“รถพุ่มพวง” มาจากไหน? วิถีชาวบ้าน-ตลาดสด-โชห่วยเคลื่อนที่ยุคนี้ก็เอาอยู่-สู้ได้ (ตอน 1)

ภาพประกอบเนื้อหา - รถพุ่มพวงที่มีลำโพงหรือแตร (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2561)

ผู้เขียนได้ยินคำว่า “รถพุ่มพวง” ครั้งแรกก็ตอนที่ ศ. (พิเศษ) ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง บรรยายเรื่องการสืบทอดภูมิปัญญาไทย ในงานแสดงปาฐกถา “สิรินธร” ครั้งที่ 22 เมื่อ พ.ศ. 2550 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ส่วนจะเป็นอาจารย์เอกวิทย์หรือใครเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมาใช้เป็นคนแรกก็ไม่อาจทราบได้ ตอนนั้นคิดในใจเพียงแต่ว่าช่างเป็นคำที่ฟังน่ารักและเห็นภาพได้ในทันทีว่าอาจารย์ท่านกำลังพูดถึงรถแบบไหนและขายอะไร

“รถพุ่มพวง” หรือที่บางคนก็เรียกว่ารถเร่ขายผัก รถขายกับข้าว รถตลาดสดเคลื่อนที่ ฯลฯ เหตุที่ผู้เขียนเห็นดีเห็นงามตามอาจารย์เอกวิทย์นั้น เป็นเพราะรถพุ่มพวงมีลักษณะเด่นโดยผู้ขายจะบรรจุสินค้าเป็นถุงๆ แขวนห้อยที่ข้างรถในลักษณะเป็นพวงๆ ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงทำให้เกิดการแบ่งประเภทของสินค้าและกำหนดราคาขายไปในตัว อันเป็นการสร้างความสะดวกให้แก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในการคำนวณราคาและชำระค่าสินค้าที่ซื้อไป

ครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนบรรยายถึงรถพุ่มพวงในงานเสวนาทางวิชาการเสร็จสิ้น ก็มีผู้ฟังท่านหนึ่งเดินเข้ามาบอกว่าในจังหวัดทางภาคอีสานบ้านเกิดของเค้าเรียกรถประเภทนี้ว่า “รถโตงเตง” ฟังแล้วก็เห็นภาพเช่นกัน ส่วนใครจะเห็นภาพของรถกระบะที่มีกับข้าวห้อยแล้วแกว่งโตงเตงไปมา หรือใครจะเห็นภาพคนขายที่มีอะไรให้ดูโตงเตงอันนั้นก็ไม่ว่ากัน (ฮา)

ส่วนอาจารย์อีกท่านหนึ่งสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เล่าให้ฟังว่าที่จังหวัดเชียงใหม่เรียกรถประเภทนี้ว่า “กาดอ๊อดอ๊อด” ดูน่ารักไปอีกแบบ อาจารย์ท่านนั้นกรุณาขยายความว่า คนทางภาคเหนือเรียก “ตลาด” ว่า “กาด” ส่วนคำว่า “อ๊อดอ๊อด” เป็นเพราะรถเร่ขายกับข้าวที่ต่างจังหวัดต้องมีลำโพงหรือเสียงแตรเป็นสัญญาณบอกกล่าวคนในชุมชนให้รู้ว่ารถขายกับข้าวมาให้บริการแล้ว

มุมมองต่อการปรับตัวของชาวบ้านรับทุนนิยม

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ครั้งนั้นอาจารย์เอกวิทย์เล่าว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านในการปรับตัวตอบโต้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะเห็นได้ทั่วไปว่าตลาดนัดเป็นที่พึ่งของคนเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เปิดตลาดนัดทุกวันศุกร์ ตลาดนัดที่กระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงตลาดนัดหรือตลาดชุมชนทุกหนแห่งในประเทศไทย ผมไปต่างจังหวัดก็ชอบไปเที่ยวตลาดนัดในตอนเช้า ได้พบว่านี่เป็นทางออกในเรื่องของ ‘direct sale’ ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคที่เหมาะสมและประหยัดกว่า เพราะว่าชาวบ้านคงจะสู้ไม่ไหวที่จะไปซื้อของจากห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต

