ผู้เขียน | ปาริชาต ปาวิชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
กิจกรรมปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” เป็นส่วนหนึ่งในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ที่จะจัดขึ้นภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2561 เส้นทางพระลานพระราชวังดุสิต-สวนสุขภาพลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ รวมระยะทางไปกลับ 39 กิโลเมตร โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการรักสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และเสริมสร้างความรักสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคม
แล้วจักรยานคันแรกเกิดขึ้นเมื่อใด?
จักรยานคันแรกของโลกคิดค้นขึ้นในปี พ.ศ. 2382 โดยชาวสกอตแลนด์ชื่อ เคริกพาทริก แมกมิลลัน (Kirkpatrick Mcmillan) จักรยานที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีชื่อเรียกทั่วไปว่า “MacMillan Velocipede” เป็นพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยล้อหลัง โดยการวางเท้าไว้ที่บันไดและยกเท้าขึ้น-ลง เพื่อให้บันไดที่เชื่อมติดกับข้อเหวี่ยงของล้อหลัง เกิดการเคลื่อนที่ทำให้ล้อหมุนและเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ ทั้งนี้ตัวจักรยานยังมีน้ำหนักมากถึง 26 กิโลกรัม จึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก
ต่อมาจักรยานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีรูปทรงที่ทันสมัย ขับขี่ง่ายขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2403 เอเนสต์ มีโชซ์ (Ernest Michaux) และปีแยร์ ลาลเลอมอง (Pierre Lallement) ชาวฝรั่งเศสพัฒนาจักรยานรุ่น “Velocipede” ขึ้น โดยติดข้อเหวี่ยงและบันไดเข้ากับล้อหน้าเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน ซึ่งล้อของ “Velocipede” ทำขึ้นจากไม้หุ้มด้วยแผ่นเหล็ก โครงรถทำด้วยท่อเหล็กกลวงทำให้สามารถผลิตได้ง่าย และรวดเร็วกว่ารุ่นก่อนๆ จากการพัฒนาดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้มีโชซ์ ก่อตั้งโรงงานประกอบรถจักรยานแห่งแรกของโลกขึ้นในชื่อ “Michaux & Lallement”
ประเทศไทยเริ่มมีจักรยานใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งได้นำจักรยานเข้ามาถวายแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากการเดินทางกลับจากการปฏิบัติหน้าที่พิเศษที่กรุงลอนดอน จักรยานที่นำเข้ามานั้นมีลักษณะล้อหน้าใหญ่ล้อหลังเล็ก ก่อนหน้าที่จะพัฒนามาเป็นจักรยานล้อเท่ากัน
ในหนังสือจดหมายเหตุแสงอรุณ เล่ม 5 หน้า 15 ฉบับ 1 มีนาคม พ.ศ. 2439 มีข่าวลงว่า
“รถไบไซ เกล์ [จักรยาน] คือ รถถีบ มี 2 ล้อเรียงกัน มีราคาขายคันละ 100 บาทขึ้นไป จนถึงคันละ 300 บาทเศษ”
เหตุที่คนไทยนิยมขี่จักรยานเป็นพาหนะ เพราะเริ่มมีถนนหนทางเกิดขึ้น ความนิยมขี่จักรยานของคนไทย ยังปรากฏในวรรณกรรมขึ้นชื่อเรื่องสี่แผ่นดิน ผลงานของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บรรยายถึงความนิยมในการขี่จักรยานในสมัยรัชกาลที่ 5 ไว้ว่า…
“พลอยจำได้ว่าปีนั้นเป็น ร.ศ.118 และพอกลับมาถึงในวังได้ไม่เท่าไร ก็บังเกิดความตื่นเต้นนิยมขี่จักรยาน หรือที่เรียกกันในขณะนั้นว่ารถ ‘ไบซิเกิ้ล’ อย่างขนานใหญ่
เจ้านายข้างในเกือบทุกพระองค์หัดทรงจักรยาน แม้แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงหัดอยู่พักหนึ่งที่สวนเต่า…ความนิยมถีบจักรยานเริ่มจากเจ้านายและคุณจอม แล้วก็เริ่มแพร่หลายไปถึงคนตามตำหนักต่างๆ”
เมื่อมีความนิยมการขี่จักรยานมากขึ้น จึงมีการจัดตั้งสโมสรผู้ขี่จักรยานที่วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช และมีกิจกรรมการแต่งรถจักรยานด้วยดอกไม้สดประกวดกัน เป็นการทำสงครามบุปผาชาติที่สนามหลวงอย่างใหญ่โต ภายในงานการประกวดกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์กับกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงสั่งรถจักรยานมาจำหน่ายถึง 100 คัน ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจำหน่ายรถจักรยานในประเทศไทย
ปัจจุบัน “จักรยาน” นอกเหนือจากการใช้เป็นยานพาหนะเฉกเช่นในอดีตแล้ว ยังนำมาเป็นกิจกรรมสันทนาการในยุคปัจจุบัน เช่น การท่องเที่ยว การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ส่วนในอนาคต “จักรยาน” จะถูกนำมาใช้งานในรูปแบบใด หรือมีพัฒนาการอย่างไรเป็นที่นิยมอยู่หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ระบุความแน่ชัดได้ยาก เพราะสิ่งต่างๆย่อมเปลี่ยนผ่านตามกาลเวลา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่รวมถึงบริบททางสังคมของผู้คนในสมัยนั้น
อ้างอิง
เอนก นาวิกมูล. ข้าวของในอดีต. กรุงเทพฯ : แสดงดาว, 2551
สุเจน กรรพฤทธิ์.(2553, พฤศจิกายน). “จักรยาน” ทางเลือกของการเดินทางในเมืองใหญ่,” สารคดี. 26 (309) : 122.
คึกฤทธิ์ ปราโมช, พล.ต. ม.ร.ว. สี่แผ่นดิน. กรุงเทพฯ : นามมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548
ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย. (2551, ตุลาคม-ธันวาคม). “จักรยาน: พาหนะที่ประหยัดและปลอดมลพิษ,” วารสารเทคโนโลยีวัสดุ. หน้า 64-65.