ผู้เขียน | ชุติพงศ์ ปะทาเส |
---|---|
เผยแพร่ |
สำรวจเรื่องราวของ “สายแนน” และ เสี่ยงสายแนน ซึ่งเป็นพิธีเสี่ยงทายคู่ของอีสาน คติพื้นบ้านที่สูญหายไปจากสังคม
“…คือจั่งภาพเหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็จำบ่ได้ว่าเกิดขึ้นตอนใด๋ อยู่ในความทรงจำหรือว่าแค่ฝันไป ทั้งที่หัวใจบ่เคยเชื่อเรื่องแบบนี้เลย…” (เนื้อเพลงจากเพลง สายแนนหัวใจ : ก้อง ห้วยไร่)
หากพูดถึง “สายแนน” หลายคนคงนึกถึง “สายแนนหัวใจ” เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนาคี 2 ที่ร้องโดยคุณก้อง ห้วยไร้ ซึ่งมีเนื้อหาสื่อถึงความรู้สึกตอนเจอกันครั้งแรก แต่กลับรู้สึกคุ้นเคยกันมานาน ทั้งที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อนและเป็นสิ่งที่ไม่อาจหาคำตอบให้กับตัวเองได้ แปรเปลี่ยนไปเป็นความรัก “สายแนนหัวใจ”จึงเป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน ที่นำเสนอความหมายของว่าสายแนนได้อย่างน่าสนใจ
สายแนนคืออะไร มีที่มาจากไหน ?
คำว่า “สายแนน” ในภาษาอีสาน หมายถึง คู่สร้างคู่สม, เนื้อคู่, สายใยในชาติก่อน ซึ่งมักจะมาพร้อมกับคำว่า “สายมิ่ง” ที่มีความหมายเดียวกัน ดูได้จากสำนวนคำพญาที่กล่าวไว้ว่า “กกมิ่งกกแนน สายมิ่งสายแนน” ส่วนอาจารย์ปรีชา พิณทอง ได้ให้ความหมายไว้ว่า “คู่ครองที่อยู่กินกันมาหลายภพ หลายชาติที่โบราณเรียกว่า บุพเพสันนิวาส”
ชาวอีสานแต่ดั้งเดิมมีคติความเชื่อที่ว่า ความรักเกิดจากฟ้า(แถน) เป็นผู้กำหนดถึงความเหมาะสมของคนทั้งคู่ โดยมีกุศลผลบุญในอดีตชาติเป็นเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถคาดเดาได้นอกจากต้องทำพิธีกรรมเพื่อถามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนฟ้า จึงนำไปสู่การประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “เสี่ยงสายแนน”
การเสี่ยงสายแนน เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งทางภาคอีสาน ที่มีความเกี่ยวข้องกับ “พญาแถน” เทวดาผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ ใช้เสี่ยงทายเพื่อดูความสมพงษ์ของคู่บ่าวสาว และเป็นประเพณีของกลุ่มไทลาวโบราณที่เคยมีมาก่อน ปัจจุบันได้สูญหายไปจากสังคมของชาวอีสาน เหลือปรากฏอยู่ในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง “ขูลูนางอั้ว” หรือ “โรเมโอ แอนด์ จูเลียต แดนอีสาน”
วรรณกรรมเรื่องดังกล่าวในฉบับที่จัดพิมพ์โดยอาจารย์ปรีชา พิณทอง บรรยายถึงพิธีกรรมนี้ ฉากที่นางพิมพากาสีแม่ของท้าวขูลูยกขบวนจากเมืองกาสี แล้วชักชวนให้นางจันทาแม่ของนางอั้วทำพิธีเสี่ยงสายแนน เพื่อดูว่าลูกๆของตนเป็นคู่แท้ของกันและกัน
การประกอบพิธีเสี่ยงสายแนน ผู้ประกอบพิธี เป็นคนทรงหญิง เรียกว่า “แม่ม้อน” ซึ่งในพิธีมีอยู่หลายคน คอยทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อสื่อสารโดยมีผีเป็นสื่อกลางระหว่างแม่ม้อนกับพญาแถน เพื่อถามในสิ่งที่อยากรู้ ระหว่างนั้นแม่ม้อนจะขับร้องฟ้อนรำตามดนตรีปี่แคนฆ้องกลองที่บรรเลงไปด้วย และเมื่อพญาแถนทราบถึงจุดประสงค์ของพิธีพร้อมกับเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดมาถวายจากผีที่เป็นสื่อกลาง พญาแถนก็จะพาผีไปดูคู่ครองของแต่ละคน ซึ่งมีลักษณะเป็นลำต้นพันเกี่ยวกันเป็นคู่เรียกว่า “กกแนน” ในสวนแนนบนสวรรค์
หากกกแนนเกี่ยวพันกันตั้งแต่โคนจรดปลายก็แสดงว่าเป็นคู่ครองกัน แต่ถ้ากกแนนเกี่ยวพันกันแต่ปลายแตกออกจากกันก็หมายถึงเป็นเนื้อคู่แต่ก็อยู่ด้วยกันได้ไม่นานหรือไม่ได้ครองคู่กันในชาตินี้ เมื่อทราบผลจากสิ่งที่เห็นผีจะลงมารายงานให้กับแม่ม้อนทราบเพื่อนำเรื่องไปรายงานให้กับเจ้าของพิธี เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการเสี่ยงสายแนน
ในวันต่อมาหลังจากประกอบพิธีเสี่ยงสายแนนแล้วจะมีการ “แข่งกอน” เพื่อยืนยันผลการเสี่ยง ทายของคนทั้งคู่หลังจากได้รับคำตอบจากพิธีในวันแรก โดยหนุ่มสาวจะยืนเรียงแถวกันคนละฝั่ง ผลัดกันโยนกอนผลัดกันรับกอน หากคู่ใดโยนรับ-ส่งกอนไม่ตกหล่นถือว่าคู่นั้นเป็นคู่กัน กอนที่ใช้โยนนั้นทำจากไม้ขนาดพอดีมือ มีเส้นฝ้ายหรือไหมผูกเป็นหาง ประดับประดาอย่างสวยงาม
เรื่องขูลูนางอั้วทำให้เราทราบถึงพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในวัฒนธรรมอีสานโบราณ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า “สายแนน” มาจากไหนและมีลักษณะเป็นอย่างไร
สายแนนจึงอาจเปรียบได้กับบุพเพสันนิวาสในรูปแบบสายสัมพันธ์ที่พันเกี่ยวกันมาแต่ชาติปางก่อนของชาวอีสานในคำจำกัดความที่ว่า “สายแนนหัวใจ”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เอื้อยนาง. “เสี่ยงสายแนน ในขูลูนางอั้ว, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม. (มิถุนายน 2538). 16(8) : 45-47
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2562