ดังนั้น ของสดทั้งผัก ผลไม้ และของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เราหาได้จากตลาดนัดทั่วทุกแห่งจากเหนือจรดใต้ นี่คือการปรับตัวของชาวบ้าน นอกจากนั้น ขณะนี้ตามหมู่บ้านต่างๆ ก็มี ‘รถพุ่มพวง’ ที่มีถุงพลาสติคใส่ของกินทุกอย่างแขวนข้างรถเต็มไปหมด นอกจากนั้นก็มีผู้ดัดแปลงรถจักรยานยนต์บรรทุกของกินของใช้ ซอกซอนตามตรอกซอยต่างๆ นี่ก็เป็นภูมิปัญญาเช่นกัน เพราะเกือบทุกบ้านต้องมีตาแก่ยายแก่เฝ้าบ้าน เพราะลูกหลานไปทำงานกันหมด รถก็บริการถึงบ้าน ราคาก็ไม่แตกต่างจากตลาดนัก ดังนั้น ‘รถพุ่มพวง’ จึงเป็นการแก้ปัญหาแบบชาวบ้าน”

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ก่อนที่ผู้เขียนจะได้ยินคำว่า “รถพุ่มพวง” จากอาจารย์เอกวิทย์นั้น ผู้เขียนได้เริ่มสนใจที่จะศึกษาเรื่องรถขายกับข้าวมาระยะหนึ่ง แต่ก็เรียกแค่ว่า “รถขายกับข้าว” เหตุที่สนใจเนื่องจากก่อนหน้านั้นไปประมาณ 3-4 ปี มีผู้ประกอบการธุรกิจบ้านจัดสรรท่านหนึ่งมาเล่าให้ฟังถึงรถขายกับข้าวที่วิ่งขายกับข้าวอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรของเขาว่า “อาจารย์เดี๋ยวนี้รถพวกนี้ขยายการให้บริการแบบเคาน์เตอร์เซอร์วิสด้วยนะ คือ คนแก่ที่ขี้เกียจออกจากบ้านหรือมาอยู่กับลูกเพื่อช่วยเลี้ยงหลาน เมื่อไม่กล้าออกจากบ้านไปไหนก็ให้รถขายกับข้าวแวะไปจ่ายบิลค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าโทรศัพท์ให้ คิดกันเพิ่มไปใบละ 5 บาท 10 บาท รถขายกับข้าวเองก็ต้องผ่านเซเว่น (7-ELEVEN) อยู่แล้ว สมประโยชน์ทั้ง 2  ฝ่าย”

พอ 1 ปีผ่านไป เจอผู้ประกอบการท่านเดิมก็มาเล่าเพิ่มว่า “รถขายกับข้าวขยายการให้บริการเพิ่มขึ้นอีกแล้วนะ ทำเหมือนพวกเดลิเวอรี่ วันนี้บ้านไหนอยากกินอะไรพิเศษก็โทร. ไปสั่ง ขอเบอร์กันไว้สั่งของได้ตลอด วันนี้อยากทำปลาช่อนแป๊ะซะก็สั่งให้หาของมาให้ ทั้งปลาช่อน ทั้งผัก ทั้งเครื่องปรุงรส หรืออาทิตย์หน้าจะไหว้เจ้า ก็สั่งให้รถขายกับข้าวไปสั่งของไหว้เจ้าเตรียมไว้เลย พอถึงวันไหว้ ไก่ต้ม เป็ดพะโล้ ซาแซ (เครื่องไหว้ 3  อย่าง) มาครบ ผลไม้จะเอากี่อย่างก็สั่งไป เดี๋ยวพวกนี้จัดหามาให้ตามสั่ง เพราะรถเร่ขายกับข้าวต้องไปซื้อของจากที่ตลาดมาขายอยู่แล้ว ราคาก็บวกเพิ่มเข้าไป เหมาเฉลี่ยแล้วก็ยังถูกกว่าที่คนในหมู่บ้านต้องออกไปตลาดเองแล้วเหมารถสามล้อกลับมาบ้าน แถมยังประหยัดเวลา คนในหมู่บ้านก็สะดวก พ่อค้าพวกนี้ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น” 

