“เสวยต้น” พระราชกิจประจำวันที่รัชกาลที่ 6 โปรดดำเนินตามพระราชบิดา

พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ (หรือพระที่นั่งบรมพิมาน) ที่รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำรัสให้จัดเป็นที่ประทับเสวยต้น (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ ออกไปทรงศึกษา ประเทศอังกฤษตั้งแต่พระชนมายุเพียง 12 พรรษา และต้องประทับอยู่ท่ามกลางชาวอังกฤษเป็นเวลาถึง 9 ปีเศษ จึงเป็นที่ทราบกันดีในหมู่คุณมหาดเล็กผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทว่า ล้นเกล้าฯ นั้นโปรดที่จะดําเนินพระราชจริยาวัตรส่วนพระองค์ อย่างสุภาพบุรุษอังกฤษ และโปรดอะไรๆ ที่เป็น “อังกฤษ” ไปเสียทุกอย่าง

แต่เมื่อครั้งที่ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระยุพราชใน พ.ศ. 2437 นั้น ได้ มีกระแสพระราชดํารัสเป็นภาษาอังกฤษในท่ามกลางที่ชุมนุมพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และนักเรียนไทย ณ สถานอัครราชทูตสยามกรุงลอนดอน ซึ่งต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลกระแสพระราชดํารัสนั้นเป็นบทร้อยกรองภาษาไทยว่า

   “พระมหาธีรราชประกาศไว้   ที่อังกฤษสมัยทรงศึกษา

ว่าเมื่อไรเสด็จกลับพารา        จะเป็นไทยยิ่งกว่าเมื่อมาเรียนฯ.

ฉะนั้น เมื่อเสด็จนิวัติพระนครแล้ว นอกจากจะทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยที่เริ่มจะเสื่อมสูญลงเพราะการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว ในส่วนพระองค์ก็โปรดที่จะดําเนินพระราชกิจประจําวันคล้ายกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ปกติประทับอยู่ท่ามกลางมหาดเล็กทางฝ่ายหน้า แม้เวลาเสวยพระกระยาหารกลางวัน ก็ประทับเสวยกับพื้นอย่างแบบไทยโบราณที่เรียกกันว่า “เสวยต้น”

การเสวยต้นในช่วงก่อนที่จะทรงมีฝ่ายในนั้น มักจะมีพระราชดํารัสสั่งให้จัดถวายในเวลาที่แปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระที่นั่งภาณุมาศจํารูญ [1] ในพระบรมมหาราชวัง เพราะที่พระที่นั่งองค์นี้มีพระเฉลียงที่กว้างขวางโปร่งสบายอยู่ที่ส่วนหน้าพระที่นั่ง ในบริเวณนั้นไม่มีโต๊ะเก้าอี้ แต่ลาดพรมอย่างดีนิ่มไปหมดทั้งบริเวณ ตรงที่ซึ่ง จัดเป็นที่ประทับนั้นปูผ้าตาดพื้นทองขลิบขอบด้วยแถบทองมีรองพื้นเป็นผ้าสีแดงขนาด กว้างยาวประมาณ 1 เมตรสี่เหลี่ยม ทอดพระที่นั่งสีเหลืองเป็นพระยี่ภู่ (เบาะสําหรับใช้ เป็นที่ประทับ) พร้อมพระเขนยอิง (ที่เรียกว่า “หมอนขวาง”) เย็บตรึงติดกับพระยี่ภู่ไว้ ข้างบน

เครื่องราชูปโภคที่สําคัญในการเสวยต้นนี้ คือ พระสุพรรณภาชน์หรือพานปากแบนที่มีชื่อเรียกเป็นสามัญว่า “โต๊ะ” ชุดหนึ่งมี 3 องค์ คือ 3 โต๊ะ เป็นโต๊ะทําด้วยทองคําบ้างเงินบ้าง ปากโต๊ะเป็นกุดั่น คือ ฝังพลอยสีต่างๆ เป็นเครื่องคาว 2 องค์ คือ เครื่องใหญ่องค์หนึ่ง เครื่องเคียงองค์หนึ่ง กับอีกองค์หนึ่งสําหรับวางชาม พระกระยาเสวย

