กําแพงเพชรกับสุโขทัย “นอนไม่เหมือนกัน” ดูได้จาก “พระนอน”

วัดพระเชตุพน สุโขทัย มี พระสี่อิริยาบถ พระนั่ง พระนอน พระลีลา พระยืน
วัดพระเชตุพนที่อยู่นอกเมืองสุโขทัยด้านทิศใต้

กำแพงเพชรและสุโขทัยล้วนเป็นเมืองเก่า มี “พระพุทธไสยาสน์” หรือ “พระนอน” เป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวเมือง ซึ่งเรื่องทิศการนอนของ พระนอน นั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้ระบุไว้ในหนังสือ “หาพระหาเจ้า” (สำนักพิมพ์มติชน) ดังนี้ 

หมายเหตุ : ย่อหน้า เว้นวรรค และเน้นคำ โดย กอง บก. ออนไลน์


 

การเลือกทำเลที่ตั้งเมืองซึ่งมีสภาพภูมิประเทศที่ต่างกัน ระหว่างเมืองพิษณุโลกฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน กับตัวเมืองทางฟากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนั้น แสดงถึงคนที่มีแนวคิดต่างกันในการเลือกทำเลก่อสร้างบ้านเมือง โดยทางฟากตะวันออก (เมืองสรลวงสองแควเดิม) มีแนวคิดเหมือนกันกับการเลือกทำเลที่ตั้งเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และนครชุม ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบเอียงลาดเหมือนกับที่ราบระหว่างหุบเขาของล้านนา

ในขณะที่ผู้เลือกทำเลที่ตั้งเมืองพิษณุโลก ทางฟากตะวันตก (เมืองชัยนาทเดิม) มีแนวคิดในการเลือกทำเลที่ตั้งเมืองเหมือนกับเมืองพิจิตรและเมืองกำแพงเพชร ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่แบนราบเหมือนกับที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง

จากสาระสังเขปข้างต้น อาจนำมาชี้ให้เห็นในสาระที่จะกล่าวต่อไปในบทความนี้ว่า คนที่เลือกทำเลที่ตั้งเมืองกำแพงเพชรนั้น มีความคิดต่างไปจากคนที่เลือกทำเลที่ตั้งเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และนครชุม ซึ่งเป็นบ้านเมืองของแคว้นสุโขทัย กล่าวให้ชัดขึ้นคือ

“เมืองกำแพงเพชรถูกสร้างขึ้นโดยคนจากที่อื่น (ที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง) ดังนั้นเมืองกำแพงเพชรจึงมิใช่เมืองของแคว้นสุโขทัย หากแต่เป็นเมืองที่สร้างขึ้นเมื่อแคว้นสุโขทัยเสื่อมคลายความเป็นปึกแผ่นทางการปกครองลงแล้ว”

ในที่นี้จะขอนำเสนอแนวคิดที่แตกต่างกันอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเลือกทิศทางใน “การนอน” ระหว่างคนกำแพงเพชรกับคนสุโขทัยในสมัยโบราณ ซึ่งหลักฐานที่จะเป็นข้อบ่งชี้นั้น อยู่ที่การสร้าง พระพุทธรูปในอิริยาบถนอน หรือ พระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างติดที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ อันเป็นโบราณสถานที่พบอยู่ในเมืองโบราณทั้งสอง

ที่มาของทิศหัวนอนและทิศตีนนอน

ศิลาจารึกของสุโขทัยเรียกทิศใต้ว่า “ทิศหัวนอน” และเรียกทิศเหนือว่า “ทิศตีนนอน” คำเรียกเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะคนสุโขทัยสมัยโบราณนอนทิศทางอย่างนั้น ความจริงการเรียกทิศหัวนอนตีนนอนเช่นนี้เมื่อประมาณ 30 ปีมานี้ ยังพบว่ามีการใช้เรียกกันอยู่แถบอำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา แสดงว่าการเรียกทิศเช่นนี้น่าจะมีอยู่โดยทั่วไปของคนไทยมาแต่สมัยโบราณ ต่อมาภายหลังได้มีการลืมเลือนไปหมด

ทิศหัวนอนตีนนอนของคนไทยนี้ น่าจะมากับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาแบบลังกา ที่เผยแพร่เข้ามาสู่ดินแดนสยามตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยเล็กน้อย ดังปรากฏในพระมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ฉบับแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัย ในตอนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ทรงรับสั่งกับพระอานนท์ พุทธสาวก ความตอนหนึ่งว่า