ผู้เขียนฟังเรื่องเช่นนี้อยู่ราว 2-3 ครั้งก็เริ่มสนใจว่า รถขายกับข้าวขายอะไรกันบ้าง วิ่งขายไปไกลถึงไหน ขายได้วันละเท่าไร ฯลฯ จนวันที่ได้ยินอาจารย์เอกวิทย์เรียกว่า “รถพุ่มพวง” ดูเหมือนทุกอย่างจะลงตัว ชื่อก็น่ารักดูดีมีเสน์ห์ คำก็ง่ายๆ ชัดเจน การเก็บข้อมูลวิจัยเพื่อคลายความสงสัยเรื่องรถพุ่มพวงจึงเริ่มเป็นจริงเป็นจังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงวันนี้ก็ 10 กว่าปีแล้ว

วันนี้ผู้เขียนเลยจะลองเล่าเรื่องราวของรถพุ่มพวงให้ได้ฟังกัน ประกอบกับช่วงเวลาที่ผ่านมาเพื่อนพ้องน้องพี่ต่างส่งรูปรถขายสินค้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่รายหนึ่งมาให้ดู จำลองสินค้าที่ขายอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ต เลือกเอาแต่ที่จำเป็นกับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานให้เป็นขนาด “Mini” เข้าไปเร่ขายสินค้าในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง หลายคนก็เป็นห่วงว่า “รถพุ่มพวง” ที่เป็นวิถีชาวบ้านแบบไทยๆ นั้น จะสู้รบปรบมือกับการรุกคืบของระบบทุนนิยมในรอบใหม่นี้ได้อย่างไรกัน

พอวิเคราะห์ให้เพื่อนพ้องฟังแล้ว ก็ยังมีคนสนใจถามไถ่กันมาเรื่อยๆ…อย่ากระนั้นเลยบอกเล่าให้ได้ฟังด้วยไปในคราวเดียวกันเลยดีกว่า เผื่อให้ผู้ที่ส่งเสียงเชียร์รถพุ่มพวงอยู่จะได้มีกำลังใจ เพราะจากข้อมูลที่ผู้เขียนเก็บมากว่า 10 ปีนั้น “การแข่งขันครั้งนี้ รถพุ่มพวงเอาอยู่และสู้ได้”

ส่วนจะเอาอยู่อย่างไร จะค่อยๆ เล่าให้ฟังไปทีละเรื่องก็แล้วกัน

วิวัฒนาการ “รถพุ่มพวง”

ขอลำดับความตั้งแต่ต้นเช่นนี้ว่า ในตอนเด็กๆ นั้น ผู้เขียนอาศัยอยู่บ้านริมน้ำในคลองชักพระ (คลองชักพระคือคลองที่แยกออกไปจากคลองบางกอกน้อย) ประมาณบ่ายแก่ๆ ก็จะเห็นผู้คนพายเรือจากในคลอง (เราใช้คำว่า “ปากคลอง” กับ “ในคลอง” ไม่มีคำว่า “ท้ายคลอง” เพราะโครงข่ายคลองนั้นต่อเชื่อมกันเหมือนใยแมงมุม พายเรือลึกเข้าไปในคลองนี้ก็ไปเจอปากคลองอีกคลองหนึ่ง เลยไม่รู้ว่าท้ายคลองอยู่ตรงไหน จากคลองชักพระก็จะเชื่อมไปออกคลองมหาสวัสดิ์-คลองภาษีเจริญ-คลองบางกอกใหญ่ และออกแม่น้ำเจ้าพระยาย้อนมาเข้าคลองบางกอกน้อยกลับมาที่คลองชักพระ)