ครั้นใกล้เวลาเสวยกลางวัน มหาดเล็กห้องพระบรรทมจะออกมารับเหล้า “ค็อกเทล” ขึ้นไปทอดถวาย เหล้าค็อกเทลนี้เป็นเหล้าที่ปรุงผสมจากเหล้าฝรั่งหลายตามตํารับสากล ซึ่งหัวหน้ากองคลังวรภาชน์เป็นผู้ปรุงถวาย เปลี่ยนไปวันละตํารับ ขณะที่มหาดเล็กห้องบรรทมเชิญถ้วยคอกเทลขึ้นไปทอดถวายที่โต๊ะทรงพระอักษรนั้น เจ้าพนักงานคลังวรภาชน์จะหยิบฆ้องใบเล็กขึ้นมาตีเป็นสัญญาณหนึ่งจบ คล้ายประกาศ ให้ผู้มีหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมพร้อม เรียกกันตามภาษาในวังว่า “ฆ้องหนึ่ง”

เมื่อทอดถวายถ้วยคอกเทลเรียบร้อยแล้ว จะทรงจิบทีละน้อยๆ เหมือนเป็นการเรียกน้ำย่อย จะเร็ว หรือช้าไม่แน่นัก สุดแท้แต่จะมีพระอักษรที่ทรงค้างอยู่มากน้อยเป็นสําคัญ เมื่อทรงจิบค็อกเทลที่เหลืออยู่เป็นครั้งสุดท้ายเป็นสัญญาณว่า จะทรงหยุดทรงพระอักษรแล้ว มหาดเล็กห้องพระบรรทมซึ่งหมอบเฝ้าอยู่ในที่ใกล้ๆ นั้นก็คลานเข้าไปถอนถ้วยค็อกเทล นั้นออกมา แล้วนําไปส่งคืนเจ้าพนักงานคลังวรภาชน์ ในขณะนั้นเองพนักงานคลังวรภาชน์จะลั่นฆ้องสัญญาณเป็น 2 ลา ซึ่งเรียกกันว่า “ฆ้องสอง” อันเป็นสัญญาณที่รู้กันดีในหมู่มหาดเล็กทั่วไป ให้เตรียมพร้อมรอรับเสด็จเพื่อสนองพระยุคลบาทตามตําแหน่งหน้าที่…

เมื่อคุณพนักงานครัวพระเข้าต้นจัดเตรียมเครื่องเสวยไว้พร้อมสรรพ หัวหน้าเวรมหาดเล็กกองตั้งเครื่องจะทําหน้าที่ตรวจความเรียบร้อยของดวงตราที่หุ้มห่อพระ กระยาเสวยที่เชิญมาจากห้องเครื่อง แล้วเทียบเครื่อง (คือ ตักขึ้นชิมให้แน่ใจว่า ไม่มี ยาพิษเจือปนอยู่ ตลอดจนน้ำดื่ม น้ำชา เหล้า อาหารกระป๋อง ฯลฯ) ต่อมาเมื่อทรงตั้ง ตําแหน่งมหาดเล็กรับใช้ขึ้นแล้ว หน้าที่การเทียบและเชิญค็อกเทลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และตีฆ้องสัญญาณนั้นตกเป็นหน้าที่ของมหาดเล็กรับใช้สืบมาจนสิ้นรัชสมัย…

ครั้นเสด็จประทับเหนือพระราชอาสน์เรียบร้อยแล้ว หัวหมื่นมหาดเล็กผู้ใหญ่ ที่ประจําอยู่เบื้องขวาที่ประทับเปิดกรวยครอบพระสุพรรณภาชน์ทั้งหมดออก ในเวลาเดียวกันนั้นมหาดเล็กผู้ใหญ่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ร่วมโต๊ะเสวย อาทิ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟือ พึ่งบุญ) พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล. พื้น พึ่งบุญ) และพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) ที่รออยู่ภายนอก ก็ทยอยกันเข้ามานั่งตามที่นั่งของตน

(จากซ้าย) หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์, เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟือ พึ่งบุญ) พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล. พื้น พึ่งบุญ) และพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแหางชาติ)

