจากนั้นก็มี สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ฯ, สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงมาลินีนพดาราฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดลฯ เป็นต้น จากนั้นจักรยานก็แพร่หลายสู่ราชสำนักฝ่ายในตั้งแต่เจ้านายไปจนถึงข้าหลวง จนเรียกได้ว่าเป็นเรื่องฮือฮาเป็นปรากฏการณ์เลยทีเดียว

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระประมุขสูงสุดแห่งราชสำนักฝ่ายในก็ทรงสนพระราชหฤทัยจักรยานเช่นกัน แม้จะไม่โปรดและไม่เคยทรงจักรยานเลยก็ตาม

ดังที่หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงเล่าว่า “ไม่เคยเห็นทรงจักรยานเลย ได้ทราบว่าไม่โปรด… แต่ก็ทรงช่างตามใจเด็ก ทรงซื้อรถประทาน พอสมตัวด้วยกันทุกคน…”

ขณะที่ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี โปรดการทรงจักรยานมากแม้จะมีพระชนมายุเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ยังทรงโปรดจักรยานอยู่ ดังปรากฏหลักฐานลายพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ พระราชโอรสขณะทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ลงวันที่ 15 สิงหาคม ร.ศ. 118 ความว่า

“ในเวลานี้ชาววังกำลังเปนรดูไบสิเกอลแม่จึงขอให้ลูกหารถให้แม่สักคันหนึ่ง อยากได้อย่างดีแลเบาที่สุดด้วย เพราะแม่ค่อนข้างจะไปข้างชัณษามาก ถ้ารถหนักนักกถีบไม่ใคร่ไหว…”

แม้จะทรงหาซื้อจักรยานอย่างดีที่สุดในสยามได้ แต่ที่ทรงขอให้พระราชโอรสจัดหาจักรยานมาให้นั้นเพราะจะได้เป็นที่ชื่นพระราชหฤทัย

จักรยานเป็นที่ฮือฮาในราชสำนักฝ่ายใน ตั้งแต่เจ้านายไปถึงข้าหลวงต่างก็ “เห่อ” จักรยานกันมาก ถึงขนาดว่าใครไม่มีจักรยานขี่ หรือขี่จักรยานไม่เป็นถือเป็นเรื่องหน้าอาย ดังนั้นจักรยานจึงเป็นที่ต้องการของราชสำนักฝ่ายใน ทำให้มีผู้นำจักรยานจากต่างประเทศเข้ามาขาย และพ่อค้าที่ชาววังสั่งซื้อจักรยานด้วยคือ นายอับดุล กายุม เจ้าของห้างอับดุลกายุม

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อชาววังคุ้นเคยกับการใช้จักรยานก็เลิกเห่อกันไปจนถึงจุดอิ่มตัวไปในที่สุด แต่ข้างนอกวังจักรยานก็กำลังแพร่หลาย จักรยานจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการแพร่วัฒนธรรมจากบนลงล่าง หรือจากชาววังสู่ชาวบ้านนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 พระราชทาน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ และพระประวัติ, พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก หม่อมราชวงศ์ถวัลย์มงคล โสณกุล.  (2534).  กรุงเทพฯ: เรือนแก้ว.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย.  (2554).  “สี่แผ่นดิน” กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพฯ: มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2562