…เธอจงช่วยตั้งเตียงให้เรา หันศีรษะไปทางทิศอุดรระหว่างไม้สาละทั้งคู่ เราเหนื่อยแล้วจักนอน…พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง สำเร็จสีหไสยาโดยปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทด้วยพระบาท มีพระสติสัมปรัญญะ

ความในพระสุตตันตปิฎกตอนนี้แสดงอย่างชัดเจนว่า เมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น ทรงนอนหันพระเศียรไปทางทิศเหนือในท่วงท่าแบบสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงข้างขวา

ดังนั้น พระนิพพานของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นสภาวะนามธรรม ได้แสดงออกในลักษณะที่เป็นรูปธรรมแห่งพระวรกายมนุษย์ คือการตายหรือสิ้นพระชนม์ ทรงนอนสิ้นพระชนม์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ นอนตะแคงขวา พระพักตร์จึงผินไปทางทิศตะวันตก

ในทางกลับกัน ความในพระสูตรตอนนี้แสดงว่า ในขณะที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระพุทธองค์จะทรงสำราญพระอิริยาบถโดยการนอนหันพระเศียรไปทางทิศใต้ ตะแคงข้างขวาในท่วงท่าสีหไสยาสน์ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก

ดังจะเห็นได้จากการสร้าง พระนอน ก่ออิฐถือปูนติดที่ ในวิหารที่เป็นโบราณสถานเมืองเก่าสุโขทัย คือที่ วัดพระพายหลวง กับที่ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ 5 ยอดในวัดมหาธาตุ ซึ่งต่างก็นอนหันพระเศียรไปทางทิศใต้ทั้งสิ้น

เพราะการสร้างวัดในสมัยสุโขทัยนั้นเป็นการสร้างถวายเป็นพุทธบูชา พระพุทธรูปในอิริยาบถต่างๆ ที่มีอยู่ในวัด เป็นการจำลองพระจริยวัตรอันงดงามของพระพุทธองค์ ในพระอารามแห่งใดแห่งหนึ่งที่มีผู้สร้างถวายในขณะที่ทรงพระชนมชีพอยู่ ชาวสุโขทัยจึงถือเอาทิศใต้เป็นทิศหัวนอนตามอย่างพระพุทธรูป และไม่นอนหันหัวไปทางทิศเหนือ เนื่องจากเป็นทิศแห่งการตาย (ตามพระมหาปรินิพพานสูตร)

การถือทิศหัวนอนตีนนอนเช่นนี้ คงเป็นอย่างเดียวกันในสังคมไทยโบราณ ที่รับพระพุทธศาสนาจากลังกาในสมัยเริ่มแรก เช่น ที่ วัดพระแก้ว โบราณสถานในเมืองกำแพงเพชร จะมีวิหารที่ภายในมีพระพุทธรูปเป็นประธาน 3 องค์ โดย 2 องค์เป็นพระพุทธรูปนั่งคู่กัน ถัดออกมาด้านหน้าเป็น พระนอน หันพระเศียรไปทางทิศใต้ทั้งหมด หันหน้ามาทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าของวิหาร ส่วน วัดพระนอน ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ก็มีพระพุทธรูปนอนหันพระเศียรไปทางทิศใต้ด้วยเช่นกัน

(ในที่นี้ขอทำความเข้าใจว่า พระนอน ทั้งสี่องค์ที่กล่าวถึงนี้ มีที่วัดพระแก้วเมืองกำแพงเพชรเพียงแห่งเดียวที่เห็นทิศทางการนอนที่ชัดเจน เนื่องจากชำรุดไม่มาก แต่ที่เหลือทั้งสามแห่งที่กล่าวถึงนั้น เหลือเพียงกองอิฐเป็นแนวยาวเหนือ-ใต้ ในวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่เห็นร่องรอยว่าตรงไหนเป็นพระเศียร ตรงไหนเป็นพระบาท เนื่องจากชำรุดมาก แต่ที่กล่าวไปแล้วว่าหันพระเศียรไปทางทิศใต้ เนื่องจากแนวอิฐที่ทอดยาวอยู่นี้ มีผนังวิหารด้านทิศตะวันตก ประชิดอยู่ที่ด้านหลัง และเนื่องจากมีแนวคิดว่าพระพุทธองค์จะทรงนอนแบบสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงขวา ทำให้ทราบว่าซากพระนอนต้องผินพระพักตร์ออกสู่หน้าวิหาร ซึ่งเป็นทิศตะวันออก ดังนั้น พระเศียรของพระพุทธรูปที่ชำรุดไร้ร่องรอยนี้ จึงต้องหันไปทางทิศใต้)