พร้อมกันแล้วคุณพระนายผู้เป็นหัวหมื่นมหาดเล็กรักพระกระยาเสวย จากหม้อเคลือบสีขาวทรงกระบอกที่บรรจุอยู่ในถังทองเหลืองใส่น้ำร้อนถวายลงในชามพระกระยาเสวยประมาณ 2 ช้อน ครั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยื่นพระหัตถ์ขวาออกมาเหนือพระสุพรรณราช คุณพระนายจะค่อยๆ รินน้ำจากคนโทเงินถวายชําระให้สะอาด แล้วจึงเริ่มเสวยด้วยพระหัตถ์ (เว้นแต่วันใดมีพระราชกิจที่จะต้องทรง ปฏิบัติภายหลังเสวยจึงมักจะทรงใช้ช้อนส้อม)

ในระหว่างเสวยนั้นคุณพระนายและคุณหลวงนายที่นั่งประจําทั้งเบื้องขวาซ้ายของพระที่นั่งก็จะคอยเลื่อนเครื่องที่ทรงโปรดเสวยในเวลานั้นให้ใกล้เข้าไป ถ้าพระกระยาเสวยพร่องมาก คุณพระนายจะคอยตักถวายจนกว่าจะทรงห้าม พระจริยาวัตรในเวลาเสวยต้นนี้ทรงใช้พระหัตถ์ได้อย่างละมุน ละม่อมชนิดที่ไม่มีข้าวหล่นลงมาเลย

เครื่องพระกระยาหารคาวหวานที่ห้องพระเครื่องต้นจัดขึ้นมาถวายเป็นประจํา เวลาเสวยต้นนั้น จะเป็นอาหารไทยล้วน และเป็นอาหารพื้นๆ ที่ปรุงขึ้นจากเนื้อสัตว์ ผักสด ไขมัน แป้ง และเครื่องปรุงรสนานาชนิดบรรดาที่คนไทยเรานิยมรับประทานกันทั่วไป แต่การประกอบพระกระยาหารเหล่านี้ ชาวพนักงานห้องเครื่องทั้งคาวหวานต่างก็ ปรุงแต่งและประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีมืออันประณีต ผักหรือผลไม้ล้วนแกะสลัก ปอก คว้าน ให้ดูสวยงามและเสวยง่าย อีกทั้งจัดวางให้เข้าชุดกับสิ่งที่จะต้องประกอบกัน เช่น ผักสด กับเครื่องจิ้มก็จัดวางไว้ใกล้ๆ กันกับปลาสําหรับแนม เป็นต้น

พระกระยาหารคาวซึ่งจัดถวายในแต่ละวันนั้นจัดเป็นชุด มีพร้อมทั้งแกงเผ็ด แกงจืด ปลาสําหรับแนม เครื่องจิ้ม ผักสดหรือผักชนิดอื่นๆ (เช่น ผักดองและผักต้ม) เครื่องเคียงต่างๆ ประมาณไม่ต่ำกว่า 10 อย่าง ผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปเพื่อมิให้ทรง ไว้เบื่อ ดังตัวอย่างชุดพระกระยาหารที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้บันทึก

ชุดที่ 1 ประกอบด้วย

1.1 แกงเผ็ดเนื้อ 1.2 ปลาเค็ม (ตัดเป็นชิ้นย่อมๆ ชุบไข่ทอด) 1.3 หมูหวาน 1.4 แกงจืดเกาเหลา 1.5 ปลาช่อน (แล่เอาแต่เนื้อทอดเหลือง) 1.6 น้ำพริก ผักต้มกะทิ 1.7 ผักสดชนิดต่างๆ 1.8 ยําไข่ปลาดุก 1.9 ไข่ฟูทรงเครื่อง 1.10 กระเพาะ

ชุดที่ 2 ประกอบด้วย

2.1 แกงเผ็ดปลาดุก 2.2 เนื้อเค็ม (ฉีกฝอยผัดหวาน) 2.3 ปลาจาระเม็ดขาว (เจี้ยน) 2.4 แกงจืดลูกรอก 2.5 ปลาทูนึ่งทอดเหลือง 2.6 น้ำพริกมะขามสด ผักทอดต่างๆ 2.7 ผักสดชนิดต่างๆ 2.8 ยําไข่ปลาดุก 2.5 ผัดเนื้อหมูกับยอดผัก 2.10 ด้วงโสนทอดกรอบ

