วัฒนธรรมการประโคม ที่เน้น “ความสนุกสนานมากกว่าคำนึงถึงความหมาย”!?

ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำตาด้วง จ.กาญจนบุรี อายุราว 3,000-2,000 ปีมาแล้ว เชื่อว่าเป็นภาพทิวแถวของผู้คนตีเครื่องประโคมในพิธีกรรมดั้งเดิม (ภาพคัดลอกของกรมศิลปากร)

ประโคม หมายถึงการทำเสียงกึกก้อง มีทั้งที่เป็นจังหวะทำนอง และไม่เป็นสุ้มเสียง แต่เน้นการให้เสียงดังอึกทึก เพื่อใช้ในระหว่างประกอบพิธีกรรมต่างๆ

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงภูมิภาคอื่นบนโลก) การประโคมมีความหมายเพื่อ “เรียก” สิ่งต่างๆ ทั้งที่มองเห็น และมองไม่เห็น ให้เข้าร่วมในพิธีกรรมที่กำลังกระทำอยู่

สาระสำคัญของการประโคมเบื้องต้นคงมาจากความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” ว่าให้ทำเสียงดังๆ เพื่อเรียกขวัญที่ต่างๆ มาสู่มณฑลพิธี

ในงานศพ การประโคมเป็นไปเพื่อเรียกขวัญเข้าร่างผู้ตายให้ฟื้น (วิญญาณเป็นเรื่องที่เชื่อกันหลังศาสนาจากอินเดียเข้ามา) ตามความเชื่อดั้งเดิม

ในงานบวช การประโคมคือการ “ทำขวัญนาค” เป็นกระบวนการต่อรองระหว่างความเชื่อเก่า กับศาสนาใหม่ ให้ชาวพื้นเมือง (ที่ไม่ใช่ชาวอินเดีย) สามารถห่มผ้ากาสาวพัสตร์ได้ แต่ต้องทำขวัญให้พร้อมก่อนไปจากโลกเก่าคือ “นาค” ที่หมายถึงคนพื้นเมืองซึ่งแต่เดิมคงถูกหวงห้ามมิให้บรรพชาได้

แต่โดยแท้จริง การประโคมคงเป็นไปเพื่อการปลดปล่อยความ “ดิบ” ในสัญชาตญาณของคน เพราะได้ออกท่าทางตามจังหวะแบบที่ไม่อาจทำได้ในชีวิตประจำวัน ต้องรอเมื่อมีพิธีกรรมเท่านั้น

และนานวันเข้า พร้อมกับการรับวัฒนธรรมดนตรีแบบตะวันตกเข้ามา การประโคมเริ่มมีจังหวะจะโคนทำนองมาสอดแทรก และมี “อารมณ์” ผสมผสานเข้าไปมากยิ่งขึ้น ประโคมจึงกลายเป็นมหรสพที่เน้นความสนุกสนานมากกว่าคำนึงถึงความหมาย

จนกระทั่งความสนุกสุดขั้วไม่อาจหยั่งได้ถึงความผิดชอบชั่วดี ถึง “หลุด” สัญชาตญาณที่ไร้สำนึกพร้อมความรุนแรงเมื่อตนถูกห้ามประโคมในพิธีกรรม ซึ่งคงเป็นผลพวงมาจากสังคมที่อ่อนแอของประเทศไทยทุกวันนี้

ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียหายทุกคนในเหตุการณ์ที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ 24 กุมภาพันธ์ 2562


ดูเพิ่มเติมประวัติวัดสิงห์ได้ที่ วัดสิงห์ ริมคลองสนามชัย เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เป็นวัดเก่า ยุคอยุธยา