“พระนอน” กำแพงเพชรคิดต่างไปจากสุโขทัยอย่างไร

จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่าทั้งกำแพงเพชร และสุโขทัย คิดเหมือนกันในการสร้างพระนอนในวิหาร ว่าหมายถึงการสำราญพระอิริยาบถของพระพุทธองค์ ขณะทรงจำพรรษาอยู่ในพระอารามแห่งใดแห่งหนึ่ง การสร้างพระพุทธรูปนอนจึงมิได้ทำให้หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ อันเป็นทิศแห่งการตายหรือทิศตีนนอน

แต่ที่สร้างพระพุทธรูปนอนในวิหารตามทิศทางเช่นนี้ (คือหันพระเศียรไปทางทิศใต้อยู่ภายในวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก) น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดความสมานฉันท์ในองค์ประกอบอยู่บ้าง ระหว่างพระพุทธปฏิมาซึ่งวางอยู่ในแนวนอน กับทิศทางของวิหารที่เน้นแนวตั้งทางด้านหน้าซึ่งเป็นทิศตะวันออก อันจะเกิดพื้นที่ว่างมากเกินไปภายในวิหารส่วนที่อยู่เหนือองค์พระพุทธรูป (วิหารวัดพระแก้ว เมืองกำแพงเพชร ซึ่งสร้างขึ้นหลังจากโบราณสถานที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ได้แก้ปัญหาข้อนี้โดยการสร้างพระพุทธรูปนั่งคู่กันอยู่หลังพระนอน อันเป็นการเพิ่มปริมาตรในแนวตั้งให้แก่รูปพระปฏิมา)

ดังนั้น ในการสร้างพระพุทธรูปสี่อิริยาบถที่ต้องการแสดงความหมาย อันเป็นภาพรวมของพระพุทธองค์ในขณะประทับอยู่ในพระอาราม ที่วัดพระเชตุพนเมืองสุโขทัย กับวัดพระสี่อิริยาบถที่เมืองกำแพงเพชร จึงได้กำหนดให้พระพุทธรูปยืน/ลีลา อยู่ที่ด้านทิศตะวันออก/ตะวันตก อันเป็นด้านหน้า/หลังของวิหาร ก็จะให้ความสมานฉันท์กับลักษณะของอาคาร ซึ่งเน้นแนวตั้งที่ด้านหน้า ส่วนพระพุทธรูปนอน/นั่ง ซึ่งมีความสูงน้อยกว่า ได้สร้างไว้ที่ด้านทิศเหนือ/ใต้ อันเป็นด้านข้างของตัวอาคาร ดังแผนผังต่อไปนี้

(ภาพจาก “หาพระหาเจ้า”)

จากแผนผังข้างต้นจะเห็นว่า ทั้งวัดพระเชตุพน และวัดพระสี่อิริยาบถ มีรูปแบบในการก่อสร้างโดยส่วนรวมเป็นอย่างเดียวกัน คือ การเอาด้านทิศตะวันออกเป็นด้านหน้าของวิหาร ตรงกลางวิหารทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมก่อทึบ โดยมีพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนในอิริยาบถต่างกัน 4 องค์ คือนั่งลีลา (เดิน) นอน ยืนประดิษฐานหันพระปฤษฎางค์ (หลัง) พิงอยู่กับด้านทั้งสี่ของแท่งทึบสี่เหลี่ยมนี้

ดังนั้น แม้ว่าทั้งสองวัดนี้ อีกเช่นกันที่ “พระนอน” ได้ชำรุดจนมองไม่ออกว่าตรงไหนเป็นพระเศียร ตรงไหนเป็นพระบาท แต่เนื่องจากมีแนวคิดว่าพระพุทธรูปนอนจะอยู่ในท่าสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงขวาหันหลังเข้าหาแท่งทึบสี่เหลี่ยม จึงสามารถที่จะกำหนดรู้ได้ว่าพระพุทธรูปนอนทั้งสองแห่งนี้จะหันพระเศียรไปทางทิศใด แม้ว่าพระเศียรจะชำรุดไปหมดจนปราศจากรูปรอยบ่งบอกแล้วก็ตาม

แต่ที่ต่างกันระหว่างวัดทั้งสองนี้อยู่ที่ว่า มีการวางตำแหน่งของพระพุทธรูปในอิริยาบถทั้งสี่สลับที่กัน คือ ในขณะที่วัดพระเชตุพนเอาพระลีลาไว้ด้านหน้า เอาพระยืนไว้ด้านหลัง วัดพระสี่อิริยาบถกลับเอาพระลีลาไว้ด้านหลัง เอาพระยืนไว้ด้านหน้า

