“วิถีสตรีอมควัน” กำเนิดแฟชั่นเก๋า เขย่าสังคม !!!

ปัจจุบันปริมาณของผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีให้เห็นบ่อยมากขึ้น สมัยนี้เราสามารถเห็นผู้หญิงสูบบุหรี่ตามที่สาธารณะจนถือเป็นเรื่องปกติของสังคม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นชอบและยอมรับในการสูบบุหรี่ของผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่อ้างถึงความไม่เหมาะสม ไม่เป็นที่พึงกระทำของสุภาพสตรี แต่ในอดีตไม่เป็นเฉกเช่นนั้น?

นับย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 สังคมไทยเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมของชาติตะวันตก ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านในสังคมไทย

จุดเริ่มต้น

ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณ พ.ศ. 2468 วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลมาก เกิดการซึมซับวัฒนธรรมของตะวันตกในสังคมไทย ประมาณใน ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) แฟชั่นคีบบุหรี่กำลังเป็นที่นิยมของสาวตะวันตกอย่างมาก สาวไทยจึงรับเอาแฟชั่นดังกล่าวเข้ามาและเป็นที่นิยมมากของผู้หญิงในสังคม เห็นได้จากการโฆษณาเชิญชวนให้ผู้หญิงหันมาสูบบุหรี่[1]

การสูบบุหรี่ของผู้หญิงในยุคก่อนที่ถือกำเนิดขึ้นช่วงทศวรรษ 1920 และเป็นที่นิยมสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1960 ถือเป็นแฟชั่นแบบหนึ่งในสังคม หากผู้หญิงคนใดสูบบุหรี่จะถือเป็นสาวยุคใหม่ ที่มีความ “เก๋เท่” น่าสนใจ โดยมีความเชื่อว่าบุหรี่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย อิสระภาพ และความเท่าเทียมของผู้หญิง นอกจากนี้สรรพคุณของบุหรี่ที่กล่าวอ้างในชาติตะวันตกให้คุณมากกว่าโทษ  อาทิเช่น สูบแล้วผอม ช่วยในการย่อยอาหาร หรือแม้แต่บุหรี่ดีต่อสุขภาพ ฯลฯ และอีกปัจจัยที่ทำให้บุหรี่กลายเป็นแฟชั่นคือภาพลักษณ์ รูปจำ จากดาราดัง นักดนตรี คนมีชื่อเสียง ในยุคนั้นที่ส่วนใหญ่จะสูบบุหรี่กันแทบทั้งสิ้น บุหรี่จึงกลายเป็นแฟชั่นร้อนแรงแห่งยุคกันเลยทีเดียว

คำโฆษณาชวนเชื่อของบุหรี่ในยุคนั้นถือเป็นสิ่งที่แตกต่างจากยุคปัจจุบันและยังเชื้อเชิญให้กลุ่มผู้หญิงสูบบุหรี่อีกด้วย ได้แก่ “สุภาพสตรีควรสูบ… เพราะก้นกรองของ…จะเพิ่มความสวยสง่า ในสังคมเสมอ” โฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้แฟชั่นผู้หญิงสูบบุหรี่เป็นที่นิยมในสังคม

การสูบบุหรี่ของผู้หญิงที่เห็นกันมากในปัจจุบัน ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยแต่อย่างใดเพราะหากดูตามข้อมูลแล้ว จะเห็นได้ว่าแฟชั่นดังกล่าวเกิดขึ้นนานแล้วในสังคม อย่างน้อยๆ ก็ปลายทศวรรษ 2460 เพียงแต่บางช่วงเวลาแฟชั่นดังกล่าวถูกลดบทบาทหรือถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ๆ ฉะนั้นหากคุณเห็นผู้หญิงสูบบุหรี่ “จงรู้ไว้” ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถึงอย่างนั้นการสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเพศใดก็ตาม ล้วนแต่ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีทั้งสิ้น


เชิงอรรถ

[1] กชกรณ์ เสรีฉันทฤกษ์, วาทกรรมความงามของผู้หญิงในสังคมไทย : มุมมองพหุมิติ, (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาสตรีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551), หน้า 96.

อ้างอิง

กชกรณ์ เสรีฉันทฤกษ์.  วาทกรรมความงามของผู้หญิงในสังคมไทย : มุมมองพหุมิติ.  ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,  สาขาวิชาสตรีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2551.

เอนก นาวิกมูล. การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,  2547.

“13 โฆษณาบุหรี่ในอดีต ที่ไม่คิดว่าจะทำได้ขนาดนี้มาก่อน”. เพชรมายา. 18 ธ.ค. 2561. < https://petmaya.com/13-โฆษณา >

“สูบกรุงทอง 85 สง่าในสังคม”. 18 ธ.ค. 2561. < https://web.facebook.com/jaachamp.vintageposter/photos/a.853770668025217/1324539697614976/?type=3&theater >

9 reasons why many people started smoking in the past. Health 24. 17 ธ.ค. 2561. < https://www.health24.com/Medical/Stop-smoking/News/9-reasons-why-many-people-started-smoking-in-the-past-20180703-3 >