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย

3.1 แกงเขียวหวานไก่ 3.2 ปลายี่สกฝอย (ผัดหวาน) 3.3 ไข่เค็ม (ทอด) 3.4 แกงจืดวุ้นเส้น 3.5 ปลาดุกย่างยีเนื้อทอดฟู 3.6 เต้าเจี้ยวหล่น หรือกะปิคั่ว 3.7 ผัก สดชนิดต่างๆ 3.8 ยําไข่ปลาดุก หรือยําใหญ่ 3.9 ปูจ๋า 3.10 หมูกระจก จิ้มน้ำพริกเผา (ปรุงรส)

แต่สิ่งที่โปรดเสวยมากจนเป็นที่รู้กันว่า ชาวพนักงานพระเครื่องต้นจะ พยายามจัดหาไม่ค่อยขาดนั้นมีอยู่ 2-4 อย่าง คือ

  1. ยําไข่ปลาดุก ซึ่งเป็นเครื่องเคียงของประจําที่มีอยู่เกือบตลอดฤดูกาล
  2. ด้วงโสนทอดกรอบ (จัดอยู่ในประเภทอาหารพิเศษตามพระราชบุพการี ที่โปรดเสวยมาในอดีต) ซึ่งมีวิธีทําที่พิสดาร เป็นของหายาก นานๆ ครั้ง
  3. ผักสดชนิดต่างๆ จะต้องจัดไว้จานหนึ่งด้วย จานที่เป็นผักสดจะต้องพยายาม เก็บรักษาไว้ให้สดกรอบที่สุด ชาวพนักงานวรภาชน์จะเตรียมน้ำแข็งขูดเป็นฝอยด้วย เครื่องมือสําหรับขูดเอาไว้เสมอ พอจวนเวลาเสวยจึงจะนํามาโรยคลุมลงบนจานผักสด ที่จัดประดับเตรียมไว้ เพื่อทอดถวายในพระสุพรรณภาชน์เป็นจานหลังสุด แต่ไม่โปะ ลงไปจนปิดผัก จะโรยพอให้น่าดูและเย็นพอเท่านั้น ผักแช่น้ำแข็งนี้เป็นเครื่องเสวย อีกชนิดหนึ่งที่โปรดมากเป็นพิเศษจนขาดไม่ได้ทีเดียว ไม่ว่าเครื่องจิ้มจะเป็นชนิดใดก็ตาม ผักสดจะต้องมีพร้อมเครื่องเสวยทุกครั้ง
  4. น้ำพริก เป็นเครื่องเสวยประเภทเครื่องจิ้มที่โปรดมาก เป็นเครื่องประกอบกับ ผักสดที่จะต้องจัดถวายเป็นประจํา แต่ในการเสวยต้นที่จะต้องใช้พระหัตถ์หยิบบ้างคลุก บ้างกับพระกระยาเสวย พระหัตถ์ก็จําเป็นที่จะต้องเปื้อนน้ําพริก ซึ่งล้างให้หมดกลิ่น นาพริกยากนักยากหนา ด้วยเหตุนี้ถ้าวันใดเป็นวันที่จะต้องเสด็จออกขุนนางที่มีประจํา ทุกสัปดาห์ วันนั้นก็จะต้องเตรียมจัดช้อนส้อมไว้ถวายเป็นพิเศษ

เมื่อเสวยเครื่องคาวเป็นที่พอพระราชประสงค์แล้ว ถึงเวลาถวายชําระพระหัตถ์ เพื่อกําจัดกลิ่นอาหารโดยเฉพาะพวกกลิ่นน้ำพริกที่ติดพระหัตถ์ เริ่มจากทรงทอดพระหัตถ์ออกมาเหนือพระสุพรรณราช ทันใดนั้นคุณพระนายก็จะรินน้ำชําระพระหัตถ์จากคนโทเงินถวายพอเปียก และเม็ดข้าวถูกชําระออกไปหมดก็หยด แล้วถวายฟอกด้วยสบู่เปียโซป (Pears Soap) อย่างก้อนกลม เมื่อทรงฟอกด้วยสบู่แล้ว คุณพระนายหยดน้ำหอมลาเวนเดอร์ถวายจนหมดสบู่ แล้วถวายนําดอกไม้สดลอยดอกมะลิกุหลาบ เสร็จแล้วจึงถวายใบส้มป่อยทรงขยํา แล้วทรงใช้ผิวมะกรด แล้วถวายล้างด้วยน้ำดอกไม้เทศ ต่อจากนั้นจึงหยิบผ้าซับพระหัตถ์คลี่ออกถวายทรงเช็ดแห้งดีแล้ว บางทีก็ทรงวางลงที่โต๊ะทองคําหรือส่งคืนผู้ถวาย