และในขณะที่วัดพระเชตุพนเอาพระนอนไว้ด้านข้างทิศใต้ เอาพระนั่งไว้ด้านข้างทิศเหนือ วัดพระสี่อิริยาบถกลับเอาพระนอนไว้ที่ด้านข้างทิศเหนือ เอาพระนั่งไว้ด้านข้างทิศใต้

แม้มีการสลับทิศกัน แต่การลำดับพระพุทธรูปก็ยังคงเหมือนกัน คือสมมติเริ่มต้นที่พระนั่ง ลำดับต่อไปตามทักษิณาวรรตหรือเวียนขวาก็จะได้พระพุทธรูปที่อยู่ในลำดับเหมือนกัน คือ พระนั่ง พระลีลา (เดิน) พระนอน และพระยืน แสดงว่าโดยส่วนรวมแล้ว วัดทั้งสองแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยแนวความคิดที่เหมือนกัน

ในเมื่อเห็นแล้วว่าวัดทั้งสองแห่งสร้างด้วยแนวคิดอย่างเดียวกัน ปัญหาที่ต้องการคำอธิบายจึงอยู่ที่ว่า เหตุใดจึงต้องทำพระให้มีอิริยาบถกลับที่กันระหว่างวัดทั้งสองแห่งนี้

ในที่นี้ขอเสนอว่า เนื่องจากแนวคิดเกี่ยวกับทิศทางการนอนของทั้งสองแห่งไม่เหมือนกัน กล่าวคือ การย้ายตำแหน่งของพระให้นอนอยู่ด้านข้างแทนที่จะอยู่ด้านหน้า ทำให้พระเศียรของพระพุทธรูปมิได้หันไปทางทิศใต้อันเป็นทิศหัวนอนตามปกติ

สำหรับวัดพระเชตุพนของสุโขทัยเอาพระพุทธรูปนอนไว้ที่ด้านข้างทิศใต้ ทำให้พระพุทธรูปนอนผินพระพักตร์ไปทางทิศใต้ โดยมีพระเศียรหันไปทางทิศตะวันตก ทิศตะวันตกเป็นทิศไม่ดี คือเป็นทิศแห่งความตายตามคติที่น่าจะสืบมาแต่บรรพกาล ตั้งแต่มนุษย์ ได้สังเกตธรรมชาติ คือ ดวงอาทิตย์ที่ขึ้นทางทิศตะวันออก อันหมายถึง การเกิด (มีชีวิต) และตกทางทิศตะวันตก อันหมายถึง การดับ หรือความตาย

คนสุโขทัยดั้งเดิมก็น่าจะถือทิศตะวันตกเป็นทิศแห่งความตายด้วย ดังที่กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นที่วัดช้างล้อมเมืองศรีสัชนาลัย เมืองคู่กันของสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2528 ได้พบโครงกระดูกที่มีประเพณีการฝังแบบก่อนประวัติศาสตร์ (ก่อนรับพระพุทธศาสนา) ที่ใต้องค์เจดีย์ โครงกระดูกนอกจากจะมีภาชนะดินเผาฝังร่วมอยู่บริเวณไหล่ทั้งสองแล้ว ยังหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกด้วย สถานที่พบโครงกระดูกดังกล่าวคงเป็นสุสานของคนรุ่นเก่า และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก่อน

เมื่อได้รับพระพุทธศาสนาแล้ว จึงผสมผสานความเชื่อเดิมกับความเชื่อใหม่เข้าด้วยกัน โดยการสร้างพระสถูปพระบรมสารีริกธาตุที่มีฐานช้างล้อมลงบนบริเวณศักดิ์สิทธิ์ของเดิม กลายเป็นปูชนียสถานทางพระพุทธศาสนาไป

อย่างไรก็ดี ทิศตะวันตกอันเป็นทิศแห่งความตายก็ได้ถูกละทิ้งไป เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปนอนที่วัดพระเชตุพนสุโขทัย คงระวังเพียงไม่สร้างให้หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ อันเป็นทิศแห่งการตายในพระมหาปรินิพพานสูตร อันถือว่าเป็นทิศตีนนอนเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อมีการสร้างวัดพระสี่อิริยาบถที่แม้จะด้วยแนวคิดเดียวกันกับวัดพระเชตุพน แต่ที่กำแพงเพชรยังถือทิศตะวันตกอันเป็นทิศแห่งความตาย ตามคติเดิมว่าเป็นทิศต้องห้ามอยู่ พระนอน จึงถูกนำมาสร้างไว้ที่ด้านข้างทิศเหนือ เอาพระพุทธรูปนั่งไปไว้ที่ด้านข้างทิศใต้ การที่พระพุทธรูปนอนมาอยู่ที่ด้านทิศเหนือเช่นนี้ ทำให้ได้พระพุทธรูปในท่วงท่าสีหไสยาสน์ที่ผินพระพักตร์ไปทางด้านทิศเหนือ และมีพระเศียรหันไปทางทิศตะวันออกอันเป็นทิศแห่งการมีชีวิตอยู่