เรือจากในคลองที่พายออกมาเป็นพวกชาวสวนในย่านตลิ่งชัน ชาวสวนเก็บเอาพืชผักที่ปลูกในสวนของตัวเอง เช่น ตำลึง ชะอม ถั่วฝักยาว ถั่วพู บวบ ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ ใส่เรือออกมาขาย วันไหนมีอะไรให้เก็บได้ก็ขายกันตามนั้น นอกจากชาวสวนแล้วก็ยังมีเรือขายผักของพ่อค้าแม่ค้าที่ไปรับเอาผักจากคนจีนแถบย่านสวนผักมาเร่ขาย รวมถึงกะปิ น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ หอม กระเทียม พริกแห้ง ฯลฯ ที่ซื้อจากพ่อค้าคนกลางที่ไปรับมาจากท่าเตียนอีกต่อหนึ่ง

การซื้อกับข้าวในสมัยนั้นจะซื้อแบบวันต่อวัน เพราะคนทั่วไปยังไม่มีตู้เย็นไว้แช่ของสด เนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมูหรือเนื้อวัวก็จะขายกันตอนเช้า ส่วนประเภทปลาน้ำจืดก็จะมีคนทอดแหจับปลาขาย จับได้ปลาอะไรก็ขายอย่างนั้น ถ้าเป็นอาหารทะเลก็ต้องรอวันหยุด เช่น เสาร์ หรืออาทิตย์ เพราะคนจะอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปลาทูนึ่งก็จะมีเรือล่องจากคลองภาษีเจริญมาขายทุกวัน [ย่านตลาดพลูเดิมเคยมีโรงปลาทูอยู่เป็นจำนวนมาก โดยรับปลาสดมาจากมหาชัยขนส่งกันทางรถไฟ รถไฟสายมหาชัยแล่นผ่านย่านตลาดพลูและไปสิ้นสุดที่สถานีคลองสาน จึงทำให้คลองสานมีโกดังเก่าทิ้งร้างอยู่ และถูกดัดแปลงเป็นร้านค้า-ร้านอาหารเช่นในปัจจุบัน ทางรถไฟสายมหาชัยถูกตัดช่วงจากถนนเจริญรัถมาถึงยังคลองสานให้สิ้นสุดแค่สถานีวงเวียนใหญ่ (โรงหนังสุริยา) ราว พ.ศ. 2512]

กับข้าวที่ซื้อกันในตอนบ่ายก็จะทำกินกันตอนเย็นมื้อหนึ่ง แล้วก็ทำเตรียมไว้ใส่บาตรและกินในมื้อเช้าวันรุ่งขึ้นอีกมื้อหนึ่ง เช้ามาก็แค่อุ่นให้ร้อนเพียงเท่านั้น หรือถ้าเป็นอาหารประเภทผัก ก็จะเอาผักแช่น้ำไว้ให้ผักอิ่มน้ำ ผักก็จะเขียวสด จึงค่อยมาทำอาหารในตอนเช้า ก็แล้วแต่ความสะดวกหรือประเภทอาหารที่ทำกินกัน

ที่เกริ่นเช่นนี้ก็เพื่อจะเล่าถึงวิถีชีวิตที่พ่อค้าแม่ค้าพายเรือเร่ขายของให้ชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย เมื่อก่อนเราสัญจรกันทางน้ำเป็นหลักก็พายเรือขายสินค้ากัน ขายกันตามศาลาท่าน้ำบ้าง พายเรือไปรวมกลุ่มกันตามท่าน้ำวัดต่างๆ บ้าง ที่ที่พ่อค้าแม่ค้าไปรวมตัวกันก็เกิดเป็น “ตลาดน้ำ” พอมีการตัดถนนเส้นใหม่ๆ เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางจากทางน้ำเป็นการสัญจรทางบก ชาวสวนก็เริ่มเอาพืชผักผลไม้ตั้งเป็นแผงบ้าง ใส่หาบบ้าง เดินออกขายตามบ้านเรือน ตามชุมชน หาบไปตั้งรวมกันที่ใดที่หนึ่ง จนเกิดเป็นจุดนัดก็เรียกเป็น “ตลาดนัด”  