ในขณะที่กําลังชําระพระหัตถ์นั้น คุณหลวงนายซึ่งเป็นผู้ช่วยก็จะจัดการเลื่อนพระสุพรรณภาชน์ออกมาทีละองค์ ส่งต่อๆ กันออกไปภายนอก ซึ่งเจ้าพนักงานวรภาชน์จะคอยรับอยู่ข้างนอกพระทวาร เสร็จแล้วจึงเชิญพระสุพรรณภาชน์องค์หวาน 2 องค์เข้ามาทอดถวาย บนพระสุพรรณภาชน์นี้จะมีส้อมหรือช้อนเตรียมมาพร้อม เครื่องหวานที่มีรสหวานจัดๆ นั้นถึงจะจัดมาถวาย ก็ไม่ใคร่จะเสวยมากนัก

เครื่องหวานที่จัดถวายนั้น แม้จะมีขนมไทยขนานดั้งเดิมอยู่บ้าง เช่น ฝอยทอง วุ้นหวานบรรจุพิมพ์ ก็เกือบจะไม่ค่อยทรงแตะต้องของที่หวานจัดเท่าใดนัก จะมีก็แต่ พวกผลไม้ เช่น ลูกตาลสดน้ำเชื่อม มะตูมสดกับน้ํากะทิ สะท้อน (กระท้อน) ลอยแก้ว ลิ้นจีสดกับเยลลี่ นอกจากนั้นก็เป็นผลไม้ปอกคว้านต่างๆ เช่น มะปราง เงาะ น้อยหน่า ซึ่งมีวิธีทําที่พิสดารและพิเศษยิ่ง

  1. ลูกตาลสดน้ำเชื่อม ชาวห้องเครื่องหวาน จะเลือกสรรหาเอาเฉพาะตาลอ่อน เต้าเล็กๆ ขนาดลูกละพอคํา วิธีปอกเอาแต่เนื้อนั้น ใช้มีดทอง (เหลืองของไทยที่นิยม ใช้กันดั้งเดิมเป็นชุดรูปร่างต่างๆ) ค่อยๆ ผจงลอกเปลือกล่อนออกหมดทั้งลูก จนขาว ใสสะอาดโดยไม่ซ้ำแตก ลูกตาลนี้จะถูกบรรจุลงในโถแก้วย่อมๆ ที่มีฐานรองและฝา ครอบทําด้วยเงิน ฐานเงินที่รองชั้นล่างนั้นมีที่ว่างพอสําหรับใส่น้ำแข็งก้อนเล็กๆ หล่อ ไว้ในโถแก้วเพื่อทําให้น้ำเชื่อมเย็น โดยไม่ทําให้รสหวานจาง ในเมื่อน้ํแข็งละลายลง
  2. มะตูมน้ำกะทิ คือ มะตูมสุกหอมเนื้อเป็นปุยสีจําปารสหวาน ใช้ช้อนตัก เป็นคําๆ เขี่ยเม็ดออกให้หมด บรรจุลงในภาชนะโถแก้วอย่างเดียวกัน แล้วใช้น้ำกะทิที่ปรุงรสเค็มมันพออร่อย คล้ายครีมข้นๆ ราดข้างบน
  3. สะท้อน (กระท้อน) ลอยแก้ว เลือกสะท้อนทับทิมอย่างดีชนิดเนื้อเป็นปุยขาว ปอกเปลือกจนเหลือส่วนที่มีรสฝาดหรือเปรี้ยวเพียงน้อยที่สุด เซาะเอาแต่ส่วนเนื้อ ที่รสหวานสีขาวรอบระหว่างเม็ด ลอยลงในน้ำเชื่อมที่ปรุงรสหวานจัดอมรสกร่อยด้วยเล็กน้อย น้ำเชื่อมลอยแก้วนี้มักอบหอมด้วยกลิ่นดอกไม้ไว้ก่อนแล้ว บรรจุภาชย่างเดียวกันแช่เย็น