กำแพงเพชรจึงได้รูปแทนพระพุทธองค์ในขณะทรงมีพระชนมชีพจำพรรษาอยู่ในพระอารามแห่งหนึ่ง โดยทรงอยู่ในพระอิริยาบถนอนที่มิได้หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก ซึ่งหมายถึงความตายตามคติเดิม และเพื่อให้การลำดับพระพุทธรูปเป็นไปตามแนวคิดเดิม จึงได้สลับที่เอาพระพุทธรูปยืนไว้ด้านหน้า และเอาพระพุทธรูปลีลาไว้ด้านหลังเสียด้วย

สรุป

บทความนี้เป็นการชี้ให้เห็นข้อแตกต่างอันเป็นแนวคิดในรายละเอียด ท่ามกลางแนวคิดที่เหมือนกันโดยรวม และรูปแบบทางศิลปกรรมที่คล้ายคลึงกันระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัย ที่มีพื้นฐานทางพุทธศาสนาเถรวาทจากลังกาเหมือนกัน

ทิศหัวนอนกับทิศตีนนอน ซึ่งหมายถึงทิศใต้กับทิศเหนือ ตามที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกของสุโขทัย และเป็นคติของคนไทยสมัยโบราณนั้น เป็นการถือทิศทางตามมหาปรินิพพานสูตร ที่ระบุให้ทิศเหนือเป็นทิศแห่งการตาย

การสร้างพระพุทธรูปภายในวัดที่มีอิริยาบถนอน หรือ “พระนอน” ของสุโขทัย และกำแพงเพชร ในสมัยโบราณ หมายถึง รูปแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะทรงมีพระชนมชีพจำพรรษาอยู่ในพระอารามแห่งใดแห่งหนึ่ง มิใช่พระพุทธรูปปางปรินิพพาน จึงไม่ทำพระเศียรให้หันไปทางทิศเหนือ ตามที่กล่าวในพระมหาบรมปรินิพพานสูตร แต่จะทำหันพระเศียรไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์มาทางทิศตะวันออก อันเป็นด้านหน้าของอาคารที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูป

แต่ด้วยความจำเป็นทางด้านสุนทรียศาสตร์ เมื่อต้องทำให้พระพุทธรูปนอนทอดยาวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก จึงเกิดปัญหาขึ้นว่าควรให้พระเศียรของพระพุทธรูปหันไปทางทิศใดจึงจะเหมาะสม ทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศแห่งความตายตามคติเดิม ควรเป็นทิศต้องห้ามสำหรับการสร้างพระพุทธรูปที่หมายถึงพระพุทธองค์ขณะทรงมีพระชนมชีพอยู่ มิให้นอนหันพระเศียรไปทางทิศนั้นด้วยหรือไม่ เพราะทิศแห่งการตายในพระสรีระของพระพุทธองค์ ได้กำหนดชัดเจนแล้วว่าเป็นทิศเหนือในพระไตรปิฎก ดังนั้น แม้ว่าพระพุทธรูปนอนจะหันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก ก็มิได้หมายความว่าพระพุทธองค์ทรงนอนสิ้นพระชนม์อยู่

ทั้งสองแนวคิดในรายละเอียดที่แตกต่างกัน คงไม่ใช่สาระสำคัญในเรื่องชี้ผิดชี้ถูก เพราะความสำคัญอยู่ที่ความคิดที่แตกต่างกันนี้ ปรากฏให้เห็นระหว่างสุโขทัยกับกำแพงเพชร ในการสร้างพระพุทธรูปนอนที่วัดพระเชตุพนกับวัดพระสี่อิริยาบถ จึงเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ขึ้นมีอำนาจที่เมืองกำแพงเพชรนั้น มิใช่คนของสุโขทัย แต่ควรจะมาจากที่อื่น (โดยหลักฐานอื่นว่าเป็นสุพรรณบุรี) เหมือนกับที่แสดงให้เห็นเกี่ยวกับแนวคิดในการเลือกภูมิประเทศในการสร้างเมืองกำแพงเพชรด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. หาพระหาเจ้า, สำนักพิมพ์มติชน กันยายน 2545.


ปรับปรุงในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 14 มีนาคม 2563