วิถีชาวบ้านเช่นนี้เป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยที่ผู้ค้าจะไปหาผู้บริโภคด้วยวิธีการต่างๆ เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นขนาดของชุมชนใหญ่ขึ้น ก็เริ่มมีการกำหนดสถานที่ขึ้นมาค้าขายระหว่างกัน เราก็เรียกว่า “ตลาด” ชาวสวนจะมาขายเองก็ได้ หรือให้พ่อค้าคนกลางรวบรวมสินค้ามาขายก็ได้ ตลาดจึงกลายเป็นแหล่งกลางที่รวมสินค้าหลากหลายประเภทไว้ด้วยกัน ไม่ใช่แค่พืชผักจากชาวสวนเช่นในสมัยก่อน แต่มีสินค้าที่มาจากพื้นที่ห่างไกล และมีความหลากหลายมากขึ้น

นอกจากตัวตลาดแล้ว พื้นที่รอบๆ ตลาดก็จะมีห้องแถว-เรือนแถว ด้านหน้าก็จะขายของ ส่วนด้านในก็จะเป็นที่อยู่อาศัย บ้างก็มีชั้นเดียว บ้างก็มี 2 ชั้น จากเรือนแถวไม้ก็พัฒนากลายเป็นตึกแถว ร้านค้าโดยรอบตลาดก็จะขายเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน รวมถึงข้าวสาร อาหารแห้ง กะปิ น้ำปลา เครื่องปรุงรส ฯลฯ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ทั้งกระทะ หม้อ กะละมัง ไห ฯลฯ เราเรียกร้านประเภทนี้รวมๆ กันว่า “ร้านโชห่วย”

ร้านโชห่วยนั้นนอกจากจะอยู่โดยรอบตลาดสดแล้ว ก็ยังอยู่ในชุมชนเกิดใหม่ เช่น หมู่บ้านบ้านจัดสรร ในยุคแรกๆ ของการจัดสรรที่ดินประมาณ พ.ศ. 2515-30 ผู้ประกอบการที่ทำการจัดสรรที่ดินขายก็จะก่อสร้างอาคารพาณิชย์ไว้ด้านหน้าโครงการเพื่อเป็นจุดดึงดูดลูกค้าและสร้างความเป็นชุมชนให้เกิดขึ้น เพราะหมู่บ้านจัดสรรเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน คือมักจะกระจายตัวไปในถนนสายใหม่ๆ เพราะราคาที่ดินที่นำมาทำโครงการจัดสรรยังถูกอยู่มาก สาธารณูปโภค-สาธารณูปการขั้นพื้นฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ในอดีตนั้นพบว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการสร้างระบบโครงข่ายคมนาคมก่อน เช่น การตัดถนนสายใหม่ๆ หมู่บ้านจัดสรรเป็นจำนวนมากจึงเลือกที่จะขยายตัวไปตามทิศทางที่โครงข่ายเหล่านี้กระจายออกไป เพราะอย่างน้อยก็การันตีความเจริญได้ในระดับหนึ่ง แต่นอกเหนือจากการก่อสร้างถนนแล้วกลับพบว่าในหลายๆ พื้นที่ภาครัฐไม่ได้วางแผนเรื่องสาธารณูปโภคที่จำเป็นเอาไว้ให้ เช่น รถเมล์หรือรถสาธารณะอื่นๆ จึงทำให้ในหลายๆเส้นทางไม่มีรถโดยสารให้บริการในถนนสายใหม่ ความขาดแคลนดังกล่าวจึงกลายเป็น “โอกาส” ให้เกิดรถสองแถว รถตู้โดยสาร และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยภาคเอกชน

ตลาดสด หรือร้านค้าโชห่วยก็เช่นกัน พบว่าภาครัฐไม่มีการวางแผนหรือจูงใจให้เกิดการสร้างสาธารณูปการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นเหล่านี้ กล่าวคือเมื่อมีการตัดถนน ความเจริญก็กระจายตัวออกไป หมู่บ้านจัดสรรก็กระจายไปตามเส้นทางเกิดใหม่ ยิ่งราคาถูกก็ยิ่งอยู่ห่างไกล ผู้มีรายได้น้อยก็ต้องอาศัยรถสาธารณะในการเดินทาง จะพึงพารถเมล์ก็ไม่มี จะไปซื้อของจากตลาดก็อยู่ไกลเกิน ผู้ประกอบการบ้านจัดสรรในระยะแรกจึงจำเป็นต้องก่อสร้างอาคารพาณิชย์ไว้ด้านหน้าโครงการเสียก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าถ้ามาอยู่โครงการนี้ก็จะมีแหล่งจับจ่ายใช้สอยแน่นอน

ต่อมาเมื่อมีการรุกคืบของระบบทุนนิยมรายใหญ่ มีการเกิดขึ้นของร้านสะดวกซื้อ และซุปเปอร์มาร์เก็ตกระจายไปตามย่านชุมชนต่างๆ ร้านค้าตามตึกแถวหรือร้านโชห่วยแบบดั้งเดิมจำนวนมากต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถแข่งขันในสงครามราคากับ “ทุนใหญ่” เหล่านี้ได้ นอกจากนี้ผู้ซื้อจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงก็เปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตแทนการมาซื้อของจากตลาด จึงทำให้ตลาดสดเหลือลูกค้าเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก

แต่ในท่ามกลาง “วิกฤต” ที่เกิดขึ้นกับร้านค้าแบบดั้งเดิมของชุมชนก็เกิดเป็น “โอกาส”ของพ่อค้ารายย่อยในรูปแบบของ “รถพุ่มพวง” ที่รวมเอาทั้งตลาดสดและร้านโชห่วยเข้าไว้ด้วยกัน ถือเป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลนในลักษณะเดียวกับรถสองแถว รถตู้โดยสาร และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

เมื่อผู้ซื้อเกิดความลำบากในการเดินทางและตลาดสดก็อยู่ห่างไกลจากชุมชนเกิดใหม่ วิถีชาวบ้านแบบดั้งเดิมคือการเร่ไปขายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคจึงเกิดขึ้น ต่างกันแค่แทนที่จะพายเรือไปขายของ หรือหาบเร่ไปตามชุมชนใกล้ๆ พ่อค้าแม่ค้าก็เอาของใส่รถกระบะวิ่งไปในเส้นทางที่ไกลขึ้น  และแถมด้วยการให้บริการแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยที่ “ทุนนิยมรายใหญ่” ก็ยากจะต่อกลอน

สังคมแบบวิถีชาวบ้านเช่นที่ว่านี้ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่าซับซ้อนก็ซับซ้อน “รถพุ่มพวง” จะท้าทายซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ได้อย่างไร ตอนหน้าจะเล่าให้ฟัง


หมายเหตุ : บทความนี้ตัดตอนมาจากงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบและการให้บริการของ ‘รถพุ่มพวง’ ของต่อพัฒนาการของชุมชนบ้านจัดสรร” และงานวิจัยเรื่อง “พัฒนาการของที่ดินจัดสรร-การจัดสรรที่ดินที่ส่งผลต่อการกำหนดรูปแบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการของโครงการจัดสรรตั้งแต่ พ.ศ. 2490-2530” โดย รศ. ยุวดี ศิริ


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562