ส่วนผลไม้ปอกนั้น ถ้าหน้ามะม่วงก็ปอกเข้ามาถวายพร้อมข้าวเหนียว มะม่วงนั้นปอกได้สวยงามกลมกลึงมากจนหารอยมีดแทบไม่พบ แล้วจะฝานสองปีออกทั้งสองแก้มผลมะม่วง ตัดส่วนหัวและปลายทิ้ง ใช้เฉพาะส่วนกลางเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม ซึ่งหมายถึงว่าซีกหนึ่งก็จะได้ประมาณไม่เกิน 2-3 องค์เท่านั้น วางเรียงกันไว้ในจานคู่ กับข้าวเหนียว ข้อสําคัญการปอกมะม่วงนั้นจะต้องไม่ให้ช้ำเลย…

เมื่อเสวยเครื่องหวานเป็นที่พอพระราชประสงค์แล้ว คุณพระนายและคุณหลวงนายจะถอนพระสุพรรณภาชน์ส่งคืนออกไป ครั้นแล้วก็จัดการนําพานพระกล้องยาสูบ และพระโอสถทรงสูบเข้ามาตั้งถวายพร้อมที่เขี่ยเถ้าพระโอสถ พระสุธารสชาจีน ซึ่งทรงอยู่เป็นประจํา เมื่อได้ทอดเครื่องเรียบร้อยแล้วมหาดเล็กทุกคนก็ก้มลงกราบ ถวายบังคมแล้วคลานถอยออกนอกพระทวารไป เวรมหาดเล็กกองตั้งเครื่องชุดนี้เป็น อันหมดหน้าที่ราชการประจําวันลงในตอนนี้

เวรมหาดเล็กชุดใหม่เข้ามาประจําหน้าที่ต่อไป หมายความว่า นับแต่เสด็จลุกจากที่ประทับออกไปในตอนนี้แล้ว หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดําเนินไป ณ ที่แห่งใดอีก มหาดเล็กชุดที่เข้าเวรใหม่ต้องพร้อมที่จะรับหน้าที่ต่อไปได้ทันที

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (ภาพจากwww .wikipedia.org)

อนึ่ง เมื่อทรงมีฝ่ายในแล้ว ก็โปรดที่จะเสวยต้นร่วมกับฝ่ายในโดยมีคุณพนักงาน ฝ่ายในเป็นผู้ถวายการรับใช้แทนมหาดเล็ก ดังที่คุณเจรียง (อากาศวรรธนะ) ลัดพลี อดีตคุณข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ได้เล่าไว้ว่า

“ต่อมาสมเด็จฯ [2] ทรงพระครรภ์ ที่พระราชวังพญาไทตอนบ่าย ล้นเกล้าฯ จึง ไม่เสด็จลงเสวยฝ่ายหน้า ประทับเสวยที่ห้องโถงใหญ่บนพระที่นั่ง [3] ตรงกับห้องทรงพระอักษรหลังคาแหลม ทรงประทับกับพื้นพรมมีเบาะรองพระที่นั่งพระเขนยเป็น รูปหมอนขวานอิงติดกันเพียงสองพระองค์เท่านั้น พระที่นั่งของล้นเกล้าฯ จําได้ว่าเป็น สีเหลืองอ่อน ของสมเด็จฯ เป็นสีชมพูและเล็กกว่า มหาดเล็กเชิญเครื่องถ้วยพานกาไหล่ทองขอบบนเป็นลวดลายประดับเพชรพลอยสีต่างๆ ใส่เครื่องถ้วยชาญเบญจรงค์ หรือชามกังไสหลายพาน ขึ้นมาส่งให้พวกพี่ๆ ที่เป็นคุณพนักงานรอรับอยู่ข้างนอกและส่งต่อเข้ามาจนถึงคนตั้ง พวกเด็กๆ เป็นคนตั้งเปลี่ยนเวรกัน ที่ตั้งเป็นโต๊ะเตี้ยครึ่งพระะองค์ ปูด้วยผ้าลินินขาว การตั้งต้องตั้งให้ถูกแบบโดยได้รับการฝึกสอนมาจากพวกคุณมหาดเล็กรุ่นพี่…

เวลาเสวยพระกระยาหาร องค์ล้นเกล้าฯ ท่านจะทรงดื่มเบียร์ใสเหยือกเงินมีฝาปิดเปิด หน้าที่นี้เป็นของท่านหญิงอรอําไพ [4] จะคอยจัดถวายแล้วก็จะทรงรับสั่งคุยเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ทรงเสด็จประทับ อยู่เมืองนอกที่อังกฤษ ต้องทรงกวาดคอกม้า ต้องทรงทําอะไรทุกอย่างเช่นสามัญชน เรื่องขบขันต่างๆ เรื่องแปลกๆ ให้เรา[10] ได้มีความรอบรู้เฉลียวฉลาด มีความรู้รอบตัว ซึ่งแล้วแต่จะทรงโปรดเกล้าฯ…”

ส่วนในเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนั้น คงมีการถวายค็อกเทลและตีฆ้องสัญญาณเช่นเดียวกับเวลาเสวยกลางวัน แต่การเสวยพระกระยาหารค่ำนี้ประทับโต๊ะเสวยแบบฝรั่งเต็มรูป มีเจ้านายและเสนาบดีตลอดจนข้าราชการผู้ใหญ่ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนกันมาร่วมโต๊ะเสวยเป็นประจําทุกวัน ผู้ที่ร่วมโต๊ะเสวยเป็นประจํามีเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว. ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ส่วนมหาดเล็กมีเจ้าพระยารามราฆพ พระยาอนิรุทธเทวา และพระยาอุดมราชภักดี ซึ่งล้วนเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่ทรงชุบเลี้ยงมาแต่เยาว์วัยจนได้รับราชการเป็นผู้ใหญ่ในกรมมหาดเล็ก ในเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนี้โปรดให้คุณมหาดเล็กซึ่งเป็นนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันถวายอยู่งานนวด ที่ใต้โต๊ะเป็นประจําทุกวัน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ชีวิตและความรักของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) คนโปรดของร.6 ที่สตรีหลง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : พระยาอนิรุทธเทวา มหาดเล็ก “คนโปรด” ในรัชกาลที่ 6 ที่ “งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์”

เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว. ลพ สุทัศน์) (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“พอเสด็จลงประทับโต๊ะเสวย คนใต้โต๊ะนั้นจะนั่งขัดสมาธิ ถอดฉลองพระบาท เชิญพระบาทมาอยู่บนหน้าตักทําหน้าที่ไล่ยุง และถวายอยู่งานนวดทุกส่วนแห่งพระองค์ แล้วแต่พระราชประสงค์ บางครั้งต้องถวายโถลงพระบังคลเบา คนเข้าใต้โต๊ะนี้เริ่มเวลาราว 1 ยาม จนเสวยเสร็จ บางวันจนถึงตี 3 บางครั้งบางคราวเสวยกับข้าวอะไรโปรดขึ้นมา ยังพระราชทานให้คนใต้โต๊ะกินด้วย เคยมีพระราชกระแสว่าคนที่อยู่ใต้โต๊ะนี้ ต้องหูโตแต่ปากแคบ เพราะว่าเวลาประทับโต๊ะเสวยกับเจ้าพระยาเสนาบดีข้าราชการ ผู้ใหญ่ รับสั่งถึงเรื่องราชการแผ่นดินที่สําคัญ เช่นจะประกาศสงครามกับประเทศท่ามกลางยุโรป คนอยู่ใต้โต๊ะก็รู้ก่อนผู้อื่น”

เนื่องจากเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนั้นเริ่มตั้งแต่สามทุ่ม กว่าจะเสวยเสร็จ ก็ใกล้เที่ยงคืน บางคืนก็ล่วงไปกว่านั้น จึงมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า บางคราวมหาดเล็ก ที่เป็นเวรอยู่งานใต้โต๊ะนั้นมัวเพลินเที่ยวเล่นเพลินจนมิได้รับประทานอาหารเย็นมาก่อน พอได้เวลาประทับโต๊ะเสวยมหาดเล็กที่อยู่งานใต้โต๊ะนั้นก็จะมักสะกิดขามหาดเล็กผู้ใหญ่ที่ร่วมโต๊ะเสวยในวันนั้น ท่านผู้ใหญ่นั้นก็จะกรุณาจัดแบ่งอาหารใส่จานเล็กส่งลง ไปให้ผู้อยู่งานใต้โต๊ะ หรือบางทีไม่ทันใจมหาดเล็กนั้นก็จะไปหยิบอาหารที่จัดไว้ให้สุนัขทรงเลี้ยงที่ข้างโต๊ะเสวย เจ้าสุนัขนั้นก็จะส่งเสียงขู่ให้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ ก็มักจะมีรับสั่งว่า ไอ้พวกนี้แย่งหมากินอีกแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าทรงกริ้วผู้นั้นแต่ประการใด

ในระหว่างเวลาประทับเสวยพระกระยาหารค่ำนั้น กล่าวกันว่าเมื่อทรงกริ้วผู้หนึ่ง ผู้ใดขึ้นมาก็มักจะทรงกระทบพระบาทลงไปบนตักของคุณมหาดเล็กผู้ถวายอยู่งานใต้โต๊ะ โดยเฉพาะเวลาที่ทรงกริ้วพระยาสุจริตธํารง (อัด สุจริตกุล) ซึ่งทรงนับว่าเป็นพระญาติสนิทนั้นจะทรงออกแรงมากเป็นพิเศษ

นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าในหมู่มหาดเล็กตั้งเครื่องอีกว่า ไม่เคยมีใครถวายอยู่งานให้ในหลวงร้องว่าเจ็บได้เลย แม้แต่พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) ซึ่งมีชื่อในเรื่องถวายอยู่งานนวด แต่แล้ววันหนึ่งมีผู้ถวายอยู่งานนวดที่ทําให้พระองค์ ทรงเจ็บจนเป็นที่จดจําและเล่าต่อกันมาว่า

“พอเสวยได้หน่อยเดียว ดูเหมือนพอซุบหมดจาน ในหลวงทรงร้องโอย แล้วชักพระบาทขึ้นจากใต้โต๊ะ ท่านที่นั่งร่วมโต๊ะเสวยพากันตกใจและประหลาดใจ แต่ทันใดนั้นเองรับสั่งด้วยพระอาการขันๆ ว่า อ้ายหมอนั่นมันบีบสันหน้าแข้งฉันเจ็บพิลึกบ้าแท้ๆ บีบที่ไหนไม่บีบดันไปบีบสันหน้าแข้ง แล้วก็ทรงพระสรวลพลางใช้พระหัตถ์เลิกผ้าปูโต๊ะแล้วทรงก้มลงไปใต้โต๊ะรับสั่งว่า นวดดีๆ ซีวะอ้ายปรื๊อ ความที่ทรงจำฝีมือได้ก็ทรงเรียกชื่อได้ทุกคนโดยไม่ต้องเห็นหน้า เขาผู้นั้นเป็นชาสวภูเก้ต ซึ่งมีกทรงเรียกผู้เป็นชาวใต้ว่าปรื๊อ”

การเสวยต้นในพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้คงดำเนินมาตลอดรัชสมัยมาเลิกไปตั้งแต่ทรงพระประชวรในคืนวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และจากนั้นอีกเพียง 2 สัปดาห์ก็เสด็จสวรรคตตอนกลางดึกของคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

เชิงอรรถ

[1] ต่อมาในตอนปลายรัชสมัยโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพระนามพระที่นี้เป็น “พระที่นั่งบรมพิมาน”

[2] คือ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

[3] ห้องพิพิธภัณฑ์ภายในพระที่นั่งพิมานจักรี ชั้นบน

[4] หม่อมเจ้าหญิงอรอำไพ (เกษมสันต์) ต่อมาทรงลาออกจากฐานนันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับ นายโฉลก โกมารกุล ณ นคร

[5] หมายถึงคุณข้าหลวงเด็กๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้กว่าสิบคน


อ้างอิง :

วรชาติ มีชูบท. ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2562